โควิด-19 : พบสายพันธุ์อินเดีย ใน 10 จังหวัด ก. สาธารณสุขห่วงแซงหน้าสายพันธุ์อังกฤษในไทย

coronavirus

ที่มาของภาพ, Getty Images

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ชี้ สายพันธุ์อังกฤษยังคงเป็นเชื้อที่กระจายตัวมากที่สุดในประเทศ ของการระบาดโควิดระลอกที่สาม แต่ยังระบุไม่ได้ว่ารุนแรงกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมในระลอกแรกหรือไม่ และต้องจับตาการเพิ่มขึ้น ของสายพันธุ์อินเดียซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน

ถ้อยแถลงของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีขึ้นในวันที่ 7 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันที่รัฐบาลดำเนินการประกาศฉีดวัคซีนแบบปูพรม

ในการแถลงเรื่อง "การเฝ้าระวังการกลายพันธุ์เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในประเทศไทย" นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การเฝ้าระวังและการถอดรหัสเชื้อไวรัสที่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย ใน 3,595 ตัวอย่าง พบว่าส่วนใหญ่ หรือกว่า 90% เป็นสายพันธุ์อัลฟา หรือ สายพันธุ์อังกฤษเดิม สามารถสรุปได้ว่า ณ ปัจจุบัน "สายพันธุ์อัลฟาครองเมืองอยู่"

ที่เหลือเป็นสายพันธุ์อื่น ได้แก่ สายพันธุ์เดลตา หรือ สายพันธุ์อินเดีย ที่ตรวจพบครั้งแรกภายในที่พักคนงานย่านหลักสี่ โดยตรวจเจอแล้ว 235 ราย คิดเป็นสัดส่วน 6% ของสายพันธุ์ที่พบทั้งหมด โดยพบในกรุงเทพมหานครมากที่สุด 206 ราย นนทบุรี 2 ราย พิษณุโลก 2 ราย สระบุรี 2 ราย อุดรธานี 17 ราย นครราชสีมา 2 ราย บุรีรัมย์ 1 ราย อุบลราชธานี 1 ราย ร้อยเอ็ด 1 ราย สมุทรสงครามอีก 1 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ปรับการเรียกชื่อสายพันธุ์ไวรัสโควิด โดยให้ใช้อักษรกรีกแทน เช่น สายพันธุ์อังกฤษ ใช้แทนว่า อัลฟา สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ใช้แทนว่า เบตา สายพันธุ์บราซิล ใช้แทนว่า แกรมมา และสายพันธุ์อินเดีย ใช้แทนว่า เดลตา

ที่มาของภาพ, กรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์

คำบรรยายภาพ,

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ปรับการเรียกชื่อสายพันธุ์ไวรัสโควิด โดยให้ใช้อักษรกรีกแทน เช่น สายพันธุ์อังกฤษ ใช้แทนว่า อัลฟา สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ใช้แทนว่า เบตา สายพันธุ์บราซิล ใช้แทนว่า แกรมมา และสายพันธุ์อินเดีย ใช้แทนว่า เดลตา

"ที่เยอะที่จ.อุดรธานี ตอนนี้กำลังสอบสวนโรคกันอยู่ว่า มีความเกี่ยวข้องกับแคมป์คนงานก่อสร้างที่หลักสี่หรือไม่ เพราะในกรณีดังกล่าวเป็นพิธีบายศรีสู่ขวัญ และมีคนติดเชื้อและก็พบว่าเป็นสายพันธุ์นี้" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายเพิ่มเติม

สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังอีกสายพันธุ์คือ สายพันธุ์จากแอฟริกาใต้ หรือสายพันธุ์เบตา ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากมาเลเซียแล้วข้ามมายังอ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งพบเฉพาะที่นี่เพียงที่เดียว 26 ราย แต่วางใจไม่ได้ จึงต้องควบคุมให้อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวให้นานที่สุด

แคมป์คนงานย่านหลักสี่ถูกปิดพื้นที่ชั่วคราวตั้งแต่ 16 พ.ค. เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

แคมป์คนงานย่านหลักสี่ถูกปิดพื้นที่ชั่วคราวตั้งแต่ 16 พ.ค. เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19

นอกจากนี้ยังตรวจพบสายพันธุ์ B.1.524 เป็นสายพันธุ์แถบประเทศเพื่อนบ้าน พบที่จังหวัดชายแดน คือ ปัตตานี และนราธิวาส ประมาณ 10 ราย แต่ยังไม่ใช่สายพันธุ์ต้องน่าห่วงกังวล ซึ่งต้องจับตาดูเพิ่มเติมว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างหรือไม่

"ในทางการแพทย์ ผู้เข้ารับการตรวจหาเชื้อไม่จำเป็นจะต้องทราบว่าติดเชื้อด้วยสายพันธุ์ใด เนื่องจากการวิเคราะห์เรื่องนี้ เป็นหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ที่จะข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการควบคุมโรคและรักษาโรคในภาพรวม จึงไม่ต้องกังวลในประเด็นนี้" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าว

ถอดรหัสพันธุกรรมสายพันธุ์สำคัญอย่างไร

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในเวทีเดียวกันว่า ปัจจุบันมีการถอดรหัสพันธุกรรมแล้วกว่า 30,000 รหัสสายพันธุกรรม เป็นการร่วมมือของวงการแพทย์ทั่วโลกและแบ่งปันข้อมูลในเซิร์ฟเวอร์ออนไลน์ทั่วโลก สำหรับข้อดีของการถอดรหัสสายพันธุ์คือ การป้องกันอย่างในกรณีตากใบ ซึ่งมีผู้ติดเชื้ออยู่ประมาณ 100 คน เมื่อกรมควบคุมโรคเข้าไปตรวจวิเคราะห์ตัวอย่าง และพบว่าเป็นสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ทำให้ทราบว่ามาจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีการระบาดอยู่

คำบรรยายวิดีโอ,

โควิด-19 : เชื้อกลายพันธุ์เกิดขึ้นได้อย่างไร วัคซีนจะป้องกันได้ไหม

อีกด้านหนึ่ง หากตรวจพบสายพันธุ์อังกฤษหรือสายพันธุ์อัลฟาในปริมาณมากในตากใบ หมายความว่า ไวรัสจากส่วนกลางได้เดินทางไปถึงตากใบแล้ว จะต้องมีการควบคุมอีกแบบ แต่ในขณะนี้ในพื้นที่ตากใบ พบสายพันธุ์แอฟริกาใต้เป็นหลัก และมีสายพันธุ์อังกฤษอยู่ราว 1%

กราฟิก

"หากพิจารณาการกระจายตัวของไวรัสจะพบว่า สายพันธ์อื่นจะสู้สายพันธุ์อังกฤษหรืออัลฟาไม่ได้ นอกจากนี้การถอดรหัสพันธุกรรมนี้ยังมีประโยชน์เพื่อการรักษาด้วย เช่น กรณีสายพันธุ์ลูกผสมอย่างผสมระหว่างสายพันธุ์อังกฤษกับอินเดียบ้าง หรือมีการติดเชื้อสองสายพันธุ์ในคน ๆ เดียวกัน หรือผู้ติดเชื้อพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลครบแล้ว 14 วันแต่ผลการตรวจยังเป็นบวกอ่อน ๆ กลับได้หรือไม่ โดยมีซากไวรัสอยู่ ช้อมูลดังกล่าวก็จะนำมาพิจารณาในส่วนการรักษาด้วย" ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์กล่าวเพิ่มเติม

นอกจากสายพันธุ์ต่างประเทศแล้ว วงการแพทย์ไทยยังจะต้องจับตาสายพันธุ์ท้องถิ่นอีกด้วย ซึ่งพบแล้ว 3 สายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์ B.1.524 ซึ่งมาจากประเทศเพื่อนบ้านทางใต้ แต่ยังไม่ถูกจัดอันดับขึ้นมา นอกจากนี้ยังมีอีกสายพันธุ์ A.6 ซึ่งเคยครอบครองพื้นที่เมื่อปีที่แล้วแต่ตอนนี้สูญพันธุ์ไปแล้ว และสายพันธุ์ B1.36.16 ซึ่งมีการระบาดในระลอกที่สองในปทุมธานีและสมุทรสาครจากแรงงานต่างชาติ ผู้ติดเชื้อจำนวนมากแต่ไม่แสดงอาการ

"ในอนาคตสายพันธุ์อังกฤษ อาจจะถูกแทนที่ด้วยสายพันธุ์อินเดียนะครับ" ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์กล่าว

จับตาสายพันธุ์อินเดีย เพราะแพร่กระจายเร็ว

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงที่เวทีเดียวกันว่า สายพันธุ์อินเดียเป็นที่น่าจับตาเนื่องจากการแพร่กระจายเร็วกว่าสายพันธุ์อังกฤษ ผลลัพธ์ก็คือการระบาดเข้าชุมชนจะยากในการควบคุมมากกว่าสายพันธุ์อังกฤษ ในอังกฤษเองก็กังวลว่า ในขณะที่พวกเขาพยายามควบคุมสายพันธุ์อังกฤษได้ แต่บางเมืองมีสายพันธุ์อินเดียหลุดรอดเข้าไปก็แพร่กระจายรวดเร็วมาก

"ผมเชื่อว่า ผู้ผลิตวัคซีนเจนเนเรชันใหม่ จะสามารถเอาชนะสายพันธุ์ใหม่ได้" ศ.นพ.ยงกล่าว

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

"ผมเชื่อว่า ผู้ผลิตวัคซีนเจนเนเรชันใหม่ จะสามารถเอาชนะสายพันธุ์ใหม่ได้" ศ.นพ.ยงกล่าว

"สายพันธุ์ใดที่กระจายได้เร็ว ติดต่อง่าย กระจายง่าย สายพันธุ์นั้นจะขึ้นมาครองแทนที่สายพันธุ์อื่น แต่การกระจายไม่ได้บ่งบอกถึงความรุนแรงของโรค เพราะหากเปรียบเทียบอัตราการตายระหว่างสายพันธุ์ดังเดิมกับสายพันธุ์อังกฤษแล้วจะพบว่าอัตราการเสียชีวิตไม่ต่างกันมากนักเพียง 1% ของผู้ติดเชื้อ"

สายพันธุ์เชื้อไวรัสชนิดกลายพันธุ์ที่พบในไทย

ที่มาของภาพ, กรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์

นพ. ยงเสริมว่า จำเป็นต้องให้ความสนใจสายพันธุ์แอฟริกาใต้ เพราะ การกลายพันธุ์ของสายพันธุ์นี้ ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง ในขณะที่การแพร่กระจายของสายพันธุ์นี้ไม่ได้รวดเร็วเท่าสายพันธุ์อังกฤษและอินเดีย จึงทำให้โอกาสที่สายพันธุ์นี้จะครองโลกดูยากกว่าเพราะการแพร่กระจายช้ากว่า ทำให้การควบคุมทำได้ง่ายกว่า

"ผมเชื่อว่า ผู้ผลิตวัคซีนเจนเนเรชันใหม่ จะสามารถเอาชนะสายพันธุ์ใหม่ได้" ศ.นพ.ยงกล่าว

วัคซีน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ขณะที่สำนักงานสาธารณสุขของอังกฤษ (พีเอชอี) เผยแพร่รายงานเมื่อวันที่ 23 พ.ค. ระบุว่า วัคซีนจากไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิผลในการบรรเทาอาการป่วยและช่วยลดการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรวมทั้งการเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียได้ หลังจากได้รับการฉีดวัคซีนครบสองโดส

รายงานฉบับนี้พบว่าวัคซีนทั้งสองจะมีประสิทธิผลราว 33% ในการต่อต้านไวรัสสายพันธุ์อินเดีย หลังจากรับวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 3 สัปดาห์ ส่วนประสิทธิผลต่อไวรัสสายพันธุ์เคนต์ จากสหราชอาณาจักรอยู่ที่ 50%

สำหรับผู้ฉีดวัคซีนเข็มสองไปแล้ว 2 สัปดาห์ วัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิผลถึง 88% ในการสกัดความรุนแรงของโรคจากสายพันธุ์อินเดีย เทียบกับ 60% ของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

ส่วนสายพันธุ์อังกฤษ วัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิผลถึง 93% เทียบกับ 66% ของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

จับตาคลัสเตอร์ใหม่ทั่วประเทศ

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยในรอบ 24 ชั่วโมง นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ระบุว่าสถานการณ์ผู้ป่วยสะสมโดยรวมยังคงเป็นอันดับที่ 80 ของโลกเป็นวันที่สามติดต่อกัน กับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,419 ราย ส่วนใหญ่ยังอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครถึง 943 ราย

รายละเอียดข้อมูลสำคัญ ดังนี้

พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 2,419 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,296 ราย เรือนจำ 32 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 32 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 179,886 ราย

หากนับเฉพาะระลอกเม.ย. 64 พบผู้ติดเชื้อ 151,023 ราย โดยในวันนี้มีการพบผู้ป่วยจากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 949 ราย

ผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ 49,101 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,233 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 355 ราย

จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ (943 ราย) สมุทรปราการ (2321 ราย) เพชรบุรี (265 ราย) ตรัง (106 ราย) และสมุทรสาคร (92 ราย)

โดยผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 33 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ ม.ค. 2563 อยู่ที่ 1,269 ราย คิดเป็น 0.71% ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ค่ากลางของอายุอยู่ที่ 72 ปี และมีค่ากลางการรักษาตัวอยู่ที่ 11 วัน

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงคลัสเตอร์ใหม่ที่พบเพิ่มขึ้นในหลายจังหวัด รวมถึงการเฝ้าติดตามคลัสเตอร์การระบาดเดิม ซึ่งบางกรณีมียอดผู้ป่วยสะสมทะลุหลักพัน ดังนี้

  • สมุทรปราการ มีทั้งในโรงงานน้ำแข็ง โรงงานผลิตสายนำสัญญาณ ในเมืองสมุทรปราการ และโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า ชุมชนวัดสำโรงเหนือ ในพื้นที่พระประแดง ซึ่งทั้งหมดเป็นคลัสเตอร์ใหม่ที่เพิ่งเริ่มพบการระบาดเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.
  • เพชรบุรี พบการระบาดในอ.เขาย้อย ทั้งในโรงงานสิ่งทอ และคลัสเตอร์เดิมที่เฝ้าติดตาม คือโรงงานผลิตชื้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ยังคงพบผู้ป่วยรายใหม่ ส่งผลให้ยอดรวมถึง 5,604 ราย
  • ตรัง พบผู้ป่วยในใหม่ในโรงงานไม้ยาง อ.สิเกา จำนวน 106 ราย
  • สมุทรปราการ เกิดคลัสเตอร์ในโรงงานค้าไม้
  • นนทบุรี อ.เมืองนนทบุรี ยังคงพบการติดเชื้อในแคมป์คนงานก่อสร้าง
  • ชลบุรี พบคลัสเตอร์ใหม่ในบริษัทผลิตภาชนะพลาสติก
  • ปทุมธานี สระบุรี และนราธิวาส ยังคงเป็นการติดตามคลัสเตอร์เดิม คือ ตลาดสี่มุมเมือง โรงงานแปรรูปไก่ และการติดเชื้อในชุมชน ตามลำดับ

สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในเรือนจำและสถานที่ต้องขัง โฆษกศบค. ชี้ว่า ยังคงมีหลายแห่งที่พบการติดเชื้อเกินกว่า 100 รายในช่วง 7 วันที่ผ่านมา มากที่สุดพบในปริมณฑล คือ เรือนจำบางขวาง จ.นนทบุรี มีผู้ป่วย 1,879 ราย ทำให้ยอดรวมอยู่ที่ 2,633 ราย

ในกรุงเทพฯ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง พบผู้ป่วยใหม่จำนวน 520 ราย รองลงมา คือ ทัณฑสถานหญิงนบุรี 136 ราย และเรือนจำกลางคลองเปรม 124 ราย ซึ่งที่นี่มียอดผู้ป่วยสะสมสูงสุดรวม 5,688 ราย