ThaiE- News
โอ๊ยนิยายน้ำเน่า : พล๊อตและฉากการรัฐประหารในประเทศด้อยพัฒนาแถบเอเชียและแอฟริกานี่น้ำเน่าเหมือนกันไม่มีผิด
โบกินา ฟาโซ: โอ๊ยนิยายน้ำเน่า
พล๊อตและฉากการรัฐประหารในประเทศด้อยพัฒนาแถบเอเชียและแอฟริกานี่น้ำเน่า เหมือนกันไม่มีผิด ประมาณว่าพวกทหารหวั่นวิตกในเสถียรภาพของพวกเขาเอง เลยยึดอำนาจรัฐบาลที่พวกเขาเคยอ้างว่าจะปกป้องและคุ้มครองด้วยเกียรติและ ศักดิ์ศรี ทว่าอ้างความจำเป็นเพื่อความสงบของชาติและประชาธฺิปไตย ทำให้นายทหารใหญ่ต้องแต่งเครื่องแบบมาออกโทรทัศน์ประกาศว่า รัฐบาลนั้นจะต้องถูกยุบไป คณะทหารจะเข้าควบคุมการบริหารประเทศสักระยะหนึ่งเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่และการปฏิรูปเพื่อความวัฒนาถาวรแห่งชาติและที่สำคัญพวก เขาไม่ลืมอ้างว่า เพื่อความเป็นประชาธิปไตยอีกด้วย
บางทีเรื่องก็จบลงแค่นั้น แต่บางทีก็จะมีประชาชน อาจจะภักดีต่อผู้นำเก่าหรืออาจจะต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองก็ตามออกมา ประท้วง พวกเขาจะถูกตอบโต้อย่างรุนแรง บาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก บางครั้งการต่อสู้นั้นก็ได้ผล มีคนเข้ามาไกล่เกลี่ยหรือยึดอำนาจใหม่ บางทีประชาชนเหล่านั้นก็ล้มตายไปโดยเปล่าประโยชน์ ประเทศกลายเป็นเผด็จการทหารไปอีกระยะหนึ่งจนกว่าจะมีใครลุกขึ้นมาโค่นล้มไป
ที่โบกินา ฟาโซ ประเทศไร้ทางออกทะเลทางตะวันตกของแอฟริกานี่ก็เหมือนกัน ประเทศนี้เคยเป็นอดีตอาณานิคมฝรั่งเศส ได้รับเอกราชในปี 1960 แรกทีเดียวนั้นชื่อ โวลต้าเหนือ (Upper Volta) แต่หลังจากได้รับเอกราชคณะทหารก็ยึดอำนาจกันไปมาเป็นว่าเล่น
แต่การรัฐประหารร่วมสมัยที่ส่งผลต่อการเมืองในปัจจุบันนี้ควรจะนับเอาแต่ปี 1983 เมื่อผู้กองโทมัส ซังการา ทำการยึดอำนาจ และใช้นโยบายแบบซ้ายจัดในการบริหารประเทศ เขามักถูกเรียกขานว่าเป็น เซ กูวาร่า แห่งแอฟริกา และเขาคือคนที่เปลี่ยนชื่อประเทศมาเป็น โบกินา ฟาโซ (แปลว่าดินแดนของคนซื่อสัตย์)
ปี 1987 ซังการาโดนสังหารโดย บาเลเซ่ คอมปาโอเร ซึ่งก็ไม่ใช่ใครอื่นไกลหรอกก็สหายของเขาเองนั่นแหละ แต่คอมปาโอเร่ นั้นหันมาใช้ระบบการเมืองแบบพหุนิยม แต่มิได้พหุนิยมอะไรจริงๆหรอก คอมปาโอเร่นั้นอยู่ในอำนาจนับแต่นั้นเรื่อยมาจนกระทั่งประชาชนลุกฮือขับไล่ เมื่อปีกลายนี่เอง หลังจากที่เขาพยายามแก้กฎหมายให้ตัวเองได้อยู่ในอำนาจต่อไปโดยไม่จำกัด ปัจจุบันเขาลี้ภัยไปอยู่ไอวอรี่ โคสต์
ความจริงรัฐบาลรักษาการภายใต้ประธานาธิบดี ไมเคิล คาฟานโด ก็ประกาศให้มีการเลือกตั้งประธานาบดีใหม่และสมาชิกสภาในวันที่ 11 ตุลาคมที่จะถึงนี้ แต่ทว่า ทหารคุ้มครองประธานาธิบดี (presidential guard) นำโดยนายพล กิลเบิร์ต เดียนเดเร่ ผู้ภักดีต่อ คอมปาโอเร่ ทำการยึดอำนาจเสียก่อน
ทำไมพวกทหารรักษาประธานาบดีต้องยึดอำนาจรักษาการประธานาฺบดี พวกเขาอ้างว่าทำเพื่อประโยชน์ของชาติ เพราะกฎหมายเลือกตั้งใหม่นั้นห้ามพวกที่สนับสนุนอำนาจของอดีตประธานาธิบดี คอมปาโอเร่ มีส่วนร่วมทางการเมือง แต่นักวิเคราะห์ทั้งหลายเชือว่าเหตุผลที่แท้จริงคือ พวกทหารกลัวว่าหน่วยนี้คงจะต้องถูกยุบหลังการเลือกตั้งใหม่มากกว่าอย่างอื่น
หน่วยนี้มีทหารประมาณ 1300 คน ตั้งขึ้นโดยคอมปาโอเร่เพื่อคุ้มครองตัวเขาเองหลังจากที่ยึดอำนาจจากสหายของ เขาในปี 1987 ความจริงชาวบูนิกา ฟาโซ จำนวนหนึ่งเห็นว่าหน่วยนี้สมควรถูกยุบไปตั้งแต่ปีที่แล้วแหละ เพียงแต่ว่าสมาชิกพรรค CDP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเก่าเห็นว่าน่าจะเก็บเอาไว้
การยึดอำนาจของ สภาแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนายพลเดียเดเร่ ถูกต่อต้านโดยประชาชนจำนวนหนึ่งที่อยากเห็นการเลือกตั้ง พวกเขาก่อการประท้วงแต่ก็โดนยิงตายไป 7 คนและอีก 13 คนบาดเจ็บ
น่าสนใจคือ เพื่อนบ้านในแอฟริกาไม่ได้นิ่งดูดายเหมือนเพื่อนบ้านของประเทศเอเชียหลาย ชาติที่เจอเหตุการณ์แบบนี้ สหภาพแอฟริกา แขวนสมาชิกภาพบูกินา ฟาโซ ทันทีทั้งยังืยื่นคำขาดให้คืนอำนาจภายในสัปดาห์นี้ ประธานาธิบดีเซเนกาลและเบนินเข้าไปไกล่เกลี่ยจน คณะรัฐประหารยอมให้ประธานาธิบดี คาฟานโด กลับเขารับตำแหน่งและจัดการเลือกตั้งตามเดิม
แต่เรื่องยังไม่จบเท่านี้ มีประชาชนผู้สนับสนุนการรัฐประหารบุกยึดโรงแรมที่มีการเจรจาหย่าศึกกันอยู่ ยังต้องรอดูว่าเรื่องจะจบอย่างไร และเน่าสนิทแค่ไหน
Supalak Ganjanakhundee
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar