söndag 16 maj 2021

ไปขี่เครื่องบินกับพี่เอาไหม เรื่องราวเพี้ยนๆ ของเครื่องบินโบอิ้งในสวนของวชิราลงกรณ์

 
รัฐบาลไทยพยายามบอกว่าผมสร้างเฟคนิวส์ แต่ข่าวของผมมีทั้งภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลการบิน รูปถ่าย และข้อมูลต่างๆที่ตรวจสอบได้ อย่างน้อยถ้าจะกล่าวหากันเค้าน่าจะช่วยบอกผมซักนิดว่าข้อมูลตรงไหนที่เฟค? secretsiam.news/p/d68 #SecretSiam
 
secretsiam.news

ราชวงศ์ไทยกำลังสร้างคอมเพล็กซ์วังขนาดใหญ่ที่ใจกลางกรุงเทพ โดยที่ไม่มีใครตรวจสอบคัดค้านแผนอันทะเยอทะยานนี้แต่อย่างใด และนี่คือเรื่องที่คนควรได้รับรู้เกี่ยวกับที่เครื่องบินลำหนึ่งที่จอดประดับตกแต่งอยู่ในสวนของวังนั้น

เรื่องเริ่มต้นว่าเมื่อระหว่างท้ายปี 2562 ไปจนถึงต้นปี 2563 อยู่ๆ ก็มีเครื่องบินโบอิ้ง 737 ลายการบินไทยจอดอยู่ในวังอัมพรสถานของวชิราลงกรณ์ที่กำลังบูรณะอยู่ เครื่องบินนั้นดูเหมือนเป็นของประดับตกแต่งในสวนของเขาในเขตพระราชฐานในกรุงเทพ

ภาพถ่ายจากดาวเทียมแสดงให้เห็นว่าเครื่องบินนี้ไม่ได้อยู่ตรงนั้นตอนช่วงกรกฎาคม 2562 แต่ทว่าในสวนก็มีสภาพพื้นที่โล่งคล้ายเตรียมพร้อมทำลานจอดไว้อยู่แล้ว และเครื่องบินนี้ก็โผล่ขึ้นมาในภาพดาวเทียมที่อัพเดทเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 รายล้อมไปด้วยทางเดินและสวนที่ประดับตกแต่งแล้ว

ไม่กี่เดือนหลังจากเครื่องบินนี้โผล่มาในภาพถ่ายดาวเทียม ผมก็ได้รับภาพการขนเครื่องบินมาติดตั้ง แหล่งข่าวยืนยันไม่ได้ว่าภาพนี้ถ่ายไว้เมื่อไหร่ แต่ก็สามารถบอกได้ว่าการเอาเครื่องบินมาวางไว้นี้เป็นภารกิจใหญ่พอสมควร

แหล่งข่าวหลายแหล่งยังส่งภาพภายในพื้นที่วังที่มีเครื่องบินตั้งอยู่ในนั้นไว้เรียบร้อยแล้วมาให้ผมด้วย ภาพทางซ้ายเป็นภาพตอนเครื่องมาถึงใหม่ๆ เพราะเห็นว่ายังมีไม้วางเป็นทางเข็นเครื่องบินเข้ามาอยู่ ส่วนภาพทางขวาเป็นภาพไม่กี่เดือนหลังจากที่เครื่องบินมาถึงแล้ว จะเห็นว่าไม่มีไม้ปูทำทางไว้แล้ว และสวนก็ดูกลับสู่สภาพที่ตกแต่งเรียบร้อยเหมือนเดิม

แน่นอน คำถามที่สำคัญที่สุดคือ - ทำไม? เครื่องบินโบอิ้ง 737 ของการบินไทยทำไมมาอยู่ในสวนของวชิราลงกรณ์ได้

เราต้องเริ่มตอบคำถามด้วยข้อมูลว่า วชิราลงกรณ์ดูจะมีแผนประหลาดที่จะฟื้นฟูและสร้างเขตพระราชฐานที่ใจกลางกรุงเทพใหม่ โดยสร้างเป็นคอมเพล็กซ์วังของเขาหลังจากที่มีการยึดพื้นที่พระราชฐานคืนหลายที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่วนสถาบันหรือหน่วยงานบนพื้นที่เหล่านั้นก็ถูกบังคับให้ต้องย้ายออกไป

นับตั้งแต่วชิราลงกรณ์ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 10 เมื่อปี 2559 เขาก็เริ่มขยายแผนการบูรณะวังอัมพรสถานที่เขาตั้งใจจะใช้เป็นที่พำนักหลักเวลาเค้ากลับจากเยอรมันเป็นครั้งคราวทันที รวมถึงบูรณะพื้นที่ข้างเคียงในเขตเมืองเก่าของกรุงเทพด้วย

ส่วนหนึ่งของแผนบูรณะของเขายังรวมไปถึงพระที่นั่งวิมานเมฆที่ถูกรื้อถอนไปซ่อมแซมแล้วสร้างใหม่ พระที่นั่งวิมานเมฆนั้นถูกสร้างเมื่อปี 2443 ตัวอาคารเป็นไม้สักทองทั้งหลัง รูปแบบก่อสร้างแบบวิกตอเรียปนไทยประยุกต์ อาคารขนาด 72 ห้องนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิตตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 อาคารนี้เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ ด้วยเพราะขึ้นชื่อว่าเป็นอาคารไม้สักทองที่ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อาคารนี้ถูกใช้เป็นพิพิธภัณฑ์เทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2559 สำนักพระราชวังประกาศว่าพระที่นั่งวิมานเมฆนั้นจะปิดเพื่อทำการบูรณะ และไม่ให้นักท่องเที่ยวหรือให้สาธารณะได้เข้าชมอีกตั้งแต่นั้นมา ภาพถ่ายทางดาวเทียมแสดงให้เห็นว่าพระที่นั่งทั้งหลังนั้นหายไปในช่วงเมษายนจนถึงพฤศจิกายนปี 2561

ภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อต้นปีนี้แสดงภาพว่าอาคารนั้นถูกสร้างใหม่แล้ว อย่างไรก็ตาม จากภาพที่เห็นดูเหมือนเป็นโครงสร้างคอนกรีตมากกว่าจะเป็นไม้สักทองแบบเดิม และมีเครื่องบินโบอิ้ง 737 นั้นตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอาคาร

ทีมนักข่าวจากข่าวสดภาคภาษาอังกฤษได้พยายามไปทำข่าวที่พระที่นั่งวิมานเมฆที่รื้อถอนไปเมื่อตอนกรกฎาคม 2562 และได้รับคำตอบว่าพื้นที่ฐานรากของพระที่นั่งนั้นชำรุดและต้องการการซ่อมแซม

“ตอนนี้ช่างกำลังปักเสาตอม่อกันอยู่” เจ้าหน้าที่ของทางวังอธิบาย “หลังจากนั้นพระที่นั่งจะถูกเอากลับมาสร้างใหม่ให้เหมือนเดิม”

ในข่าวรายงานว่าในเอกสารงบประมาณที่เผยแพร่ระบุว่าโครงการบูรณะนั้นใช้งบประมาณ 81 ล้านบาท ทางเจ้าหน้าที่ยังบอกทีมนักข่าวข่าวสดอิงลิชอีกว่าพระที่นั่งนี้จะปิดไม่ให้สาธารณชนเข้าชมอีกต่อไปแล้ว

สำหรับพื้นที่โดยรอบ สถาบันและหน่วยงานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในย่านนั้นหลายแห่งถูกสั่งให้ย้ายออกจากพื้นที่ไปโดยทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์บอกว่าจะไม่ต่อสัญญาเช่าให้กับหน่วยงานเหล่านี้

หนึ่งในสถานที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผนของวชิราลงกรณ์คืออาคารรัฐสภาที่อยู่ทางทิศเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคมมากว่า 50 ปี อาคารรัฐสภานั้นถูกปิดและย้ายไปยังอาคารสร้างใหม่ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาห่างออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ อาคารรัฐสภาใหม่นี้ใช้งบประมาณก่อสร้างกว่าหมื่นล้านบาท อาคารนี้มีกำหนดจะเปิดในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม การออกแบบอาคารที่ดูเหมือนศาสนสถานปลอมๆ นั้นก็ถูกวิจารณ์ในวงกว้าง

ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทยที่ถูกก่อตั้งมาร้อยกว่าปี และอยู่ใต้พระบรมราชูปถัมป์ของรัชกาลที่ 6 เองก็สิ้นสุดสัญญาการใช้พื้นที่และปิดไปตั้งแต่ปี 2561 เช่นกัน ภายในพื้นที่สมาคมที่ประกอบไปด้วยสนามม้า สนามกอล์ฟ สระว่ายน้ำ และสนามเทนนิสนั้นเคยเป็นที่พบปะยอดนิยมของเจ้าหน้าที่ระดับสูง นักการเมือง และทหารมาเป็นเวลาหลายสิบปี

สวนสัตว์ดุสิตซึ่งเป็นสวนสัตว์ในดวงใจและเป็นพื้นที่เที่ยวสำหรับเด็กและเยาวชนในกรุงเทพมาหลายยุคหลายสมัยก็ปิดตัวไปเมื่อปี 2561 ด้วย พวกเจ้านั้นขัดใจกับการต้องยกพื้นที่นี่เพื่อสร้างเป็นสวนสัตว์มาตลอด ดังเช่นที่ดันแคน แม็คคาร์โกเคยอธิบายไว้ในบทความหนึ่งโดยสำนักข่าวนิกเคอิเอเชีย

สวนสัตว์นี้เปิดทำการเมื่อปี 2481 ในรัชสมัยในหลวงอานันทมหิดลผู้ซึ่งยังทรงพระเยาว์และเพิ่งขึ้นครองราชย์ได้สามปีหลังการสละราชสมบัติของพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงอานันทมหิดลตอนนั้นยังศึกษาอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์และมีผู้สำเร็จราชการแทนคอยทำหน้าที่ให้ อำนาจการปกครองตอนนั้นยังอยู่ในมือคณะราษฎรผู้ทำการอภิวัฒน์สยามและสิ้นสุดระบอบสมบูรณายาสิทธิราชย์เมื่อปี 2475

แน่นอนว่าทางวังในขณะนั้นไม่ได้อยู่ในจุดที่จะคัดค้านการเอาพื้นที่สวนของหลวงมาทำเป็นสวนสัตว์แก่สาธารณชน ซึ่งสวนสัตว์นี้นอกจากจะได้สร้างความสุขให้กับคนนับล้านมาตลอดหลายสิบปีแล้ว ยังเป็นเครื่องย้ำเตือนถึงอำนาจและอภิสิทธิ์ของเจ้าที่เคยมีอิทธิพลต้องถูกจำกัดอย่างที่สุดด้วย

หน่วยงานและสถาบันอื่นๆ ที่โดนไล่ที่ยังรวมไปถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตและราชภัฏสวนสุนันทา ซึ่งถูกแจ้งให้ต้องย้ายสถานที่ด้วย

และเนื่องจากความนิยมในสถาบันกษัตริย์นั้นตกต่ำลงอย่างมากเมื่อปีที่ผ่านมา วชิราลงกรณ์เลยพยายามกู้หน้าด้วยการบริจาคโฉนดที่ดินพื้นที่หลวงที่อื่นไกลๆ ให้แก่มหาวิทยาลัยและหน่วยงานราชการอื่นๆ ในระหว่างออกงานเมื่อเดือนพฤศจิกายน การกระทำนี้ดูจงใจทำเพื่อลดเสียงวิจารณ์เรื่องการเวนคืนที่ในเขตพระราชฐานที่ผ่านมา มีความพยายามสร้างกระแสว่าอาจจะมีการสร้างโรงพยาบาลและพิพิธภัณฑ์บนพื้นที่ที่เค้ายึดเอาไปเป็นของตัวเองนี้ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีแผนการที่ยืนยันได้เผยแพร่ออกมาแต่อย่างใด

ผลจากการยึดคืนพื้นที่ของเค้าที่ผ่านมานี้ ทำให้แผนขยายพื้นที่พระราชฐานเพื่อประโยชน์ของเค้าเองนี้กินเนื้อที่ในเขตกรุงเทพไปเยอะอย่างมีนัยสำคัญ

ความพยายามเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมานี้ดูจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับความพยายามของวชิราลงกรณ์ที่จะลบร่องรอยของการอภิวัฒน์สยามโดยคณะราษฎรเมื่อปี 2475 และย้อนเวลาพาประเทศไทยกลับไปในอดีตที่กษัตริย์สามารถทำอะไรก็ได้ตามใจเยี่ยงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

เหตุการณ์สำคัญหนึ่งของการยึดคืนพื้นที่นี้คือการรื้อถอนหมุดคณะราษฎรที่เคยติดตั้งไว้ในเขตพระราชฐานข้างพระบรมรูปทรงม้าเป็นที่ระลึกการอภิวัฒน์สยามปี 2475 หมุดคณะราษฎรดั้งเดิมถูกถอนออกและแทนที่ด้วยหมุดที่สลักคำขวัญแบบราชาชาตินิยมเมื่อปี 2560 และเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ใส่ใจจะสืบสวนหาต้นตอของการเปลี่ยนแปลงนี้แต่อย่างใด

นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ดูทรงวชิราลงกรณ์ยังอยากจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ของถนนราชดำเนินซึ่งเป็นเสมือนเส้นเลือดแดงของกรุงเทพในเขตเมืองเก่าด้วย เขามีแผนที่จะทุบอาคารทรงอาร์ตเดโคในยุคคณะราษฎรทิ้งและสร้างอาคารใหม่ในสไตล์ราชาชาตินิยม “นีโอคลาสสิค” อาคารกว่าสิบหลังตลอดช่วงถนนนั้นถูกล้อมรั้วก่อสร้างและติดป้ายระบุว่าอาคารเหล่านี้กำลังจะถูกทุบทำลาย ในระหว่างที่รอการปรับปรุงนี้ อาคารเหล่านี้กลายเป็นอาคารว่างเปล่าและแปลงสภาพเป็นพื้นที่รวมตัวของผู้คนไร้บ้านที่มาอาศัยอยู่ตามธรณีประตูและโคนต้นไม้โดยรอบ

มีคนหนึ่งส่งภาพมาให้ผม เป็นภาพอาสาสมัครนำอาหารไปแจกให้แก่ผู้คนไร้บ้านที่หน้าโชว์รูมของรถยนต์เมอร์ซีเดส-เบนซ์ ที่ซึ่งตอนนั้นเป็นพื้นที่หรูหราและสุดจะดูมีราคา

แต่ตอนนี้พื้นที่ตรงนั้นกลายเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม เต็มไปด้วยกราฟฟิตี้ต่อต้านสถาบัน ยกตัวอย่างเช่นข้อความ “No God, No King” ที่หน้าอดีตอาคารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลบนถนนราชดำเนินกลางตามรูปนี้

ขณะเดียวกันนี้ พวกเจ้าที่กำลังพารานอยด์กับกระแสต่อต้านก็พยายายมปกป้องตัวเองกันเต็มที่ด้วยการล้อมกำแพงสูงรอบพื้นที่ที่เขากำลังพยายามยึดคืน การก่อสร้างยังคงดำเนินต่อไป ป้ายปักบอก “เขตพระราชฐาน” นั้นปรากฏไปทั่วโดยรอบพื้นที่คอมเพล็กซ์และพื้นที่ใดๆ ก็ตามที่อาจจะเกิดการชุมนุมขึ้นได้ การอ้างว่าพื้นที่นี้เป็น “เขตพระราชฐาน” นั้นเป็นเหตุผลอันดีสำหรับเขาที่จะกันเอา”สามัญชน” ออกไปจากพื้นที่

หนึ่งในแกนนำชุมนุม พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน เคยทำป้ายล้อเลียนป้ายเขตพระราชฐานในช่วงที่มีการชุมนุมเมื่อปลายปีก่อนว่า “เขตราษฎร” แต่เห็นได้ชัดว่าวชิราลงกรณ์นั้นไม่ตลกด้วย หลังจากนั้นเพนกวินนั้นโดนตั้งความผิดหลายข้อหา รวมถึงข้อหาหมิ่นเบื้องสูงหรือความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 หลายกระทง ยิ่งไปกว่านั้นยังถูกปฏิเสธการประกันตัว ในขณะที่ตัวเพนกวินเองก็ประท้วงการโดนปฏิเสธประกันตัวที่ไม่ปกตินี้ด้วยการอดอาหารมาอย่างน้อย 7 สัปดาห์จนสุขภาพย่ำแย่ล้มป่วยไปแล้ว

พื้นที่ส่วนใหญ่ในเขตพระราชฐานในกรุงเทพนั้นดั้งเดิมออกแบบโดยรัชกาลที่ 6 ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระราชวังแวร์ซายในยุคที่ฝรั่งเศสยังปกครองโดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อกว่า 300 ปีก่อน หลักฐานหนึ่งคือพระบรมรูปทรงม้าของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงม้าแทนที่จะทรงช้างซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติไทยนั้นรับแรงบันดาลใจโดยตรงมาจากแวร์ซาย การบูรณะโดยไอเดียของวชิราลงกรณ์เองก็ได้รับอิทธิพลจากแวร์ซายด้วย โดยเฉพาะไอเดียของ “สุริยกษัตริย์” ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เคยแสดงไว้ในงานประดับตกแต่งในพระราชวังแวร์ซาย ก็พบได้ในการบูรณะของวชิราลงกรณ์ตามซุ้มประตูและรั้ววังโดยรอบเช่นกัน

ที่น่าประหลาดใจมากคือ การตกแต่งแบบดิสโทเปียนี้อยู่ๆ ก็ทะลึ่งโผล่มากลางเขตพระราชฐาน แต่ว่าไม่มีใครกล้าพูดหรือวิจารณ์ถึงความทะเยอทะยานประหลาดๆ และการทำลายหลักฐานทางวัฒนธรรมนี้แต่อย่างใด ไม่มีแม้กระทั่งคนตั้งคำถามว่านี่เค้าสร้างทัศนอุจาดอะไรขึ้นมาเนี่ย

การบูรณะใหญ่ในพื้นที่เขตพระราชฐานนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่บนดินอย่างเดียว แต่ว่าเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดินก็ถูกสร้างขึ้นมาเช่นกัน อุโมงค์เหล่านี้เชื่อมต่อระหว่างอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในคอมเพล็กซ์ โดยในตอนแรกนั้นเครือข่ายโครงสร้างใต้ดินนี้ก็ไม่มีใครรับรู้ จนกระทั่งมีคลิปหลุดแสดงภาพอุโมงค์หนึ่งในคอมเพล็กซ์นั้นออกมาเมื่อปี 2562

ดังนั้นมันชัดเจนมากว่าวชิราลงกรณ์มีโครงการทั้งบนดินและใต้ดินเพื่อที่จะเปลี่ยนพื้นที่เขตพระราชฐานไปตลอดกาล รวมถึงสร้างป้อมปราการส่วนตัวของเขาด้วย ความบ้าบอคือโครงการเหล่านี้ดำเนินไปโดยที่ตัวเค้าเองก็แทบไม่ได้อยู่ในประเทศไทยด้วยซ้ำ รวมไปถึงว่าการกระทำแบบนี้ เมื่อไหร่ก็ตามที่เค้าตายไป อำนาจของราชวงศ์ไทยก็จะสูญสิ้นไปแบบกู่ไม่กลับทันที แต่ไม่ได้แปลกอะไรนักหรอก แนวคิดเขาก็เหมือนกับกษัตริย์และเผด็จการในอดีตทั้งหลายที่หมกมุ่นแต่จะสร้างอนุสาวรีย์แสดงความยิ่งใหญ่ประกาศศักดาของตัวเอง

ที่กล่าวมาทั้งหมดก็พาเรากลับมาที่เรื่องเครื่องบิน วชิราลงกรณ์นั้นหมกมุ่นกับการบินเป็นอย่างมากมาแทบตลอดชีวิต การบินนั้นเป็นกิจกรรมโปรดของเขาควบคู่มากับการมีเซ็กส์และการช็อปปิ้ง อย่างไรก็ตาม ด้วยวัยของเขาตอนนี้เขาดูหันมาสนใจการปั่นจักรยานมากกว่าการบินขึ้นมานิดหน่อย

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่วชิราลงกรณ์ตกแต่งวังของเขาด้วยเครื่องบิน เมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ผมเพิ่งเขียนบทความหนึ่งเกี่ยวกับวังทวีวัฒนา อดีตวังประจำของเขาที่ตอนนี้ภายในกลายเป็นค่ายฝึกทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์รวมไปถึงเป็นค่ายกักกันและคุกลับสำหรับลงโทษคนที่ทำให้เขาไม่พอใจ ที่วังทวีฯ ตอนนี้มีเครื่องบินดักลาส C-47 สมัยสงครามโลกครั้งที่สองจอดอยู่ด้วย เครื่องบินนี้เคยอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศที่ดอนเมือง ก่อนที่วชิราลงกรณ์จะสั่งให้ย้ายมาประดับสวนของเขาเมื่อปี 2550 เครื่องบินนี้มองเห็นได้ชัดเจนจากภาพถ่ายดาวเทียม

ไม่ใช่แค่นั้น วชิราลงกรณ์ยังตกแต่งเครื่องบินหลายลำในสวนของพระที่นั่งอัมพรสถานด้วย จากภาพถ่ายดาวเทียม จะเห็นว่ามีเครื่องบินเจ็ตหลายลำจอดอยู่ โดยจากที่เห็นคาดว่าจะเป็นเครื่องบิน F-5 ที่วชิราลงกรณ์เคยฝึกขับวางกระจายอยู่รอบๆ สวน ลามไปถึงทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ของพระที่นั่งอนันตสมาคมด้วย

แต่ว่าแม้แต่ในมาตรฐานประหลาดของวชิราลงกรณ์เอง เครื่องบินโบอิ้ง 737 การบินไทยนั้นดูเป็นของตกแต่งสวนที่ดูไม่ปกตินัก เครื่องบิน F-5 ทั้งหลายนั้นเองก็ไม่ได้ปกติ แต่มันยังพอเข้าใจได้ว่าทำไมเขาถึงอยากตั้งโชว์เครื่องบินรุ่นนี้ซะเหลือเกิน วชิราลงกรณ์นั้นภูมิใจกับความสามารถในการขับเครื่องบินเจ็ตของตัวเอง เพราะมันไปส่งเสริมความเชื่อเค้าว่าเค้าเป็นราชานักรบผู้ที่นำทัพต่อสู้คอมมิวนิสต์และปกป้องแผ่นดิน การเอาเครื่องบิน F-5 มาตั้งโชว์เป็นเหมือนการประกาศศักดาความหาญกล้าพละกำลังของเขาเอง

การจะตีความการเอาเครื่องบินพาณิชย์มาตั้งไว้ในสวนบ้านตัวเองดูจะทำความเข้าใจได้ยากกว่า แต่ถึงแม้เราจะอ่านใจวชิราลงกรณ์ไม่ได้ เรามาลองสืบข้อมูลไล่ดูและสร้างสมมติฐานขึ้นมาได้ว่าเค้าคิดอะไรของเค้า

ตัวช่วยสำคัญในการสืบเสาะข้อมูลว่าเค้าเอาเครื่องบิน 737 นี้มาตั้งไว้ในสวนเค้าทำไม ก็คือเลขทะเบียนประจำลำที่แปะอยู่ข้างลำตัวเครื่องว่า HS-TDK

จากการสืบค้นข้อมูล เครื่องบินเลขทะเบียน HS-TDK เป็นเครื่องบินโบอิ้ง 737-4D7 ที่ถูกประกอบและส่งมอบให้การบินไทยเมื่อปี 2541 จากนั้นเครื่องบินนี้ได้รับชื่อว่าศรีสุราษฎร์ ข้างล่างนี้คือรูปของเครื่องบินลำนี้ตอนที่ยังประจำการอยู่การบินไทย คุณจะเห็นเลขทะเบียน HS-TDK แปะอยู่ถัดจากปีกเครื่องบิน และมีชื่อศรีสุราษฎร์ภาษาอังกฤษแปะอยู่ข้างห้องนักบิน เครื่องบินที่ตั้งอยู่ที่พระที่นั่งอัมพรสถานนั้นถูกตกแต่งและทาสีแบบเดียวกันทุกอย่าง

คำถามคือ มันมีอะไรพิเศษเกี่ยวกับเครื่องบินลำนี้โดยเฉพาะรึเปล่า? ทำไมวชิราลงกรณ์ถึงอยากได้มันมาประดับสวน ผมพยายามสืบค้นข้อมูลและคาดเดาไว้ว่าเครื่องบินในสวนนี่น่าจะเป็นเครื่องบินที่วชิราลงกรณ์ได้พบกับสุทิดาเป็นครั้งแรก และนั่นทำให้เครื่องบินนี้ลำนี้พิเศษกับเขาโดยเฉพาะ แต่ผมกลับพบว่า ผมทั้งคาดเดาไว้ถูกและผิด

ย้อนไปที่วันที่ 5 มกราคม 2550 วชิราลงกรณ์ออกกรณียกิจขับเครื่องบินการบินไทยจากกรุงเทพไปเชียงใหม่เพื่อการกุศล ในเที่ยวบินนั้นมีศรีรัศมิ์ อดีตภรรยาของเขาและทีปังกร ลูกชายของเขาเป็นผู้โดยสาร นอกจากนี้ในหมู่ผู้โดยสารยังมีเจ้าหน้าที่ระดับสูง รวมไปถึงสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นด้วย

ขณะเดียวกัน ในหมู่ลูกเรือการบินไทยวันนั้น มีสุทิดา ติดใจ หรือนุ้ย หญิงสาวอายุ 28 ปีจากหาดใหญ่ ผู้ซึ่งเป็นพนักงานการบินไทยมาได้ประมาณสามปีครึ่ง เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องวันนั้นด้วย ดังที่ผมเพิ่งเขียนบทความเรื่องสุทิดาไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ในตอนนั้นเธอเป็นพรีเซนเตอร์ของการบินไทย และนั่นนำพาให้เธอเข้ามาอยู่ในความสนใจของวชิราลงกรณ์ ผู้ที่เป็นคนสั่งให้เธอมาร่วมทีมลูกเรือในเที่ยวบินของเขาเอง

ไม่นานหลังจากที่ทั้งคู่พบกันบนเที่ยวบินนั้น วชิราลงกรณ์ก็คลั่งรักสุทิดาขึ้นมาทันที และไม่กี่เดือนหลังจากนั้นวชิราลงกรณ์ก็ย้ายไปอยู่บาวาเรีย เยอรมนี และใช้ชีวิตกับสุทิดาผู้ที่กลายมาเป็นนางบำเรอหลักของเขา และล่าสุดนี้เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 เธอก็ได้รับมงกุฏหรือมงลง ได้เป็นพระราชินีของประเทศไทย

ภาพถ่ายหลายภาพเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2550 ยืนยันว่าเครื่องบิน 737 ที่วชิราลงกรณ์ได้พบกับสุทิดานั้นคือเครื่อง HS-TDK จริงๆ หนึ่งในภาพที่วชิราลงกรณ์กำลังเล่นกับทีปังกรในห้องนักบินนั้นมีชื่อเครื่องศรีสุราษฎ์แปะอยู่ชัดเจน

อีกภาพหนึ่งที่ถ่ายในวันเดียวกันแสดงภาพวชิราลงกรณ์ที่หน้าแผงควบคุมของเครื่องบินก็ช่วยยืนยันอีกต่อ ขอให้ทุกคนดูที่แผ่นป้ายเล็กๆ ข้างบนมือขวาของวชิราลงกรณ์ดู 

ถ้าเราซูมไปที่แผงควบคุมจะเห็นเลขทะเบียน HS-TDK ของเครื่องบินนี้อยู่

ดังนั้นคำอธิบายที่เป็นไปได้ว่าทำไมวชิราลงกรณ์ถึงอยากได้เครื่องบินโบอิ้ง 737 ไว้ในสวนของเขา ก็เพื่อเป็นสัญลักษณ์ความโรแมนติก ไม่ว่าจะด้วยความคิดถึงความหลังหรือว่าความพยายามจะทำให้สุทิดาประทับใจ เขาอยากได้ของที่ระลึกถาวรไว้ระลึกถึงการพบกันครั้งแรกของเขาและสุทิดาไว้ในสวนนั่นเอง และด้วยความที่ตอนนี้ไม่มีใครคอยห้ามเขาได้แล้ว ถ้าเขาอยากจะได้โบอิ้ง 737 ไว้ในบ้าน เค้าก็ต้องได้มันมาสิน่า

แต่ทว่าในช่วงที่เครื่องบินนี้มาติดตั้ง วชิราลงกรณ์ก็ดูจะเบื่อสุทิดาซะแล้ว สังเกตได้จากที่เขาใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับ “เจ้าคุณพระ” สินีนาฎ วงศ์วชิรภักดิ์ หรือก้อย รวมไปถึงทีมนางบำเรอในฮาเร็มของเขา ผมได้เขียนถึงเรื่องนี้ไปแล้วเช่นกันในบทความเกี่ยวกับสุทิดา แต่เขาอาจจะคิดไว้ว่าสุทิดาคงจะประทับใจหรืออุ่นใจกับของที่ระลึกนี้

อย่างไรก็ตาม มีเรื่องหักมุมเล็กน้อยสำหรับสมมติฐานนี้ คือ เครื่องบินที่จอดอยู่ที่พระที่นั่งอัมพรสถานนั้นไม่ใช่เครื่องศรีสุราษฎร์แต่อย่างใด

เรารู้ว่าเครื่องนี้ไม่ใช่ศรีสุราษฎร์ เพราะว่าข้อมูลเครื่องบินที่เปิดเผยแก่สาธารณะระบุว่าเครื่อง HS-TDK นั้นถูกขายให้กับสายการบินขนส่งสัญชาติบริติชชื่อว่า เวสต์แอตแลนติส เมื่อปี 2560 เครื่องบินนี้ได้รับเลขทะเบียนใหม่ว่า G-JMCK และถูกถอดหน้าต่างในห้องผู้โดยสารไปหมด เครื่องบินนี้ยังคงประจำการอยู่โดยส่วนใหญ่นั้นจะบินขนส่งสินค้าไปมาระหว่างสนามบินในสหราชอาณาจักร และนี่คือภาพปัจจุบันของเครื่องบินนี้

ดังนั้นเครื่องบินในสวนของวชิราลงกรณ์นั้นไม่ใช่เครื่องลำที่เขาได้พบกับสุทิดา แต่เป็นเครื่องบินโบอิ้ง 737 ลำอื่นที่วชิราลงกรณ์เอามาจากการบินไทยมาด้วยสักวิธีหนึ่ง แล้วเครื่องนี้ถูกเอามาทำสีใหม่ให้เหมือนกับเครื่อง HS-TDK รวมถึงเขียนเลขทะเบียนปลอมว่า HS-TDK ด้วย ดังนั้นเครื่องบินนี้จึงดูเหมือนเครื่องบินที่เขาพบกับสุทิดาทุกประการ ขณะที่ตัวเครื่องจริงๆ นั้นบินขนส่งสินค้าอยู่ในสหราชอาณาจักร

แบบนี้เท่ากับว่าเรื่องราวทั้งเหมือนเหมือนเป็นการหลอกลวงกัน ซึ่งอาจตีความไปถึงสัญญาณความรักของเขาต่อสุทิดาที่เริ่มดูปลอมไปด้วย ปลอมเหมือนกับเครื่องบินโบอิ้ง 737 การบินไทยสักลำหนึ่งจากฝูงบินที่เอามาทำสีใหม่ แปะป้ายเลขทะเบียนปลอมให้เหมือนว่าเป็นเครื่องที่วชิราลงกรณ์ได้พบกับสุทิดาเมื่อ 14ปีก่อน แล้วเอามาจอดวางไว้ในวังของเขาที่ใจกลางกรุงเทพ

ส่วนการบินไทยนั้นตอนนี้กำลังล้มละลายและผุพังเนื่องจากการบริหารที่ผิดพลาดและการคอรัปชั่นยาวนานหลายสิบปี ผมพยายามติดต่อสอบถามว่าทำไมเครื่องโบอิ้ง 737 ของสายการบินถึงไปโผล่อยู่ในพระที่นั่งอัมพรสถานพร้อมกับเลขทะเบียนปลอมได้ นี่เป็นคำถามทั่วไปที่ผู้ถือหุ้นมีสิทธิ์จะรู้ความจริง เพราะว่าแม้แต่เครื่องโบอิ้ง 737 เก่าๆ ก็ยังมีมูลค่านับร้อยล้านบาทในตลาดเครื่องบินมือสอง แต่กลับกลายเป็นว่าเครื่องบินนี้กลายมาเป็นของขวัญให้วชิราลงกรณ์ (ซึ่งน่าจะให้ฟรี) พวกเขาปฏิเสธที่จะตอบคำถามผมและลบผมออกจากกลุ่มนักลงทุนสัมพันธ์ของสายการบินบนแอพพลิเคชั่น LINE ด้วยเหตุผลว่าผมถามคำถามที่พวกเขามองว่าไม่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ยังมีปริศนาหนึ่งที่ยังไม่ไม่คลี่คลายเกี่ยวกับเครื่องบินนี้ ซึ่งเราก็ไม่น่าจะมีวันได้รู้ความจริง ว่า “ตกลงใครหลอกใคร?”

อาจจะเป็นว่า วชิราลงกรณ์พยายามทำให้สุทิดาประทับใจด้วยการเก็บเอาเครื่องบินที่เขาสองคนพบกันมาตั้งไว้เป็นอนุสาวรีย์แห่งความรัก แต่ต้องพบว่าเครื่องบินลำนั้นโดนขายไปแล้ว ก็เลยดำเนินการเอาเครื่องโบอิ้ง 737 ลำอื่นมาปลอมเป็นเครื่องศรีสุราษฎร์แบบลับๆ และคาดหวังว่าสุทิดาจะดูไม่ออกว่านี่ไม่ใช่เครื่องจริง?

หรือว่าการบินไทยหลอกวชิราลงกรณ์ด้วยการปลอมเครื่อง HS-TDK แล้วเอามามอบให้เขา? วชิราลงกรณ์นั้นขึ้นชื่อเรื่องความหัวร้อนและอารมณ์รุนแรงอาละวาดเวลาที่เขาไม่ได้สิ่งที่เขาต้องการ เป็นไปได้ไหมว่าวชิราลงกรณ์นั้นสั่งให้การบินไทยส่งเครื่องศรีสุราษฎร์มาให้เขาตกแต่งสวน แต่ผู้บริหารการบินไทยไม่กล้าบอกเขาว่าสายการบินขายเครื่องนั้นไปแล้ว ก็เลยเอาเครื่อง 737 ลำอื่นมายย้อมแมวส่งให้วชิราลงกรณ์ และคาดหวังว่าเขาจะดูไม่ออก

แต่ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร ก็น้อยนักที่จะมองหาสัญลักษณ์แทนความบ้าบอและความตอแหลในรัชสมัยรัชกาลที่ 10 ได้ดีกว่าเรื่องเครื่องบินปลอมนี้

 

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar