“คุกไม่ควรมีไว้ขังคนจน แต่ควรมีไว้ขังคนที่ควรขังในเวลาที่ควรขังเท่านั้น” เมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา กล่าว
เมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา กับนิยาม “กระบวนการยุติธรรมที่ดี” เมื่อ “คุกไม่ได้มีไว้ขังคนจน”
- หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
- ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
ประธานศาลฎีกาใช้เวทีเสวนาวิชาการ ประกาศภาพลักษณ์ใหม่ของศาลยุติธรรมในฐานะ "ผู้ให้บริการประชาชน" พร้อมระบุ "จะไม่เป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนอีกต่อไป แต่เป็นที่พึ่งแรกของประชาชน"
การประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 18 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ "การอํานวยความยุติธรรมในยุควิถีใหม่สู่ประชาชน" โดยมีผู้นำสูงสุดของกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ "ต้นน้ำ" ยัน "ปลายน้ำ" ตั้งแต่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) อัยการสูงสุด ประธานศาลฎีกา รวมถึงปลัดกระทรวงยุติธรรม ร่วมปาฐกถาพิเศษผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งในช่วงดังกล่าวมีผู้เข้าฟังกว่า 1 พันคน
นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา เริ่มต้นการปาฐกถาด้วยการกล่าวขอบคุณผู้จัดงานที่เปิดโอกาสให้เข้าร่วมเวทีนี้ เพราะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เปิดกระบวนการทำงานของศาลให้คนภายนอกได้รับทราบ
"ในฐานะที่ศาลอยู่ส่วน 'ปลายน้ำ' เป็นคนที่อยู่ตรงท้ายสุด ก็จะถูกพูดถึงบ่อย ๆ ว่าส่งคนเข้าเรือนจำ มีแต่คนจนอยู่ในคุก อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาหลายสิบปี เห็นคนในกระบวนการยุติธรรมได้พยายามทำงานร่วมกันโดยไม่แบ่งส่วน" ประธานศาลฎีกากล่าว
- ราชทัณฑ์ยืนยัน "ไมค์ ภาณุพงศ์" ติดโควิด คาด "รุ้ง ปนัสยา" ติดเชื้อหลังปล่อยตัว
- ศาลให้ประกันตัว เพนกวิน-แอมมี่ เลื่อนไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวไมค์
- ปล่อยตัวชั่วคราว รุ้ง-ปนัสยา ราชทัณฑ์ย้ายเพนกวินเข้า รพ.เรือนจำ ยืนยันอานนท์ติดโควิด
- จุดเปลี่ยนและปรากฏการณ์ใหม่ในระหว่างการต่อสู้คดีชุมนุม 19 กันยาฯ ของ 7 แกนนำราษฎร
- เปิดสำนวนตำรวจ ทำอะไรถึงเข้าข่าย "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ"
นางเมทินียัง "ขอส่งความห่วงใย" ไปยังเรือนจำและกรมราชทัณฑ์ หลังติดตามข่าวสารล่าสุดที่เกิดขึ้น
วานนี้ (12 พ.ค.) กรมราชทัณฑ์เพิ่งออกเอกสารข่าวยอมรับเป็นครั้งแรกว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในเรือนจำรวม 2,835 ราย หลังตรวจหาเชื้อเชิงรุกทั้งในเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และผู้ต้องขัง 100% โดยอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง 1,040 ราย และเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 1,795 ราย ก่อนชี้แจงอีกครั้งว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นยอดผู้ป่วยสะสมภายในเรือนจำในการระบาดระลอกเดือน เม.ย.
การออกมาเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะของกรมราชทัณฑ์เกิดขึ้นหลังจากแกนนำและแนวร่วมกลุ่ม "ราษฎร" ซึ่งเป็นผู้ต้องขัง/อดีตผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี 112 ภายในเรือนจำทั้ง 2 แห่ง กลายเป็นผู้ป่วยโควิด-19 อย่างน้อย 5 คน ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องจากหลายภาคส่วนในสังคมให้กรมราชทัณฑ์ชี้แจงข้อเท็จจริง
อย่างไรก็ตามไม่มีผู้ปาฐกถารายใดหยิบยกปัญหา "โควิดในเรือนจำ" ขึ้นมาพูดถึงเป็นการเฉพาะแต่อย่างใด
อนุรักษนิยม-มีพิธีรีตอง-ใช้อำนาจสั่งอย่างเดียว-ซับซ้อน เป็นแค่ "ภาพเก่า" ของศาล
"กระบวนการยุติธรรมที่ดี" ถูกนิยามโดยประธานศาลฎีกาคนที่ 46 ว่า ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความเป็นธรรม หรือสร้างความสงบสุขให้สังคมเท่านั้น แต่กระบวนการยุติธรรมที่ดี เชื่อมั่นได้ และพึ่งพาได้ ยังจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสร้างความมั่นคงให้ประเทศชาติด้วย
ในฐานะที่รับราชการเป็นผู้พิพากษามา 40 ปี เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมในช่วงหลังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น
"ภาพของศาลในความคิดคำนึงของคนข้างนอกที่มองเข้ามา จะคิดว่าอนุรักษนิยม มีขนบ มีพิธีรีตอง หรือมีอะไรที่เป็นของตัวเองค่อนข้างมาก หรือเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจสั่งอย่างเดียว ซับซ้อนในกระบวนการพิจารณา เป็นองค์กรที่ถามก็ไม่ตอบ นั่งนิ่ง ก็แล้วแต่ประสบการณ์ของท่านที่มาสัมผัสจะพบอย่างไร แต่คิดว่าเป็นภาพในอดีต ถ้ามองศาลในปัจจุบันจะพบว่ามีความพยายามใกล้ชิดกับประชาชน รับฟัง และเปิดบ้านออกไปเพื่อแสดงความโปร่งใส คิดว่าวิธีคิดของผู้พิพากษาในปัจจุบันเปลี่ยนไปนานแล้ว แต่เราไม่ได้เปิดสิ่งที่คิดในใจออกสู่สาธารณะ" นางเมทินีกล่าว
จากนั้นประธานศาลฎีกาหญิงคนแรกได้ไล่เรียงความเปลี่ยนแปลงของศาลไทย ซึ่งบีบีซีไทยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
หนึ่ง เปลี่ยนวิธีคิดจาก "ศาลมีอำนาจหน้าที่พิพากษาอรรถคดี" เป็น "ศาลมีหน้าที่ให้บริการ" แม้อำนาจหน้าที่เป็นถ้อยคำตามรัฐธรรมนูญและตัวบทกฎหมาย แต่นางเมทินียอมรับว่าคำว่า "อำนาจ" อาจทำให้คนมองศาลผิดไปจากสิ่งที่ปฏิบัติต่อประชาชนหรือคู่ความที่เข้ามาในศาล
"พอเราคิดแบบนั้น การทำงานก็จะเปลี่ยนไป เพราะในการให้บริการต้องคำนึงถึงความพึงพอใจของคนที่มาติดต่อเรา ดังนั้นจะเห็นภาพผู้พิพากษาในระดับสูงทำงานเชิงรุกในหลายรูปแบบ และการที่ศาลออกไปหาประชาชนอย่างจริงจัง ไปให้ความรู้กฎหมาย ไปเล่าให้เขาฟังว่าทำอะไร ทำให้เราพบว่ามีคนจำนวนมากในประเทศนี้ไม่ยังไม่รู้สิทธิพื้นฐานของตัวเองเลย โดยเฉพาะสิทธิของกระบวนการยุติธรรม เมื่อถูกรังแกตามกฎหมายต้องวิ่งไปที่ไหน ยังไง มีค่าใช้จ่ายไหม ต้องติดต่อหน่วยไหน"
สอง ส่งเสริมความเสมอภาคด้วยการเปิดศาลแขวงและศาลจังหวัดในพื้นที่ห่างไกล โดยนางเมทินีประกาศว่า "เราจะไม่ปล่อยให้พื้นที่หนึ่งพื้นที่ใดของไทยที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการบริการทางการศาลได้" ด้วยเพราะความเสมอภาคเป็น 1 ใน 5 หลักการภายใต้นโยบายของประธานศาลฎีกาปี 2563-2564 ที่ประกอบด้วย ส่วนรวม, เสมอภาค, สมดุล, ส่งเสริม และสร้างสรรค์
สาม นำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น ซึ่งวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้เกิดโอกาสสร้างวิถีใหม่ขึ้นในศาล
ประธานศาลฎีกาเปิดเผยว่า ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกเมื่อปี 2563 ทำให้ศาลต้องยกเลิกวันนัด/เลื่อนคดีไปถึง 163,620 คดี ก่อนกำหนดวันนัดใหม่ได้
"ช่วงโควิดรอบแรก คู่ความก็ไม่อยากมา ศาลก็กลัว ยิ่งเบิกจำเลยมาจากเรือนจำยิ่งอันตราย เพราะเรือนจำต้องมีหลักเกณฑ์ เอาไปกักตัว ถ้าเข้า ๆ ออก ๆ ผู้คุมก็ไม่ปลอดภัย ตำรวจศาล และเจ้าหน้าที่ศาลก็ไม่ปลอดภัย" นางเมทินีกล่าว
มาถึงการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ นับจากเดือน เม.ย. 2564 คณะกรรมการติดตามสถานการณ์โควิดของศาล "ได้ติดตามมาตลอด และสถานการณ์วันนี้ไม่รู้อนาคตจะเป็นไง จะเลื่อน (การพิจารณา) ไปเรื่อย ๆ ไม่ได้" จึงใช้ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 ทำให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปได้ โดยผ่านแอปพลิเคชั่น อาทิ ไลน์, ซูม, กูเกิ้ล มีต แม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือธรรมดา
วอนสังคมเปิดใจ พร้อมประกาศ "เป็นที่พึ่งแรกของประชาชน"
เมื่อวิธีคิดของผู้พิพากษาเปลี่ยนเป็นการให้บริการประชาชน ประธานศาลฎีกาคนที่ 46 จึงกลับมาทบทวน-ตั้งคำถามกับตัวเองว่าถ้าเป็นประชาชนผู้ใช้บริการ อยากได้อะไร ก่อนพบคำตอบ 3 คำคือ "ถูกต้อง เป็นธรรม รวดเร็ว"
ในนามของความ "ถูกต้อง" นางเมทินีแสดงความเชื่อมั่นว่าคนที่ผ่านสนามสอบสุดหิน จนเข้ามาเป็นผู้พิพากษาได้ ย่อมมีความรู้ทางกฎหมายทุกคน แต่ยังไม่พอ เพราะต้องอบรมพัฒนาสร้างจิตสำนึกในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง
เธอจึงประกาศปรับโฉม "สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม" ให้เป็น "สถาบันวิชาการ" พร้อมบอกด้วยว่า "ฝันจะเห็นว่าจะมีครูอาจารย์เข้ามาร่วมอบรมกับสถาบัน" นอกเหนือจากคนในแวดวงยุติธรรมอย่างตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา
"เราทำงานคนละจุด เวลามองในมุมที่แตกต่าง อาจเห็นคนอื่นในมุมที่เรามองเท่านั้น แต่ถ้ามานั่งรวมกัน ก็จะเข้าใจมากขึ้น... กระบวนการยุติธรรมที่จะขับเคลื่อนไป ไม่ใช่แค่หน่วยงานด้านยุติธรรมเท่านั้น แต่ต้องอาศัยนักวิชาการ อาจารย์ที่สอนวิชาการกฎหมายในมหาวิทยาลัยด้วย" ประธานศาลฎีกากล่าว
ส่วนความ "รวดเร็ว" นางเมทินีประกาศว่าองค์กรตุลาการ "ก้าวผ่านคำว่าพิจารณาคดีที่ล่าช้าไปแล้ว" โดยหยิบยกมาตรฐานระยะเวลาการพิจารณาพิพากษาคดีในศาลชั้นต้นมาแจกแจงเป็นรายประเภทของคดี ในจำนวนนี้คือคดีอาญาที่จำเลยต้องขังระหว่างพิจารณา กำหนดเวลาไม่เกิน 6 เดือนนับแต่วันออกหมายขังระหว่างพิจารณา และในการขอปล่อยชั่วคราว ต้องได้รับคำสั่งภายใน 1 ชม.
"แต่ละคดี จะถูกมอนิเตอร์ (ติดตาม) โดยผู้บังคับบัญชาว่าทำได้หรือไม่ได้ เพราะเราตระหนักตามสุภาษิตที่ว่า 'ความล่าช้าคือความอยุติธรรมอย่างหนึ่ง'"
ส่วนในศาลสูง ได้นัดประชุมผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 20 พ.ค. เพื่อกำหนดมาตรฐานระยะเวลาการพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์และประกาศต่อสาธารณะต่อไป แต่สำหรับศาลฎีกา นางเมทินีเล่าว่าทุกคดีอ่านโดยระบบจอภาพไปเรือนจำและศาลชั้นต้น โดยไม่ต้องเสียเวลาส่งคำพิพากษาศาลฎีกาไปเพราะจะช้า ผลดีคือถ้ายกฟ้อง ก็ได้ปล่อยตัวเลย แต่ถ้ามีคำพิพากษา ก็สามารถออกหมายจำคุกถึงที่สุดเพื่อให้จำเลยได้รับสิทธิตั้งแต่วันนั้น
ส่วน "เป็นธรรม" นางเมทินีตีความว่าเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้เข้ามาเกี่ยวข้อง พร้อมย้ำว่าต้องการลดการคุมขังโดยไม่จำเป็น สะท้อนผ่านการรับพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ, การให้ทำคำร้องใบเดียว ไม่จำเป็นไม่ต้องเรียกหลักประกัน แล้วให้ปล่อยตัวมา และการให้ผู้พิพากษาไปสัมภาษณ์จำเลยในเรือนจำต้นแบบ 10 แห่ง ด้วย 3 คำถามหลัก ได้แก่ 1) ทำไมไม่ขอประกัน 2) การไม่ได้รับประกันมีผลอะไร และ 3) คาดหวังอะไรจากกระบวนการยุติธรรม
"เป็นการพบกันระหว่างผู้ตัดสินกับผู้จะถูกตัดสิน เราพบว่าจำเลยส่วนใหญ่คิดว่าต้องมีเงินถึงจะขอประกันได้... โดยภาพรวมคุกไม่ควรมีไว้ขังคนจน แต่ควรมีไว้ขังคนที่ควรขังในเวลาที่ควรขังเท่านั้น" ประธานศาลฎีกากล่าว
นางเมทินีกล่าวต่อไปว่า ในวันที่เราอยู่ข้างนอก เราไม่เกี่ยวข้อง เราเรียกร้องหาความเป็นกลาง ถูกต้อง เป็นธรรม เราอยากให้ท่านมองจากมุมที่เป็นกลางด้วย สิ่งเดียวกันมองต่างมุม เราอาจเห็นต่างได้ อยากให้เปิดใจ และมองสิ่งที่ศาลยุติธรรมพยายามทำเพื่อให้เป็นกลาง ไม่ว่าจะมองเห็นในมุมเดียวกับเราหรือไม่ อยากให้ลองมองเข้าไปใหม่ อาจเห็นว่าเราพยายามทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
ประธานศาลฎีกายังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ศาลยุติธรรม "จะไม่เป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนอีกต่อไป แต่เป็นที่พึ่งแรกของประชาชน และมั่นใจว่าเป็นที่พึ่งได้แท้จริงตลอดไป"
ตลอดปีที่ผ่านมา กระบวนการยุติธรรมของไทยต้องเผชิญกับภาวะท้าทายอย่างหนัก เมื่อตำรวจใช้กำลังและอาวุธเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม "ราษฎร" หลายครั้งหลายหน ขณะที่บรรดาแกนนำ/แนวร่วม "ราษฎร" ที่ถูกตั้งข้อหาในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็ถูกจับกุมคุมขัง และไม่ได้รับสิทธิประกันตัวในระหว่างการพิจารณาคดี ต่างจากสถานการณ์ของผู้ถูกกล่าวหา/ผู้ต้องหา/จำเลยที่มีความสัมพันธ์กับฝ่ายรัฐบาล ทั้งนี้มี 2 กรณีที่ถูกพูดถึงในเชิงเปรียบเทียบและตั้งคำถามต่อคนในแวดวงยุติธรรมและตุลาการของไทย พร้อมจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อ "ทวงคืนความยุติธรรม"
- กรณี "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" (กปปส.) รวม 26 คน ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกเป็นเวลาตั้งแต่ 4 เดือน ถึง 9 ปี 24 เดือน ในคดีชุมนุมขับไล่รัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างปี 2556-2557 ก่อนได้รับสิทธิประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์คดี
- กรณี ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ไม่ขาดสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. และไม่ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ด้วยมติ "เอกฉันท์" ของศาลรัฐธรรม ทั้งที่เคยต้องคำพิพากษาจำคุกโดยศาลออสเตรเลีย ในคดีที่เกี่ยวพันกับยาเสพติดมาก่อน
อย่างไรก็ตามประเด็นเหล่านี้ ไม่ถูกพูดถึงในเวทีเสวนาเพื่ออํานวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนในครึ่งวันเช้าของวันนี้ โดยผู้ปาฐกถาได้หยิบยกเรื่องการปรับการทำงานให้สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มานำเสนอเป็นส่วนใหญ่
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar