มูลนิธิ "อนุสรณ์ 18 พฤษภา" จัดพิธีมอบรางวัลให้ "ทนายอานนท์"
.
มูลนิธิ "อนุสรณ์ 18 พฤษภา"
จัดพิธีมอบรางวัลควังจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2021 ให้นายอานนท์ นำภา
หรือ "ทนายอานนท์" หลังประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัลไปเมื่อวันที่ 14 ม.ค.
ที่ผ่านมา
.
ในปีนี้
มีการเชิญให้นายอานนท์เข้าร่วมพิธีรับมอบรางวัลผ่านแอปพลิเคชั่นซูม (Zoom)
แต่เนื่องจากนายอานนท์ยังคงรักษาอาการโควิด-19 ใน รพ. ธรรมศาสตร์
จากการติดเชื้อในเรือนจำ
และยังอยู่ในการควบคุมตัวหลังศาลไม่อนุญาตให้ประกัน เขาจึงไม่สามารถเข้าร่วมพิธีได้
.
รางวัลควังจูเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นรางวัลที่มูลนิธิ "อนุสรณ์ 18 พฤษภา"
องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเกาหลีใต้
มอบให้แก่นักต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยทั่วโลกเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน
และเตือนใจถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างโหดเหี้ยมของรัฐบาลเผด็จการทหารในเหตุการณ์วันที่
18 พ.ค. หรือ "518"
.
นายอานนท์
ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง วัย 36 ปี
ได้รับการยกย่องในฐานะผู้ที่ต่อสู้เพื่อสร้างความตระหนักถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการทหาร
การปราศรัยเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เมื่อเดือน
ก.ค. 2563 ได้จุดประกายให้ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย
.
ผู้ที่ได้รับรางวัลนี้ในอดีต ได้แก่ นางออง ซาน ซูจี
ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา, นางอังคณา นีละไพจิตร
อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจากประเทศไทย, และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา
หรือ "ไผ่ ดาวดิน" ที่ได้รับรางวัลระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำในปี 2560
.
รู้จักอานนท์ นำภา และแรงผลักดันในการต่อสู้ของเขาจากรายงานบีบีซีไทยชิ้นนี้ https://bbc.in/3bCK2It
อานนท์ นำภา: ลูกชาวนาผู้ตั้งคำถามสถาบันกษัตริย์
"เราอยู่ร่วมกันได้โดยปกติสุข ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหักหาญกันในทางการเมือง …ประชาชนปรับตัวเข้าหาสถาบันกษัตริย์พอสมควรแล้ว ทีนี้อยู่ที่ว่าสถาบันกษัตริย์จะปรับตัวเข้าหาประชาชนหรือเปล่า" คือส่วนหนึ่งของบทสนทนาระหว่างอานนท์ นำภา กับบีบีซีไทย
ห้านาทีก่อนเวลานัดสัมภาษณ์ครั้งแรกในเดือน ก.ย. ทนายความวัย 36 ปีผู้นี้ส่งข้อความมาบอกบีบีซีไทยว่า "ตอนนี้เข้าบ้านไม่ได้นะครับ มีคนตาม สักครู่จะตัดเน็ตแล้วครับ วันนี้ต้องเลื่อนไปก่อนนะครับ"
น่าตกใจ ...แต่ก็ไม่น่าแปลกใจ
เพราะย้อนไปเดือน ก.ค. ทิวากร วิถีตน ชายชาวขอนแก่นถูกคุมตัวในโรงพยาบาลจิตเวช 14 วันหลังใส่เสื้อยืดมีข้อความว่า "เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว" และหลายปีที่ผ่านมา ผู้ลี้ภัยการเมืองที่วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา มีทั้งที่ถูกบุคคลไม่ทราบฝ่ายคุกคามถึงที่พัก หายตัวลึกลับ หรือกลายเป็นศพลอยน้ำ ถูกคว้านท้องแล้วยัดด้วยเสาปูน
แต่วันที่ 3 ส.ค. อานนท์ นำภา ในเสื้อคลุม แฮร์รี พอตเตอร์ ก็ขึ้นเวทีปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และพร้อมหลายคำถามที่พุ่งตรงไปยังพระมหากษัตริย์ :
ทำไมร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้วถึงถูกแก้ไขได้
ทำไมมีพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ที่ให้อำนาจบริหารจัดการ "สาธารณสมบัติของแผ่นดิน" อาทิ พระราชวัง ตามพระราชอัธยาศัย
ทำไมมีพระราชกำหนดโอนกำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพให้เป็นส่วนราชการในพระองค์
และอื่น ๆ อีกหลายข้อ ท่ามกลางความเงียบแต่สัมผัสได้ถึงความรู้สึกกระอักกระอ่วนทั้งในหมู่คนฟังและและเจ้าหน้าที่ที่สังเกตการณ์อยู่โดยรอบ
หลังจากวันนั้นเป็นต้นมา อาจใช้คำกล่าวของ ศ.พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อีกครั้งได้หรือเปล่าว่า "อะไรที่ไม่เคยเห็น ก็จะได้มาเห็น และอะไรที่เคยเห็น ก็อาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว"
บีบีซีไทยได้สอบถามไปยังสำนักพระราชวังในหลายประเด็นที่อานนท์กล่าวถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขยายพระราชอำนาจหรือการ "ไม่อยู่เหนือการเมือง" ของสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ
"ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน"
อานนท์ชอบเปรียบตัวเองเป็น ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน อดีตกองหน้าทีมชาติไทยชื่อดัง ที่ลงไปเขี่ยบอลเปิดเกม และเราก็ได้เห็น "ทีมเยาวชน" ทยอยเข้ามาเสริมทัพ พาทีมไปสร้าง "ปรากฏการณ์ 10 สิงหา", ก่อตั้ง "คณะราษฎร 2563" ไปจนถึงกระแสแฮชแท็ก "#RepublicofThailand" หรือ "#สาธารณรัฐไทย"
ไม่รู้ว่าครึ่งหลัง และแมตช์ต่อ ๆ ไป เราจะได้เห็นอะไรอีก
อานนท์ถูกจับกุมครั้งแรกเมื่อ 7 ก.ค. ก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หลังเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "เยาวชนปลดแอก" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง เมื่อ 18 ก.ค. โดยถูกตั้งอย่างน้อย 8 ข้อหา ในจำนวนนี้คือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน
ทว่าพอเขาขึ้นปราศรัยซ้ำในหัวข้อเดิมบนเวทีการชุมนุม "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" เมื่อ 10 ส.ค. ศาลอาญาได้มีคำสั่งเพิกถอนประกัน และเขาเองก็ไม่ขอยื่นประกันตัวใหม่ จึงถูกคุมขังพร้อมกับ ภาณุพงศ์ จาดนอก แกนนำกลุ่ม "เยาวชนภาคตะวันออก" ที่เรือนจำเป็นเวลา 4 คืน 5 วันก่อนได้รับการปล่อยตัว
เขากลับมาขึ้นเวทีปราศรัยอีกครั้งวันที่ 19 ก.ย. ในสภาพ "ชายหัวเกรียน" พร้อมบอกเล่าเรื่องราวระหว่างถูกจองจำให้มวลชนรับฟัง
"มันไม่มีอะไรที่จะต้องวัดว่าคุ้มหรือไม่คุ้มในความหมายที่มันเป็นตราชั่งนะครับ" อานนท์ อธิบายต่อคำถามเรื่องความเสี่ยงที่จะถูกสังหาร อุ้มหาย หรือจำคุก
"ในความเป็นจริง มันได้แค่ไหนก็ได้แค่นั้นแหละ ถ้าเราจะนับหนึ่งถึงร้อย เราเดินวันนี้ไปถึง 50-60 โดนยิงตายตอน 70-80 มันก็คือแค่นั้น ส่วนคนรุ่นหลังเขาจะมานับต่อหรือไม่ยังไง ก็อีกเรื่องนึง"
เขาไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่อาจจะเสียชีวิตระหว่างการเคลื่อนไหว แต่ยังเดินหน้าทำในสิ่งที่เชื่อ
"ผมคิดว่าการตายไม่สูญเปล่า …ขนาดคุณจิตร ภูมิศักดิ์ ตายเมื่อหลายสิบปีที่แล้วมันก็ยังไม่สูญเปล่าเลย สิ่งที่คนรุ่นใหม่ทำ รวมถึงผม มันได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากเขานั่นแหละ"
โรแมนติก
อาจเรียกได้ว่าอานนท์เองก็เป็น "นักเรียนเลว" เมื่อสมัยเรียนมัธยมปลายที่จังหวัดร้อยเอ็ด ท้าทายกับ "อำนาจ" อยู่บ่อยครั้ง
ครั้งหนึ่ง กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายขยายเวลาเรียน ซึ่งจะทำให้เด็กต่างอำเภอกลับบ้านลำบากหรือแทบจะมาเรียนไม่ได้เลย อานนท์ในฐานะประธานนักเรียนเดินหน้ารวบรวมรายชื่อนักเรียนนับพันชื่อจนต่อต้านสำเร็จ
เมื่อครูบางคนเอาชั่วโมงเรียนไปสอนพิเศษ และบอกข้อสอบให้เฉพาะเด็กที่เรียนด้วย เขาจึงเขียนบทกวีวิพากษ์วิจารณ์ความไม่ถูกต้องนี้ และพิมพ์ไปติดทั่วโรงเรียนในวันครู
อานนท์บอกว่าทุกอย่างเริ่มต้นตั้งแต่ตอนนั้น ความขบถและภาวะผู้นำ "มันเติบโตอย่างเงียบ ๆ ในใจเรา... การได้เจอเรื่องอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มันไม่เป็นธรรม มันก็สะสมมาตลอด"
ที่บ้านหวายหลึม อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด พ่อแม่ปู่ย่าตายายของเขาเป็นชาวนา อานนท์เองก็ทำเป็นทุกขั้นตอน ยกเว้นการใช้ควายไถนา เพราะเป็นยุคที่มีไฟฟ้า-เครื่องจักรทุ่นแรงเข้ามาแล้ว
นั่นหมายความว่าชีวิตทำนาในยุคเขาไม่ได้แร้นแค้น ถูกกดขี่เหมือนที่พบในวรรณกรรมยุคหนึ่ง แต่ "มันสร้างความรู้สึกเป็นโรแมนติกมากกว่า ใช้ชีวิตที่มันอยู่กับธรรมชาติ ใช้ชีวิตชนบท"
"โรแมนติก" - อานนท์พูดคำนี้เกือบ 10 ครั้ง ตลอดการสัมภาษณ์ การเติบโตทางความคิดของเขามาจากการฟังเพลงเพื่อชีวิต อ่านวรรณกรรม-บทกวีแนวความคิดฝ่ายซ้าย จากการเขียนบทกวีด่าครู มาจนถึงการเรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์ "ปรับตัว" ในตอนนี้ อานนท์ย้ำว่ามันไม่ใช่เรื่องของอุดมการณ์ที่หนักแน่นอะไร แต่เป็นการ "romanticise" หรือวาดภาพชีวิตตัวเองในลักษณะอุดมคติเหมือนอยู่ในเพลง บทกวี และนิยาย ที่เขาได้รับอิทธิพลมา
คิดว่าตัวเองเป็น อานนท์ ในเพลงของคาราวานผู้ "จากบ้านมาแนวหน้า ตามคำเพรียกขาน"
คิดว่าตัวเองเป็น สาย สีมา ตัวละครเอกในนวนิยาย "ปีศาจ" ของเสนีย์ เสาวพงศ์ ที่เขาชื่นชอบ - จากพื้นเพชาวนา เข้าเรียนกฎหมาย และกลายมาเป็นทนายต่อสู้ความไม่เป็นธรรมในสังคม
"ใช่ เราคือตัวละครหนึ่งในนิยาย ผมคิดอย่างงั้นมาตลอดนะ คิดละก็เหมือนกับคนเพี้ยน ๆ แต่เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ไอ้การที่เราเอารูปจิตรขึ้น [เป็นรูปโปรไฟล์] เฟซบุ๊กก็เหมือนย้ำเตือนว่าเราเป็นจิตร ภูมิศักดิ์ อะไรเงี้ย"
ช่วงเรียนนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงและจบภายใน 3 ปี อานนท์เล่าว่าแทบไม่เข้าเรียน ถ้าไม่ "กินเหล้าเมายา" ก็ไปเป็นครูอาสาที่ชายแดน ออกค่ายทำกิจกรรม ไปร่วมม็อบต่อสู้ของชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการต่าง ๆ ของนายทุน
"ทุกอย่างมันเป็นแรงผลักดันว่าสังคมมันไม่เป็นธรรม" อานนท์ เล่า "ที่จุดประกายคือ เวลาเราไปดูกระบวนการยุติธรรมในศาล เราจะได้เห็นว่าชาวบ้านไม่ได้มีปากมีเสียง ต่อให้มีปากมีเสียง แต่ว่าที่จะไปฟาดฟันกับอัยการกับศาลเนี่ย มันจำเป็นที่ต้องมีทนายที่ชัดเจนในจุดยืนและมีองค์ความรู้ มีใจให้กับขบวนชาวบ้านด้วย"
อานนท์บอกว่าประสบการณ์เหล่านี้หล่อหลอมเขาจนกลายมาเป็นทนายทำงานช่วยชาวบ้านเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็นกรณีคัดค้านโรงถลุงเหล็กที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ หรือการสลายการชุมนุมคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา
อานนท์บอกว่า "นับไม่ไหว... 40-50 ได้" เมื่อถามว่าช่วยชาวบ้านในช่วงนี้ไปกี่คดี เขาบอกว่าความสุขคือการได้เป็นเหมือนลูกหลาน "ไปหลับไปนอนในวงชาวบ้าน" และเหมือนเป็น "นักร้องในเวทีคอนเสิร์ต" ในห้องพิจารณาคดีเวลามีมวลชนเป็นร้อย ๆ มาเชียร์
สำนักกฎหมายราษฎรประสงค์
ย้อนไปเดือน มิ.ย. อานนท์เคยยื่นหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดินอันเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์มาแล้ว โดยขอให้มีการเรียกรับคืนงบประมาณในส่วนที่ไม่จำเป็น มาใช้ในการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เขาย้ำเรื่องนี้อีกครั้งในการปราศรัยอีก 2 เดือนต่อมา
"คุณต้องเป็นพวกที่ชอบแทงบอล ซื้อหวยก่อน คุณถึงจะรู้อารมณ์นี้" อานนท์เล่าถึงช่วงก่อนขึ้นเวที 3 ส.ค. "อารมณ์แบบยอมเสียอะ ...ถ้าคุณวางแผนมาก ๆ มันทำให้คุณกลัว ไม่กล้าทำอะไรหรอก"
เขาบอกว่าการพูดถึงประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องที่ต้องคิดอะไรซับซ้อนสำหรับคนที่คลุกคลีกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมานาน อานนท์เป็นทนายที่ว่าความคดีความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มากที่สุดคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นคดีไม่ยืนในโรงหนังของนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ไปจนถึงคดีนายอำพล ตั้งนพกุล หรือ "อากง SMS" ซึ่งถูกศาลตัดสินจำคุก 20 ปี และเสียชีวิตในเรือนจำเมื่อปี 2555
ตลอดเวลาที่ผ่านมา อานนท์บอกว่าเขาพยายามพิสูจน์และนำเสนอต่อทั้งศาล และคนทั่วไปในสังคมว่ากฎหมายมาตรา 112 ไม่ได้ถูกนำมาใช้เรื่องการดูหมิ่นแต่เป็นการ "กดทับของรัฐผ่านกฎหมาย"
จากที่มีคนถูกดำเนินคดีนี้เป็นจำนวนมากหลังเหตุการสลายการชุมนุมปี 2553 ไปสู่การเคลื่อนไหวของ "คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112" หรือ ครก.112 ในปี 2555 ที่ถูกรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปัดตกไป อานนท์บอกว่าความคิดของคนสังคมเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาจนถึงการยื่น 10 ข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันฯ ปัจจุบันด้วยปัจจัยหลัก 2 ประการด้วยกัน
"สถาบันฯ ไม่ได้มีศักยภาพหรือความน่าเชื่อถือพอที่จะพยุงศรัทธาของคนได้เมื่อเทียบกับตอนเริ่มรณรงค์แก้มาตรา 112 ใหม่ ๆ ที่รัชกาลที่ 9 มีบารมีและมีฝ่ายขวาที่แข็งแรง …ประกอบกับตอนนี้ ยังมีกระแสคนรุ่นใหม่ที่มีโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือ มีข้อมูลที่หนักแน่น"
อานนท์บอกว่า "ไม่กังวลเลย" ที่ตอนนี้เขากลับมาตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาคดี 112 เสียเอง
"เรามาไกลมาก มากพอที่จะอยู่ในที่ปลอดภัย ตอนนี้ถ้าเราโดน 112 ก็เป็นแค่รอยข่วนนิดหน่อย เมื่อเทียบกับการได้ขึ้นมายืนบนยอดเขา"
หลังเหตุสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 อานนท์ได้กลายมาเป็น "ทนายเสื้อแดง" ว่าความคดีการเมืองเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นคดี ม.112 คดีฝ่าฝืนพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชากรในสถานการณ์ฉุกเฉิน และคดีเผาศาลากลาง จ.มุกดาหาร และก่อตั้งสำนักกฎหมายราษฎรประสงค์ เพื่อทำคดีการเมืองโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
เขาเล่าว่า คดีที่เขาผูกพันที่สุดคดีหนึ่งคือคดีเผาศาลากลาง จ.มุกดาหาร ที่มีจำเลยมากกว่า 20 คน โดยเกือบทั้งหมดเป็นคนยากคนจน ทำให้นอกจากการทำคดีแล้ว ต้องเข้าไปช่วยเรื่องความเป็นอยู่ของครอบครัวจำเลยด้วย
"ผมเห็นสังคมมาพักใหญ่ ๆ แล้วว่ามันมีความไม่ถูกต้องไม่ชอบธรรมอย่างไร คนเสื้อแดงคือใบเสร็จทางชีวิต ทำให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องจริง เจ็บจริง ตายจริง ติดคุกฟรีจริง"
ในหลายแง่มุม การต่อสู้ครั้งนี้เหมือนเป็นการสานต่อจากการเคลื่อนไหวเมื่อทศวรรษก่อน ที่การชุมนุม "อีสานลั่นกลองรบ" ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อวันที่ 4 ต.ค. อานนท์บอกว่า "จะพาพี่น้องเสื้อแดงไปสู่ชัยชนะด้วยกัน"
ย้อนไปเมื่อการชุมนุมใหญ่วันที่ 19 ก.ย. อานนท์พูดถึงการ "ไม่อยู่เหนือการเมืองของสถาบันฯ" โดยยกตัวอย่างกรณีสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือน้องโบว์ ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อ 7 ต.ค. 2551 โดยตั้งคำถามว่า "จะให้คนเสื้อแดงคิดยังไง"
เขาบอกบีบีซีไทยว่าเชื่อมั่นจริง ๆ ว่าถ้าคนช่วยกันผลักดัน วันหนึ่งจะสามารถนำผู้ที่อยู่เบื้องหลังการตายของคนเสื้อแดงมาลงโทษได้ โดยเปรียบกรณีการสวรรคตของ ร.8 ที่เมื่อเวลาผ่านไป "สังคมก็แทบจะเป็นคนพิพากษายกฟ้อง ชิต สิงหเสนี, บุศย์ ปัทมศริน, เฉลียว ปทุมรส และอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ แล้วว่าพวกเขาไม่ได้เกี่ยวข้อง แล้วแทบจะพิพากษาไปในทางเดียวกันด้วยซ้ำว่าใครเป็นคนที่เกี่ยวข้อง"
"เป็นไปได้ ถ้าเราทำให้สังคมเปลี่ยนใน 4-5 ปีนี้ เราก็อาจจะได้เห็นคนเหล่านั้นขึ้นศาล ไม่แปลกเลย"
จากทนายจำเลยสู่การเป็นจำเลย
ทนายสิทธิมนุษยชนผู้นี้บอกว่า คดีการเมือง "ไม่ใช่เรื่องปกติ" มีลักษณะพิเศษตรงที่มีหลักเหตุผลที่อยู่นอกเหนือกว่าสำนวน และเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์การเมืองและผู้อำนาจ ซึ่งประชาชนมีส่วนกำหนดได้
เขายกตัวอย่างกระแสการชุมนุมและจับกุมนักเคลื่อนไหวที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ว่า "นอกจากในศาลแล้ว มันมีกระบวนการนอกศาลด้วยที่ทำให้สังคม ให้ศาลเห็นว่าความจริงมันเป็นยังไง"
นี่อาจเป็นเหตุผลเดียวกันที่หลังรัฐประหารปี 2557 นอกจากว่าความให้จำเลยที่ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินคดีเพราะการแสดงออกทางการเมืองแล้ว เขาเองก็ลงถนนเคลื่อนไหวด้วยโดยร่วมก่อตั้งกลุ่ม "พลเมืองโต้กลับ" และตกเป็นจำเลยครั้งแรกจากข้อหาชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. จากกิจกรรม "เลือกตั้งที่(รัก)ลัก" ที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ เมื่อปี 2558
อานนท์บอกว่าการเป็นทนายความสิทธิมนุษยชนกับการเคลื่อนไหว "เป็นสิ่งเดียวกัน …เพราะลำพังการว่าความอย่างเดียวแก้ปัญหาไม่ได้" และการได้เห็นปัญหาแล้วเอามารณรงค์นอกศาลยิ่งช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือ
"การผสมทั้งสองเรื่องให้มันมีประสิทธิภาพ นี่ถือเป็นแต้มต่อของผมในการเคลื่อนไหว"
แต่หากย้อนดูการเคลื่อนไหวหลังรัฐประหารครั้งล่าสุดเป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม กิจกรรมยืนเฉย ๆ เรียกร้องให้ปล่อยตัวแอดมินเพจ "เรารัก พล.อ.ประยุทธ์" หรือ กิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ อานนท์กำลังยืนเผชิญหน้ากับรัฐบาล คสช. ไม่ใช่สถาบันกษัตริย์ นั่นหมายความว่าเขาตั้งโจทย์ปัญหาผิดมาก่อนหรือเปล่า
อานนท์บอกว่า "แน่นอนว่ามันไม่มีการแก้ปัญหาที่ผิดจุดเสียทีเดียว" แต่ก็ยอมรับว่า "ต้องบอกว่าช่วงก่อนนี้เราแก้ปัญหาด้วยความกลัวมากกว่า ทั้งที่รู้ว่าปัญหาจริง ๆ มันคืออะไร"
"เอาเข้าจริง เราเห็นต้นตอปัญหามาตั้งแต่มหาวิทยาลัยแล้ว เราได้ศึกษาประวัติศาสตร์ปี 2475 จนถึงช่วงตุลา 2516 และ 2519 จนกระทั่งปี 2553 ผมว่าผมสรุปตัวเองได้แล้วว่าปัญหามันอยู่ที่ไหน เพียงแต่จังหวะจะขับเน้นมันมาประจวบเหมาะในยุคปัจจุบันที่มีการขยายพระราชอำนาจออกไป..."
"คนรุ่นใหม่มันตื่นแล้ว"
ก่อนหน้านี้ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส. ประชาธิปัตย์ และผู้ก่อตั้งกลุ่ม "ไทยภักดี" ซึ่งเป็นการรวบรวมประชาชนผู้ภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ บอกว่าข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ให้หยุดคุกคามประชาชน, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา เป็น "ประชาธิปไตยอำพรางที่ต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์"
สำหรับ 10 ข้อเสนอจากเวที "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" หฤทัย ม่วงบุญศรี หรืออุ๊ อดีตศิลปินชื่อดัง และผู้ก่อตั้งกลุ่มไทยภักดีอีกคนหนึ่ง บอกว่า เป็นการ "โกหก" คนไทยว่าต้องทำเพื่อเชิดชูพระเกียรติของสถาบันฯ แต่จริง ๆ ไม่ใช่เช่นนั้น
ด้าน ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเป็นผู้ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาว่า อานนท์ ภาณุพงศ์ และปนัสยา ล้มล้างการปกครองฯ หรือไม่ บอกว่า "คนเหล่านี้เขาไม่ได้ต้องการปฏิรูปอย่างที่ปากว่า แต่ต้องการปฏิวัติ คือ พลิกเลย" และบนหลายเวทีปราศรัย อานนท์ก็ใช้คำว่า "กลัว", "ไม่กล้าคิดฝัน" เวลาพูดถึงบ้านเมืองที่ระบอบการปกครองเปลี่ยนแปลงไปจากที่เป็นอยู่ ทำให้บางฝ่ายมองว่านี่เป็นเพียงวาทศิลป์ แต่จริง ๆ แล้ว เขากับพวกต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
อานนท์บอกกับบีบีซีไทยว่าสามารถให้คำมั่นสัญญาอย่างแน่นอนว่าเขา "ไม่ได้คิดมากกว่านั้นจริง ๆ ...ส่วนตัวผมเคารพและศรัทธาระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริงอยู่แล้ว"
อย่างไรก็ดี อานนท์บอกว่า "[แต่]พูดกันตรงๆ ถ้าสถาบันกษัตริย์ไม่ยอมปรับตัว ข้อเสนอของคนรุ่นใหม่มันจะเปลี่ยนไปแน่นอน จากสาม จากสิบ อาจจะเหลือแค่หนึ่ง ซึ่งอันนี้มันหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว คนรุ่นใหม่มันตื่นแล้ว"
เมื่อวันที่ 20 ก.ย. อานนท์ ร่วมกับแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ทำพิธีฝังหมุด "คณะราษฎร 2563" ที่พื้นท้องสนามหลวง ซึ่งพวกเขาเรียกขานด้วยชื่อใหม่ว่า "สนามราษฎร์" เพื่อเป็นสัญลักษณ์การทวงคืนอำนาจให้ราษฎรอีกครั้ง เหมือนเมื่อปี 2475 แต่ก็ถูกตำรวจรื้อถอนไปในวันถัดมา
เขาบอกกับบีบีซีไทยว่า อยากให้ลองย้อนอ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 เมื่อ 24 มิ.ย. 2475 ที่ระบุว่า หากในหลวงรัชกาลที่ 7 ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดว่าจะอยู่ "ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ...ก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้น"
เขาบอกว่า "ความหมายของคนรุ่นนี้ก็คงไม่ต่างกันมาก คือเราอยากเห็นพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ อยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง"
หากไม่นับคนที่มีแนวคิดสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง อานนท์บอกว่าจะเหลือ "คนกลาง ๆ" ที่จะเลือกระหว่าง "ระบอบที่มีสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน… กับระบอบที่มีสถาบันกษัตริย์ที่ยังมีอำนาจอยู่เหนือกฎหมาย"
เขาบอกว่านี่เป็นสิ่งที่ "ท้าทายและแปลกใหม่ ...เมื่อมันมีการตั้งคำถามแล้วเนี่ย มันต้องมีคนตอบคำตอบ ไม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ต้องเสียอำนาจของตัวเองไป คือถ้าประชาชนแพ้เนี่ย เราก็อาจจะไม่มีอำนาจไม่มีเสรีภาพในประเทศนี้ไปอีกสักพักใหญ่ ๆ เลยทีเดียว"
กลอนบทหนึ่งจากหนังสือรวมบทกวี "เหมือนบอดใบ้ไพร่ฟ้ามาสุดทาง" จากปี 2554 ของอานนท์ มีความว่า :
"...หนูกับแม่ อยู่ทางนี้ สบายดี
ยังคอยพ่อ ที่นี่ ไม่ไปไหน
แม้บางวัน เห็นแม่ นั่งผิงไฟ
แอบร้องไห้ เงียบงัน อยู่ทั้งคืน"
นี่เป็นประสบการณ์จากการว่าความให้จำเลยคดีเผาศาลากลาง จ.มุกดาหาร แต่ขณะเดียวกันก็เผยให้เห็นว่าอานนท์เองเข้าใจดีว่าจะเป็นอย่างไรหากวันหนึ่งต้องพรากจากลูกของเขาเพราะการเคลื่อนไหวที่ทำอยู่
นั่นเท่ากับว่าเขารักประชาธิปไตยมากกว่าลูกสาววัยอนุบาลของเขาหรือเปล่า
"ถ้าเราชนะในประชาธิปไตย ลูกเราก็จะมีชีวิตที่ดีกว่า" อานนท์ ว่า "ถ้าเราแพ้หรือถ้าผมไม่สู้ อนาคตลูกผมก็ต้องมาสู้ อนาคตก็อาจจะเป็นเขาอะที่โดนยิง"
"ถ้าเราทำให้บ้านเมืองดี มันไม่ได้ดีเฉพาะครอบครัวของเรา มีครอบครัวอีกหลายหมื่นหลายพันคนที่เขาจะมีชีวิตที่ดี ไม่ต้องมีใครต้องมาติดคุกติดตารางเพราะเรื่องโง่ ๆ อีก"
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar