onsdag 16 februari 2022

ใบตองแห้ง: ‘ติ่ง’ เพื่อไทยก้าวไกล , คนชั้นกลาง ‘เฟส 2’

เลือกตั้งซ่อมหลักสี่จบอย่างน่าดีใจสำหรับฝ่ายค้าน สุรชาติ เพื่อไทย ชนะอย่างงดงาม พรรคก้าวไกลก็ปักฐานคะแนนนิยม ทั้งที่กระทุ้งประเด็นแหลมคม “สุ่มเสี่ยง” ในสังคมไทย

นึกว่าโลกออนไลน์จะสงบ ที่ไหนได้ ประวิตร โรจนพฤกษ์ รายงานว่า “ติ่งแดงติ่งส้มตีกันอีกรอบ”
“ติ่ง” ไม่ได้หมายถึงคนเลือกเพื่อไทยก้าวไกลทั้งหมด “ติ่ง” คือ ultra เพราะคนจำนวนมากเป็น “แดงส้ม” ดีใจที่เพื่อไทยชนะดีใจที่ก้าวไกลมาที่สอง โดยต่างคนต่างก็เลือกพรรคที่ตัวเองนิยม

กระนั้นติ่งก็เป็นปัญหาได้ หากปลุกความเกลียดชังกันจนกลายเป็น IO ประเภทหนึ่ง
ประเด็นแรกที่ควรทำความเข้าใจก่อนต่อสู้ถกเถียงกันต่อไปคือ คุณไม่มีวันเลิกต่อสู้ถกเถียงกันได้หรอก (ฮา)

เพราะทั้งสองพรรคแม้อยู่บนฐานประชาธิปไตยไม่เอาเผด็จการ แต่มีความแตกต่างในแนวทาง เป้าหมาย ความคิด วิธีทำงานการเมือง ตั้งแต่แกนนำ องค์กร ไปถึงมวลชน ก็มีทัศนะและที่มาแตกต่างกัน

ยกตัวอย่างง่ายๆ คนที่ตั้งตารอพี่โทนี่คืนวันอังคาร กับคนฟังทิม พิธา อภิปรายในสภาแล้วโดนไปเสียทุกอย่าง มันไม่ง่ายหรอกที่จะบอกให้เลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ เทคะแนนให้พรรคหนึ่งพรรคใดเพื่อชัยชนะ (พอแพ้ก็ชี้หน้าโทษกัน เพราะมึงทำให้ประยุทธ์ชนะ ประชาชนต้องทนทุกข์)

ประเด็นที่สองคือ เลิกพูดเถอะว่า อย่าทะเลาะกันเลย สามัคคีกันดีกว่า นั่นมันคาถาแบบไทยๆ ไม่ยอมรับความเห็นต่าง วิถีประชาธิปไตยในปัจจุบัน เช่น การเมืองยุโรป มีทั้งพรรคการเมืองขวาจัด ขวากลาง กลางขวา กลางซ้าย สังคมนิยมประชาธิปไตย ฯลฯ เพราะสังคมพัฒนาไปจนมีความคิดหลากหลาย

พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลจึงเป็นแนวร่วมประชาธิปไตย ที่ทั้งต้องร่วมมือกันและต่อสู้แข่งขันกันเอง ซึ่งเวลาพูดนั้นง่าย แต่ลงสนามจริงมันยาก เลี่ยงไม่ได้ที่จะซัดกัน ทั้งตัวพรรค ตัวบุคคล และกองเชียร์

แต่ประเด็นสำคัญคือเคารพสิทธิผู้เลือกตั้ง ยอมรับว่าคนเลือกแต่ละพรรคมีความคิดต่าง ถ้าเขาไม่เลือกก็อย่าโทษประชาชนหรือด่าพรรคคู่แข่ง ต้องน้อมรับและปรับตัวเอง ว่าทำไมไม่ชนะใจคน

เช่น ก้าวไกลส่งวิโรจน์ลงผู้ว่าฯ กทม. ก็เกิดกระแสจะเป็น “ตัวบาป” ทำชัชชาติแพ้ ทั้งที่ชัชชาติพูดเอง ถ้าไม่สามารถเอาชนะใจประชาชนก็ไม่สมควรเป็นผู้ว่า ส่วนตัวเชื่อว่า FC ก้าวไกลมีไม่น้อยที่เลือกชัชชาติ แต่พรรคก้าวไกลก็ต้องปักธงนำเสนออุดมการณ์ของตัวเอง เช่นประกาศชนระบบราชการและกลุ่มทุน

ถ้าเข้าใจความแตกต่าง ก็ควรยอมรับว่าหมดยุค “ประชาธิป ไตยพรรคเดียว” ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยไม่ได้เป็นของใครคนเดียว ทั้งสองพรรคมีแฟนคลับของตัวเอง ไม่ใช่ปลาจากบ่อเดียวกันที่ต้องตั้งหน้าตั้งตาแก่งแย่ง

มีความเข้าใจผิดๆ แบบคิดว่าคะแนนอนาคตใหม่ 6.3 ล้านมาจากคนเคยเลือกเพื่อไทย ซึ่งผลเลือกตั้งหลักสี่ตอกย้ำว่าไม่ใช่ (ปี 54 สุรชาติได้ 28,376) แม้ส่วนหนึ่งมาจากไทยรักษาชาติถูกยุบ แม้มีคนเคยเลือกเพื่อไทยเปลี่ยนใจ แต่จำนวนไม่น้อยก็มาจากคนรุ่นใหม่ “ธนาธรฟีเวอร์” จำนวนไม่น้อยก็มาจากคนชั้นกลางในเมืองที่เคยไล่ทักษิณ แต่ 5 ปีผ่านไป “ตาสว่าง” เหลืออดรัฐประหาร เห็นสันดานแมลงสาบ (“ติ่งเพื่อไทย” แซะว่ากลุ่มนี้เป็นสลิ่มแปลงร่าง)

พูดในทางการตลาดคือทับซ้อนกันกลุ่มเดียว อย่ามุ่งหวังแต่แย่งชิง มองไปกว้างๆ ดึงคะแนนคนเบื่อรัฐบาลดีกว่า จะต้องเลือกเชิงยุทธศาสตร์ไหม เดี๋ยวพวกเราตัดสินใจเอง รบกันมากๆ เดี๋ยวหมั่นไส้ ขอคะแนนกันไม่ได้

ประการต่อมาถ้าทำใจได้ ว่าต้องแข่งกัน 2 พรรค 3 พรรค 4 พรรค (อย่าลืมเสรีรวมไทย ประชาชาติ ไทยสร้างไทย) ก็มองให้เห็นจุดแข็งจุดอ่อนแต่ละฝ่าย

พรรคเพื่อไทยเดินแนวทางพรรค Mass ขายความเชื่อมั่นในฝีมือเศรษฐกิจ “การเมืองเป็นเรื่องปากท้อง” อุดมการณ์อย่างเดียวเอาชนะไม่ได้ จึงเดินแนวทางประสานประโยชน์ผู้คนหลากหลาย แต่เมื่อเดินแนวทางนี้ก็ไม่สามารถแหลมคมทะลุทะลวง ต้องสู้ไปประนีประนอมไปเป็นเรื่องๆ กระนั้นด้วยข้อจำกัดของทักษิณ ของนักการเมืองทุนท้องถิ่น เมื่อมีอำนาจแล้วไม่สามารถรักษากระบวนท่าต่อสู้ได้ จึงโดนข้อหาเกี้ยเซี้ย “สู้ไปกราบไป”

พรรคอนาคตใหม่ก้าวไกลเติบโตจากความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของกระแสโลก ที่คนรุ่นใหม่ต้องการปฏิรูป “ถอดรื้อ” ครั้งใหญ่ทุกด้าน ทั้งโครงสร้างอำนาจปรสิต ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความคิดวัฒนธรรม แต่ก็เช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่ทั้งโลก ที่มีทั้งจุดแข็งจุดอ่อน นั่นคือมีพลังถอดรื้อแหลมคม แต่ยังไม่สามารถนำเสนอสังคมใหม่ในอุดมคติ และยังไม่ใช่พรรคที่จะชนะเลือกตั้งวงกว้าง

กระนั้น ความแหลมคมของอนาคตใหม่ก้าวไกล ก็ส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเปลี่ยนเป้าหมายประชาธิปไตยอย่างไม่มีวันหวนกลับ

ยอมรับเถอะว่า ประชาธิปไตยไทยมาถึงจุดที่มี 2 พรรค ต่อสู้แข่งขัน ผลักดันซึ่งกันและกัน และผลักทั้งขบวนไปข้างหน้า เลิกคิดได้แล้วว่าถ้าไม่มีอีกพรรค คนจะยอมรับการผูกขาด

ยอมรับแล้วถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันต่อไปให้เต็มเหนี่ยว แต่อย่าให้ร้าย ปลุกเกลียดชัง แตะต้องไม่ได้ แบบนั้นเรียกว่าสลิ่ม

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_6872493

“สลิ่มเฟส 2” เป็นวาทกรรมฮือฮา “เชิญทัวร์” ทั้งที่รักที่ชอบ ที่ไม่ชอบ และยิ่งกว่าไม่ชอบ

ว่าที่จริง คำบรรยายนี้น่าสนใจ ในแง่ทัศนคติทางการเมือง และพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนชั้นกลางในเมือง เพียงมีข้อโต้แย้ง คำว่า “สลิ่ม” ต้องใช้กับความคิดอนุรักษนิยมสุดติ่ง หัวปักหัวปำ ทำลายล้างคนคิดต่าง จนหนุนรัฐประหารตุลาการภิวัตน์แบบกู่ไม่กลับ

สถานการณ์ปัจจุบัน น่าจะเรียกว่าคนชั้นกลางในเมืองเข้าสู่ “เฟส 2” คือเกิดพลังคนรุ่นใหม่เรียกร้องปฏิรูปโครงสร้าง พร้อมกับมีคนที่เคยหนุนรัฐประหาร “ตาสว่าง” เห็นผลร้าย จนหันมาสนับสนุนพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตย เพียงแต่ส่วนใหญ่จะเลือกก้าวไกล เพราะกลุ่มแรก “เคมีตรงกัน” ในความแหลมคม กลุ่มหลังยังไม่เชื่อมั่นทักษิณ-เพื่อไทย ที่เคยไล่มาก่อน

ซึ่งเป็นธรรมดา คนเคยไล่กัน แต่ในภาพรวมเป็นแนวโน้มที่ดี เพียงต้องระวังจุดอ่อนของคนชั้นกลางบางข้อ เช่นความเข้าใจการเมืองที่เป็นจริง

คนชั้นกลางตั้งแต่ 30 กว่าปีก่อน เป็นไปตามทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย รังเกียจนักการเมืองจากชนบท ไอ้พวกซื้อเสียง ระบบอุปถัมภ์ ปัจจุบันเรียกว่า “บ้านใหญ่” มีเครือข่ายดูแลทุกข์สุขประชาชน แก้ปัญหาเดือดร้อนเฉพาะหน้า หางบประมาณพัฒนาพื้นที่ ฯลฯ ซึ่งแน่ละ ต้องลงทุนสูง ต้องหาผลประโยชน์ต่างตอบแทน ใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อธุรกิจครอบครัว

คนชั้นกลางซึ่งมีอำนาจต่อรองอยู่แล้ว มีเครือข่ายของตัวเอง ไม่ต้องพึ่งนักการเมือง จึงรังเกียจ ส.ส.โดยเฉพาะพวก ตจว. ใช้ภาษาแบบบ้านๆ ได้ว่า “งานบวชงานศพบ้านกู ถ้าไม่ใช่รักสนิทส่วนตัว ก็ไม่ต้องขึ้นรถตู้พาสมุนมา คิวทอดผ้ากูเยอะแล้ว ไม่ต้องมาวางหรีดรกหูรกตา”

คนชั้นกลางในเมืองก่อร่างเป็นพลังล้มรัฐบาล ตั้งแต่สมัยนักวิชาการเข้าชื่อเรียกร้องเปรมกลับบ้านเถอะ ไล่สำเร็จมาทุกยุค กระทั่งล้มรัฐบาลไทยรักไทยไม่ลง จึงเหวี่ยงไปหนุนรัฐประหาร หนุนอำนาจตุลาการองค์กรอิสระทำลายล้างศัตรูทางการเมือง

นั่นคือทัศนะที่ผิด ซึ่งพิสูจน์แล้วหลัง 5 ปีรัฐประหาร 8 ปีประยุทธ์

ถามว่าคนชั้นกลางรังเกียจนักการเมืองโกง อยากได้ ส.ส.คุณภาพ เลือก ส.ส.จากภาพลักษณ์ที่ดี จากการทำงานในสภา การอภิปรายแหลมคม นำเสนอไอเดียใหม่ๆ ฯลฯ อย่างนี้ผิดไหม

ไม่ผิดนะ ไม่ต้องอ้างประเทศอารยะว่าคนยุโรปก็เลือก ส.ส.แบบนี้ ตอนไทยรักไทยชนะเลือกตั้งปี 2544 ก็ได้คะแนนคนชั้นกลางชาวกรุงล้นหลาม เพราะเชื่อความปราดเปรื่องของอัศวินคลื่นลูกที่สาม และทีมงานพร้อมพรั่ง รายชื่อปาร์ตี้ลิสต์มีทั้งความรู้ความสามารถภาพลักษณ์

ก็เหมือนคนเลือกพรรคพลังธรรม หรือคนชื่นชมจาตุรนต์ ฉายแสง คนที่เห็นอภิสิทธิ์ออกทีวีเมื่อปี 2535 ความต้องการ “ดรีมทีม” ที่ไม่มาจาก ส.ส. จนรัฐธรรมนูญ 2540 ริเริ่มให้มีปาร์ตี้ลิสต์

ปัญหาสำคัญคือคนชั้นกลางในเมืองไม่เข้าใจไม่ยอมรับความลักลั่นเหลื่อมล้ำในการพัฒนา จนทำให้คนชนบทเสียเปรียบ จำเป็นต้องพึ่งพาระบบอุปถัมภ์ พึ่งโครงการรัฐ พึ่งนักการเมือง คนชนบทไม่ได้จนโง่ถูกซื้อ หรือถูกหลอกด้วยประชานิยม แต่ตัดสินใจด้วย “ผลประโยชน์” ว่าเลือกใครแล้วปากท้องอิ่ม ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

ด้วยเหตุนั้น พรรคไทยรักไทย พรรคเพื่อไทย จึงมีพลังเหนียวแน่น และอันที่จริง รัฐประหารสืบทอดอำนาจก็ช่วงชิงคะแนนเสียงด้วยการแจก อย่างบัตรคนจนบัตรผู้สูงอายุ

ทัศนะของคนชั้นกลางที่เลือก “นักการเมืองดี” มีคุณภาพ มีบทบาทโดดเด่นในสภา จึงไม่ผิดหรอก ถูกด้วยซ้ำ เพียงแต่อีกด้านหนึ่ง ต้องเคารพการตัดสินใจของคนชนบท เข้าใจความจำเป็นและความเป็นจริงที่ “ส.ส.บ้านใหญ่” จะยังครองพื้นที่ไปอีกนาน ตราบใดที่เขายังเป็น “ผู้ให้บริการ” ประชาชนได้ดีที่สุด

การจะแก้ไขปัญหานี้ต้องแก้เชิงระบบ หนึ่งคือ ทำให้พรรคการเมืองต่อสู้ด้วยนโยบาย เหมือนไทยรักไทยเพื่อไทยทำให้การเลือกพรรคสำคัญกว่าตัวบุคคล สองคือ แก้ไขระบบเลือกตั้งให้เป็น MMP หรือมี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มากขึ้น ไม่ใช่ถอยหลังไปเป็น “บ้านใหญ่ 400 เขต”

ในมุมกลับกัน คนที่ปกป้องโต้แย้งแทนการตัดสินใจของคนชนบท ก็ต้องระวังอย่ากลายเป็น “โรแมนติไซส์ชนบท” เสียจนปกป้องการเมืองเก่า ระบบอุปถัมภ์ กลุ่มก๊วน ซึ่งวันนี้ส่วนใหญ่อยู่ฝ่ายรัฐบาล หนุนอำนาจที่ทำลายประชาธิปไตย เราคงไม่ต้องการเห็น “บ้านใหญ่” ยึดครองเก้าอี้อีกร้อยปีถึงลูกหลาน แม้บอกว่า เขาก็ให้บริการประชาชนดีนะ

การเลือก ส.ส.คุณภาพ ไม่ใช่เรื่องดัดจริต เป็นเรื่องถูกจริตถูกรสนิยมตามครรลองประชาธิปไตย เหมือนคนชั้นกลาง Gen-Y รายหนึ่งบอกว่า ไม่ได้เกลียดเพื่อไทย แต่เลือกก้าวไกลเพราะ “เหมือนเลือกเพื่อนเข้าไปเป็นตัวแทนเรา”

พูดง่ายๆ คือไอ้ ส.ส.พรรคนี้มันมาจากคนชั้นกลางธรรมดา เหมือนเพื่อนเราญาติเราที่เจอหน้าทุกวัน มีทัศนคติ ค่านิยม รสนิยม ในทางเดียวกัน

แน่ละ วันนี้พรรคเพื่อไทยไม่มี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แต่เดี๋ยวก็คงวางตัววางนโยบายช่วงชิงคนชั้นกลาง เป็นธรรมชาติของการแข่งขัน เหมือนพรรคประชาธิปัตย์พรรคกล้าก็คงช่วงชิงกันอีกฝั่ง

แต่ในภาพรวม การที่คนชั้นกลางในเมือง พลิกมาหนุนพรรคฝ่ายประชาธิปไตย เป็นปรากฏการณ์ที่ส่งผลสะเทือนอย่างมีนัยสำคัญ เพราะฐานที่มั่นของพลังอนุรักษ์คือคนชั้นกลาง แต่วันนี้สูญเสียคน Gen-Y Gen-Z ไปแล้ว

นั่นต่างหากเป็นสิ่งที่น่ายินดี 

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_6883064

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar