ธรรมนัส

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พปชร.

แม้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันทุกองค์กร แต่มติ "เอกฉันท์" ของตุลาการทั้ง 9 คน ให้สมาชิกภาพ ส.ส. และความเป็นรัฐมนตรีของ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่สิ้นสุดลง หาได้ทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์สงบลงในรอบ 48 ชม. ที่ผ่านมา

นักการเมือง นักวิชาการด้านกฎหมาย และคนในแวดวงตุลาการบางส่วน ต่างออกมาแสดงความผิดหวังต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 5 พ.ค. ที่ตีความว่า ร.อ. ธรรมนัส ไม่ต้องพ้นสถานะทางการเมือง แม้เคยถูกจำคุกในคดียาเสพติดในประเทศออสเตรเลีย แต่ไม่ใช่คำพิพากษาของศาลไทย

ประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด หนีไม่พ้น การตีความคำว่า "ต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด" ตามมาตรา 98 (10) ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ซึ่งปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ยก "หลักอธิปไตย" และ "หลักการต่างตอบแทน" ขึ้นมาสร้างบรรทัดฐานใหม่ว่าให้ยึดแต่คำพิพากษาของศาลไทย ไม่รวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ไม่เช่นนั้นจะทำให้ "อำนาจอธิปไตยทางศาลของไทยถูกกระทบกระเทือนอย่างมีนัยสำคัญ"

จริงอยู่ที่ปัญหาคุณสมบัติตามกฎหมายของ ร.อ. ธรรมนัส ทั้งในฐานะ ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ในรัฐบาล "ประยุทธ์ 2" เป็นอันต้องยุติข้อถกเถียง แต่ความเคลื่อนไหวในการเอาผิดจริยธรรมร้ายแรงโดยพรรคร่วมฝ่ายค้านเพิ่งเริ่มต้นขึ้น

พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย (สร.) ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ประกาศว่าทันทีที่ได้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม จะนำไปประกอบการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้เอาผิด ร.อ. ธรรมนัส ฐาน "ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง" และเอาผิด พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ด้วยการแต่งตั้งบุคคลต้องโทษคดียาเสพติดเป็นรัฐมนตรี

เช่นเดียวกับนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่ระบุว่า พรรคของเขาจะไม่หยุดตรวจสอบเพียงเท่านี้ แต่จะส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช. และศาลฎีกาต่อไป เนื่องจากกรณีนี้เป็นการทำผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งในระหว่างการไต่สวนคดี ร.อ.ธรรมนัส ยังได้ยอมรับกับศาลเองว่าเคยต้องคำพิพากษาจากศาลออสเตรเลียให้จำคุกมาก่อน

นายกฯ นำ ครม. "ประยุทธ์ 2/1" ถ่ายภาพหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 16 ก.ค. 2562 โดยมี ร.อ. ธรรมนัส เป็นหนึ่งในรัฐมนตรีหน้าใหม่ด้วย

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

นายกฯ นำ ครม. "ประยุทธ์ 2/1" ถ่ายภาพหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 16 ก.ค. 2562 โดยมี ร.อ. ธรรมนัส เป็นหนึ่งในรัฐมนตรีหน้าใหม่ด้วย

อย่างไรก็ตามสื่อหลายสำนัก อาทิ มติชน เดลินิวส์ รายงานโดยอ้างความเห็นของนายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษก ป.ป.ช. ว่า แต่ก่อนหน้านี้ เคยมีผู้ยื่นร้องสอบจริยธรรม ร.อ. ธรรมนัส กรณีต้องคำพิพากษาจำคุกที่ประเทศออสเตรเลียมาแล้ว หากฝ่ายค้านยื่นคำร้องในลักษณะเดียวกันเข้ามาเพิ่ม คงนำไปรวมเป็นสำนวนเดียวกัน แล้วรายงานให้ที่ประชุม ป.ป.ช. ชุดใหญ่รับทราบว่าจะพิจารณาดำเนินการอย่างไรต่อไป อย่างไรก็ตามการร้องเรียนเรื่องการทำผิดจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะต้องเป็นการกระทำผิดระหว่างปฏิบัติหน้าที่เป็น ส.ส. หรือรัฐมนตรี ถ้าเป็นพฤติการณ์กระทำผิดก่อนหน้ามารับตำแหน่งทางการเมือง จะไม่เข้าข่ายการทำผิดจริยธรรม

มีข้อกฎหมาย ระเบียบ และความเห็นทางกฎหมายอะไรที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงบ้าง บีบีซีไทยประมวลมาไว้ ณ ที่นี้

หนึ่ง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 ตราขึ้นในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย มีเนื้อหารวม 42 มาตรา

มาตรา 5 บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แม้กระทำนอกราชอาณาจักร ผู้นั้นจะต้องรับโทษในราชอาณาจักร..." แต่ถึงกระนั้น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 10 ห้ามมิให้ลงโทษผู้นั้นในราชอาณาจักรซ้ำอีก หาก "ศาลในต่างประเทศพิพากษาลงโทษ และผู้นั้นได้รับโทษแล้ว" แต่ให้รายงานต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)

สอง ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด พ.ศ. 2542 ออกมาในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย มีเนื้อหารวม 24 ข้อ โดยมีจุดประสงค์เพื่อวางแนวทางปฏิบัติตนขั้นต้นของเจ้าหน้าที่ของรัฐ "โดยมิให้เข้าไปช่วยเหลือ หรือรับความช่วยเหลือ หรือคบค้าสมาคมกับบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อันจะเป็นวิธีการป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด"

สื่อออสเตรเลียเผยแพร่เรื่องราวและภาพข่าวของ ร.อ. ธรรมนัส ระหว่างการชี้แจงว่าตัวเองมีคุณสมบติครบถ้วนในการดำรงตำแหน่ง รมต. เมื่อปี 2562
คำบรรยายภาพ,

สื่อออสเตรเลียเผยแพร่เรื่องราวและภาพข่าวของ ร.อ. ธรรมนัส ระหว่างการชี้แจงว่าตัวเองมีคุณสมบติครบถ้วนในการดำรงตำแหน่ง รมต. เมื่อปี 2562

นิยามของการ "เกี่ยวข้องกับยาเสพติด" หมายถึง พฤติการณ์ซึ่งพิจารณาจากข้อมูล ข่าวสาร หรือพยานหลักฐานใด ๆ แล้วมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดอันเป็นความผิดตามกฎหมาย

เนื้อหาข้อ 24 ระบุว่า ในกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้รับแจ้งหรือทราบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนอกราชอาณาจักร ให้ กต. แจ้งไปยังเลขาธิการคณะกรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) โดยเร็วเพื่อให้เลขาธิการ ป.ป.ส. สรุปข้อเท็จจริงและรายงานต่อ ป.ป.ส. และแจ้งไปยังผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น... และเมื่อคดีถึงที่สุดเป็นประการใด ให้รายงาน ป.ป.ส. และแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

สาม บันทึกความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอย่างน้อย 2 ฉบับ ซึ่งตีความแตกต่างกัน โดยความเห็นหลังที่ออกมาในปี 2554 คล้ายเป็นการ "ตีความแก้" ความเห็นแรกที่ออกมาก่อนในปี 2525 และทำให้นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง และ "มือกฎหมาย" พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ตั้งข้อสังเกตว่าฝ่ายค้านอาจขาดประสบการณ์ จึงไม่ได้หยิบกฎหมายที่อ้างถึงความผิดในต่างประเทศและไทยมาอ้างอิงและเชื่อมโยงในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ 276/2525 เป็นการตีความคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 มาตรา 96 (5) ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบจัดการเลือกตั้งในขณะนั้น ทำหนังสือขอหารือไป

คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 5 พิจารณาแล้วเห็นว่า ในการรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าบุคคลใดที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกไม่ว่าในประเทศหรือในต่างประเทศตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีในวันเลือกตั้ง ซึ่งมิใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทแล้ว ก็ย่อมถือได้ว่าบุคคลนั้นเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 96 (5) ของรัฐธรรมนูญ

คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเจตนารมณ์ของมาตรา 96 (5) เอาไว้ว่า แม้บทบัญญัติมิได้ระบุว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก เป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำคุกของศาลในประเทศใด และบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้งผู้ ส.ส. เพราะเห็นว่าเป็นบุคคลที่มีความประพฤติไม่เหมาะสม "ถ้าต้องห้ามเฉพาะการกระทำผิดในประเทศ ไม่เกี่ยวกับการกระทำผิดในต่างประเทศ ก็จะเกิดการลักลั่นไม่เป็นธรรม และขัดกับเหตุผลในกรณี เช่น ความผิดอย่างเดียวกัน มีโทษอย่างเดียวกัน ถ้าทำผิดในประเทศ ต้องห้าม ถ้าทำผิดในต่างประเทศไม่ต้องห้าม"

MP

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ 562/2554 เป็นการตีความคำพิพากษาของศาลต่างประเทศว่ามีผลผูกพันกับศาลไทยอย่างไร ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ในฐานะรับผิดชอบเรื่องการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทำหนังสือขอความเห็นไป หลังพบว่ามีบุคลากรของส่วนราชการถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญาในต่างประเทศ และศาลต่างประเทศได้พิพากษาลงโทษจำคุก

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ. 2536 กำหนดให้บุคคลที่พึงได้รับการพิจารณาเสนอขอพระราชทานเครื่องราชฯ ต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ยกเว้นเป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. 2548 กำหนดเหตุแห่งการเรียกคืนเครื่องราชฯ กรณีเป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2 พิจารณาแล้วเห็นว่า 1. บุคคลใดเคยรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลต่างประเทศ ไม่ต้องด้วยลักษณะต้องห้ามในการขอรับพระราชทานเครื่องราชฯ 2. บุคคลใดถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญาและอยู่ระหว่างสอบสวนของพนักงานสอบสวนของต่างประเทศ หรืออยู่ระหว่างการดำเนินคดีอาญาในศาลต่างประเทศ ไม่ต้องด้วยเงื่อนไขที่คณะกรรมการพิจารณาการเสนอขอพระราชทานเครื่องราชฯ จะมีมติให้รอการพิจารณาขอพระราชทานเครื่องราชฯ และ 3. บุคคลใดเป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกโดยศาลต่างประเทศ ไม่ต้องด้วยเหตุแห่งการเรียกคืนเครื่องราชฯ

ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาเพียง 15 นาทีในการอ่านคำวินิจฉัยคดี ร.อ. ธรรมนัส เมื่อ 5 พ.ค. 2564

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาเพียง 15 นาทีในการอ่านคำวินิจฉัยคดี ร.อ. ธรรมนัส เมื่อ 5 พ.ค. 2564

เนื้อหาที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตอบ สลค. กรณีเครื่องราชฯ เมื่อปี 2554 มีความคล้ายคลึงอย่างยิ่งกับคำวินิจฉัยคดี ร.อ. ธรรมนัส โดยกฤษฎีกาอ้างถึง "ขอบเขตการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ" โดยระบุว่า "บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกล่าวถึงคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล ย่อมหมายถึงคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลไทยเท่านั้น ไม่อาจตีความให้รวมถึงคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศได้ เพราะจะขัดกับหลักการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ" เว้นแต่หากผู้ตรากฎหมายประสงค์จะยอมรับคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศให้มีผลต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายไทยด้วย ย่อมต้องบัญญัติไว้อย่างชัดเจน เช่น พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 12 (6)

นอกจากนี้ กฎหมายของแต่ละประเทศย่อมกำหนดการกระทำที่เป็นความผิดทางอาญา ประเภทของความผิด องค์ประกอบของความผิด เงื่อนไขการลงโทษ และวิธีพิจารณาคดีอาญาไว้แตกต่างกัน ซึ่งหลักเกณฑ์การพิจารณาว่ากรณีใดเป็นคำพิพากษาที่ถึงที่สุด กรณีใดเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษของกฎหมายแต่ละประเทศอาจแตกต่างจากกฎหมายไทย โดยการกระทำอย่างเดียวกัน กฎหมายของบางประเทศอาจกำหนดให้เป็นความผิดทางอาญา แต่กฎหมายไทยไม่ได้กำหนดให้เป็นความผิด และกฎหมายของบางประเทศก็อาจไม่มีเรื่องความผิดลหุโทษดังเช่นกฎหมายไทย

"หากตีความให้ยอมรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ กระบวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนของต่างประเทศ และการดำเนินคดีอาญาในศาลต่างประเทศ จะส่งผลให้การบังคับใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชฯ มีความลักลั่นและไม่ได้มาตรฐานเดียวกัน อันจะก่อให้เกิดปัญหาโต้แย้งตามมาเป็นอย่างมาก" บันทึกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการะบุตอนหนึ่ง

สี่ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ยกร่างและประกาศใช้ในยุครัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีเนื้อหารวม 279 มาตรา

คณะกรรมร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เคยขนานนามกติกาสูงสุดฉบับนี้ว่าเป็น "รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง"

มีชัย ฤชุพันธุ์ ในวันพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เมื่อ 6 เม.ย. 2560

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

มีชัย ฤชุพันธุ์ ในวันพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เมื่อ 6 เม.ย. 2560

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวในวันเปิดเผยร่างแรกรัฐธรรมนูญต่อสาธารณะเมื่อ 29 ม.ค. 2559 ว่ารัฐธรรมนญฉบันนี้เน้นการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง เพื่อให้การเมืองไม่ใช่ที่ฟอกตัวของบุคคลที่เคยกระทำความผิด จึงใช้หลักการเดียวกับที่ใช้กับผู้ใหญ่บ้าน

"ใครทำผิดบางอย่างที่รุนแรง ศาลตัดสินว่ามีความผิด ไม่ว่าถูกลงโทษหรือไม่ ได้รับการล้างมลทินหรือไม่ คนเหล่านั้นจะกลับมาเป็น ส.ส. ไม่ได้ โดยกำหนดความผิด เช่น เจ้ามือพนัน ฟอกเงิน ค้ายาเสพติด รวมถึงฉ้อโกงประชาชน ซึ่งจะทำให้เข้าสู่การเมืองไม่ได้ ตราบใดที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังอยู่" สื่อหลายสำนัก อาทิ โพสต์ทูเดย์ และแนวหน้า รายงานโดยอ้างคำกล่าวของนายมีชัย

สำหรับมาตราที่ปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้วคือ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) สมาชิกภาพของ ส.ส. ไม่สิ้นสุดลง และตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10) ความเป็นรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการตอบและตีความตามตามคำร้องของ 51 ส.ส. ฝ่ายค้านที่ยื่นไป

ทว่าเนื้อหาอื่น ๆ ที่บรรดาผู้ติดตามการออกนั่งบัลลังก์ของศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าควรพูดถึง และเป็น "ดาบต่อไป" ในการเอาผิดรัฐมนตรี เจ้าของวาทะอันลือลั่น "มันคือแป้ง" หนีไม่พ้นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับจริยธรรม โดยมีการหยิบยกคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีที่ระบุไว้ในมาตรา 160 มาตั้งคำถาม

  • มาตรา 160 (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
  • มาตรา 160 (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
รมช.เกษตรฯ นั่งดูผลลงมติ "ไว้วางใจ" ตัวเขา หลังเสร็จศึกอิภปรายไม่ไว้วางใจเดือน ก.พ. 2563

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

รมช.เกษตรฯ นั่งดูผลลงมติ "ไว้วางใจ" ตัวเขา หลังเสร็จศึกอิภปรายไม่ไว้วางใจเดือน ก.พ. 2563

ห้า มาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 จัดทำโดยศาลรัฐธรรมนูญยุคที่มีนายนุรักษ์ มาประณีต เป็นประธาน ร่วมกับองค์กรอิสระต่าง ๆ และให้บังคับใช้กับ ส.ส. ส.ว. และ ครม. ด้วย มีเนื้อหารวม 28 ข้อ โดยมีการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมเป็น 3 ระดับคือ มาตรฐานจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ ค่านิยมหลัก และจริยธรรมทั่วไป เนื้อหาบางส่วนระบุไว้ ดังนี้

  • ข้อ 7 ระบุว่า ต้องถือประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน
  • ข้อ 8 ระบุว่า ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
  • ข้อ 12 ระบุว่า ยึดมั่นหลักนิติธรรม และประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน
  • ข้อ 17 ระบุว่า ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง
  • ข้อ 19 ระบุว่า ไม่คบค้าสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติ หรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่
อภิปราย

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

ร.อ. ธรรมนัส ต้องตอบคำถามกลางสภาหลายครั้ง ทั้งกรณีคุณสมบัติจากการต้องคำพิพากษาศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ในอดีต และเรื่องวุฒิ "ด็อกเตอร์" ของเขา

หากผู้ใดเห็นว่า ส.ส. คนใดมีพฤติกรรมฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม ก็ให้ยื่นเรื่องต่อประธานสภา ในฐานะประธานคณะกรรมการจริยธรรมสภา (ตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563)

หากเห็นว่าข้าราชการการเมืองคนใดมีพฤติกรรมฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม ก็ให้ยื่นเรื่องต่อนายกรัฐมนตรี

หก ข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ พ.ศ. 2561 ออกมาในสมัยที่นายอุตตม สาวนายน เป็นหัวหน้าพรรค มีเนื้อหา 13 หมวด รวม 114 ข้อ

สำหรับ "มาตรฐานทางจริยธรรม" ของสมาชิกพรรคและกรรมการบริหารพรรค ถูกบรรจุไว้ในหมวด 8 โดยเขียนล้อไปกับมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฯ มีเนื้อหาเหมือนกันทุกตัวอักษร ยกเว้นเลขข้อ ได้แก่

  • ข้อ 60 ระบุว่า ต้องถือประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน
  • ข้อ 61 ระบุว่า ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
  • ข้อ 65 ระบุว่า ยึดมั่นหลักนิติธรรม และประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน
  • ข้อ 70 ระบุว่า ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง
  • ข้อ 72 ระบุว่า ไม่คบค้าสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติ หรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่
พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้าร่วมประชุม พปชร. ในฐานะหัวหน้าพรรคเป็นครั้งแรก

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้าร่วมประชุม พปชร. ในฐานะหัวหน้าพรรคเป็นครั้งแรก

อย่างไรก็ตามนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้า พปชร. และ "มือกฎหมาย" ของพรรค ชิงออกมาตีความ-ตีกันบรรดา "นักร้อง" ทั้งหลายไว้ล่วงหน้าแล้วว่า การเรียกร้องให้สอบจริยธรรมในส่วนของพรรค "ต้องเกิดขณะเป็นสมาชิกพรรค" แต่กรณี ร.อ. ธรรมนัส เกิดขึ้นหลายสิบปีก่อนเป็นสมาชิกพรรค จึงไม่อยู่ในกรอบจริยธรรมตามข้อบังคับพรรค

ทั้งหมดนี้คือข้อกฎหมาย-ความเห็นบางส่วนที่เกิดขึ้น ก่อนที่นักการเมืองฝ่ายค้านจะเดินหน้าเอาผิดทางจริยธรรม รมช.เกษตรฯ ต่อไป