บีบีซีไทย - BBC Thai
"หายนะของกรมราชทัณฑ์ทั่วโลก"
.
หลังมีรายงานการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำ 8 แห่งทั่วประเทศ
โดยเฉพาะที่ จ.เชียงใหม่ ที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อเกือบ 4,000 ราย วันนี้ (17
พ.ค.) นพ. วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายปฎิบัติการ
ยอมรับว่าราชทัณฑ์ "อยู่ในภาวะจำนน"
.
“กรมราชทัณฑ์อยู่ในภาวะจำนน เราไม่อยากรับผู้ต้องขังรายใหม่ช่วงโควิดระบาด
แต่ภายใต้กฎหมาย
เราเป็นหน่วยงานสุดท้ายจะต้องรับตัวผู้ต้องหารายใหม่ตามกฎหมาย
ไม่อาจปฏิเสธได้” รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวและให้ข้อมูลว่า เรือนจำที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากเป็น “เรือนจำพิเศษ” ที่รับผู้ต้องขังใหม่
.
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
นอกจากจะเป็นวิกฤติครั้งใหม่ที่ทั่วโลกต้องเผชิญแล้ว
ในครั้งนี้ยังมีการแพร่ระบาดที่ค่อนข้างรวดเร็ว
และตรวจพบเชื้อได้ลำบากกว่าที่ผ่านมา ในบางรายต้องตรวจเชื้อซ้ำถึง 3
ครั้งจึงจะพบเชื้อ
.
“ถือว่าเราอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกคุกคามหนักในพระนคร ใน กทม.
ไม่ใช่ขอความเห็นใจนะครับ ต้องขอความดุลยภาพ เราดูแลเต็มที่
แต่โรคดังกล่าวเป็นหายนะของโรค ไม่ใช่หายนะของกรมราชทัณฑ์อย่างเดียว
และเป็นหายนะของกรมราชทัณฑ์ทั่วโลกตามที่ทราบข่าว” นพ. วีระกิตติ์ระบุ
โฆษก ศบค. แสดงความกังวลว่านอกจากแคมป์คนงานเขตหลักสี่ ยังมีบริษัทรับเหมาที่รับงานต่อเนื่องไปอีก 11 บริษัท และอื่น ๆ จึงต้องการสื่อสารไปยังชุมชนรอบข้างให้ดูแลสุขลักษณะส่วนบุคคล เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงติดเชื้อ รวมประชากรกว่า 6,118 คน
โควิด-19 : ศบค. เผยรายชื่อ 5 เขตระบาดหนักในกรุงเทพฯ ส่วนในเรือนจำพบผู้ป่วยสะสมทะลุหมื่นแล้ว
ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รายงานยอดผู้ป่วยหน้าใหม่ของไทย ซึ่งเฉียดหมื่นรายภายในวันเดียว โดย 2 คลัสเตอร์ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือแคมป์ก่อสร้าง และเรือนจำ
กรุงเทพมหานครยังเป็นพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาดสูงสุด 1,843 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสมในการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ 27,785 ราย นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ชี้ว่า พื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน ได้แก่ เขตห้วยขวาง คลองเตย ป้อมปราบศัตรูพ่าย และราชเทวี รวมถึงหลักสี่ มีปริมาณผู้ป่วยสูงกว่า 6 ต่อ 1,000 ประชากร
นพ. ทวีศิลป์กล่าวว่า ด้วยกรุงเทพฯ มีประชากรทั้งตามทะเบียนราษฎร์และประชากรแฝงรวมกันกว่า 10 ล้านคน จึงจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ปริมาณการระบาดตามเขตพื้นที่ ซึ่งตอนนี้กว่า 25 เขตเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดมาก และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องทำการค้นหาเชิงรุก
ขณะนี้มีการระบาดทั้งหมด 28 คลัสเตอร์ กระจายอยู่ใน 19 เขตของกรุงเทพฯ โดยคลัสเตอร์ที่มีอัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) แคมป์ก่อสร้าง หลักสี่ 2) แฟลตดินแดง เขตดินแดง 3) ตลาดห้วยขวางเขตดินแดง 4) คลองถมเซ็นเตอร์ และวงเวียน 22 ก.ค. เขตป้อมปราบฯ และ 5) แคมป์คนงานก่อสร้าง เขตวัฒนา
"ตัวเลข (ร้อยละการพบเชื้อ) วันนี้อยู่ที่ 6.58% ลงไป 100 คน เจาะกลุ่ม (ตรวจเชิงรุก) ไปมีการติดเชื้อเกือบ 7 คน นำเรียนว่ากระจายตัวอยู่ทั่วกรุงเทพฯ" โฆษก ศบค. กล่าว
นพ. ทวีศิลป์ยกตัวอย่างแคมป์คนงานก่อสร้างเขตหลักสี่ และอิตาเลี่ยนไทย ซึ่งมีผู้ติดเชื้อแล้ว 885 ราย คิดเป็น 83% ว่า มีความกังวลว่านอกจากแคมป์นี้แล้ว ยังมีบริษัทรับเหมาที่รับงานต่อเนื่องไปอีก 11 บริษัท และอื่น ๆ จึงต้องการสื่อสารไปยังชุมชนรอบข้างให้ดูแลสุขลักษณะส่วนบุคคล เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงติดเชื้อ รวมประชากรกว่า 6,118 คน
คลัสเตอร์เรือนจำ พบผู้ป่วยสะสม "ทะลุหมื่น"
ในจำนวนผู้ป่วยหน้าใหม่ที่ ศบค. รายงานวันนี้ (17 พ.ค.) มี 6,853 รายอยู่ในเรือนจำ/ที่ต้องขัง ทำให้มีผู้ป่วยสะสมในคลัสเตอร์เรือนจำตั้งแต่ 1-16 พ.ค. รวม 10,748 ราย จากการตรวจทั้งหมด 24,357 ราย ซึ่ง นพ. ทวีศิลป์กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์และ สธ. จะทำงานร่วมกันต่อไป และย้ำว่า "ทางเรือนจำจะดูแลท่านอย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นได้"
ถึงขณะนี้มีเรือนจำ 8 แห่ง ในพื้นที่ 4 จังหวัดที่พบโควิดระบาดภายในเรือนจำ
กรุงเทพฯ (เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ, ทัณฑสถานหญิงกลาง, เรือนจำกลางคลองเปรม, เรือนจำพิเศษธนบุรี, ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง) 6,749 ราย จากจำนวนตรวจ 14,429 ราย คิดเป็น 47%
เรือนจำจังหวัดนนทบุรี 48 ราย จากจำนวนตรวจ 2,661 ราย คิดเป็น 11%
เรือนจำจังหวัดฉะเชิงเทรา 22 ราย จากจำนวนตรวจ 798 ราย คิดเป็น 3%
เรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ 3,929 ราย จากจำนวนตรวจ 6,469 ราย คิดเป็น 61%
สถานการณ์ในรอบ 24 ชม.
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยในรอบ 24 ชั่วโมง จากการรายงานของ ศบค. มีข้อมูลสำคัญ ดังนี้
- มีผู้ป่วยรายใหม่ 9,635 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,773 ราย, ติดเชื้อในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 6,853 ราย และติดเชื้อจากต่างประเทศ 9 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 111,082 ราย หายป่วยแล้ว 67,200 ราย
- มีผู้ป่วยสะสมในการระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่ 1 เม.ย. จำนวน 82,219 ราย หายป่วยแล้ว 39,774 ราย
- มีผู้ป่วยรักษาตัวใน รพ./รพ. สนาม 43,268 ราย โดยมี 1,226 รายที่อาการหนัก และ 400 รายที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ทำให้ นพ. ทวีศิลป์สรุปว่า "คนที่อาการหนักประมาณ 1 ใน 3 ใส่เครื่องช่วยหายใจ"
- มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 25 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 614 ราย คิดเป็น 0.55%
- พื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อหน้าใหม่สูงสุด 5 อันดับแรกของประเทศในวันนี้ ได้แก่ กรุงเทพฯ (1,843 ราย), สมุทรปราการ (155 ราย), ปทุมธานี (146 ราย), นนทบุรี (129 ราย) และสมุทรสาคร (53 ราย)
ผู้เสียชีวิตกลุ่มล่าสุด
ขณะที่ผู้เสียชีวิตล่าสุด 25 ราย ศบค. ให้ข้อมูลไว้ ดังนี้
- เพศชาย 15 ราย หญิง 10 ราย
- อยู่ในกรุงเทพฯ 18 ราย ส่วนที่เหลือคือ สุพรรณบุรี สุโขทัย สมุทรสาคร สมุทรปราการ นนทบุรี นครสวรรค์ ชัยนาถ จังหวัดละ 1 ราย
- มีโรคประจำตัวคือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หลอดเลือดสมอง ไต หัวใจ โรคอ้วน โรคปอดเรื้อรัง และมะเร็ง
- มีปัจจัยเสี่ยงจากการสัมผัสสมาชิกครอบครัวที่ติดเชื้อ (12 ราย), สัมผัสผู้ป่วยเพื่อน/เพื่อนร่วมงาน (6 ราย), อาศัย/เดินทางเข้าพื้นที่ระบาด (5 ราย), อาชีพเสี่ยง (1 ราย) ไปสถานบันเทิง (1 ราย)
- ค่ามัธยฐานของอายุคือ 60 ปี (อายุระหว่าง 33-86 ปี)
ฉีดวัคซีนได้ 3.23% ของประชากรไทย
ศบค. ตั้งเป้าหมายการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ประชาชน 50 ล้านคน อันเป็นการครอบคลุม 70% ของประชากรทั้งประเทศภายในสิ้นปีนี้ เพื่อ "สร้างภูมิคุ้มกันหมู่" ให้เกิดขึ้น
ข้อมูล ณ วันที่ 16 พ.ค. พบว่า ไทยฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว 2,264,308 ราย คิดเป็น 3.23% ของประชากร
มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว 1,482,702 ราย คิดเป็น 2.12% ของประชากร
มีผู้ได้รับวัคซีนครบสองเข็มแล้ว 781,606 ราย คิดเป็น 1.12 % ของประชากร
บีบีซีไทยทดลองคิดค่าเฉลี่ยในการฉีดวัคซีนให้แก่คนไทย นับจากคนไทยคนแรกคือนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ได้รับวัคซีนเข็มแรกเมื่อ 28 ก.พ. 2564 พบว่า ในรอบ 78 วันที่ผ่านมา (28 ก.พ.-16 พ.ค.) ไทยฉีดวัคซีนได้เฉลี่ย 29,030 โดส/วัน เท่านั้น
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar