ชื่อเสียงของแอสตร้าเซนเนก้าโด่งดังไปทั่วโลกในเวลาไม่ถึง 12 เดือน ในฐานะผู้ผลิตวัคซีนที่จะพามนุษยชาติฝ่าวิกฤตโควิด-19 พร้อมกับกระแสข่าวแง่ลบเรื่องความเชื่อมโยงกับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และการถูกสหภาพยุโรปฟ้องร้องที่จัดส่งวัคซีนช้า
ชื่อเสียงของแอสตร้าเซนเนก้าโด่งดังไปทั่วโลกในเวลาไม่ถึง 12 เดือน ในฐานะผู้ผลิตวัคซีนที่จะพามนุษยชาติฝ่าวิกฤตโควิด-19 พร้อมกับข่าวแง่ลบเรื่องความเชื่อมโยงกับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และการถูกสหภาพยุโรปฟ้องร้องที่จัดส่งวัคซีนช้า
วัคซีนของบริษัทนี้ก็ยังถูกใช้ในอย่างน้อย 165 ประเทศ (เทียบกับอันดับสอง ไฟเซอร์-ไบออนเทคที่ถูกใช้ในอย่างน้อย 98 ประเทศ) โดยในไทย วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด (SBS) จะมาถึงต้นแขนคนไทยตั้งแต่ 7 มิ.ย. นี้
เว็บไซต์บริษัทระบุว่า รายได้ในปี 2020 ของบริษัทเพิ่มขึ้นราว 9% เป็นกว่า 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (8.11 แสนล้านบาท) แต่บริษัทซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองแคมบริดจ์ในอังกฤษนี้ เป็นบริษัทผู้ผลิตยายักษ์ใหญ่มานานแล้ว ก่อนการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
บริษัทลูกครึ่ง
แอสตร้าเซนเนก้าเป็นบริษัทลูกครึ่งจากการควบรวมกิจการระหว่างบริษัทสวีเดน "Astra AB" และบริษัทอังกฤษ "Zeneca" จึงมีชื่อใหม่ว่า AstraZeneca
ย้อนไปเมื่อปี 1913 แอสตร้า เอบี ถูกก่อตั้งขึ้นที่เมืองเซอเดอร์เตลเย ของสวีเดน ด้าน เซเนก้า เป็นบริษัทด้านเคมีและยาที่แยกตัวมาจากบริษัทอิมพีเรียล เคมิคอล อินดัสตรีส์ (Imperial Chemical Industries) ในปี 1993 ก่อนที่ แอสตร้า เอบี และ เซเนก้า จะมารวมตัวกันเป็น แอสตร้าเซนเนก้า ในที่สุดในปี 1999 ซึ่งทำให้มูลค่ารวมของบริษัทขณะนั้นอยู่ที่ 6.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ในตอนนั้น เซเนก้า เป็นผู้นำด้านการผลิตยารักษาความดันโลหิตสูง เซสทริล (Zestril) ขณะที่ยาที่ทำรายได้อย่างมากให้กับ แอสตร้า เอบี คือยารักษาโรคกระเพาะอาหาร พริโลเซค (Prilosec) คาดกันว่าในตอนนั้น ทั้งสองบริษัทจำเป็นต้องหาหุ้นส่วนเพื่อสู้กับบริษัทยักษ์ใหญ่อื่น ๆ และด้วยความที่อายุของสิทธิบัตรยาทั้งสองตัวจะหมด จึงต้องร่วมทีมกันเพื่อพัฒนาคิดค้นยาใหม่ ๆ
ยาตัวอื่น ๆ
แม้คนส่วนใหญ่จะเพิ่งมารู้จักแอสตร้าเซนเนก้าในยุคโควิด-19 แต่บริษัทสัญชาติสวีเดน-อังกฤษ รายนี้เป็นที่รู้จักดีมานานแล้วในฐานะผู้วิจัยและพัฒนาการรักษาด้านเนื้องอก ระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ และระบบไตและกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย
จากรายงานประจำปี 2020 ของบริษัท ยารักษามะเร็งปอด ทากริสโซ (Tagrisso) เป็นยาในหมวดการรักษาด้านเนื้องอกที่ทำรายได้ให้บริษัทได้สูงสุดที่ 4,238 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนยาฟอร์ซิกา(Forxiga) สำหรับยาเบาหวานชนิดที่ 2 และยาบริลินตา (Brilinta) สำหรับภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เป็นยาที่ขายดีที่สุดในหมวดระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจและกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย ส่วนยาด้านระบบทางเดินหายใจที่ทำรายได้เป็นอันดับต้น ๆ ให้บริษัทคือยาสำหรับรักษาโรคหอบหืด ซิมบิคอร์ต(Symbicort) และ พูลมิคอร์ต(Pulmicort)
นิตยสารฟอร์บสรายงานว่า มูลค่าของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าอยู่ที่กว่า 6.67 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นหนึ่งใน 100 บริษัทที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุดในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน หรือ ดัชนีตลาดหุ้นอังกฤษหรือที่รู้จักกันในชื่อ FTSE 100 Index
ร่วมมือกับอ็อกซ์ฟอร์ด
แม้ว่าสำนักงานใหญ่ของแอสตร้าเซนเนก้าอยู่เมืองเคมบริดจ์ แต่การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดเป็นสิ่งที่ทำให้ชื่อบริษัทนี้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
ในตอนแรกมีการเจรจากันว่ามหาวิทยาลัยชื่อดังของอังกฤษจะร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตยายักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เมอร์ค (Merck) แต่รัฐบาลสหราชอาณาจักรต้องการให้อ็อกซ์ฟอร์ดร่วมมือกับบริษัทที่มีความสามารถในการผลิตวัคซีนจากในประเทศได้มากกว่า และนี่ก็เป็นการตัดสินใจที่สมเหตุสมผลสำหรับแอสตร้าเซนเนก้า เพราะมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดได้ทำการวิจัยมามากแล้ว และส่วนมากก็ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหราชอาณาจักร
อย่างไรก็ดี แอสตร้าเซนเนก้ามีชื่อเสียงด้านการวิจัยด้านโรคมะเร็ง และแทบไม่มีประสบการณ์ด้านวัคซีน ดังนั้นเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 หลายฝ่ายไม่ได้คาดคิดว่าพวกเขาจะกลายเป็นแรงสำคัญในการนำประเทศต่าง ๆ ฝ่าวิกฤตโควิด-19
ลิ่มเลือดอุดตัน
จากที่เป็นความหวังสำคัญในการต่อสู้กับการระบาดใหญ่ในครั้งนี้ ชื่อเสียงของวัคซีนอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า ก็มีด่างพร้อยไปบ้างจากผลข้างเคียง คือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ผู้รับวัคซีนบางคนเจอ แม้จะคิดเป็นอัตราส่วนที่น้อยมาก
สำนักงานการแพทย์ยุโรป (European Medicines Agency--EMA) บอกว่ามีความเป็นไปได้ว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเชื่อมโยงกับการเกิดลิ่มเลือดอุดตันแต่ความเสี่ยงเสียชีวิตจากโควิด-19 สูงกว่ามาก โดยระบุว่าภาวะดังกล่าวเป็นผลข้างเคียงที่หายากมาก อย่างไรก็ดี เมื่อกลางเดือน เม.ย. เดนมาร์กได้ประกาศยกเลิกการใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าทั้งหมด ขณะที่เยอรมนี สเนป อิตาลี และไอร์แลนด์ ได้ประกาศระงับการใช้วัคซีนนี้กับคนที่อายุต่ำกว่า 60 ปี ส่วนฝรั่งเศสบอกว่าควรให้วัคซีนนี้กับคนที่อายุ 55 ปี หรือมากกว่าเท่านั้น ขณะที่ออสเตรเลียระบุว่าคนที่อายุต่ำกว่า 50 ปี ควรให้รับวัคซีนของไฟเซอร์แทน
ในสหราชอาณาจักร คนอายุไม่ถึง 40 ปี จะได้รับทางเลือกในการรับวัคซีนต้นโควิด-19 ชนิดอื่นที่ไม่ใช่ของแอสตร้าเซนเนก้า
สถิติจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านความปลอดภัยของยาของสหราชอาณาจักร ระบุว่า จนถึง 19 พ.ค. 2021 พบกรณีลิ่มเลือดอุดตันแล้ว 332 กรณี หลังจากมีการให้วัคซีนไป 34.9 ล้านโดส มีผู้เสียชีวิต 58 คน และความเสี่ยงดูเหมือนจะสูงขึ้นเล็กน้อยในกลุ่มคนที่อายุน้อยลง
"ขณะที่ยังควบคุมอัตราโควิด-19 ได้อย่างต่อเนื่อง เราได้แนะนำให้ผู้ใหญ่ที่อายุระหว่าง 18-39 ปี ที่ไม่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ ให้รับวัคซีนชนิดอื่นแทนวัคซีนของอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า ถ้ามีวัคซีนนั้นอยู่ และไม่ทำให้การรับวัคซีนต้องล่าช้าออกไป" ศ.เวย เชิน ลิม จากคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการฉีดวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันโรค (Joint Committee on Vaccination and Immunisation—JCVI) กล่าว
จัดส่งล่าช้า
อีกประเด็นที่ทำให้บริษัทยารายนี้ตกเป็นข่าวเมื่อเดือน เม.ย. คือการที่สหภาพยุโรป หรืออียู ได้ยื่นฟ้องบริษัทผู้ผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าฐานไม่รักษาสัญญาในการจัดส่งวัคซีนโควิด-19 และไม่มีแผน "ที่ไว้วางใจได้" ในการจัดส่งของให้ได้ตามกรอบเวลา ขณะที่แอสตร้าเซนเนก้าบอกว่า อียูไม่ได้มีมูลเหตุที่สมควรและจะต่อสู้ในศาลอย่างเต็มที่
ตามสัญญา บริษัทสัญชาติสวีเดน-อังกฤษ ให้คำมั่นว่าจะ "พยายามอย่างดีที่สุดอย่างสมเหตุสมผล" ที่จะจัดส่งวัคซีน 180 ล้านโดสให้สหภาพยุโรปในไตรมาสแรกของปีนี้ จากจำนวนทั้งหมด 300 ล้านโดสที่จะจัดส่งระหว่าง ธ.ค. ถึง มิ.ย.
อย่างไรก็ดี แอสตร้าเซนเนก้าระบุผ่านแถลงการณ์เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ว่าตั้งเป้าจะจัดส่งแค่ 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดภายในเดือน มิ.ย. ซึ่งในจำนวนนั้น ราว 70 ล้านโดสจะถูกจัดส่งในไตรมาสที่ 2
หนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น สหภาพยุโรปก็ส่งจดหมายแจ้งอย่างเป็นทางการว่าจะดำเนินคดีทางกฎหมาย การจัดส่งที่ล่าช้าทำให้โครงการฉีดวัคซีนให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปต้องสะดุด และในที่สุดพวกเขาก็หันไปพึ่งวัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทค เป็นหลักแทน
ภายใต้สัญญานี้ กระบวนการพิจารณาคดีจะเกิดขึ้นในศาลประเทศเบลเยี่ยม
ความขัดแย้งในครั้งนี้ยังกลายเป็นประเด็นพิพาทกับอดีตสมาชิกอียูอย่างสหราชอาณาจักรด้วย เจ้าหน้าที่ทางการสหภาพยุโรปบอกว่า แอสตร้าเซนเนก้าบอกว่าพวกเขาถูกห้ามไม่ให้ส่งวัคซีนที่ผลิตในสหราชอาณาจักรไปชดเชยส่วนที่ขาดแคลนในยุโรป และตอนนี้ สหภาพยุโรปก็คัดค้านไม่ให้ส่งออกวัคซีนที่ผลิตในโรงงานในเนเธอร์แลนด์ไปยังสหราชอาณาจักรเช่นกัน
ล่าสุด สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ทนายของฝ่ายสหภาพยุโรปได้เรียกร้องให้ศาลเบลเยียมสั่งปรับแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเงิน 10 ยูโร หรือราว 38 บาท ต่อแต่ละโดส และจำนวนวันที่แอสตร้าเซนเนก้าจัดส่งวัคซีนล่าช้ากว่าในสัญญา ซึ่งอาจกลายเป็นโทษปรับรวมสูงถึง 200 ล้านยูโร
นอกจากนี้ สหภาพยุโรปก็ต้องการให้ศาลสั่งปรับแอสตร้าเซนเนก้าเพิ่มอีก 10 ล้านยูโร ต่อการผิดสัญญาแต่ละข้อด้วย
25 แห่ง 15 ประเทศ
เว็บไซต์ของแอสตร้าเซนเนก้าระบุว่า เพื่อจัดส่งวัคซีนไปทั่วให้ได้ 3 พันล้านโดสภายในสิ้นปี 2021 บริษัทได้จัดหาโรงงานผลิตวัคซีน 25 แห่ง ใน 15 ประเทศ เช่น สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย, บริษัท เอสเค ไบโอ ในเกาหลีใต้ รวมถึงบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งจะผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในไทยเป็น จำนวน 61 ล้านโดส จะทยอยออกมา 7 ล็อต (มิ.ย. 6 ล้านโดส, ก.ค. 10 ล้านโดส, ส.ค. 10 ล้านโดส, ก.ย. 10 ล้านโดส, ต.ค. 10 ล้านโดส, พ.ย. 10 ล้านโดส และ ธ.ค. 5 ล้านโดส)
ท่ามกลางกระแสการตั้งคำถามว่าเหตุใดแอสตร้าเซนเนก้าถึงเลือกสยามไบโอไซเอนซ์ ทางบริษัทตอบเมื่อต้นปีนี้เพียงว่า ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข เอสซีจี และสยามไบโอไซเอนซ์ บนหลักการของการต่อยอดการให้ความสำคัญต่อผู้ผลิตระดับประเทศที่มีศักยภาพและความสามารถในการเป็นผู้ผลิตวัคซีนระดับโลก
บริษัทบอกว่า เริ่มดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนกับให้สยามไบโอไซเอนซ์ ตั้งแต่เดือน ต.ค. ปีที่แล้ว และสามารถดำเนินการได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยจะดำเนินการตรวจสอบคุณภาพของวัคซีนในทุกจุดของกระบวนการผลิต รวมถึงการนำวัคซีนที่ได้จากการทดลองผลิตส่งไปยังห้องปฏิบัติการหรือแล็บในเครือข่ายของแอสตร้าเซนเนก้าที่มีเทคโนโลยีและระเบียบวิธีในการตรวจวิเคราะห์วัคซีนได้ตามมาตรฐาน
- สยามไบโอไซเอนซ์ ย้ำนโยบาย "ไม่กำไร ไม่ขาดทุน" โรงงานได้มาตรฐานสากล
- รมว.ดิจิทัลฯ มอบหมายผู้ช่วย รมต. แจ้งความธนาธรข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมฯ กรณีเชื่อมโยงสถาบันฯ กับวัคซีน
- "ธนาธร" วิจารณ์รัฐบาลจัดซื้อวัคซีนล่าช้า-แทงม้าตัวเดียว-ฉวยโอกาสสร้างความนิยม
- ทำไมรัฐบาลเลือก สยามไบโอไซเอนซ์ ผลิตวัคซีนเพื่อคนไทยและเพื่อนบ้าน
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar