โควิด-19: สธ. รุกชุมชน ส่งทีมแพทย์ต่างจังหวัดตรวจโควิด กทม. ตั้งเป้า 2.5 แสนราย/สัปดาห์

นับเป็นวันแรกที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เดินหน้าจัดบุคลากรด้านสาธารณสุข เข้าร่วมภารกิจตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก หรือที่รู้จักในชื่อ CCR Team เพื่อควบคุมและสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในพื้นที่ กทม. ท่ามกลางยอดผู้ป่วยรายใหม่วันนี้ (4 ส.ค.) ที่พุ่งทะลุ 20,200 ราย เป็นครั้งแรกของไทย

ในระหว่างวันที่ 4-10 ส.ค. สธ. ได้จัดบุคลากรจากภูมิภาคเข้าร่วมทีม CCR Team ใน กทม. จำนวน 39 ทีม ตั้งเป้าหมายตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 2.5 แสนราย

นพ. เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ระบุว่า หากพบผู้ติดเชื้อ จะนำเข้าระบบการดูแลรักษาที่บ้านและชุมชนทันที และจัดเตรียมยาฟาวิพิราเวียร์อย่างน้อย 6 แสนเม็ดไว้สนับสนุน

ตลอดช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ 2 สัปดาห์แรก กทม. ได้ร่วมกับชมรมแพทย์ชนบทจัด CCRT กว่า 200 ทีม เพื่อค้นหาเชิงรุกมาโดยตลอด

ข้อมูลสะสมตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.- 2 ส.ค. CCRT ของ กทม. ได้คัดกรองไปแล้วนับแสนราย โดย 22,377 ราย ได้รับการตรวจด้วย Antigen Test Kit (ATK) พบติดเชื้อแล้ว 2,706 ราย ซึ่งมีการนำส่ง รพ. รวมถึงแยกกักที่บ้านและชุมชน ทั้งนี้จากการคัดกรอง มีการให้บริการวัคซีนกว่า 76,756 ราย ในกลุ่มเปราะบางควบคู่ไปด้วย

สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ของกรุงเทพฯ วันนี้อยู่ที่ 4,118 ราย ขณะที่ผู้ป่วยทั้งประเทศสูงถึง 20,200 ราย ซึ่งกว่า 11,191 ราย เป็นกลุ่มก้อน 67 จังหวัด ที่ไม่นับกรุงเทพฯ ปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้

สธ.ร่วมเดินหน้า CCRT ใน กทม.

ปลัด สธ. กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ สธ. ที่เข้าร่วมเป็นจิตอาสาหลายสาขาวิชาชีพจากทุกภูมิภาค ทั้งแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว พยาบาล เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ ซึ่งคาดว่าจะมีเพิ่มเติมอีกรวมเป็น 40 กว่าทีม

นพ. เกียรติภูมิกล่าวว่า ได้มีการตั้งเป้าหมายคัดกรองด้วย ATK ให้ได้วันละ 35,000 ราย โดยภายใน 7 วัน จะตรวจคัดกรองให้ได้ไม่น้อยกว่า 250,000 ราย

ตามการคาดการณ์อาจพบผลบวก 15% หรือประมาณ 32,500 ราย โดยประมาณ 1 ใน 3 ต้องการยาฟาวิพิราเวียร์ จึงสนับสนุนยาฟาวิพิราเวียร์อย่างน้อย 600,000 เม็ด

getty

ที่มาของภาพ, Getty Images

ขยับรั้งอันดับ 41 ยอดผู้ป่วยสะสมของโลก

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยในรอบ 24 ชั่วโมง จากการรายงานของ ศบค. พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 20,200 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 20,179 ราย เรือนจำ 187 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 21 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 672,385 ราย

หากนับเฉพาะระลอกเดือน เม.ย. 64 พบผู้ติดเชื้อ 643,522 ราย โดยในวันนี้มีการพบผู้ป่วยจากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 3,708 ราย ผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ 211,076 ราย

จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ (4,118 ราย) ชลบุรี (1,678 ราย) สมุทรสาคร (1,294 ราย) สมุทรปราการ (945 ราย) และนนทบุรี (908 ราย)

โดยมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 188 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ ม.ค. 2563 อยู่ที่ 5,503 ราย

ข้อมูลการเข้ารับบริการวัคซีนโควิด-19 ถึงเวลา 18.00 น. ของวันที่ 3 ส.ค. ว่าให้ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. มีการให้บริการสะสมไปแล้ว 18,578,096 โดส ซึ่งเป็นการฉีดเข็มแรกในประชาชน 14,492,385 ราย

สถานการณ์ รพ.สนามบุษราคัม

กว่า 82 วันนับตั้งแต่ รพ.สนามบุษราคัมเปิดทำการมา ได้รับผู้ป่วยแล้ว 14,213 ราย ซึ่งยังคงอยู่ระหว่างการรักษาตัว 3,333 ราย โดยมีผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวังกว่า 450 ราย ที่มีการให้ออกซิเจน และอีก 163 รายต้องให้ออกซิเจนไฮโฟลว์ รวมถึงมีผู้ป่วยจำนวน 2 รายที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ

นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัด สธ. และ ผอ.รพ. บุษราคัม กล่าวว่า ตามข้อสังเกตนั้น มีผู้ป่วยที่ต้องท่อช่วยหายใจ 8-10 รายเป็นประจำในทุกวัน และการส่งต่อผู้ป่วยไปยัง รพ. ที่มีเครื่องมือพร้อมกว่าทำได้ยาก ด้วยอัตราการครองเตียงที่เพิ่มขึ้น ทำให้ รพ. จำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยวิกฤติเหล่านี้เองมากขึ้น

นั่นจึงเป็นที่มาให้รพ.บุษราคัม ต้องจัดตั้งไอซียูสนามเพิ่มขึ้นแยกออกมา อีกจำนวน 17 เตียง โดยจำแนกเป็นโคฮอร์ทวอร์ด 14 เตียง และห้องแยกความดันลบ 4 เตียง ซึ่งจะรองรับผู้ป่วยวิกฤติจากในรพ.สนามเอง ด้วยเครื่องมือเทียบเท่าไอซียูปกติ

ผู้ช่วยปลัด สธ. ยังกล่าวถึงกระบวนการลดการทำงานของเจ้าหน้าที่พยาบาล เนื่องจาก รพ.สนามแห่งนี้มีพื้นที่กว้าง อีกทั้งรองรับผู้ป่วยเต็มศักยภาพได้กว่า 4,000 เตียง ก็จะมีการเจาะเลือด และให้รับยาฟาร์วิพิราเวียร์ และยาอื่น ๆ ตั้งแต่จุดแรกรับ

โดยก่อนหน้านี้หากติดตามในโลกออนไลน์ เคยปรากฏกรณีวิพากษ์วิจารย์เรื่องเตียงที่มีการชำรุด หรือสกปรกจากการใช้งานนั้น

นพ. กิตติศักดิ์กล่าวว่า มีการเปลี่ยนเตียงกระดาษที่เกิดการชำรุด รวมถึงจัดเตียงลมไว้สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องแผลกดทับ และยังจัดเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดห้องสุขาเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลเหมาะสมตามสมควรแก่สถานการณ์