tisdag 5 oktober 2021

กษัตริย์ภูมิพลคือตัวการอยู่เบื้องหลังให้พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ยึดอำนาจ 6 ตุลาคม 2519

ใครเป็นใครในกรณี 6 ตุลา

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

สงัด ชลออยู่, ธานินทร์ กรัยวิเชียร และแผนรัฐประหารปี 2519

ในหนังสือ บันทึกการปฏิวัติ 1-3 เมษายน 2524 กับข้าพเจ้า (2525), บุญชนะ อัตถากร ได้ตีพิมพ์เป็นหนึ่งในภาคผนวก บันทึกช่วยจำที่เขาเขียนขึ้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2520 เกี่ยวกับการสนทนาระหว่างเขากับพล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ระหว่างงานศพพล.อ.แสวง เสนาณรงค์ ที่มีขึ้นในคืนก่อนหน้านั้น เนื้อหาของบันทึกดังกล่าว (หน้า 186-187) มีดังนี้:
ระหว่างสวดพระอภิธรรม ข้าพเจ้าได้คุยกับพลเรือเอกสงัด เกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน คำบอกเล่าต่างๆของคุณสงัดในฐานะเป็นหัวหน้าคณะปฏิรูป 6 ตุลาคม 2519 และในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นความรู้ซึ่งคงไม่ค่อยมีคนทราบ ข้าพเจ้าจึงขอบันทึกไว้ดังต่อไปนี้….
คุณสงัดเล่าให้ฟังว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2519 มีข่าวลืออยู่ทั่วไปว่า จะมีทหารคิดก่อการปฏิวัติ เหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น ฝ่ายซ้ายกำลังฮึกเหิมและรบกวนความสงบอยู่ทั่วไป จึงได้กราบบังคมทูลขึ้นไปยังในหลวงที่เชียงใหม่ซึ่งประทับอยู่ภูพิงค์ราชนิเวศน์ในขณะนั้นว่า จะขอให้คุณสงัดซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด (กับพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการฯ) กับพลเอกบุญชัย บำรุงพงศ์ ผู้บัญชาการทหารบก พลอากาศเอกกมล เตชะตุงคะ ผู้บัญชาการทหารอากาศขึ้นไปเฝ้า แต่ในหลวงโปรดเกล้าฯให้คุณสงัดเข้าเฝ้าคนเดียว ทั้งๆที่ตั้งใจว่าถ้าเข้าเฝ้าทั้ง 3 คนก็จะได้ช่วยกันฟังนำมาคิดและปฏิบัติโดยถือว่าเป็นพรสวรรค์
เมื่อคุณสงัดไปเฝ้าในหลวงที่ภูพิงค์ราชนิเวศน์นั้นได้ไปโดยเครื่องบิน เข้าเฝ้าคนเดียวอยู่ราว 2 ชั่วโมงครึ่งในตอนบ่าย ไปวันนั้นและกลับในวัน   เดียวกัน คุณสงัดบอกว่าไม่เคยเข้าเฝ้าในหลวงโดยลำพังมาก่อนเลย คราวนี้เป็นครั้งแรก ได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึงสถานการณ์บ้านเมืองว่าเป็นที่น่าวิตก ถ้าปล่อยไปบ้านเมืองอาจจะต้องตกอยู่ในสถานะอย่างเดียวกับลาวและเขมร จึงควรดำเนินการปฏิวัติ
คุณสงัดเล่าต่อไปว่า อยากจะได้พรจากพระโอษฐ์ให้ทางทหารดำเนินการได้ตามที่คิดไว้ แต่ในหลวงก็มิได้ทรงรับสั่งตรงๆ คงรับสั่งแต่ว่าให้คิดเอาเองว่าจะควรทำอย่างไรต่อไป
คุณสงัดเห็นว่า เมื่อไม่รับสั่งตรงๆก็คงดำเนินการไม่ได้ จึงกราบบังคมทูลว่า ถ้าทางทหารยึดอำนาจการปกครองได้แล้วก็มิได้ประสงค์จะมีอำนาจเป็นใหญ่ต่อไป จึงอยากจะให้ฝ่ายพลเรือนเข้ามาบริหารประเทศ สมมุติว่า ถ้ายึดได้แล้วใครจะควรเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากนั้น เสร็จแล้วคุณสงัดก็ได้กราบบังคมทูลรายชื่อบุคคลที่น่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีทีละชื่อ เพื่อจะได้พระราชทานความเห็น
คุณสงัดเล่าว่า ได้กราบบังคมทูลชื่อไปประมาณ 15 ชื่อ รวมทั้งคุณประกอบ หุตะสิงห์ หลวงอรรถสิทธิสุนทร คุณประภาศน์ อวยชัย คุณเชาว์ ณ ศีลวันต์ด้วย  แต่ก็ไม่ทรงรับสั่งสนับสนุนผู้ใด
เมื่อไม่ได้ชื่อบุคคลที่น่าจะเป็นนายกได้และเวลาก็ล่วงไปมากแล้ว คุณสงัดก็เตรียมตัวจะกราบบังคมทูลลากลับ แต่ก่อนจะออกจากที่เฝ้า ในหลวงได้รับสั่งว่า จะทำอะไรลงไปก็ควรจะปรึกษานักกฎหมาย คือ คุณธานินทร์  กรัยวิเชียร ผู้พิพากษาศาลฎีกาเสียด้วย คุณสงัดบอกว่าไม่เคยรู้จักคุณธานินทร์มาก่อนเลย  พอมาถึงกรุงเทพฯก็ได้บอกพรรคพวกทางทหารให้ทราบแล้วเชิญคุณธานินทร์มาพบ
คุณสงัดบอกว่าได้ถามคุณธานินทร์ว่า ได้คุ้นเคยกับในหลวงมานานตั้งแต่เมื่อใด คุณธานินทร์บอกว่าไม่เคยเข้าเฝ้าในหลวงใกล้ชิดเลย แต่อย่างไรก็ดีคุณสงัดก็ได้เริ่มใช้ให้คุณธานินทร์เตรียมคำแถลงการณ์ต่างๆและเอกสารต่างๆให้พร้อม พิจารณาแล้วก็เก็บไว้ในตู้นิรภัยอย่างเอกสารลับ เพื่อจะนำไปใช้หลังจากการปฏิวัติแล้ว
คุณสงัดบอกต่อไปว่า ได้รอคอยโอกาสที่จะยึดอำนาจการปกครองอยู่เรื่อยๆแต่ก็ไม่ได้จังหวะ จนในที่สุดก็เกษียณอายุต้องออกจากราชการ เมื่อ 1 ตุลาคม 2519 เพื่อนฝูงนายทหารผู้ใหญ่ก็หาว่าคุณสงัดเตะถ่วง ซึ่งความจริงจะว่าจริงก็ได้ เพราะยังไม่มีเหตุผลหรือเหตุการณ์จะให้ทำเช่นนั้นได้ง่ายๆและในหลวงก็ไม่ได้รับสั่งสนับสนุน
โดยที่คุณธานินทร์ได้ร่วมงานก่อการมาด้วยกันดังกล่าว คุณสงัดบอกว่า จึงไม่มีเหตุผลอย่างใดที่จะไม่กราบบังคมทูลให้ในหลวงตั้งคุณธานินทร์เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนข่าวลือที่ว่าคุณสงัดเสนอ 3 ชื่อ คือ คุณประกอบ คุณประภาศน์ และคุณธานินทร์ และในหลวงเลือกคุณธานินทร์นั้น ก็เป็นเรื่องเล่าๆกันไปอย่างนั้นเอง
ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้ยืนยันต่อยศ สันตสมบัติ (ในหนังสือ อำนาจ บุคลิกภาพ และผู้นำการเมืองไทย, 2533, หน้า 136) ว่า “ผมไม่เคยเข้าเฝ้าหรือได้รับพระราชกระแสจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องนี้มาก่อนเลย แต่ผมก็ได้รับทราบจากคุณสงัด ชลออยู่ตามนั้น” คำถามที่น่าสนใจคือ เหตุใดจึงทรงแนะนำให้พล.ร.อ.สงัดไปปรึกษากับธานินทร์ทั้งๆที่ฝ่ายหลัง “ไม่เคยเข้าเฝ้าใกล้ชิดเลย”?
ธานินทร์เกิดปี 2470 (ปีเดียวกับปีพระราชสมภพ) สำเร็จการศึกษาวิชากฎหมายจากประเทศอังกฤษ แล้วเริ่มรับราชการในกระทรวงยุติธรรมตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ในปี 2499 แล้วย้ายมาเป็นหัวหน้ากองการคดี (ดูประวัติส่วนตัวของเขาก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะในแง่ที่เหมือนและต่างกับ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ใน “ป๋วย อึ๊งภากรณ์, สล้าง บุนนาค, ธานินทร์ กรัยวิเชียร” ในหนังสือเล่มนี้) ตามคำบอกเล่าของเขา (ยศ, อำนาจ, หน้า 130):
ผมเองมีความสนใจในปัญหาเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์เป็นอย่างมากมาตั้งแต่ปี 2501 ตั้งแต่ตอนที่คุณพระดุลยพากย์สุวมันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีบัญชาให้ผมค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์และผลของการใช้กฎหมายว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งต่อมาในปี 2504 กระทรวงยุติธรรมได้ส่งผมไปเรียนวิชาสงครามจิตวิทยาอันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการป้องกันภัยทางการเมืองจากการคุกคามของคอมมิวนิสต์ที่กระทรวงกลาโหม  และจากนั้นมาทางราชการกระทรวงกลาโหมก็ได้มอบหมายให้ผมเป็นผู้บรรยายในเรื่องของลัทธิและวิธีการของคอมมิวนิสต์และการใช้กฎหมายป้องกันคอมมิวนิสต์ในสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติหลายแห่งเป็นเวลา 10 ปีเศษ ผมได้เรียบเรียงคำบรรยายประกอบการสอนเรื่องเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์และระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยหลายเล่มด้วยกัน….
นับตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมา ธานินทร์ (ตามคำสรุปของยศ สันตสมบัติ) “ได้เริ่มเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงของผู้ที่ทำงานด้านความมั่นคงและกลุ่มอนุรักษ์นิยมในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและนักต่อต้านคอมมิวนิสต์คนสำคัญ” ธานินทร์เริ่มต้นแสดงบทบาททางการเมืองในช่วงหลัง 14 ตุลา โดยออกมาต่อต้านสิ่งที่เขามองว่าเป็นการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ทั้งนอกรัฐสภาและในรัฐสภา (ซึ่งเขายืนยันว่าการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ดังกล่าว “เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่มีผู้ใดจะบิดผันให้เป็นอื่นไปได้ รายงานการประชุมของรัฐสภาขณะนั้น ระบุชัดเจนว่าใครทำอะไรหรือไม่ทำอะไรบ้าง”) เขาได้ร่วมกับดุสิต ศิริวรรณ ออกอากาศรายการโทรทัศน์ “สนทนาประชาธิปไตย” เรื่อง “ความมั่นคงของชาติและความผาสุกของประชาชน” เพื่อให้ “สังคมไทยอยู่รอดและคงความเป็นไทยไว้โดยปลอดจากภัยคอมมิวนิสต์” แต่รายการดังกล่าวถูกรัฐบาลคึกฤทธิ์สั่งระงับในเดือนมกราคม 2519 หลังจากออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ของรัฐบาลได้เพียง 4 ครั้ง อย่างไรก็ตาม พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เสนาธิการทหาร “ตระหนักในภัยจากการคุกคามของคอมมิวนิสต์” จึงจัดให้ไปออกอากาศต่อทางช่อง 5 ของกองทัพบกอีก 6 ครั้ง รวมเป็น 10 ครั้ง
จากข้อมูลเหล่านี้ น่าจะมีเหตุผลเพียงพอที่จะตั้งสมมุติฐานว่า ในหลวงทรงสามารถแนะนำให้ พล.ร.อ.สงัดไปปรึกษาธานินทร์ได้ทั้งๆที่ธานินทร์ “ไม่เคยเข้าเฝ้าใกล้ชิด” มาก่อน เพราะได้ทรงติดตามผลงานด้านหนังสือและ/หรือรายการโทรทัศน์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ของธานินทร์ดังกล่าวนั่นเอง
ธานินทร์เล่าว่า เมื่อได้รับพระราชกระแสแล้ว “ทางทหารจึงได้มาติดต่อกับผม แล้วเขาถึงได้ให้ผมช่วยวางแผนให้ว่า ถ้าเผื่อมีการปฏิวัติจะจัดอย่างไร ในแง่ของกฎหมายจะมีการประกาศของคณะปฏิวัติอย่างไร และแผนการที่จะเป็นรัฐบาลควรจะเป็นในรูปใด” แผนการดังกล่าวซึ่งธานินทร์กับอีกบางคนร่วมกันร่างขึ้นนำเสนอต่อฝ่ายทหารและได้รับการเห็นชอบจากฝ่ายหลัง ถูกธานินทร์เรียกว่า “แผนแม่บท” หรือ Master Plan “คือหลักการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เราจัดทำกัน 3-4 คน….ไม่ต้องรู้ก็แล้วกันว่ามีใครบ้าง คำว่า การปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ก็เริ่มจากตรงนี้ เริ่มจากหลักการปฏิรูปอันนี้”
ธานินทร์เล่าว่า แผนแม่บท หรือ Master Plan นี้ ประกอบด้วยหลักการสำคัญ 8 ประการ (ดูรายละเอียดใน ยศ, อำนาจ, หน้า 279-286) ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ เราอาจกล่าวได้ว่ามีลักษณะเป็นหลักการทั่วไปแบบนามธรรม เช่น “ดำเนินงานทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย”, “สร้างรากฐานประชาธิปไตย โดยส่งเสริมคนดี”, “ทุกคนในคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินซึ่งเป็นฝ่ายทหารต้องมีอุดมการณ์แน่วแน่ กระทำการเพื่อความอยู่รอดของชาติและความผาสุกของประชาชน ไม่ปรารถนาสิ่งตอบแทนเป็น “การส่วนตัว”, ฯลฯ
ส่วนที่มีลักษณะเป็นแผนปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมได้แก่ ตั้งรัฐบาลชั่วคราวเพื่อรับมอบภาระการบริหารราชการจากคณะปฏิรูปโดยสิ้นเชิง คณะปฏิรูปให้คงอยู่ดูแลด้านความมั่นคง แต่จะดำเนินการใดๆก็ต่อเมื่อรัฐบาลชั่วคราวร้องขอเท่านั้น หมายความว่าฝ่ายทหารยึดอำนาจแล้ว ไม่เข้าบริหารเอง ยกให้คนอื่นที่ทาบทามมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่ง “ควรจะเป็นพลเรือน” และต้องเป็นคนที่ “เลื่อมใสต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข, มีประวัติและการทำงานดีเด่น ไม่เห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้งมีความรู้ความสามารถสูงและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย”; ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2517 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารมากขึ้น; ยุบสภาที่มีอยู่ ตั้ง “สภาปฏิรูป” จากบุคคลสาขาอาชีพต่างๆ; รัฐบาลชั่วคราวและสภาปฏิรูปอยู่ในตำแหน่ง 4 ปี จึงให้มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังให้มีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งและมีอำนาจเท่ากันดำรงอยู่อีกอย่างน้อย 4 ปี (ในที่สุด รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2519 ซึ่งธานินทร์เป็นผู้ร่วมร่างและประกาศใช้หลังการรัฐประหาร กำหนดให้มี “แผนพัฒนาประชาธิปไตย” 12 ปี โดยในระยะสี่ปีที่สามให้ “ขยายอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรให้มากขึ้นและลดอำนาจของวุฒิสภาลงเท่าที่จะทำได้”)
ยศ สันตสมบัติเขียนว่า ในการพูดถึงแผนแม่บทนี้ “ประเด็นที่อาจารย์ธานินทร์เน้นย้ำอยู่เสมอๆก็คือ แผนการดังกล่าวได้รับการเห็นชอบจากฝ่ายทหารหรือคณะปฏิรูปฯทั้งหมด พูดง่ายๆก็คือ แผนการดังกล่าวเป็นข้อตกลงร่วมกันของทุกฝ่ายและเป็นหลักการในการที่จะดำเนินงานต่อไปภายหลังจากการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลอาจารย์เสนีย์เรียบร้อยแล้ว และรัฐบาลของอาจารย์ธานินทร์ก็ได้ทำตามแผนการที่ได้ตกลงร่วมกันไว้ทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่เบี่ยงเบนไปจากข้อตกลงหรือ Master Plan นี้”
อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าฝ่ายทหารที่มาติดต่อขอให้ธานินทร์ช่วยเตรียมการรัฐประหาร ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า “แผนแม่บท” ของธานินทร์ มากเพียงใด ในคำบอกเล่าต่อบุญชนะ อัตถากร, พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ กล่าวแต่เพียงว่าเขา “ได้เริ่มใช้ให้คุณธานินทร์เตรียมคำแถลงการณ์ต่างๆและเอกสารต่างๆให้พร้อมพิจารณาแล้วก็เก็บไว้ในตู้นิรภัยอย่างเอกสารลับ เพื่อจะนำไปใช้หลังจากการปฏิวัติแล้ว” และเป็นเรื่องที่ยังถกเถียงได้ว่าสงัดซึ่ง “ไม่เคยรู้จักคุณธานินทร์มาก่อนเลย” ให้การ “เห็นชอบ” กับแผนแม่บทของธานินทร์เพราะเห็นชอบด้วยจริงๆหรือเพราะ “ในหลวงทรงรับสั่งว่าจะทำอะไรลงไปก็ควรจะปรึกษานักกฎหมายคือคุณธานินทร์ กรัยวิเชียรเสียด้วย”
แน่นอนว่ามาตรการรูปธรรมที่ธานินทร์วางไว้ได้รับการปฏิบัติตามหลังการยึดอำนาจ: ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่มีอยู่และประกาศใช้รัฐธรรมฉบับใหม่ที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารมากเป็นพิเศษ, ตั้งรัฐบาลชั่วคราวที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นพลเรือน (คือตัวธานินทร์เอง) และแต่งตั้งสภานิติบัญญัติใหม่ที่มีสมาชิกจาก “ทุกสาขาอาชีพ” (ในความเป็นจริง สมาชิกสภาปฏิรูป 190 คนจาก 340 คนเป็นทหารตำรวจทั้งในและนอกราชการ). แต่มาตรการเหล่านี้ก็เป็นมาตรการในลักษณะที่การรัฐประหารแทบทุกครั้งต้องทำอยู่แล้ว อาจกล่าวได้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ธานินทร์ มอบให้กับการเตรียมรัฐประหารปี 2519 คือคิดชื่อใหม่ให้กับการรัฐประหารและคณะรัฐประหาร: “คณะ/การปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน”แทนที่จะเป็น “คณะ/การปฏิวัติ” การที่ธานินทร์ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า “แผนแม่บท” ของตน ซึ่งอันที่จริงถ้าตัดเนื้อหาส่วนใหญ่ที่มีลักษณะนามธรรมลอยๆดังกล่าวข้างต้นออกแล้ว ก็เหลือเพียงมาตรการรูปธรรมที่ไม่ต่างจากการรัฐประหารอื่นๆนั้น น่าจะสะท้อนให้เห็นลักษณะพาซื่อและอ่อนประสบการณ์ของธานินทร์เองมากกว่าอย่างอื่น

กลุ่มทหารในช่วง 6 ตุลาคม 2519

กลุ่มทหารหรือคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

จากบันทึก 6 ตุลาคม

ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจการบริหารประเทศเมื่อ พ.ศ.2501 ได้เรียกคณะของตนที่ยึดอำนาจว่า “คณะปฏิวัติ” ด้วยความมุ่งหมายที่จะสร้างเข้าใจว่า การมีการปฏิวัติประเทศไทยให้มุ่งไปสู่ความก้าวหน้า ต่อมาเมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจตนเองเมื่อ พ.ศ.2514 ก็นำคำว่าคณะปฏิวัติมาใช้อีกครั้ง ดังนั้น เมื่อหลัง 14 ตุลาคม 2516 คำว่าปฏิวัติจึงเสื่อมค่าแห่งการใช้ลง คณะทหารที่คิดการยึดอำนาจจึงต้องคิดหาคำใหม่ คำว่า “ปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ก่อนหน้านี้หมายถึง การปรับปรุงการบริหารประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองแผ่นดิน โดยใช้แนวความคิดและวิธีการแบบตะวันตกมาดำเนินการ ดังนั้น แนวโน้มที่จะมีการรัฐประหารครั้งใหม่ในนามของคณะปฏิรูป เกิดขึ้นก่อนหน้านี้แล้ว
ในวันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม 2518 ก็มีกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นักธุรกิจ และผู้นำกรรมกรฝ่ายขวา ได้นัดประชุมที่สโมสรสีลม และตั้งกลุ่มที่ชื่อว่า “ขบวนการปฏิรูปแห่งชาติ” ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในกลุ่มนี้คือนายประสิทธิ์ ไชยทองพันธ์ ข้าราชการกรมแรงงาน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งกรรมกรฝ่ายขวา กลุ่มขบวนการปฏิรูปได้แถลงเป้าหมายที่จะต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยโจมตีรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ด้วยว่า เป็นรัฐบาลที่อ่อนเกินไป ปล่อยให้คอมมิวนิสต์เพ่นพ่านเต็มแผ่นดิน จึงได้เสนอให้มีการเก็บหนังสือฝ่ายสังคมนิยมทั่วประเทศ แต่ปรากฏว่าการสร้างกระแสของขบวนการยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่กลุ่มขบวนการปฏิรูปยังคงเคลื่อนไหวต่อมา จนกระทั่งถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2519 ก็มีคำว่า “สภาปฏิรูป” ลงในหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ แล้วในคอลัมน์ “ไต้ฝุ่น” จากนั้น การรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 กลุ่มทหารที่ยึดอำนาจจึงเรียกคณะของตนว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ประกอบด้วย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะ นอกจากนี้ยังมี พล.อ.บุญชัย บำรุงพงศ์ พล.อ.อ.กมล เตชะตุงคะ พล.อ.เสริม ณ นคร และ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นต้น แต่กลุ่มทหารที่จะนำมาสู่การรัฐประหารนี้มิได้รวมตัวกันในลักษณะเช่นนี้มาก่อน ทั้งนี้หลังกรณี 14 ตุลาคม 2516 กลุ่มทหารได้แบ่งออกเป็นกำลังต่างๆ 3 กลุ่มใหญ่ นั่นคือ กลุ่มพล.อ.กฤษณ์ สีวะรา หรือกลุ่มสี่เสากลุ่มหนึ่ง กลุ่มทหารอำนาจเดิมของจอมพลประภาส จารุเสถียร ซึ่งจะมี พล.ท.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา และพล.อ.ประเสริฐ ธรรมศิริ เป็นแกนอีกกลุ่มหนึ่ง แต่กลุ่มที่สามที่จะมีบทบาทมากคือ กลุ่มซอยราชครู ซึ่งนำโดย พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย ร่วมด้วย พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ เลขาธิการพรรค และ พล.ต.ศิริ ศิริโยธิน รองหัวหน้าพรรค และมีการเชื่อมประสานเข้ากับข้าราชการทหารตำรวจคนสำคัญที่ยังอยู่ในประจำการ เช่น พล.ท.ไพฑูรย์ อิงคตานุวัตร พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ พล.ท.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ เป็นต้น กลุ่มนี้ แสดงบทบาทเป็นปีกขวาของคณะรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ดังในวันที่ 11 พฤษภาคม 2518 พล.ต.ประมาณ เป็นผู้เสนอคำขวัญ “ขวาพิฆาตซ้าย” เรียกร้องให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าที่เห็นว่าเป็นฝ่ายขวาลุกขึ้นพิฆาตฝ่ายซ้าย คือ ขบวนการนักศึกษา
กลุ่มทหารทั้งสามกลุ่มนี้มิได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนัก แต่กลุ่มที่มีบทบาทสูงที่สุดก็คือกลุ่ม พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา แต่ พล.อ.กฤษณ์เกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2518 พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดแทน ขณะที่ พล.อ.บุญชัย บำรุงพงศ์ ได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก สำหรับ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ได้รับตำแหน่งเสนาธิการทหาร ปรากฏว่าในเดือนเมษายน 2519 พลเอกกฤษณ์ได้ถึงแก่กรรมอย่างมีเงื่อนงำ หลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้เพียงสองสัปดาห์ พล.อ.บุญชัย บำรุงพงศ์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ขึ้นมามีบทบาทในกลุ่มนี้แทนโดยรับช่วงอำนาจต่อมาจนกระทั่งเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2519 และ พล.อ.เสริม ณ นคร ได้เข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกต่อมา
อย่างไรก็ตาม นายทหารส่วนมากจะมีบทบาทที่ไม่เปิดเผยนัก ในการประกาศตัวเป็นศัตรูกับขบวนการนักศึกษา นอกจากจะเป็นผู้สนับสนุนองค์กรฝ่ายขวาต่างๆ และแสดงบทบาทในการทำลายขบวนการนักศึกษาผ่าน กอ.รมน. ส่วนการสังหารหมู่เมื่อเช้าวันที่ 6 ตุลาคม ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ากลุ่มเหล่านี้จะมีส่วนเกี่ยวข้องในการนี้แต่อย่างใด และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ.บุญชัย บำรุงพงศ์ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ พล.อ.เสริม ณ นคร และพล.อ.อ.กมล เตชะตุงคะ นั้นไม่น่าที่จะเป็นตัวการใหญ่ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดการสังหารหมู่ครั้งนี้ เพราะถ้าหากว่านายทหารเหล่านี้เป็นแกนกลาง จะสามารถใช้กำลังทัพดำเนินการได้เลย ไม่ต้องใช้กำลังตำรวจกองปราบ และตำรวจตระเวนชายแดนเข้าสังหารนักศึกษาประชาชนอย่างที่ปรากฏ เพราะอำนาจสั่งการเหนือตำรวจตระเวนชายแดนไม่น่าจะอยู่ในมือนายทหารเหล่านี้ในระยะนั้น
ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้นมีความเป็นไปได้ว่า นายทหารกลุ่มอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งทราบต่อมาว่าเป็น กลุ่มของ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ และ พล.ท.วิทูรย์ ยะสวัสดิ์ จะมีส่วนโดยตรงในการปราบปรามนักศึกษามากกว่า และเตรียมจะก่อการรัฐประหารในเวลาดึก แต่ปรากฏว่า กลุ่มของ พล.อ.บุญชัย บำรุงพงศ์ และ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ได้ร่วมกันก่อการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองเสียก่อนในตอนหัวค่ำวันนั้นเอง
หลังจากการรัฐประหาร คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้แต่งตั้งให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี นายธานินทร์ ขณะนั้นอายุ 50 ปี ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา เป็นบุคคลที่ประชาชนทั่วไปไม่เคยได้ยินชื่อในวงการเมืองมาก่อนเลย นอกจากชื่อเสียงในฐานะที่เป็นวิทยากรต่อต้านคอมมิวนิสต์ และมีแนวคิดทางการเมืองขวาตกขอบ นายชวน หลีกภัย สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอหลักฐานว่า สภาปฏิรูปได้มีการเตรียมการมาล่วงหน้า อย่างน้อยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2519 และรวมทั้งมีการเตรียมตัวบุคคลที่จะมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย และมีความเป็นไปได้ว่า บุคคลนั้นก็คือนายธานินทร์ กรัยวิเชียร นั่นเอง ดังที่บุญชนะ อัตถากร ได้อธิบายถึงคำบอกเล่าของ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูป ดังมีใจความส่วนหนึ่งว่า
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2519 มีข่าวลืออยู่ทั่วไปว่า จะมีทหารคิดก่อการปฏิวัติ… เหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น ฝ่ายซ้ายกำลังฮึกเหิม และรบกวนความสงบสุขอยู่ทั่วไป จึงได้กราบบังคมทูลขึ้นไปยังในหลวง ซึ่งประทับอยู่ที่ภูพิงค์ราชนิเวศในขณะนั้น… คุณสงัดจึงได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบสถานการณ์บ้านเมืองว่าเป็นที่น่าวิตก ถ้าปล่อยไปบ้านเมืองอาจจะต้องตกอยู่ในสถานะอย่างเดียวกับลาวและเขมร จึงควรดำเนินการปฏิวัติ… อยากได้พรจากพระโอษฐ์ให้ทางทหารดำเนินการได้ตามที่คิดไว้ แต่ในหลวงมิได้รับสั่งตรงๆ คงรับสั่งแต่ว่า ให้คิดเอาเองว่า ควรจะทำอย่างไรต่อไป
คุณสงัดเห็นว่า เมื่ือไม่รับสั่งตรงๆ ก็คงจะดำเนินการไม่ได้ จึงกราบบังคมทูลว่า ถ้าทางทหารยึดอำนาจการปกครองได้แล้ว… ใครควรจะเป็นนายกรัฐมนตรี… ได้กราบบังคมทูลชื่อไปประมาณ 15 ชื่อ…แต่ไม่ทรงรับสั่งสนับสนุนผู้ใด… เมื่อไม่ได้ชื่อบุคคล และเวลาก็ล่วงเลยไปมากแล้ว คุณสงัดก็เตรียมตัวจะกราบบังคมทูลลากลับ แต่ก่อนจะออกจากที่เฝ้า ในหลวงได้รับสั่งว่า จะทำอะไรลงไปก็ควรปรึกษานักกฎหมาย คือ คุณธานินทร์ กรัยวิเชียร ผู้พิพากษาศาลฎีกาเสียด้วย คุณสงัดบอกว่า ไม่เคยรู้จักคุณธานินทร์มาก่อนเลย พอมาถึงกรุงเทพฯ ก็ได้บอกพรรคพวกทางกรุงเทพฯ ให้ทราบ และเชิญคุณธานินทร์มาพบ

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar