"กลุ่มเพื่อนสุรชัย"
จัดกิจกรรมรำลึก 2 ปี 3 สหาย วันนี้ (12 ธ.ค.) ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา
เพื่อรำลึกถึง สุชัย แซ่ด่าน สหายภูชนะ
และสหายกาสะลองหลังสองปีที่นักกิจกรรมทางการเมืองหนีภัยไปอยู่ประเทศเพื่อนแล้วหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย
.
บีบีซีไทยชวนยัอนอ่านเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อสองปีก่อน
สุรชัย แซ่ด่าน : ภรรยาไม่ปักใจสามีคือ 1 ใน 2 ศพนิรนาม แต่เชื่อสามี “ถูกอุ้ม” ในลาว
- นันท์ชนก วงษ์สมุทร์
- ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
11 ธ.ค. 2561 คือวันสุดท้ายที่ สุรชัย แซ่ด่าน หรือ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และ "สหายภูชนะ" ได้บันทึกพ็อดคาสต์รายการ "ปฏิวัติประเทศไทย" กับ ผู้ดำเนินรายการ เพื่อเตรียมเผยแพร่ผ่านยูทิวบ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาทำเป็นประจำมาตลอดเวลาสี่ปีที่หนีภัยไปอยู่ในลาว ตั้งแต่ช่วงที่มีการปฏิวัติรัฐประหารปี 2557
หนึ่งวันต่อมา นายสุรชัย ภูชนะ และนักกิจกรรมอีกคนที่ใช้ชื่อจัดตั้งว่า "กาสะลอง" หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย จนถึงวันนี้ (2 ม.ค.) เป็นเวลากว่า 20 วันแล้ว
"ป้าให้น้ำหนักไปที่ฝ่ายเผด็จการ เพราะอาจารย์ต่อต้านเผด็จการทหารมาตลอดชีวิตของแก" นางปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของเขา กล่าวกับบีบีซีไทยทางโทรศัพท์จากวัดป่าแห่งหนึ่งใน จ.เลย ถึงสาเหตุการหายตัวไปของนายสุรชัย
แต่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยบอกกับบีบีซีไทยให้สอบถามไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เนื่องจากมีหน้าที่ดูแลคนไทยในต่างประเทศ
บีบีซีไทยพยายามติดต่อโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรองหัวหน้ากรมใหญ่ตำรวจของ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) แต่ไม่สามารถติดต่อได้
ล่าสุด พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวกับสื่อมวลชนวันที่ 2 ม.ค. ว่า เขาได้ตรวจสอบกับฝ่ายความมั่นคงซึ่งได้รับคำยืนยันว่านายสุรชัย ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน จึงน่าเชื่อว่ายังมีชีวิตอยู่
ด้านนางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ บอกกับบีบีซีไทยว่า ทางกระทรวงฯ ไม่มีอะไรเพิ่มเติมจากที่ตำรวจได้แถลงไปแล้ว
5 รายที่หาย ใน 2 ปี
นางปราณีกล่าวว่า นายสุรชัยเป็นหนึ่งใน 30 รายชื่อนักกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลทหารไทยใน 10 ประเทศที่มีหมายจับ ประจวบกับช่วงเวลาที่นายสุรชัยหายตัวไป ตรงกับช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เดินทางไป สปป. ลาว เพื่อประชุมคณะรัฐมนตรีไทย-ลาว ที่นครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.
จากข่าวที่ปรากฏทางสื่อ นายสุรชัยนับเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองรายที่ 5 ที่มีการหายตัวไปในประเทศเพื่อนบ้านในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา
ข่าวการหายตัวไปในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาของนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ "โกตี๋" ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีอาญามาตรา 112 และนายอิทธิพล สุขแป้น หรือ "ดีเจซุนโฮ" ผู้จัดรายการ "เถียงแทนเจ้า" ทางยูทิวบ์ และเป็นผู้ดำเนินรายการให้นายสุรชัย ได้สร้างความสะเทือนขวัญให้แก่นักกิจกรรมในประเทศลาวนับสิบรายที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ แม้ว่าทาง คสช. ทหาร และตำรวจ ได้ออกมาปฏิเสธการมีส่วนร่วมในการหายตัวไปของทั้ง "โกตี๋" และ "ดีเจซุนโฮ" ก็ตาม
น.ส.จรรยา ยิ้มประเสริฐ กล่าวกับบีบีซีไทยผ่านโทรศัพท์จากประเทศฟินแลนด์ ที่เธออาศัยลี้ภัยอยู่ตั้งแต่ปี 2553 หลังจากที่เขียนบทความที่ทำให้เธอถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ว่า ตั้งแต่ ดีเจซุนโฮ หายตัวไป นักกิจกรรมหลายคนก็หยุดการเคลื่อนไหว แต่ยังมีกลุ่มที่ยังไม่หยุด คือ "กลุ่มไฟเย็น" ซึ่งเป็นวงดนตรีเสื้อแดงที่มีแนวคิดต่อต้านเผด็จการ กลุ่มของนายสุรชัย และกลุ่มสนามหลวง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านรัฐประหารเมื่อปี 2549
ทั้งนี้ ผู้ที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในประเทศลาวที่ปัจจุบันมีอยู่ 30-40 คน จะมีความเสี่ยงและมีค่าใช้จ่ายในการคุ้มครองมากกว่านักกิจกรรมไทยในประเทศอื่น ๆ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีการจัดรายการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนระบอบการเมืองไทยเป็นสาธารณรัฐหรือสหพันธรัฐ จึงเป็นเป้าของการตั้งค่าหัวและล่าตัวมากกว่าที่อื่น ยกตัวอย่างเช่นนายสุรชัย ที่มีค่าหัว 10 ล้านบาท
"สนามหลวงเสียสหายโกตี๋ไป สุรชัยเสียไปสาม เป้าต่อไปคือกลุ่มไฟเย็น" น.ส.จรรยา กล่าว
"อาจารย์สุรชัยมีเครดิตที่สุดแล้วยังถูกอุ้มหายแบบอุกฉกรรจ์ ชีวิตคนน้อย ๆ ที่อยู่ที่นั่นยิ่งไร้เกราะกำบังยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำ ตอนนี้พวกผู้ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านอันตรายหมด"
ในรายงานที่เผยแพร่โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเมื่อเดือนที่ผ่านมา ระบุว่า นับแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 เป็นต้นมา ข้อหาอันเกี่ยวเนื่องกับการเมืองที่ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีมากที่สุด คือ ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวนอย่างน้อย 79 คดี จำเลยอย่างน้อย 108 คน จากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก การแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ และรวมไปถึงการดำเนินคดีต่อผู้ป่วยจิตเวช
ปลายทางคือสาธารณรัฐ
นายสุรชัยเริ่มต่อสู้ทางการเมืองตั้งแต่ปี 2516 ซึ่งเป็นปีที่นักศึกษาและประชาชนรวมตัวประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยจากจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เขาเคลื่อนไหวเรื่อยมาเกี่ยวกับการไม่ได้รับความเป็นธรรมของชาวบ้าน ก่อนหนีเข้าป่าไปอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นเวลา 5 ปี
หลังออกจากป่า เขาถูกจับ และถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 16 ปีตั้งแต่ปี 2524-2539 จากหลากหลายคดี เช่น เผาจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ปล้นรถไฟ และฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ
หลังออกจากคุก 1 ปี นายสุรชัยเริ่มเรียนทางไกลกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จนได้เป็นรัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต
ต่อมาเมื่อปี 2554 เขาถูกตัดสินจำคุก 12 ปี 6 เดือน ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากทั้งหมด 5 คดี แต่ได้ขออภัยโทษพิเศษรายบุคคล ทำให้ได้ลดโทษลงมาเหลือ 2 ปี 7 เดือน และได้รับอิสรภาพเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2556
เมื่อ 20 พ.ค. 2557 สองวันก่อนการรัฐประหาร นายสุรชัยได้หลบหนีออกจากประเทศ ขณะที่กำลังถูกดำเนินคดีกรณีเป็นหนึ่งในแกนนำคนเสื้อแดงบุกโรงแรมที่พัทยาขณะการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน
ในลาว นายสุรชัยเผยแพร่วิดีโอผ่านยูทิวบ์ประมาณสองครั้งต่อสัปดาห์ โดยคลิปแรกมีการเผยแพร่ในยูทิวบ์เมื่อเดือน ส.ค. 2557 และเมื่อประมาณหนึ่งปีที่ผ่านมา เริ่มเขียนวิเคราะห์สถานการณ์ข่าวรายวันโดยเพยแพร่ผ่านแอปพลิเคชันไลน์
ดร.สุดา รังกุพันธ์ นักกิจกรรมที่หลบภัยไปอยู่ต่างประเทศหลังจากที่ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. เมื่อปี 2557 กล่าวกับบีบีซีไทยผ่านโทรศัพท์จากต่างประเทศว่า คลิปของสุรชัยได้รับความนิยมอย่างสูง เนื่องจากการอธิบายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ในช่วงระยะเวลา 24 ชั่วโมงหลังจากที่โพสต์คลิป มียอดผู้เข้าชมไม่ต่ำกว่า 30,000-40,000 และถึงหลักแสนภายใน 1-2 สัปดาห์
"อาจารย์เป็นคนพูดสนุก และเป็นสามัญชน สามารถที่จะถ่ายทอดออกมาอย่างง่าย ๆ ให้คนเข้าใจฟัง จึงไม่แปลกใจที่คลิปของอาจารย์มีคนฟังเยอะมาก" เธอกล่าว
ดร.สุดากล่าวว่า นายสุรชัยและสหายอีกสองคนเป็นบุคคลที่มีการสื่อสารในสาธารณะอย่างเข้มข้นเกี่ยวกับความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยแบบไร้กษัตริย์
"อาจารย์มองว่าในที่สุดปลายทางคือสาธารณรัฐ โดยที่ระบอบเศรษฐกิจก็ยังเป็นทุนนิยมเสรี เลยเรียกว่า 'ปฏิวัติประชาธิปไตยทุนนิยมเสรี'" ดร.สุดา ซึ่งจบปริญญาเอกสาขาภาษาศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา กล่าว
2 ศพนิรนาม
ระหว่างวันที่ 27 และ 29 ธ.ค. มีผู้พบศพชายนิรนามที่ถูกฆ่าในลักษณะเดียวกันทั้งหมด 2 รายลอยมาตามแม่น้ำโขงและถูกพบที่ จ.นครพนม โดยลักษณะศพมีการใส่กุญแจมือ คว้านท้องแล้วยัดด้วยเสาปูนถ่วงแม่น้ำ
แม้ว่าบางสื่อจะรายงานว่ามีอีกศพที่พบในวันที่ 26 ธ.ค. แต่บีบีซีไทยสอบถามไปยัง พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้ยืนยันว่ามีเพียง 2 ศพ
แม้ว่ามีข่าวลือว่าหนึ่งในนั้นอาจจะเป็นศพของนายสุรชัย แต่นางปราณี ในวัยย่าง 60 ปี กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ยังไม่ปักใจเชื่อว่าจะเป็นสามี เนื่องจากดูจากภาพศพแล้วเป็นคนหนุ่ม แต่นายสุรชัยอายุ 76 ปี แล้ว ผมสีขาวและตัดเกือบเกรียน
เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า นายสุรชัยมีแผลเป็นขนาดใหญ่ 3 ที่ คือ ใต้รักแร้ด้านซ้ายจากการถูกสะเก็ดระเบิดตอนเข้าป่า ที่น่องจากอุบัติเหตุขาหัก และรอยผ่าที่หน้าอกจากการผ่าตัดบายพาสหัวใจ
ล่าสุด ตำรวจเจ้าของคดีได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า น่าจะเป็นการก่อเหตุที่ประเทศเพื่อนบ้าน และให้ญาติติดต่อเพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์ตัวบุคคล
แม้ว่านางปราณีและลูก ๆ ยังไม่สะดวกที่จะเดินทางไปพิสูจน์อัตลักษณ์ แต่เธอเล่าว่า เมื่อ 2 วันก่อน ลูกชายของกาสะลองได้ไปที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น แต่ได้รับคำตอบว่าอีกหนึ่งเดือนจึงจะรู้ผลการตรวจดีเอ็นเอ
ปัจจุบัน เธอทำใจรอรับสถานการณ์ โดยพร้อมที่จะรับฟังทั้งข่าวดีและข่าวร้าย และหวังว่านายสุรชัยจะยังไม่เสียชีวิต เพียงแต่ถูกกักขังไว้ที่ใดที่หนึ่งเพื่อไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์การเมือง
"อาจารย์พูดไว้ตั้งแต่สมัยนู้นแล้วว่า
การปฏิวัติเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยมีอยู่สามอย่าง ไม่ตายก็ติดคุก
ไม่ติดคุกก็ต้องหนีการไล่ล่า ป้าทำใจตั้งแต่ยังไม่แต่งงานกับอาจารย์"
นางปราณี กล่าว "อาจารย์บอกว่าจะภูมิใจมากถ้าเป็นแค่ไฟดวงเล็ก ๆ
จุดประกายให้คนรุ่นใหม่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม มีความเป็นอยู่ที่ดี
เสมอภาคกัน ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบกัน"
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar