"....'แหล่งศึกษาร่มเย็น เด่นริมสายชล' ธรรมศาสตร์ในยุคนั้น ในวันที่ 6 ตุลา มันยังร่มเย็นอยู่ไหม หรือว่าต้องร่มเย็นภายใต้ร่มใครเท่านั้น..." คำถามจากหนึ่งในสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
6 ตุลา: ความคิดและคำถามเกี่ยวกับการสังหารหมู่เมื่อ 45 ปีก่อน ผ่านมุมมองคนรุ่นใหม่
- ธันยพร บัวทอง
- ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
บริเวณสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อ 6 ตุลาคม 2519
ในห้วงการเคลื่อนไหวของเยาวชนนักเรียนนักศึกษาประชาชนเมื่อปี 2563 อาจเป็นอีกหมุดเวลาหนึ่งที่มีการส่งผ่านประวัติศาสตร์เหตุการณ์ล้อมปราบสังหารนักศึกษาประชาชนภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในวันที่ 6 ตุลา 2519 อย่างกว้างขวางที่สุดช่วงหนึ่ง
ทั้งกระแสความนิยมหนังสือเกี่ยวกับการเมืองไทยที่เนื้อหาส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของเหตุการณ์สำคัญอย่าง 6 ตุลา รวมถึงหนังสือชุดกษัตริย์ศึกษา และการสื่อสารผ่านกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาที่เป็นแกนนำหลักในการจัดชุมนุมในปี 2563 อย่างกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ที่ชูข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ อันเป็นข้อเรียกร้องที่ปรากฏส่วนหนึ่งในการชุมนุมของเยาวชนประชาชนเมื่อปีที่แล้ว
กล่าวได้ว่าด้วยประการทั้งหมดนี้ น่าสนใจว่า เยาวชน คนรุ่นใหม่ ที่นับเป็นประชากรวัยหลักของการเคลื่อนไหว รับรู้ รับทราบ และนึกคิดเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 อย่างไร
- 6 ตุลา : "ทะลุเพดานของความเงียบ" บทใหม่นอกหนังสือ "ลืมไม่ได้ จำไม่ลง" ของ ธงชัย วินิจจะกูล
- 6 ตุลา : ภารกิจ "สืบต่อความทรงจำ" กับวาระ "รื้อคิดความเป็นไทย" ของ 2 ผู้รอดชีวิต
- กระแสนิยมหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองในคนรุ่นใหม่ กับการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย
- ธงชัย วินิจจะกูล มองทะลุประวัติศาสตร์ "ราชาชาตินิยม" และ "ผี" ในการเมืองไทย
เหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยถูกชำระถึงเหตุของการเกิด กลไกการทำให้เกิด ผู้บงการ อีกทั้งมีผู้สูญเสียจากความรุนแรงครั้งนั้นอย่างน้อย 45 คน โดยมี 7 คน ที่ยังไม่สามารถระบุชื่อนามของพวกเขาได้
ท่ามกลางความคลุมเครือสงสัยที่ไม่คลี่คลายและบางข้อเท็จจริงที่มีเพดานการพูดคุยในที่สาธารณะ อะไรคือความนึกคิดของคนรุ่นใหม่ที่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์หน้านี้ใน 45 ปีให้หลัง บีบีซีไทย คุยกับ 3 คนรุ่นใหม่ ที่ได้เกาะเกี่ยวกับเรื่อง 6 ตุลา 19 ในบทบาทบางอย่าง
แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
เมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว ศ.ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราภิชานภาควิชาประวัติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ประเทศสหรัฐฯ กล่าวใน เปิดตัวหนังสือ "Moments of Silence : The Unforgetting of the October 6, 1976, Massacre in Bangkok" โดยตอนหนึ่งได้หยิบยกฉากสำคัญในการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในปี 2563 ที่เวทีชุมนุม "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อ 10 ส.ค. ที่ มธ.ศูนย์รังสิต เป็นช่วงของเวทีที่มีการฉายภาพเหตุการณ์สังหารหมู่บนจอขนาดใหญ่ ท่ามกลางผู้ชุมนุมนับหมื่นคน ทว่าเพลงประกอบภาพอันน่าหดหู่แต่ละภาพถูกเปิดไปเรื่อย ๆ คือ เพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง เพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศ.ดร. ธงชัย ชี้ว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็น "กรณีตัวอย่างชั้นยอด" ที่สะท้อนภาพปัญหาสังคมไทยที่ยังดำรงอยู่ จึงทำให้ขบวนการนักศึกษานำความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้มา "เปิดฉากเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันฯ เพื่อให้อยู่พ้นเลยไปจากการเมือง"
คำอธิบายของนักศึกษากลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่เป็นทีมเบื้องหลังฉากสำคัญที่ว่านี้ บอกบีบีซีไทยว่า ด้วยจุดประสงค์ของการชุมนุม 10 สิงหา คือ การเปิดประเด็นการพูดเรื่องสถาบันฯ เมื่อบวกกับการที่วัฒนธรรมกิจกรรมของ มธ.นั้น มักจะปิดงานด้วยการเปิดเพลงพระราชนิพนธ์ ยูงทอง เสมอ ดังนั้น เมื่อเป็นวาระการเปิดประเด็นพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์แล้ว สิ่งที่แนวร่วมฯ พูดคุยกันก็คือ การนำเสนอเพลงยูงทอง "ในความหมายที่กลับหัวหลับหางกว่าปกติ"
ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX
นศ. มธ.ชั้นปีที่ 3 ผู้นี้ บอกกับบีบีซีไทยว่า มีจุดร่วมบางอย่างในประเด็นนี้ หากเพลงยูงทอง คือประวัติศาสตร์ของ มธ. ที่เกี่ยวพันกับสถาบันกษัตริย์ เหตุการณ์ 6 ตุลา ก็คือ "เหรียญคนละด้าน" ของประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์กับสถาบันกษัตริย์ เช่นกัน
"พอใส่ประวัติศาสตร์บาดแผลที่สำคัญของธรรมศาสตร์ลงไป มันเกิดภาพที่มันขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง" นศ.ผู้นี้กล่าว ก่อนเล่าเบื้องหลังถึงการเลือกภาพในเนื้อเพลงท่อนแรก เป็นภาพคนถูกแขวนคอที่ต้นมะขามท้องสนามหลวง ฉากสนามฟุตบอล มธ. ที่มีทหารหันปลายกระบอกปืนไปทางตึกโดม และ นศ.ที่นอนเรียงรายอยู่บนพื้นสนามหญ้า"
"จริง ๆ แล้วเราไปหยิบดูว่าเนื้อเพลงท่อนนี้ เขาพูดถึงอะไร 'แหล่งศึกษาร่มเย็น เด่นริมสายชล' ธรรมศาสตร์ในยุคนั้น ในวันที่ 6 ตุลา มันยังร่มเย็นอยู่ไหม หรือว่าต้องร่มเย็นภายใต้ร่มใครเท่านั้น..."
เพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง อันเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย และใช้ทั้งในพระราชพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ และกิจกรรมในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ราวกับถูกให้บริบทใหม่ในคืนนั้น ซึ่ง นศ.แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ เล่าบรรยากาศที่เวทีชุมนุมคืนนั้นว่า "บางคนก็ร้องเพลงตามอยู่สักพักหนึ่ง เพราะว่าชินแล้วกับความเป็นนักศึกษา แต่พอร้องไปสักพัก เห็นภาพที่ฉายบนจอไประยะหนึ่ง เขาก็หยุดร้องไป"
ท้ายที่สุดแล้ว เขาให้ความเห็นว่าสิ่งที่น่าสนใจในเรื่องนี้คือ เพลงนี้จะมีที่ทางอย่างไรต่อไปใน มธ. แต่อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่เขาอยากเห็นคือ เมื่อเพลงนี้ดังขึ้นเมื่อใด ภาพของ 6 ตุลา 19 จะปรากฏในหัวของคนฟัง
ข้อสงสัย 6 ตุลา จากสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ
"อาจารย์ถามตรง ๆ นะ เราเป็นพวกล้มเจ้าหรือเปล่า" แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ คนนี้ ถูกครูวิชาสังคม ชั้นมัธยมปลาย ที่โรงเรียนต่างจังหวัดในภาคอีสาน ถามเขาและเพื่อน ระหว่างที่พูดคุยกันเรื่องที่ ไผ่ ดาวดิน นักกิจกรรมที่เรียนในระดับมหาวิทยาลัย ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นำมาสู่การแลกเปลี่ยนในห้องเรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ขณะนั้น คือ ช่วงหลังจากที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจ และเริ่มปรากฏคดี 112 อีกครั้ง
การถูกถามครั้งนั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ รายนี้ เมื่อกว่า 4 ปีที่แล้ว เริ่มศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างเข้มข้น เขาเองก็มีคำถามถึง คำพูดของครูว่าเหตุใดการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา จึงจะทำให้พวกเขากลายเป็นเรื่อง "เป็นพวกล้มเจ้า" ไปได้
ศึกษาจากหลายตำรา ก็ยังไม่ชัดเจนถึงการอธิบายที่อย่างมากจบลงที่ประโยคที่ว่า "พระราชอำนาจนำ"
ต่อเมื่อเข้ามาเรียนทางสังคมศาสตร์ ที่ มธ. เขาศึกษาจากหลักฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่หลายฝ่ายรวบรวมขึ้น ตลอดจนข้อมูลที่วิเคราะห์ขึ้นในภายหลัง อย่างงานศึกษาของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล จึงประมวลวิเคราะห์การรับรู้เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ขึ้นมาได้ในฉบับของเขาเอง
ที่มาของภาพ, afp/getty images
คำบรรยายภาพ,
กำลังตำรวจขณะบุกเข้าไปในธรรมศาสตร์เมื่อเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ภาพโดยสำนักข่าวเอเอฟพี
ความคลุมเครือเกี่ยวกับ 6 ตุลา จากสายตาของสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ คนนี้ มีดังนี้
- การจัดตั้งกลุ่มพลังทางฝ่ายขวาขึ้นมา มีจุดประสงค์ที่แท้จริงอย่างไร จัดตั้งมาเพื่อให้สังคมดีขึ้นจริงหรือไม่ หรือว่าจัดตั้งขึ้นเพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองอะไรบางอย่าง
- การดูแลเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บาดเจ็บจากปฏิบัติการกวาดล้างที่ มธ.
- การที่เข่นฆ่าสังหารประชาชนและนักศึกษาไม่มีใครที่ถูกดำเนินคดี หรือได้รับผลจากการกระทำ
- ผู้บงการจริง ๆ ไม่เคยถูกพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นไหน
6 ตุลา ในรุ่นทะลุเพดาน คือเครื่องมือตั้งคำถามกับชนชั้นนำ
แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ เห็นว่า การเคลื่อนไหวในห้วงปีที่แล้ว หนึ่งในองค์ประกอบ คือ การหยิบเอาประวัติศาสตร์บาดแผลที่ฝ่ายประชาชนและ นศ. พ่ายแพ้มาพูดถึง ทั้งเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เหตุสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ปี 2553 หรือกระทั่งเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ที่ เขาบอกว่า เป็นการพูดใน "นัยใหม่" ที่บอกว่าจริง ๆ แล้ว นักศึกษาและประชาชนไม่ได้มีชัยชนะอย่างแท้จริง เนื่องจากในอีก 3 ปีต่อมา ขบวนการนักศึกษา ถูกรัฐโจมตีกลับจนมีจุดสูงสุดที่เหตุการณ์ 6 ตุลา
เขาเห็นว่าในขบวนการนักศึกษาในปี 2563 เป็นกระแสที่ทำให้มีการศึกษาประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ในวงคนรุ่นใหม่ และมีการให้ความหมายใหม่ของเหตุการณ์นี้
ที่มาของภาพ, PATIPAT JANTHONG/THAI NEWS PIX
"ผมมองว่า (การศึกษาประวัติศาสตร์ 6 ตุลา) มาพร้อมกับกระแสทางการเมืองที่จะทำให้ 6 ตุลา เปลี่ยนจากโศกนาฏกรรม เรื่องต้องห้าม เป็นเครื่องมือในการตั้งคำถามเกี่ยวกับชนชั้นนำ หรือฝ่ายขวาที่ผูกขาดความดี หรือการเป็นคนดีเอาไว้ คนดีทำให้เกิด 6 ตุลา จริงหรือ อันนี้มันเป็นสิ่งที่คนดี ทำกันใช่หรือไม่"
45 ปี ที่ล่วงเลยมาจนปีนี้ นักศึกษาผู้นี้มองว่า ภาวะที่ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนคือ ประเด็นพระราชอำนาจนำ และยังไม่มีการชำระสะสางจากสังคมร่วมกันเพื่อตัดสินว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นการกระทำที่ผิด ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องสะเทือนใจเรื่องหนึ่ง รวมถึงการดำเนินคดีกับผู้มีส่วนในลงมือและทำให้เกิดเหตุการณ์นั้น
เนติวิทย์: "Keep spirit" 6 ตุลา
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) มีโอกาสได้จัดทำหนังสือเกี่ยวกับ 6 ตุลา ต่อเนื่องมาในช่วงที่เรียนอยู่ในชั้นมัธยมต้นที่เริ่มมีความสนใจการเมือง เป็นช่วงที่เกิดขบวนการ "คนเสื้อแดง" ประเด็นที่พูดถึงกันมากในขณะนั้น คือ การใช้ความรุนแรงจากรัฐปราบปรามคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ซึ่งมักจะถูกนำไปเทียบกับเหตุการณ์ 6 ตุลา
เนติวิทย์บอกว่า สังคมเริ่มรับรู้เรื่อง 6 ตุลา กว้างขวางขึ้น ต่างจากก่อนหน้านี้ที่เขาเองบอกว่า "ไม่ค่อยอยากจะเชื่อ และไม่กล้าจะพูด" แต่ตอนนี้การพูดกันในทางที่เปิดเผยได้นั้น ส่วนใหญ่มาอยู่ในระนาบของการถกเถียงว่า สถาบันฯ มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ในทางใดเท่านั้น
"เมื่อก่อนเรื่องพวกนี้ไม่เคยถูกตั้งคำถาม คือ เห็นความรุนแรง แต่เราไม่รู้ว่าความรุนแรงเกิดมาได้ยังไง ใครทำ แล้วเราก็ถูกปิดด้วย (กฎหมายอาญา มาตรา) 112 เราพูดไม่ได้.... แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ การตั้งคำถามไม่ได้จบที่ว่า เสียใจแล้วจบ แต่แล้วมันเกิดขึ้นได้ยังไง เหตุการณ์เงื่อนไขอะไรที่นำไปสู่ความรุนแรงแบบนั้น"
ที่มาของภาพ, afp/getty images
ในการสนทนากับบีบีซีไทย เนติวิทย์บอกเราว่า เรื่องที่เขาสนใจเกี่ยวกับ 6 ตุลา ในช่วงปีหลังมานี้ คือการ เปิดมุมมองของ 6 ตุลา ให้กว้างขึ้น เพื่อคงและรักษาจิตวิญญาณของนักศึกษาประชาชนรุ่นนั้น
การมองเห็นความไม่เป็นธรรมในสังคม คือ หนึ่งใน "สปิริต" ของคน 6 ตุลา ที่เนติวิทย์กล่าวถึง เขาสะท้อนว่าเหตุการณ์นี้ต่อเนื่องเชื่อมโยงมาตั้งแต่ 14 ตุลา 2516 ที่ประชาชนนักศึกษาเผชิญกับรัฐบาลเผด็จการและความไม่เป็นธรรมในระดับโครงสร้าง
กลับมาที่ยุคปัจจุบัน นายกฯ อบจ. บอกว่า เขาเห็นว่าคนรุ่นใหม่เริ่มเห็นความไม่เป็นธรรมในมิติที่ซับซ้อนมากขึ้น อย่างกรณีโรคระบาดโควิด-19 ที่ความทุกข์ของผู้คนแพร่หลายไปทั่วในทุกแวดวง
"ความไม่พอใจของคนหนุ่มสาว ผมคิดว่ามันก็เหมือนกัน คือการที่เห็นสังคมเละ ๆ แบบนี้ ก็เลยอยากเปลี่ยนแปลง ตอนนั้นจบลงที่ผู้มีอำนาจผู้ปกครอง รับฟัง แก้ไข เอาจอมพลถนอมออกไป สถานการณ์มันก็ดีขึ้นได้ แต่มันไม่ใช่อย่างนั้น เขาก็ดั้นด้นปลุกปั่น ปลุกระดม มันก็นำไปสู่ความรุนแรง"
"อำนาจรัฐอาจจะเลวร้าย"
จิตวิญญาณอีกประการหนึ่งที่เนติวิทย์บอกว่าเป็นความนึกคิดที่เกิดขึ้นในห้วงความเคลื่อนไหวในปัจจุบัน คือ ต้องยอมรับว่ารัฐรุนแรงได้ถึงขนาดนั้นจริง และฆ่าคนอย่างอำมหิตได้จริง
"Spirit (จิตวิญญาณ) ของ 6 ตุลา มันมีหลายมุม มุมหนึ่งอาจทำให้เราระมัดระวังมากขึ้นว่า อำนาจรัฐอาจจะเลวร้าย แต่ก็มีอีกมุมหนึ่งเหมือนกัน ที่รุ่นพี่เขาสละชีวิตเพื่อชาติบ้านเมือง มีมากมาย คุณจะนิ่งเงียบไม่ได้ คุณต้องกล้าพูดความจริง แทนคนที่เสียชีวิตด้วย"
ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
เขากล่าวโดยใช้หน่วยเวลาในรัชสมัยที่แล้ว ว่าเคยมีช่วงที่เป็น "ประชาธิปไตย" อยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนการรัฐประหาร 2549 ภาคประชาสังคมเข้มแข็ง มีเสรีภาพในระดับหนึ่ง แต่ภายหลังจากการรัฐประหาร 2557 มีการกระทำต่อกลุ่มเห็นต่าง อย่างการบังคับสูญหาย หรือการอุ้ม ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เริ่มเห็นเยอะขึ้น
"คนที่เติบโตมาในรุ่นนี้ ก็อาจจะลืมความเป็นจริงของอำนาจรัฐว่าโหดเหี้ยม อำมหิตได้ และอาจจะไม่รู้ด้วยว่า ตัวเองอาจจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม อย่างกรณีองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) อาจจะไม่รู้ตัวว่าตัวเอง กำลังผลิตซ้ำการลืม ประวัติศาสตร์แบบนี้ไป" เนติวิทย์ ยกตัวอย่างการไม่สนับสนุนการจัดงานรำลึกในปีนี้ของ อมธ.
ในขณะเดียวกัน เนติวิทย์บอกว่า การใช้อำนาจของรัฐก็อาจจะเปิดเผยมากขึ้นที่อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงแบบ 6 ตุลา ตามที่ได้เริ่มเห็นแล้วในการปราบปรามผู้ชุมนุมจากตำรวจในการชุมนุมล่าสุด
ผู้สมรู้ร่วมคิดควรถูกอภิปรายทางประวัติศาสตร์
เนติวิทย์ กล่าวว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นภาพที่ลบมากของฝ่ายอนุรักษนิยมไทย ถึงแม้จะมีชัยชนะในเวลานั้นต่อขบวนการนักศึกษา แต่กลับแพ้ในทางประวัติศาสตร์ เมื่อคนรุ่นหลังมีช่องทางในการศึกษาประวัติศาสตร์นอกตำราและนอกชั้นเรียน โดยมีสื่อออนไลน์เป็นประตูนำมาสู่เนื้อหาที่โรงเรียนไม่ได้สอนเหล่านั้น
นอกจากตัวละครที่เห็นหน้าและความเคลื่อนไหวชัดเจน ที่ปรากฏตัวในกลุ่มฝ่ายขวาในเวลานั้น เนติวิทย์เห็นว่า "ผู้สมรู้ร่วมคิดก็เป็นคนที่ควรถูกอภิปรายทางประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกัน"
สภาพความเสียหายของตึกคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ซึ่งตั้งอยู่ติดกับสนามฟุตบอล มธ. ท่าพระจันทร์
"หลังจากการปราบปรามเสร็จ
เขายุบองค์กร สภานิสิตจุฬาฯ ไปหลายปี อย่าง อบจ.
ก็ไม่มีสิทธิทำกิจกรรมทางการเมืองไปหลายปี ดังนั้น ถ้าพูดจริง ๆ
คนที่ทำให้บ้านเมืองมันเป็นแบบนี้ ทำให้เหตุการณ์ 6 ตุลา
หรือการปราบปรามชอบธรรม
พวกผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็มีส่วนหรือเปล่าในเวลานั้น
หลายคนอาจจะยังมีชีวิตอยู่
คนที่ไม่พูดอะไรเลยแล้วยอมให้เกิดการปราบปรามสังหารในเวลานั้น
อาจจะผิดด้วยหรือไม่ ดังนั้น
การที่พวกเขาที่อาจจะเป็นเหมือนส่วนหนึ่งด้วยการไม่พูดอะไร
แล้วสถานการณ์มันยกระดับความรุนแรงขึ้นมาได้ ถึงขนาดฆ่าคนที่คิดเห็นแตกต่าง
คนกลุ่มนี้ก็อาจจะมีส่วนต้องรับผิดชอบด้วย ไม่ใช่เพียงแค่แกนหลัก ๆ อย่าง
ทมยันตี สมัคร สุนทรเวช"
"5 ตุลา ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง"
ในปีนี้ บางส่วนของกิจกรรมรำลึก ถูกสานต่อโดยคนรุ่นใหม่ที่อ่านประวัติศาสตร์ ตีความ และหยิบยกแง่มุมทางชีวิตของขบวนการนักศึกษาก่อนวันล้อมปราบ หนึ่งในทีมบรรณาธิการเนื้อหาของกิจกรรมในปีนี้ บอกว่า จุดประสงค์ของพวกเขาคือการจุดความหวังขึ้นมาในคนรุ่นใหม่
กลุ่ม "ม็อบเฟส" กลุ่มนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ผู้จัดชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่ม "ราษฎร" ในปีที่แล้ว ที่มีลายเซ็นการชุมนุมในรูปแบบ "ม็อบเชิงศิลปวัฒนธรรม" คือกลุ่มคนวัย 20 ถึงกว่า 30 ปี ที่มารับช่วงบันทึกงานรำลึก 6 ตุลา ในปีนี้ โดยมีกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์ในวงการศิลปะ ดนตรี และสื่อเข้ามาร่วมในการจัดกิจกรรม
ที่มาของภาพ, 5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง
ที่มาของภาพ, afp/getty images
คำบรรยายภาพ,วัตถุความทรงจำในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน ที่ผู้จัดงาน 6 ตุลา ปีนี้ ทำขึ้นมาใหม่ ภายใต้ชื่อ #5ตุลาตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง
กันต์กนิษฐ์ มิตรภักดี บรรณาธิการเนื้อหา บอกบีบีซีไทยว่า กระแสการเคลื่อนไหวของเยาวชนนักศึกษาในปี 2563 และขบวนการนักศึกษาเมื่อกว่า 45 ปีที่แล้ว มีจุดเชื่อมโยงบางอย่าง
"สิ่งที่เราต่อสู้มันยังเป็นเรื่องเดิม ศัตรูของเรายังเป็นคนเดิม ในแง่หนึ่งมันมีเส้นเรื่องที่ดำเนินต่อมา แต่การต่อสู้ของเราเหมือนเป็นสายธารเดียวกัน... สิ่งที่เราเรียกร้องคือเรื่องเดิม ๆ คือ ความเป็นคนที่เท่ากัน เรียกร้องประเทศสังคมที่ก้าวหน้า แล้วศัตรูคือคนเดิม คือศักดินา ทหาร ระบบระบอบ อีลีท (ชนชั้นนำ) ต่าง ๆ เลยอยากมาเชื่อมโยงจุดตรงนี้ให้นักต่อสู้รุ่นใหม่ได้เห็นด้วย"
"5 ตุลา ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง" คือการหยุดเวลาไว้ก่อนที่วันสังหารหมู่จะเกิดขึ้น ช่วงแห่งความรุ่งโรจน์ของขบวนการนักศึกษา ตลอดจนขบวนการแรงงาน ชาวนา ที่ถูกเรียกว่า "ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน" ช่วงปี 2516 -2519 เป็นส่วนของประวัติศาสตร์ที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ นำมาเล่าอีกครั้ง
"ช่วงนั้นความคิดฝ่ายก้าวหน้ารุ่นเรื่อง ชัยชนะจาก 14 ตุลา เห็นคุณค่าในพลังของตัวเอง เห็นว่ามีสิทธิมีเสียงในการเรียกร้อง มันเป็นเรื่องเดียวกันที่คนรุ่นใหม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง" เธออธิบาย
การสื่อสารในงานรำลึกของ "5 ตุลา ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง" เป็นไปในรูปแบบของสื่อหลากหลายประสบการณ์ ทั้งภาพยนตร์ ดนตรี ศิลปะ ผ่านแพลตฟอร์มสื่อ วงเสวนา ตลอดจนการพูดคุยใน แอปพลิเคชั่นคลับเฮาส์ ทว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นไฮไลท์ที่ทำงานกับความทรงจำกับคนเดือนตุลา และสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ คือ "กล่องฟ้าสาง" ซึ่งบรรจุความทรงจำในยุครุ่งโรจน์ของขบวนการนักศึกษาเอาไว้
"สิ่งที่ทำช่วง 3 ปี นั้นมันมีมีประโยชน์ มันมีอิมแพ็ค (สร้างผลกระทบ) บางอย่างที่ยังอยู่ในสังคมจนถึงทุกวันนี้ เราอยากแอดเดรส (ตอบรับ) ว่าเรารู้และเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับ 6 ตุลา มันไม่ควรเกิดขึ้นกับคนวัย 20 กว่า ๆ"
กันต์กนิษฐ์ บอกถึงสิ่งที่อยากบันทึกในงานนี้ คือ ความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในเรื่อง 6 ตุลา ดังเช่น ภารกิจของ โครงการบันทึก 6 ตุลา เพื่อคืนความเป็นมนุษย์ให้แก่ผู้เสียชีวิต "ไม่ใช่แค่รายชื่อในหน้ากระดาษ"
"สุดท้ายคนเราไม่มีใครสมควรต้องตาย เพียงเพราะเห็นไม่ตรงกันหรือเพราะการเรียกร้องในสิ่งที่ดีกว่าที่สมควรได้รับ โดยเฉพาะที่คนเหล่านั้นอายุน้อยมาก ๆ น้อยกว่าเราตอนนี้อีก"
เปิดกล่องฟ้าสาง
นี่คือชิ้นส่วนความทรงจำ สิ่งของ รูปถ่าย ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ให้เสมือนของเก่าจากความทรงจำของคนเดือนตุลา
"เราอยากทำอะไรสักอย่างที่เป็น experience (ประสบการณ์) แล้วไปส่งถึงมือ และไม่ใช่ออนไลน์อย่างเดียว เราคิดคิดถึงการเดลิเวอรี คิดถึงเรื่องการเอาเรื่องราวใส่กล่อง แล้วส่งให้ผู้รับถึงหน้าบ้านได้ไหม อันนี้เป็นต้นกำเนิดของกล่องฟ้าสาง" นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล ผู้ก่อตั้ง อายดรอปเปอร์ ฟิลล์ วัย 33 ปี บริษัทที่ทำงานสร้างสรรค์สื่อ เล่าให้บีบีซีไทยฟังถึงที่มา
เขาบอกว่าการออกแบบประสบการณ์ของกล่องฟ้าสางนั้นเมื่อได้เปิดกล่องจะเสมือนมี "พี่ ๆ คนรุ่น 6 ตุลา เป็นไกด์พาเข้าไปในอดีต โดยการสร้างสรรค์สิ่งของในอดีตเหล่านี้มีกลุ่ม "แลคซีน" กลุ่มที่ทำพรอพประกอบภาพยนตร์นอกกระแส ได้ทำ "กลิ่น" ขึ้นมา เพื่อสื่อความทรงจำในอดีตที่ถูกบรรจุในกล่อง
ของแต่ละชิ้นถูกแยกตามฝ่ายงานต่าง ๆ ของขบวนการนักศึกษาในช่วงระหว่างปี 2516-2519 รวมทั้งกลุ่มชาวนา แรงงาน ที่รวมกันแล้วเรียกว่า "สามประสาน" นันทวัฒน์ได้เล่าถึงความหมายความเป็นมาเบื้องหลังวัตถุความทรงจำเหล่านี้
- ฝ่ายแกน เป็นฝ่ายที่เขียนยุทธศาสตร์ วางรากฐานในการเคลื่อนไหว สิ่งของที่ใช้เป็นชอล์กสามสี แต่ละสี และภาพบรรยากาศจริงที่ถูกนำมาอัดใส่กระดาษใหม่
- ฝ่ายศิลปะ ของที่ถูกนำมาบรรจุเป็นความทรงจำในกล่อง คือ โปสการ์ด และแป้งเปียก สำหรับที่ใช้ติดโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์การชุมนุมในสถานที่ต่าง ๆ นันทวัฒน์เล่าว่า ตัวแป้งเปียก เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายใช้และรู้สึกเชื่อมโยงได้เหมือนๆ กัน แม้เป็นของที่ค่อนข้าง ไม่ซับซ้อน หยิบขึ้นมาแล้วเรารู้ว่าเป็นกาวแป้งเปียก แต่จริง ๆ แล้วเป็นเสมือนกาวที่สานทุก ๆ คนในกลุ่มนักศึกษา เขายังเล่าถึงความทรงจำในขั้นของการทำข้อมูลว่า"พี่หลายคนเล่าว่า ตอนที่กวนแป้ง เป็นตอนที่หลายคนได้มารู้จักกัน"
- ฝ่ายดนตรี รวบรวมเนื้อเพลง ทำเป็นหนังสือเพลงของคนฝ่ายซ้าย เช่น วงกรรมาชน
- ฝ่ายการแสดง วัตถุที่ทำขึ้นมาให้ดูเป็นของเก่าที่ผ่านกาลเวลามาแล้ว คือ กล่องอายไลน์เนอร์
- ฝ่ายการ์ด สิ่งของคือ ยาเส้นของฝ่ายรักษาความปลอดภัยในการชุมนุม กลิ่นยาสูบเป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกพูดถึงในบรรยากาศตอนนั้น
ที่มาของภาพ, 5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง
- ฝ่ายพยาบาล มีแอมโมเนีย ถุงพยาบาล
- ฝ่ายสวัสดิการ วัตถุความทรงจำ คือ ข้าวห่อ นันทวัฒน์ บอกว่า เมื่ออดีตผู้ร่วมเหตุการณ์ 6 ตุลา เห็นห่อข้าว กับช้อนสังกะสีเก่า ๆ พวกเขาเกือบร้องไห้ออกมาราวกับพากลับไปใน พ.ศ.นั้น ที่มีภาพบรรยากาศถุงคลุมหัว ทุกคนมีช้อนหนึ่งอันเก็บไว้กับตัว เพราะเวลาแจกข้าว ฝ่ายผู้จัดจะแจกแต่ข้าวไม่มีช้อน ทุกคนมีช้อนอยู่กับตัวไว้ เพื่อกินข้าวจากห่อนั้น
ที่มาของภาพ, 5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง
- กระเป๋าพ็อคเก็ตของเสื้อเชิ้ตและกางเกง แทนสัญลักษณ์ของ "สามประสาน" ในขบวนการนักศึกษาประชาชน ได้แก่ กระเป๋าพ็อคเก็ตด้านหลังของกางเกงยีนส์ฮาร่า ตัวแทนฝ่ายแรงงาน, กระเป๋าเสื้อหม้อฮ่อม ตัวแทนของขบวนการชาวนา และกระเป๋าเสื้อเชิ้ตขาว ตัวแทนของกลุ่มนักศึกษา
ที่มาของาพ, 5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar