söndag 9 maj 2021

ชำนาญ จันทร์เรือง: 'รักเอย' วรรณกรรมชีวิตที่สั่นสะเทือนวงการยุติธรรมไทย

 2012-09-05

ประชาไท

หนังสืออนุสรณ์งานศพของคนตัวเล็กๆ “นายอำพล ตั้งนพกุล หรือ อากง” ที่เขียนด้วยหัวใจที่แหลกสลายโดย “ป้าอุ๊ หรือนางรสมาลิน ตั้งนพกุล” ที่แจกเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา ได้สร้างความสะเทือนใจแก่ผู้อ่านเป็นอย่างยิ่ง ที่เหนืออื่นใดก็คือการสร้างความสั่นสะเทือนต่อมุมมองของผู้คนที่มีต่อวงการยุติธรรมไทยในผลของคำพิพากษา การปฏิบัติต่อนักโทษและการไม่ได้รับสิทธิประกันตัวจนต้องตายในคุกว่าทุกคนเสมอกันในเบื้องหน้าของกฎหมาย(equal before the law)ตามหลักนิติธรรม(Rule of Law)แล้วล่ะหรือ

เขียนโดยผู้เขียนที่จบเพียง ป.4

“เมื่อมีน้องเยอะ ฉันเป็นลูกคนโตก็ต้องช่วยครอบครัว ได้เรียนหนังสือก็แค่ ป.4 ทั้งๆที่น่าจะเรียนได้เพราะพ่อเป็นทหาร แต่ก็ไม่ได้เรียนเพราะต้องออกมาช่วยดูน้อง”

“ฉันยังเป็นคนชอบอ่านหนังสือ กระดาษหรือถุงขนมอะไรฉันก็อ่านของฉันหมด คือมันชอบ”

“ตอนที่อาปอ(อากง)ยังไม่โดนจับ เรื่องการเมืองอะไรเหล่านี้ไม่ได้อยู่ไกล้ฉันเลย ฉันไกลจากเรื่องพวกนี้มาก ด้วยความสัตย์จริง ฉันไม่มีเวลา ฉันมีภาระเยอะ ต้องทำมาหากิน ต้องคิดว่ามีทางไหนที่จะทำมาค้าขายอะไร วันนี้ขาดทุนหรือกำไร แต่ละวันยังมีอะไรเหลืออยู่บ้าง อะไรบ้างที่ต้องซื้อเพิ่ม หลานก็ต้องไปโรงเรียน แค่นี้ก็ไม่มีสมองไปคิดเรื่องอื่นแล้ว”

อากงสีอะไร

“เขาไปดูมาหมดทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดง ผ้าโพกหัวของเหลืองก็มีมา ไปดูเสื้อแดงก็มีของแดงมา...แล้วจะให้ฉันสรุปว่าอย่างไร”

เหตุการณ์วันที่ถูกจับ

“ครั้งแรกวันที่เขามาจับอาปอ เช้ามืดวันที่ 3 สิงหาคม 2553”

“...ฉันเดินเข้าไปบอกอาปอที่ยังนอนอยู่บนที่นอน “พวกเขามาหาลื้อ” อาปอรีบลุกขึ้นหาเสื้อมาใส่ หน้าตาเขางงๆเหมือนกัน

ตอนอาปอกำลังเปลี่ยนเสื้อผ้า พวกตำรวจเข้าไปค้นบ้าน ห้องเช่าของฉันเล็กมาก ข้างหลังไม่มีประตู มีแต่หน้าต่างกับมุ้งลวด พวกเขาเข้าค้นทุกซอกทุกมุม นักข่าวก็ตามเข้าไปถ่ายรูป เดินเหยียบไปบนที่นอน ถ่ายรูปไปทั่วห้อง ถ่ายรูปหลานๆของฉันที่ร้องไห้กันระงม สภาพตอนนั้นคือข้าวของในห้องถูกค้นกระจุยกระเจิงไปหมด”

เมื่อศาลมีคำพิพากษา

“จนวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 ศาลตัดสินจำคุกเขา 20 ปี”

“ฉันเหมือนคนเสียสติไปเลย กลับมาบ้านเจียวไข่ให้หลานกินยังมัวแต่คิดจนน้ำมันท่วม ต้องรีบยกกระทะลง ลืมไปหมดว่าต้องใช้ผ้าขี้ริ้วจับ มือพองเป็นแผลตั้งเยอะ ความรู้สึกตอนนั้นมันทั้งคับแค้น ทั้งรู้สึกเหมือนเคว้งคว้างไปหมด ฉันเลยเขียนถึงความทรงจำนี้ จะไม่มีวันลืมความรู้สึกนั้น”

“อาปอเข้าไปในคุกเที่ยวนี้ ญาติสนิทของเราเสียไปสามคน คนสนิททั้งนั้น ทั้งแม่ยายคือแม่ของฉัน น้องชายฉัน และแม่ของเขา แม่ของเขาซึ่งป่วยบ่อยๆ มาเสียชีวิตหลังจากที่เขาไปอยู่ในนั้นได้ประมาณครึ่งปี ต่อมาน้องชายฉันก็ป่วยตาย พอครบร้อยวันน้องชาย แม่ของฉันก็มาเสียไปด้วยโรคชรา”

อากงปลงไม่ตก

“ตอนที่...โฆษกศาลมาเขียนบทความหลังจากคำพิพากษาอาปอว่า “อากงปลงไม่ตก” โอ คำนี้ทำฉันสติแตกไปเลย ใครปลงได้ยี่สิบปี ใครจะปลงได้ คนไม่ได้ทำจะปลงได้ยังไง”

เยี่ยมครั้งสุดท้าย

“จนไปเยี่ยมครั้งสุดท้าย วันพฤหัสที่ 3 พฤษภา(2555) นั่นเป็นครั้งสุดท้ายของฉันกับเขา”

“พอหมดเวลายี่สิบนาที เขายืนโบกมือให้ รอให้เราไปก่อน ไอ้เราก็อยากจะมองให้เขาเข้าไปก่อน เขาก็ไม่ยอมเข้าไป ยืนโบกมืออยู่ตรงนั้น เราก็ได้แต่อือๆๆคือเราไม่เคยตะโกนพูดกัน จะส่งมือแล้วก็มองกันด้วยสายตา เพราะไอ้การตะโกนพูดกันหรืออะไรมันอายเขา เราอายุมากกันแล้ว พอเห็นว่ายังไงเขาก็ไม่เดินเข้าไป เราก็กลัวเจ้าหน้าที่เขาจะว่า เลยต้องหันหลังให้แล้วเดินออกมาก่อน พอหันไปอีกที เขาก็เดินเข้าไปแล้ว

นั้นนะฉันไม่รู้เลยว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายของเรา”

ตายในคุก

“วันที่ไปดูศพ ฉันแค้นจนอยากจะระเบิด อยากจะพูดอะไร แต่ว่ามีอีกใจหนึ่ง—ฉันอาจไม่ใช่คนกล้าขนาดนั้นก็ได้เพราะฉันยังมีห่วงอีกเยอะ แต่ฉันก็พูดกับทนายหรือใครนี่แหละว่า “หมาซักตัวหนึ่งมันยังเลือกที่ตายได้ สมมติอยู่ตรงกองทรายร้อนๆมันยังกระเสือกกระสนไปหาที่ร่มได้ แต่อาปออยู่ในกรงขังตอนนั้น มันไม่มีที่ไป นอกจากจะเลือกที่นอนตายไม่ได้แล้ว ยังทำอะไรไม่ได้แม้แต่เวลาหิว” “

ผลที่ตามมา

“...ความตายของอาปอเหมือนจะบอกว่าให้ดูแลคนอื่นๆด้วย ฉันคิดอย่างนั้นจริงๆ คนอื่นเขาไม่ใช่คนหรือ คดีอื่นๆเขาก็คน

ฉันก็อยากบอกไว้ตรงนี้ และฉันคิดว่าไม่ผิด

ฉันขอออกเสียงแรงๆเลยว่า วันนี้อากงหลุดพ้นแล้ว ไม่รู้จะเรียกร้องอะไรเพื่ออากงได้แล้ว

แต่ถ้าการตายของเขามันเหมือนจะทำให้เกิดความยุติธรรมขึ้นมาใหม่ที่ดีกว่าเก่า ที่ดีกว่าที่ทำกับอากง ฉันก็อยากเรียกร้องให้แก่คนที่ยังอยู่ในเรือนจำให้มันเกิดความยุติธรรมขึ้นในสังคมไทย ในสังคมของผู้ที่อยู่ในเรือนจำ ทุกคดีให้มองผู้ต้องหาว่ายังเป็นคนอยู่

ที่สามีฉันเสียชีวิตคือก็เป็นนักโทษ แล้วนักโทษไม่ใช่คนหรือ ถึงจะไม่รู้จักหิว รู้จักปวด รู้จักอะไร”

อากงจะกระทำความผิดจริงหรือไม่ไม่มีใครรู้นอกจากอากงที่เสียชีวิตไปแล้วในสภาพน่าอนาถในเรือนจำ แต่อากงได้ยืนยันอยู่เสมอว่าตนเองส่งเอสเอ็มเอสไม่เป็น

ณ บัดนี้ “รักเอย”ที่เขียนขึ้นโดยคนจบการศึกษาเพียง ป.4 ของ “ป้าอุ๊”และ ความตายของ “อากง”ได้สร้างความสั่นสะเทือนแก่วงการยุติธรรมไทยขึ้นแล้วอย่างมหาศาล

ช่างเป็นวรรณกรรมที่งดงามและเป็นความตายที่ยิ่งใหญ่ของคนตัวเล็กๆโดยแท้

.....

รักเอย

บันทึกความทรงจำโดยรสมาลิน ตั้งนพกุล

พิมพ์ครั้งแรกเพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจนายอำพล ตั้งนพกุล 25 สิงหาคม 2555

พิมพ์ซ้ำเพื่อจำหน่าย กันยายน 2555

ISBN 9786167158174

112 หน้าพร้อมภาพประกอบสี่สี

ราคา 180 บาท

รายได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่าย มอบให้เครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา 112


คำนำสำนักพิมพ์ / ไอดา อรุณวงศ์

หนังสือ รักเอย จัดพิมพ์ครั้งแรกเพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจของคุณอำพล ตั้งนพกุล หรือที่คนจำนวนไม่น้อยรู้จักในชื่อ “อากง” ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 กล่าวคือกระทำการใดๆ ที่ถูกตีความว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการฯ ในประเทศที่เรียกระบอบการปกครองของตนว่า “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” อย่างประเทศไทย คุณอำพลก็เป็นเช่นเดียวกับ

ผู้ต้องหาในคดีนี้ส่วนใหญ่ คือไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ถูกจองจำอย่างไม่แยแสต่อสุขภาพพลานามัย ต้องทำใจกับกระบวนพิจารณาคดีและพิพากษาที่ไพล่ไปสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด และจะไม่มีวันได้รับอิสรภาพจนกว่าจะกราบกรานขอพระราชทานอภัยโทษ ไม่ว่าตนจะมีความคิดความรู้สึกอย่างไร และไม่ว่าจะกระทำ “ผิด” จริงหรือไม่ก็ตาม

จึงไม่น่าประหลาดใจ ที่เมื่อคุณอำพลต้องเสียชีวิตอย่างน่าสะเทือนใจในเรือนจำ ประชาชนผู้มีความรู้สึกรู้สมในทางมนุษยธรรมจึงได้ร่วมกันมาไว้อาลัยในพิธีศพอย่างล้นหลาม หนังสืออนุสรณ์ รักเอย ได้ถูกแจกจ่ายจนหมด และมีเสียงเรียกร้องให้จัดพิมพ์ใหม่เพื่อจำหน่ายทั่วไป สำนักพิมพ์อ่านจึงได้จัดพิมพ์ขึ้นอีกครั้ง โดยมอบค่าลิขสิทธิ์แด่คุณรสมาลิน ตั้งนพกุล และจะมอบรายได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่ายให้แก่เครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจาก

มาตรา 112 โดยในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ได้รวมคำไว้อาลัยจากเพื่อนร่วมชะตากรรมในเรือนจำที่เคยพิมพ์อยู่ในฉบับอนุสรณ์มาไว้ด้วย

รักเอย มิใช่คำประกาศท้ารบอันยิ่งใหญ่ พสกใดเล่าจะกล้าทายท้าต่อชะตากรรมอันอยุติธรรมที่กระทั่งจะเอ่ยนามก็ยังไม่ได้ ขณะเดียวกัน รักเอย ก็หาใช่การมาฟูมฟายให้ถูกเหยียดหยันว่าดราม่า หรือร้องขอความเมตตาให้ถูกครหาว่าสำออย แต่มันคือปากคำจากความทรงจำของ “หญิงผู้เป็นภรรยา” ที่แม้สูญสิ้นจนถึงที่สุดแล้วก็ยังยืนยันในศักดิ์ศรีอย่าง “ผู้หญิงที่ยังอยู่” ศักดิ์ศรีของครอบครัวคนธรรมดาหาเช้ากินค่ำที่ผ่านการศึกษาในระบบเพียงน้อยนิด แต่ได้มาเรียนรู้ด้วยชีวิตถึงศักดิ์และสิทธิของความรัก ทั้งที่เป็นความรักอันไม่อาจลืมเลือนชั่วกาล และความรักที่ประหัตประหารจนสิ้นแล้ว.


https://readjournal.org/pocketbooks/lovestory/


Posted by Reporter at 5/09/2564 05:42:00 ก่อนเที่ยง  




Inga kommentarer:

Skicka en kommentar