ในเวลาเพียง 2 ปี 7 เดือน ไพบูลย์ นิติตะวัน ขยับสถานะทางการเมือง จาก “ส.ส. ปัดเศษ” ที่ได้คะแนนเสียง 4.5 หมื่นคะแนน สู่ ประธานกรรมการกฎหมายและข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ
ไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้สร้างสารพัดวีรกรรม “ส.ส. ปัดเศษ-นักร้อง-ซามูไร” ก่อนศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดสถานภาพ ส.ส.
- หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
- ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 20 ต.ค. นี้ว่า สมาชิกภาพของ ส.ส. ของ ไพบูลย์ นิติตะวัน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่ หลังยื่นขอเลิกพรรคตัวเอง เพื่อย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
บีบีซีไทยย้อนสำรวจเส้นทางและวีรกรรมทางการเมืองของไพบูลย์ ก่อนวันชี้ชะตา "มือกฎหมาย" พรรคพลังประชารัฐ วัย 67 ปี จะมาถึงกลางสัปดาห์นี้
1. เข้าสู่สนามเลือกตั้ง โดยอ้างชื่อพระพุทธเจ้าหาเสียง
แม้เพิ่งลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นหนแรกเมื่อปี 2562 แต่ไพบูลย์ไม่ใช่คนหน้าใหม่ทางการเมือง เพราะอยู่ในรัฐสภามากว่าทศวรรษ ทว่าทุกตำแหน่งที่มีล้วนมาจากระบบสรรหา ไม่ใช่การเลือกตั้ง
เขาเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. 2 สมัย (2551-2557) เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างในฐานะผู้ประสานงานกลุ่ม "40 ส.ว." ที่รับบทตรวจสอบถ่วงดุลพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย อย่างแข็งขันในฝ่ายนิติบัญญัติ
ภายหลังรัฐประหาร 2557 ไพบูลย์ได้รับการแต่งตั้งโดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ร่วมเป็นสมาชิก 2 จาก 5 องค์กรตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ที่ถูกเรียกขานว่า "แม่น้ำ 5 สาย" โดยเป็นทั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดบวรศักดิ์ อุวรรณโณ (2557-2558) จึงไม่แปลกหากการจัดตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป (ปชช.) จะมีวัตถุประสงค์อย่างชัดแจ้งเพื่อสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นนายกฯ สมัยที่ 2 ด้วยเหตุผลที่ไพบูลย์ประกาศเอาไว้ 3 ข้อคือ ซื่อสัตย์ เป็นคนดี และมีความสามารถ
ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai
คำบรรยายภาพ,
ป้ายหาเสียงนี้ปรากฏข้างสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เมื่อ 4 ก.พ. 2562 สถานที่เปิดรับสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ วันแรก
ชายวัย 65 ปี (ในขณะนั้น) ผู้ไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด ยื่นจดจัดตั้งพรรค ปชช. และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อ 3 ต.ค. 2561 แม้ไม่ใช่ "พรรคสายแข็ง" ในสายตาคู่แข่งขัน หากพิจารณาจากตัวผู้สมัคร ส.ส. และนโยบายที่ใช้หาเสียง ทว่าชื่อพรรคการเมืองน้องใหม่ได้ตกเป็นข่าวครึกโครม หลังขึ้นป้ายหาเสียงสีเหลืองโดยมีหน้าหัวหน้าพรรคแปะหรา พร้อมคำขวัญประจำพรรคที่ว่า "น้อมนำคำสอนพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา 'ทุกข์ร้อน' ให้กับประชาชน คืองานของพรรคประชาชนปฏิรูป"
เครือข่ายชาวพุทธเข้าร้องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบการอ้างชื่อพระพุทธเจ้าหาเสียง หากพบว่ามีความผิดจริง จะขอให้ตัดสิทธิทางการเมือง และส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค แต่ที่สุด กกต. เห็นว่าไม่ขัดต่อกฎหมายเลือกตั้ง หรือระเบียบหาเสียงใด ทำให้ไพบูลย์น้อมนำคำสั่งสอนพระพุทธเจ้าเข้าคูหาเลือกตั้งได้ โดยเจ้าตัวอธิบายว่าไม่ใช่เรื่องของศาสนา แต่เป็นการนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาศึกษาและปรับใช้จริง
นักการเมืองชาย ผู้เป็นอดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนาของ สปช. เคยกล่าวกับบีบีซีไทยถึงวัตรปฏิบัติของเขาว่าถือศีล 5 ไม่เคยขาด อ่านหนังสือธรรมะพุทธทาสภิกขุเป็นประจำ ศึกษาธรรมะอยู่กับบ้าน และยังเปรียบเปรยการทำงานการเมืองเป็นการปฏิบัติธรรม โดยเรียกมันว่าการ "ถือบวชที่สภา"
แต่ถึงกระนั้น เขามักขู่ฟ้องบุคคลภายนอกที่พูดจาพาดพิงให้เกิดความเสื่อมเสียแก่เขา แต่สำหรับสื่อมวลชน ไม่ว่าจะวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงแค่ไหน ไพบูลย์ก็ "ขออนุโมทนา สาธุ" เพราะเข้าใจว่าเป็นการทำหน้าที่
2. เข้าสภาในฐานะ "ส.ส. ปัดเศษ"
ไพบูลย์กับลูกพรรค ต้องหาเงินทุนขั้นต่ำ 3.41 ล้านบาท เพื่อส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต 311 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 40 คน เนื่องจาก กกต. เรียกเก็บค่าธรรมการสมัครหัวละ 10,000 บาท นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในการหาเสียงอื่น ๆ ทั้งการขึ้นป้ายหาเสียง และแจกแผ่นพับแนะนำตัว
ที่มาของภาพ, NurPhoto via Getty Images
ผลปรากฏว่าพรรค ปชช. เก็บกวาดคะแนนเสียงในการเลือกตั้งหนแรกภายใต้ระบบจัดสรรปันส่วนผสมของรัฐธรรมนูญ 2560 ไปได้ 45,420 คะแนน เป็นพรรคอันดับที่ 23 จากทั้งหมด 74 พรรคการเมือง
ในขณะที่คะแนนมหาชน (ป็อบปูลาร์โหวต) ของทุกพรรครวมกันอยู่ที่ 35.56 ล้านเสียง เมื่อนำไปเข้าสูตรคำนวณหา "ส.ส. พึงมีได้" พบว่าต้องมี 71,123.1120 คะแนน ถึงจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน คะแนนที่ ปชช. ได้รับ ทำให้พรรคมีโอกาสได้ ส.ส. เบื้องต้น 0.6386 คน หรือพูดง่าย ๆ คือ "ไม่เต็มคน"
อย่างไรก็ตามเมื่อคำนวณตามสูตรของ กกต. ต่อไปเรื่อย ๆ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อหมายเลข 1 ของ ปชช. อย่างไพบูลย์ กลับมีโอกาสเข้าสภาพร้อมกับผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคอื่นที่ได้คะแนนมหาชนไม่ถึงเกณฑ์มี ส.ส. พึงมี รวมแล้ว 11 พรรค กลายเป็นที่มาของเสียงวิจารณ์เรื่องการได้เป็นผู้แทนฯ เพราะการปัดเศษทศนิยม พร้อมกันนี้นักวิชาการและสื่อมวลชนยังเรียกขานพรรคการเมืองที่หิ้ว "ส.ส. ปัดเศษ" เข้าสภาได้พรรคละคนว่า "พรรคจิ๋ว"
3. เข้าร่วมรัฐบาล หลังฝากวีรกรรม "นักร้อง" รุ่นแรก
แม้สถานะทางการเมืองของ ปชช. ควรอยู่ในระนาบเดียวกับพรรคจิ๋ว แต่ไพบูลย์ไม่ขอปรากฏตัวในเวทีที่ 11 พรรคเสียงเดียวประกาศสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลของ พปชร. ในฐานะพรรคอันดับ 2 เมื่อ 13 พ.ค. 2562
ที่มาของภาพ, Thai News pix
เกือบทั้งหมดเป็นพรรคจิ๋วที่ได้คะแนนเสียงตั้งแต่ 33,787-69,431 เสียง ประกอบด้วย พรรคประชาภิวัฒน์, พรรคพลังไทยรักไท, พรรคไทยศรีวิไลย์, พรรคประชานิยม, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน, พรรคประชาธรรมไทย, พรรคพลเมืองไทย, พรรคประชาธิปไตยใหม่, พรรคพลังธรรมใหม่ และพรรคไทรักธรรม ยกเว้นพรรคพลังชาติไทยที่ได้คะแนนเกินเกณฑ์ ส.ส. พึงมีได้
หนึ่งวันก่อนประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกฯ คนใหม่ ไพบูลย์เลือกไปเปิดหน้า-เปิดตัวในฐานะพันธมิตร พปชร. ร่วมกับอีก 4 พรรคการเมือง เมื่อ 4 มิ.ย. 2562 ประกอบด้วย พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคชาติพัฒนา พรรครักษ์ผืนป่าแห่งประเทศไทย และพรรคพลังท้องถิ่นไท
สิ่งที่หัวหน้าพรรค ปชช. เน้นย้ำในวันนั้นคือ เป็นกำลังใจให้ พปชร. จัดตั้งรัฐบาลมาตลอด และสนับสนุนให้ พล.อ. ประยุทธ์เป็นนายกฯ
ไม่ว่าบังเอิญหรือจงใจ การสวมบท "นักร้อง" ยื่นคำร้อง 2 รอบ ส่งผลต่อการขึ้นสู่อำนาจของ พล.อ. ประยุทธ์
2557 ไพบูลย์คือผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยกรณียิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้ยิ่งลักษณ์ต้องพ้นจากสถานะรักษาการนายกฯ ตามคำวินิจฉัยของศาลเมื่อ 7 พ.ค. 2557 หลังยุบสภาไปก่อนหน้านั้น ในระหว่างเผชิญวิกฤตการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.
ที่มาของภาพ, REUTERS
2562 ไพบูลย์คือผู้ยื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ระงับการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกฯ ในบัญชีของพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เมื่อ 8 ก.พ. 2562 ก่อนที่ ทษช. จะถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคในอีก 1 เดือนหลังจากนั้น พร้อมตัดสิทธิการเมืองคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เป็นเวลา 10 ปี ทำให้ยุทธศาสตร์ "แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย" ของทักษิณ ชินวัตร ต้องสะดุดหยุดลงก่อนถึงวันเลือกตั้ง
วีรกรรมของ "นักร้อง" ที่ชื่อไพบูลย์ จบยกแรกด้วยการได้ พล.อ. ประยุทธ์เป็นนายกฯ หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 และจบยกสองโดยได้ผู้นำหน้าเดิมเป็นนายกฯ ต่อไปหลังเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562
"ไม่ใช่ไว้ใจ ก็ผมทำได้ เขาก็เห็น ผมทำในสิ่งที่ไม่มีใครทำได้" ไพบูลย์เคยตอบคำถามบีบีซีไทยที่ว่าอะไรทำให้ พล.อ. ประยุทธ์-พล.อ. ประวิตร ไว้วางใจใช้บริการด้านกฎหมายเขา
นักร้องรุ่นแรก ๆ ขยายความต่อไปว่า "ถ้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ล้ม พล.อ. ประยุทธ์ไม่กล้ายึดอำนาจหรอก... แต่พอเราล้มได้ รัฐบาลไม่มี รมว.กลาโหม ไม่มี เขาก็เลยออกกฎอัยการศึกได้ 22 พ.ค. ก็เลยยึด เพราะมันไม่มีรัฐบาลอยู่แล้ว แค่ไปควบคุมอำนาจ"
4. ทุบเพิง ร่วมพรรค สร้าง "ไพบูลย์โมเดล"
หลังเป็นมือยื่นทุบคนขั้วตรงข้ามทางการเมือง ได้เวลาที่ไพบูลย์จะยุบเพิงพักชั่วคราว เพื่อย้ายไปเติบโตในบ้านหลังใหญ่
5 ส.ค. 2562 หัวหน้าพรรค ปชช. ยื่นเรื่องต่อ กกต. ขอเลิกกิจการพรรค
ไพบูลย์แจกแจงว่า แนวคิดในการเลิกพรรคเกิดขึ้นจากการที่พรรคมี ส.ส. เพียงคนเดียวในสภา คณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) บางส่วนจึงไม่อยากทำงานต่อ ขอลาออก เพราะเป็นงานที่อาศัยความเสียสละ และเสียทรัพย์สินเงินทอง
"เมื่อเขา (กก.บห.) ไม่เห็นประโยชน์ เราก็ต้องปล่อยวาง อย่าไปยึดมั่นถือมั่นว่าต้องเป็นหัวหน้าพรรค ตถตา มันก็เป็นเช่นนั้นเอง" ไพบูลย์มิลืมน้อมนำพุทธวจนมาอธิบายวาระสุดท้ายของพรรคที่เขาก่อตั้งเอง-ชิงยุบตัวเอง
ที่มาของภาพ, ราชกิจจานุเบกษ
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 91 (7) กำหนดว่าพรรคการเมืองจะสิ้นสภาพความเป็นพรรคเมื่อ "เลิกตามข้อบังคับพรรค" และวรรคสี่ระบุว่า "เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสมาชิกที่เป็น ส.ส. ให้ถือว่าการสิ้นสภาพของพรรคการเมืองตามมาตรานี้ เป็นการถูกยุบพรรคการเมือง"
ขณะที่ข้อบังคับ ปชช. ข้อที่ 122 เขียนไว้ว่า "ให้การยกเลิกพรรคเป็นไปตามมติของ กก.บห." ซึ่งไพบูลย์บอกว่า มี กก.บห. 16 จาก 27 คนมาร่วมประชุมนัดส่งท้าย ก่อนมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยื่นคำร้องต่อ กกต. เพื่อขอเลิกกิจการพรรค
6 ก.ย. 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ กกต. เรื่อง พรรค ปชช. สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ปิดตำนานพรรคเฉพาะกิจด้วยอายุเพียง 11 เดือน 3 วัน
ไพบูลย์มีเวลา 60 วันในการหาพรรคสังกัดใหม่ เพื่อไม่ให้สมาชิกภาพของ ส.ส. ต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (10) ทว่าเขาใช้เวลาเพียง 3 วันในการย้ายไปร่วมชายคาพรรคแกนนำรัฐบาล เพราะตระเตรียมลู่ทางไว้ล่วงหน้า ถึงขั้นดอดไปแสดงความจำนงกับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการยุทธศาสตร์ พปชร. ว่า "จะไปช่วยงานด้านกฎหมาย"
"ถือว่าเป็น ส.ส. ในสังกัดพรรคพลังประชารัฐโดยสมบูรณ์แล้ว" ไพบูลย์เปิดแถลงข่าวกับสื่อมวลชนเมื่อ 9 ก.ย. 2562 หลังสมัครเป็นสมาชิก พปชร. และเตรียมทำหนังสือถึงประธานสภา เพื่อขอแก้ข้อมูลในทะเบียนเปลี่ยนเป็นสังกัด พปชร. ส่งผลให้ยอด ส.ส. พปชร. เพิ่มจาก 116 คน เป็น 117 คน (ในขณะนั้น)
ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา
ปฏิบัติการ "ย้ายค่าย ขั้วเดิม" ของอดีตหัวหน้าพรรค ปชช. ที่ถูกเรียกขานว่า "ไพบูลย์โมเดล" กลายเป็นต้นแบบให้นักการเมืองจากพรรคจิ๋วลอกเลียน หลังต้องเผชิญกับภาวะอกสั่นขวัญแขวนทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งซ่อมในช่วงขวบปีแรก เพราะเมื่อคะแนนมหาชนของพรรคต่าง ๆ เปลี่ยนไป ย่อมส่งผลต่อสูตรคำนวณหา ส.ส. พึงมีได้ทั้งระบบ และกระทบโดยต่อสถานะของ "ส.ส. ปัดเศษ" อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ บางคนเดี๋ยวเป็น-เดี๋ยวหลุดจากเก้าอี้
การยุบพรรคตัวเอง แล้วโยก-ย้ายไปอยู่พรรคใหญ่ จึงเป็นแนวทางหนีตายที่ถูกพูดถึงในหมู่พรรคจิ๋ว เพื่อการันตีสถานะความเป็นผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตามมีเพียง พล.ต.อ. ยงยุทธ เทพจำนงค์ หัวหน้าพรรคประชานิยม ที่เดินตาม "ไพบูลย์โมเดล" โดยใช้มติ กก.บห. แจ้งขอเลิกพรรคตัวเอง ก่อนย้ายไปเป็นเพื่อนร่วมพรรค พปชร. ของไพบูลย์
5. "ซามูไรด้านกฎหมาย" คู่ใจ "นายป้อม"จากเคยเป็น "คนนอก" ที่เสนอตัวเข้ามาช่วยงานด้านกฎหมาย วันนี้ไพบูลย์กลายเป็น "คนใน" ที่ได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้า พปชร. ให้เป็นทั้งรองหัวหน้าพรรค และล่าสุดให้ทำหน้าที่ประธานกรรมการกฎหมายและข้อบังคับพรรค พปชร. ตามคำสั่งแต่งตั้งเมื่อ 17 มิ.ย. 2564 มีอำนาจพิจารณาเห็นชอบร่างกฎหมายที่พรรคเสนอ, ให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับพรรค, ดูแลการบังคับใช้ข้อบังคับพรรค และดูแลจริยธรรมของสมาชิกพรรค
บทบาทที่ได้รับ สัมพันธ์กับวีรกรรมในอดีตของเขาที่ใช้แท็กติกทางกฎหมายเข้าจัดการงานตามสั่ง สลายอำนาจของกลุ่มก้อนการเมืองภายใน พปชร. ได้หลายกรรมหลายวาระ จนกลายเป็น "มือกฎหมาย" ผู้นั่งขนาบ "นายป้อม" ยามเข้าประชุมพรรค
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
ครั้งแรก ร่วมยึดอำนาจจากกลุ่ม "สี่กุมาร" โดยใช้ข้อบังคับพรรค พปชร. ข้อที่ 15 นัดแนะ กก.บห. 18 จาก 34 คน ให้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อ 1 มิ.ย. 2563 ส่งผลให้อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค และสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค จากกลุ่มสี่กุมาร ต้องพ้นจากสถานะฝ่ายบริหารพรรคไปโดยปริยาย ก่อนได้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ และตามมาด้วยการได้เก้าอี้รัฐมนตรี 3 ตำแหน่งกลับคืนมาจัดสรรให้ขั้วอำนาจใหม่ใน พปชร. ในการปรับ ครม. "ประยุทธ์ 2/2" หลังกลุ่มสี่กุมารลาออกจาก ครม.
ครั้งที่สอง ร่วมลดทอนอำนาจกลุ่ม "สามมิตร" โดยใช้ข้อบังคับพรรคข้อเดิมเดินเกมเดิม ทว่าครั้งนี้เปลี่ยนวิธีให้หัวหน้าพรรคลาออก มีผล 18 มิ.ย. 2564 กลายเป็นเงื่อนไขบังคับให้ กก.บห. 27 ชีวิต พ้นจากตำแหน่งไปโดยปริยาย ทว่าเป้าหลักครั้งนี้อยู่ที่การบีบอนุชา นาคาศัย แกนนำกลุ่มสามมิตร ให้คายเก้าอี้เลขาธิการพรรค แล้วส่ง ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า เข้ารั้งตำแหน่งพ่อบ้านพรรคคนใหม่ โดยที่สมาชิกพรรคก็ยังพร้อมใจเลือก "นายป้อม" กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคต่อไป
ในจังหวะที่ พปชร. เปิด "ศึกใน" ไพบูลย์ดูจะภาคภูมิใจกับบทบาทตัวเปิดเกมทางการเมืองและปิดเกมด้วยกฎหมาย โดยบอกว่าเป็น "งานเบา" หากเทียบกับการเปิดฉากตีรันฟันแทงนักการเมืองจากฝั่งตรงข้าม
เขาเคยกล่าวกับประชาชาติธุรกิจว่า "ผมเป็นซามูไรด้านกฎหมาย เพราะซามูไรมีศิลปะ ละเอียดอ่อน เป็นนักรบ มีวินัย และจิตวิญญาณอยู่ด้วย" แต่การให้นิยามตัวเองเช่นนี้ อาจไม่ถูกใจบรรดาคนการเมืองที่ถูกทิ่มแทงด้วยคมดาบของไพบูลย์
นอกจาก "บทเด่น" ในพรรค ไพบูลย์ยังพึงใจรับ "บทบู๊" นอกพรรคแทบทุกครั้งที่มีการอภิปรายนัดสำคัญ ๆ ในรัฐสภา จึงปรากฏภาพไพบูลย์กดไมค์ประท้วงตัดเกมฝ่ายค้านอยู่เนือง ๆ
ที่มาของภาพ, Thai News Pi
ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 10 รัฐมนตรี (16-20 ก.พ. 2564) ไพบูลย์ทำหน้าที่ "องครักษ์พิทักษ์สถาบันฯ" ร่วมกับเพื่อนร่วมพรรคราว 5 ชีวิต ลุกขึ้นประท้วงตั้งแต่ผู้นำฝ่ายค้านในสภากล่าวบรรยายข้อกล่าวหาและพฤติการณ์ของ พล.อ. ประยุทธ์ รวม 21 บรรทัด ที่ปรากฏในญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยให้เหตุผลว่า "มีเนื้อหาที่เชื่อได้ว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันเบื้องสูง และขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6"
แต่ถึงกระนั้นบทบาทแรกที่ พล.อ. ประวิตร ส่งชื่อไพบูลย์เข้าประกวดหลังย้ายมาร่วมงานกับ พปชร. เมื่อปี 2562 คือกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 สภา ที่มีพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ (ตำแหน่งขณะนั้น) เป็นประธาน ทว่าเขาไม่ได้เข้าไปร่วมในนาม พปชร. แต่ไปโควต้า ครม. และได้ทำหน้าที่รองประธานของ กมธ. ชุดนั้น
การปรากฏชื่อไพบูลย์ในวงแก้รัฐธรรมนูญ ถูกตั้งข้อสังเกตว่าไปเป็นเพื่อคัดค้าน-คัดง้างความพยายามรื้อรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ของพรรรคฝ่ายค้านและภาคประชาชน มากกว่าส่งเสริม-สนับสนุนให้เกิดการแก้ไขอย่างจริงใจ ด้วยเพราะเขาคือคนแรก ๆ ที่ออกมาประกาศรับร่างรัฐธรรมนูญในชั้นประชามติ 2559 และยังชี้ชวนให้สาธารณชนเห็นคุณงามความดีของรัฐธรรมนูญฉบับนี้อีกหลายครั้งหลายหน
ที่มาของภาพ, Thai News Pi
ต่อมาเมื่อ ส.ส. รัฐบาลและฝ่ายค้านเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรรมนูญรวม 6 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาในระลอกแรกเมื่อ 23-24 ก.ย. 2563 ก็เป็นไพบูลย์ที่รับบท "นักแสดงนำ" ในฉากสำคัญ ๆ กลางรัฐสภา ทั้งยื้อโหวตวาระแรก โดยเสนอให้ตั้ง กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ, ส่งศาลตีความอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภา โดยอ้างว่าเป็นห่วง ส.ว. จะมีปัญหาหากร่วมลงมติ ก่อนปิดเกมคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ในวาระที่ 3 เพื่อยุติข้อถกเถียงของคนในสภาต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 11 มี.ค. 2564 ที่ชี้ว่ารัฐสภามีอำนาจและหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องจัดทำประชามติ 2 ครั้ง
จากนั้นเมื่อเพื่อนร่วมสภากลับไปยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา รวม 13 ฉบับ แล้วเสนอเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภาในระลอกสอง 23-24 มิ.ย. 2564 แต่มีเพียงร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83, 91 (แก้ระบบเลือกตั้ง ส.ส. ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ) ที่มีจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กับคณะ เป็นเจ้าของร่าง ฉบับเดียวที่ผ่านความเห็นชอบในวาระแรก แต่เข้าสู่ชั้น กมธ. กลับปรากฏว่ารองหัวหน้า พปชร. อย่างไพบูลย์ ได้รั้งเก้าอี้ประธาน กมธ. คุมเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ดอกผลที่ได้จากการทำหน้าที่ของ กมธ. ชุดไพบูลย์คือ มีเนื้อหาอื่น ๆ เพิ่มเข้ามาอย่างน้อย 5 มาตรา ซึ่ง ส.ส. พรรคก้าวไกลมองว่าเป็นการ "สอดไส้" และยังวิจารณ์ กมธ. เสียงข้างมากว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สุดท้ายไพบูลย์ต้องเรียกประชุม กมธ. ด่วนจี๋ ก่อนมีมติปรับปรุงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอต่อรัฐสภา ในวาระที่ 2 ใหม่
สำหรับสถานะปัจจุบันของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือรัฐบาลนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไปแล้ว
ขณะที่สถานะของไพบูลย์คือรอฟังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่าสมาชิกภาพของ ส.ส. จะสิ้นสุดลงหรือไม่ หลังทำหน้าที่มานาน 2 ปี 7 เดือน
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar