วัคซีนโควิด-19: ก.ล.ต. แจ้งหมอบุญชี้แจงกรณีจับมือกลาโหมนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ ส่วนแผนนำเข้าวัคซีน mRNA 20 ล้านโดสมีแนวโน้มไม่สำเร็จ

นพ. บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริหาร บมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป

ที่มาของภาพ, บมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป

คำบรรยายภาพ,

นพ. บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริหาร บมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป

หลังจากแผนการนำเข้าวัคซีนชนิด mRNA ของไฟเซอร์-ไบออนเทคจำนวน 20 ล้านโดสผ่านหน่วยงานรัฐที่มีสิทธินำเข้า ภายใต้การประสานงานของ บมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ภายในสิ้นเดือนก.ค. ไม่เป็นไปตามคาด ผู้บริหารบริษัทเปิดเผยล่าสุด การเซ็นสัญญาเรื่องดังกล่าวมีแนวโน้มไม่สำเร็จ เพราะไม่มีหน่วยงานรัฐใดช่วยนำเข้าได้

นพ. บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริหาร บมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป เปิดเผยผ่านรายงาน "เจาะลึกทั่วไปไทย Inside Thailand" เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา โดยยอมรับว่า เป็นเรื่องยากลำบากมากในการหาหน่วยงานภาครัฐนำเข้าวัคซีนดังกล่าว แม้ว่าบริษัทจะได้ประสานงานกับผ่านตัวแทนจำหน่ายวัคซีนหลายแห่งในหลายประเทศจากโควตาพิเศษ

"ปัญหาของเราคือเราไม่สามารถนำเข้าได้ ต้องนำเข้าผ่านหน่วยงานภาครัฐ ยกตัวอย่างโมเดอร์นาต้องมาผ่านองค์การเภสัชฯ มีขั้นตอนมากมาย ที่จะได้ใช้เดือนพ.ค.ก็ร่นออกไปเป็นเดือนต.ค. เป็นปัญหาของเรา ขณะนี้ผมยังดีใจที่รองนายกฯ (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) จะมานำจัดหาเอง เพราะเอกชนเจออุปสรรคร้อยแปดที่ไม่สามารถทำได้ เราทำมาสามครั้งแล้ว ทำให้เราถอดใจแล้ว" นพ.บุญกล่าวในรายการดังกล่าว

ผู้บริหารรายนี้ยังเปิดเผยว่า จำเป็นต้องวางค่ามัดจำไปจำนวนหนึ่ง หลังจากการเจรจากับหน่วยงานรัฐที่สามารถนำเข้าไม่สำเร็จ

"คิดว่า 90% เอาเข้ามาไม่ได้แล้ว" นพ.บุญกล่าวประเมินความเป็นไปได้ของการนำเข้าวัคซีน mRNA จำนวน 20 ล้านโดสภายในเดือนส.ค.

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป แจ้งบีบีซีไทยว่า ยังไม่สามารถให้ข้อมูลรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวได้ในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา นพ.บุญ เคยให้สัมภาษณ์กับบีบีบีซีไทยว่า เขากำลังเจรจากับบริษัทไบออนเทคที่เยอรมนี เพื่อนำเข้าวัคซีน mRNA โดยตรงจากโรงงานในเยอรมนี โดยไม่ระบุถึงบริษัทตัวแทนจำหน่าย

Getty Images

ที่มาของภาพ, Getty Images

อย่างไรก็ตาม วานนี้ (3 ส.ค.) มีรายงานข่าวผ่านสื่อมวลชนว่า บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ปมีแผนจะเซ็นสัญญากับกระทรวงกลาโหม เพื่อนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ภายในเดือน ส.ค. ซึ่งต่อมาพล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ออกมาปฏิเสธเรื่องดังกล่าวพร้อมยืนยันว่าไม่ได้เจรจากับผู้ผลิตวัคซีนจากสหรัฐอเมริกาด้วย

ในวันเดียวกัน บมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ปส่งหนังสือชี้แจงตลาดหลักทรัพย์ โดยปฏิเสธว่านพ. บุญ ไม่ได้เป็นผู้ให้ข้อมูลที่มีเนื้อหาดังกล่าวแก่สํานักข่าวและได้ดําเนินการแจ้งให้สํานักข่าวแก้ไขเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมยืนยันว่าการติดต่อนําเข้าวัคซีน mRNA และวัคซีนอื่น ๆ ยังดําเนินการอย่างต่อเนื่อง

ก.ล.ต. ขอให้หมอบุญชี้แจงภายใน 7 วัน

แม้ว่าทั้งกระทรวงกลาโหมและนพ. บุญได้ปฎิเสธเรื่องดัวกล่าว ในช่วงเช้าวันนี้ (4 ก.ค.) สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้แจ้งให้บมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป และนายบุญ วนาสิน ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการเซ็นสัญญากับกระทรวงกลาโหมเพื่อนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ รวมถึงการเสียเงินมัดจำจำนวน 500-600 ล้านบาทจากการผิดเงื่อนไขของสัญญา

รอยเตอร์

ที่มาของภาพ, Reuters

ก.ล.ต. ระบุในเอกสารที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ว่า เนื่องจากข้อเท็จจริงดังกล่าวมีความขัดแย้งกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสำคัญผิด และอาจมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นหรือต่อการตัดสินใจลงทุนหรือต่อการเปลี่ยนแปลงในราคาหลักทรัพย์ ก.ล.ต. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 58 (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ให้ บริษัทและนายบุญชี้แจงข้อมูลที่เกี่ยวข้องภายใน 7 วันนับแต่วันที่ 4 ส.ค. นี้ พร้อมทั้งให้บริษัทเปิดเผยคำชี้แจงผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย

ส่วนความเคลื่อนไหวของของราคาหุ้น บมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ปช่วงเช้าวันนี้ปรับตัวลดลง 7.32% มาอยู่ที่ราคา 28.50 บาทต่อหุ้น