lördag 26 mars 2022

ใบตองแห้ง: ตลก.ปวดกบาล

 

2022-03-24 11:59

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร แต่พอเกิดข้อกังขาว่า ประธานศาลอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถวินิจฉัยตัวเองได้ ต้องให้ตุลาการฝ่ายที่เห็นว่าประธานควรพ้นตำแหน่งได้แล้ว ไปยื่นคำร้องให้คณะกรรมการสรรหาชี้ขาด

สำหรับชาวบ้าน ฟังแล้วอาจเป็นเรื่องตลก แต่สำหรับตุลาการ นักกฎหมาย เรื่องนี้ปวดกบาลจริงๆ นะ

ประเด็นที่เป็นปัญหา อธิบายง่ายๆ ว่า วรวิทย์ กังศศิเทียม ได้เป็นตุลาการเมื่อ 9 ก.ย.2557 หลังรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ แต่ยังถือเป็นการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งมีวาระ 9 ปี แต่เป็นได้ถึงอายุ 70 ปี

พูดอีกอย่าง ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญ 2560 วรวิทย์ก็จะพ้นตำแหน่งวันที่ 1 มี.ค.2565 เพราะอายุ 70 พอดี

แต่พอมีรัฐธรรมนูญ 2560 กรธ.มีชัยกำหนดสเป๊กใหม่ ให้ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ได้ถึง 75 แต่วาระแค่ 7 ปี อ้าว แล้วคนอยู่มาก่อนทำไง ก็เขียนบทเฉพาะกาลไว้ใน พ.ร.ป.ว่า ให้อยู่ต่อไป “จนกว่าจะครบวาระตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 หรือพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 18” (คืออายุ 75 นั่นแหละ)

ตุลาการ 8 คนก็เลยเห็นต่างกัน โดยท่านประธานนั่งหัวโต๊ะ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงในเรื่องที่ตัวเองมีส่วนได้เสีย ผลปรากฏว่า 4 คนเห็นว่าพ้นแล้วเพราะอายุครบ 70 ตามรัฐธรรมนูญ 2550 อีก 4 คนเห็นว่าไม่พ้นเพราะอยู่ได้ 9 ปีตามรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วรัฐธรรมนูญ 2560 ปลดสเป๊กเรื่องอายุให้พอดี ฉะนั้นถ้าตีความแบบ fusion ก็น่าจะอยู่ได้ถึงวันที่ 8 ก.ย.2566

เท่าที่สังเกตดู เรื่องวาระ 9 ปีน่าจะเห็นตรงกัน เพราะทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ เป็นตุลาการเมื่อ 31 ต.ค.2556 ตอนนี้ก็ยังอยู่ (อีก 8 เดือน) นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เป็นตุลาการเมื่อ 16 พ.ย.2558 ก็อยู่อีกเกือบสามปี ประเด็นที่เห็นแย้งกันคือเรื่องอายุ วรวิทย์ควรอยู่แค่ 70 หรือจะตีความกฎหมายให้เป็นคุณ

ซึ่งบังเอิญเรื่องนี้เกิดกับประธานคนเดียว คนอื่นไม่มีปัญหา เพราะอายุยังไม่ 70 หรือเข้ามาหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560

พอเห็นต่างด้วยเสียงเท่ากัน ก็ให้ตุลาการฝั่งที่เห็นว่าต้องพ้น ไปยื่นกรรมการสรรหาชี้ขาด ซึ่งได้แก่ ประธานศาลฎีกา, ประธานศาลปกครองสูงสุด, ประธานรัฐสภา, ผู้นำฝ่ายค้าน และกรรมการที่องค์กรอิสระอื่นเลือกมา

แต่อดีตตุลาการ จรัญ ภักดีธนากุล ก็แย้งว่ากรรมการสรรหาไม่มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ศาลรัฐธรรมนูญนั่นแหละต้องชี้ขาดเอง ซึ่งก็มีเหตุผล เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 208 ให้กรรมการสรรหามีอำนาจชี้ขาดเรื่องขาดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม ไม่ใช่เรื่องพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ไม่ใช่เรื่องอายุครบ

คณะกรรมการสรรหาซึ่งประธานศาลฎีกาเป็นประธาน จึงอาจจะต้องประชุมลงมติกันก่อนว่ากรรมการมีอำนาจหรือไม่ ถ้ากรรมการเชื่อจรัญ มองว่าตัวเองไม่มีอำนาจ แล้วส่งเรื่องกลับ ก็ยุ่งไปใหญ่ แต่ถ้าตัดสินใจว่ามีอำนาจ ชี้ขาดไปเลย แล้วตุลาการไม่ยอมรับ จะทำไง เพราะคณะกรรมการสรรหาไม่ได้ผูกพันทุกองค์กร

การตีความเรื่องนี้ไม่ง่าย ในมุมหนึ่งถ้าตีตามตัวอักษร “ครบวาระตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550” อาจหมายถึงวาระ 9 ปี โดยยกประโยชน์ให้เรื่องอายุ แต่ก็มีคนแย้งในแง่เจตนารมณ์ ว่าตอนประธานเข้ารับการสรรหา ท่านก็รู้ไม่ใช่หรือว่าอยู่แค่อายุ 70 ฉะนี้ก็ควรถือว่าครบวาระแล้ว

ใครมีอำนาจตีความ ถ้ากรรมการสรรหาไม่มี ก็ไม่ง่ายที่จะให้ตุลาการ 8 คนชี้ขาดแบบจรัญว่า เพราะถ้าวรวิทย์ต้องพ้นตำแหน่ง ตุลาการหลายคนก็มีส่วนได้เสีย มีโอกาสขึ้นเป็นประธาน

เรื่องประธานศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถ้ามองเป็นเรื่องคนคนเดียว ไม่เท่ากับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ “ปฏิรูป=ล้มล้าง” แต่มันสะท้อนผลงานเขียนกฎหมายเขียนรัฐธรรมนูญไม่รัดกุม ของ กรธ.มีชัย ซึ่งเอาเป้าหมายเป็นตัวตั้ง ไม่คิดรอบคอบไม่วาง concept ให้ชัดเจน เขียนซับซ้อนโยงไปโยงมาจนบางครั้งตัวเองก็งง มีปัญหาให้ต้องตีความบ่อยๆ แต่พอเป็นเรื่องศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่รู้จะให้ใครวินิจฉัย

เหมือนที่วางเจตนารมณ์เสียดิบดี “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้” กลายเป็นเงื่อนไขทางการเมือง ตีความกัน 3 ทาง 8 ปีนับจากนายกฯ รัฐประหาร หรือนับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ หรือนับจากปี 62 ที่เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560

ซึ่งว่าตามเนื้อผ้า อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ให้ความเห็นว่าต้องนับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 6 เมษายน 2560 นับตั้งแต่ปี 57 ไม่ได้ เพราะจะมีผลจำกัดสิทธิอดีตนายกฯ ทุกคนที่มีชีวิตอยู่ นับจากปี 62 ก็ไม่ถูกเพราะบทเฉพาะกาลเขียนให้รัฐบาล คสช.ปฏิบัติหน้าที่เสมือนรัฐบาลที่แต่งตั้งโดยรัฐธรรมนูญ

แต่คงไม่ถูกใจทั้งสองฝ่าย ความเชื่อมั่นในกระบวนการตีความกฎหมายก็ล่มสลายไปแล้ว ยิ่งกว่าคดีแตงโม

ประเทศศรีธนญชัยที่ใช้กฎหมายแบบนักมายากล จะล้มละลายทางความเชื่อถือไปเรื่อยๆ แบบนี้ แต่กลับคุยได้ว่ามีปาฏิหาริย์ทางกฎหมายใช้ปราบ “ค่าโง่”

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_6947923

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar