lördag 15 oktober 2022

ใบตองแห้ง: สังคมซ่อนคลั่ง / 6 ตุลา พ้นคนตุลา

2022-10-12 22:48

คนทั้งโลก ทั้งประเทศไทย เศร้าเสียใจ ตกตะลึง สะเทือนขวัญ เหตุ ส.ต.อ.กราดยิง-ใช้มีดสังหาร 37 ศพ ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก ก่อนฆ่าลูกเมียและฆ่าตัวตาย

จิตใจทำด้วยอะไร ฆ่าได้กระทั่งเด็กเล็กๆ ฆ่าผู้หญิงท้องแก่ สังคมประณามสาปแช่ง แต่คนทำตายแล้ว สาปแช่งไปไม่ช่วยอะไร ควรถามว่า “ทำไม” มากกว่า

ทำไม ถ้าย้อนเทียบทหารกราดยิงที่โคราช “จิต” ของฆาตกรทั้งคู่น่าจะคล้ายกัน คือจิตแตก หลอน สูญเสียสติ ไม่รู้สึกตัว เห็นใครก็ฆ่า จ.ส.อ.ที่ไล่ฆ่าคนตามถนนจนถึงห้าง ไม่ได้เหลือสติอย่างมนุษย์ ไม่ได้มองเห็นเหยื่อเป็นคน ภาพที่ส่งไปสมองคงเห็นเป็นเป้าอะไรสักอย่าง ส.ต.อ.ตั้งใจฆ่าลูกแต่ไปฆ่าเด็กเกือบทุกคนในศูนย์เด็กเล็ก ทั้งที่ลูกไม่ได้มาในจิตเลือนรางคงคิดว่าลูกอยู่ในนั้น แต่แยกไม่ออกว่าคนไหนลูกตัวเอง ฆ่าเสร็จก็ขับรถกระบะชนดะกลับบ้าน

อาการทางจิตอย่างนี้น่ากลัวมาก มันสามารถเกิดได้กับคนอีกไม่น้อย ที่ภาวะปกติก็ดูเสมือนปกติ

และนี่ไม่น่าใช่แค่ผลจากการเสพยา อย่าโทษยาเสพติดแล้วจบ ปิดคดี มันต้องมีปัจจัยมากกว่านั้น คนเสพยาบ้าในประเทศไทยมีเป็นแสนเป็นล้าน แต่มีไม่กี่คนก่อเหตุคลุ้มคลั่ง อย่าทำแค่โทษยาบ้า แล้วขึงขังวัวหายล้อมคอก ประกาศสงครามกับยาเสพติด แก้ปัญหาง่ายไป

สังคมไทยต้องเรียกร้องให้มีการ “สืบสวนสอบสวนทางจิต” ที่ไม่ใช่แค่คดีอาญา เพราะทางอาญานั้นตอบง่าย ฆาตกรตายแล้ว แค่ชันสูตรศพพิสูจน์หลักฐานตำรวจก็ปิดคดีได้ แต่ตอบไม่ได้ว่า ทำไม ส.ต.อ.จึงคลุ้มคลั่ง

คนที่เข้าไปสอบสวนควรเป็นกรมสุขภาพจิต หรือราชวิทยาลัยจิตแพทย์ เพื่อศึกษาเป็นเคสตัวอย่าง ซักถามครอบครัว เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน ติดตามประวัติการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ฯลฯ ชันสูตรสมองผิดปกติหรือไม่

ส.ต.อ.คนนี้ ผู้บังคับบัญชาให้ข่าวว่าพัวพันยาเสพติด ถูกออกจากราชการ แต่ย้อนดูคดีก็ประหลาด เพราะโดนฟ้องฐานครอบครองยาบ้าเม็ดเดียว แม้ศาลกำลังจะตัดสิน ก็น่าจะโทษเบา ที่ว่าถูกออกจากราชการก็นานตั้งแต่เดือนมกราคม ทำไมเพิ่งมาคลุ้มคลั่งในเดือนตุลาคม

ยังมีคำถามอีกมากมายที่ต้องหาคำตอบแบบปลายเปิด

สังคมไทยควรตระหนักได้แล้วว่า อาการป่วยทางจิตจนเกิดเหตุกราดยิง ที่คนไทยเคยเย้ยหยันอเมริกันชนนั้นไม่ใช่สิ่งไกลตัว เมื่อไม่กี่วันก็มีคนเมายาบ้ายิงนักเรียน 3 ศพ มีเหตุทหารยิงเพื่อนร่วมงานในกรมยุทธศึกษาทหารบก (เหตุตำรวจยิงกันเองก็มีบ่อยไป) แม้เหตุกราดยิงในสังคมไทย ต่างจากที่อื่น มักเกิดจากทหารตำรวจระดับล่าง ซึ่งเป็นอาชีพที่ทั้งมีปืน ทั้งมีอภิสิทธิ์ และถูกกดดันจากคำสั่งด้านบน

อเมริกันชนนั้นมักมาจาก Loser เพราะสังคมอเมริกันแข่งขันสูงเพื่อประสบความสำเร็จ American Dream ผู้แพ้ไม่มีที่ยืนเกิดความกดดัน เคียดแค้นชิงชังสังคมรอบข้าง ต้องการสร้างบาดแผลความเจ็บปวดให้กับสังคมมากที่สุด

ปัญหาอาวุธปืน ปัญหายาเสพติด ก็เป็นปัจจัยประกอบแต่แม้ไม่มีอาวุธปืน ในอังกฤษในญี่ปุ่นก็เกิดเหตุไล่แทงคนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

ซึ่งถ้าจะพูดถึงปัญหาอาวุธปืน ที่จริงไทยมีปัญหาร้ายแรงกว่าอเมริกาอีก เพราะอเมริกาให้สิทธิครอบครองและซื้อปืนโดยถูกกฎหมาย แต่สถิติประเทศไทย ครอบครองปืนเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน มีทะเบียน 7 ล้านกระบอก ไม่มีทะเบียน 6 ล้านกระบอก

สถิติคนตายจากอาวุธปืนในปี 2016 ไทยก็อยู่อันดับสูงกว่าอเมริกา 4.45 ต่อแสนคน แพ้แค่ฟิลิปปินส์

แน่ละว่าควรเข้มงวดอาวุธปืน แต่พูดไปก็เปล่าประโยชน์ ไม่มีใครเชื่อว่าทำได้จริง หน่วยงานรัฐนั่นแหละตัวดี ส.ต.อ.ออกจากราชการก็ยังมีปืน ใช้ปืนสวัสดิการตำรวจนั่นเองมาก่อเหตุ

เหมือนประกาศสงครามยาเสพติด ประกาศไปเถอะ จะฆ่าตัดตอนหรือ ยิ่งปราบยิ่งแพงยิ่งล่อใจคนค้า

ประเด็นที่ควรจะให้ความสำคัญคือยอมรับเถอะว่า ภัยทางจิตที่เกิดจากความเครียดความกดดันความแปลกแยกชิงชังสังคมนั้น มาถึงสังคมไทยนานแล้ว สังคมไทยสังคมพุทธสังคมตะวันออก มักคิดว่าตัวเองอยู่ในวัฒนธรรมอีกแบบที่ไม่มีทางเจอคนโรคจิตกราดยิงแบบสังคมอเมริกัน ทั้งที่พัฒนาการสังคม เข้าสู่การแข่งขันสูง ผู้แพ้ไม่มีที่ยืน ถูกกดดันจากสังคมรอบข้างหรือครอบครัวอย่างหนักหน่วงเช่นกัน จนกระทั่งคนซึมเศร้าฆ่าตัวตายมากขึ้นในระยะหลัง

ปัญหาของสังคมไทยคือ คิดว่าตัวเองมีภูมิคุ้มกัน คนไทยรักสงบ ครอบครัวอบอุ่น เข้าวัดทำบุญ (ทำสิบบาทขอถูกลอตเตอรี่ 30 ล้าน) แต่อันที่จริง เป็นสังคมที่ต่างคนต่างอยู่ ไม่มีหลักยึดทางความคิด ไม่รู้จักเหตุผล หรือพุทธปรัชญาท่องคาถาบุญทำกรรมแต่ง แล้วไปถวายสังฆทาน มีปัญหาไม่เคยพบจิตแพทย์ ไปถามหมอดู จักรราศี ปีชง งมงายเสียเงินให้เป็นหมื่นเป็นแสน

อันที่จริง สังคมไทยวันนี้สั่งสมปัญหาทางจิตมากกว่าฝรั่งเสียอีก ทั้งกดดัน เหลื่อมล้ำ และไม่ยอมรับว่ามีปัญหา ยังคิดว่าตัวเองวิเศษกว่า เมืองไทยเมืองพุทธ (แขวนคอเก้าอี้ฟาดตั้งแต่ 46 ปีก่อน)

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/hot-topics/news_7305753

“46 ปี 6 ตุลา ตามหา(อ)ยุติธรรม” งานรำลึกที่ลานประติมานุสรณ์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไม่เพียงคับคั่งไปด้วยเพื่อนพ้องวัย 65-70 กว่าๆ (พกยามาด้วย)

“เพนกวิน” “มายด์” “ไผ่” “ครูใหญ่” “อั๋ว” “จ่านิว” ฯลฯ ทักทายแทบไม่ทัน ราษฎร ทะลุฟ้า ทะลุแก๊ซ ทะลุวัง วีโว่ ฯลฯ 6 ตุลาปีน คนรุ่นใหม่ทั้งนั้น เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงจัดงานตามมหาลัยต่างๆ คนเก่าคนแก่อาจยังช่วยเล่าความหลัง แต่วันนี้และวันหน้าของ 6 ตุลา พ้นจากคนรุ่นเก่า สืบทอดไปยังคนรุ่นใหม่แล้ว

ไม่ใช่แค่ธรรมศาสตร์ “6 ตุลา หวังว่าเสียงเพลงจะพาล่องไป” ที่ลานคนเมือง ก็คับคั่งไปด้วยวงดนตรี Polycat, H3F, Dead Flower, Cocktail, ไททศมิตร, Beagle Hug, Greasy Cafe, T_047, SafePlanet 6 ตุลาไม่ได้มีแต่คาราวาน กรรมาชน คุรุชน ฯลฯ อีกต่อไป หมดรุ่นหมดวัย ก็ได้คนรุ่นใหม่มาสร้างสรรค์ ทั้งเพลง ศิลปะ เล่าขานตำนานการต่อสู้ และประจานความโหดร้าย “เก้าอี้ฟาด” ต่อเนื่องอีกหลายสิบปี

6 ตุลาต่างจาก 14 ตุลา ตรงที่เป็นงานรำลึกของผู้แพ้ ผู้ถูกปราบ ซึ่งประวัติศาสตร์ชาติไทยต้องการลบลืม (ให้เหลือแค่ 16 ตุลา) งานรำลึกถึงเพื่อนในช่วงแรกๆ ทำได้แค่จัดกันกลุ่มเล็กๆ หลังออกจากป่า จนกระทั่งหลังพฤษภา 2535 เมื่อประชาธิปไตยเบ่งบาน เมื่อ “คนตุลา” มีพลังทางการเมืองสังคม จึงจัดงานใหญ่ สร้างประติมานุสรณ์ในปี 2539 โดย “หมอหงวน” นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เป็นประธาน

แต่ 6 ตุลาก็ยังเป็นแค่งานเฉพาะกลุ่ม กระทั่งรัฐประหาร 2549 กระทั่งเมษา-พฤษภา 53 ม็อบเสื้อแดงโดนข้อหา “ล้มเจ้า” ถูกฆ่าตายเกลื่อน 99 ศพ จึงเกิดอารมณ์ร่วมกับ 6 ตุลาอย่างลึกซึ้งกว้างขวาง เกิดการหวนกลับไปขุดคุ้ยอดีต การป้ายสี ปลุกเกลียดชัง “แขวนคอ” “เก้าอี้ฟาด” จนหลังรัฐประหาร 57 จึงเกิด “ประเทศกูมี” Rap Against Dictator ยอดวิวนับร้อยล้าน

พีกสุดคือ 3 ปีที่ผ่านมา เมื่อเกิดม็อบสามนิ้วทะลุเพดาน แล้วถูกปราบปราม แม้ไม่ถึงขั้นเข่นฆ่า แต่ก็ถูกจับกุมคุมขัง ไม่ได้ประกัน ถูกกระทำด้วยความอยุติธรรม และถูกปลุกเกลียดชังไม่แตกต่างจากยุคยานเกราะ-ดาวสยาม

อารมณ์ร่วม ความผูกพัน ระหว่าง 6 ตุลากับคนรุ่นใหม่จึงลึกซึ้ง ฝังแน่น แทบจะหัวอกเดียวกัน

แม้ในมุมหนึ่ง มีงานวิจัยชี้ว่า คนรุ่นใหม่อ้างอิงตัวเองกับ 2475 มากกว่า 14 ตุลาหรือ 6 ตุลา เพราะพวกเขามองว่า 14 ตุลาอิง “ราชาชาตินิยม” ขณะที่ 6 ตุลาคือประวัติศาสตร์ของความพ่ายแพ้ และอิงอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ซึ่งปัจจุบัน อยู่ตรงข้ามอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่

พูดง่ายๆ 40 กว่าปีผ่านไป โลกย้อนแย้ง เผด็จการพรรคเดียวแบบคอมมิวนิสต์จีนกลายเป็นแบบอย่างของสลิ่มไทย “ไม่ต้องเป็นประชาธิปไตยก็เจริญได้” ขณะที่คนรุ่นใหม่ไทยเป็น “พันธมิตรชานม” กับฮ่องกง ไต้หวัน กระทั่งไต้หวันร่วมจัดงาน 6 ตุลา

รัสเซียบุกยูเครน คนรุ่นใหม่ประณามปูติน คนตุลาบางส่วนกลับ “บ้ง” เพราะฝังใจเกลียดจักรพรรดินิยมอเมริกาจนเห็นใจรัสเซียว่าต้องป้องกันตัวเอง

อย่างไรก็ดี ถ้ามองประวัติศาสตร์ในภาพกว้าง จะเห็นว่าทั้งโลกทั้งไทยคล้ายกัน คือทศวรรษ 1960-1970 เป็นช่วงแห่งความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่การประท้วงของนักศึกษาฝรั่งเศส ไปจนการต่อต้านสงครามเวียดนามในอเมริกา การต่อต้านเหยียดผิวเหยียดเพศ กระทั่งโลกเคารพกติกาประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน

คนรุ่นใหม่ยุคตุลา ก็มีหลายอย่างคล้ายคนรุ่นปัจจุบัน เช่นเริ่มจากต้านโซตัส ต้านบังคับผมสั้นเกรียน ไล่อธิการบดี เรียกร้องเสรีภาพในด้านต่างๆ เสรีภาพทางความคิด ศิลปวัฒนธรรม เพลงเพื่อชีวิต “เผาวรรณคดี” 


คนรุ่นใหม่ในยุคตุลา เรียกร้องเสรีภาพ ควบคู่ไปกับความเป็นธรรม ขบวนการนักศึกษาร่วมเคลื่อนไหวกับกรรมกร เรียกร้องค่าแรงสวัสดิการ ร่วมกับสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ เรียกร้องค่าเช่าที่เป็นธรรม กระทั่งถูกปราบถูกฆ่า

ภายใต้ความไม่เป็นธรรมที่สั่งสม ภายใต้กระแสโลกยุคนั้น จึงโน้มนำไปสู่อุดมการณ์สังคมนิยม โดยเชื่อว่าจะทำให้สังคมเป็นธรรมกว่า

และในประเทศโลกที่สามยุค 60-70 ก็ไม่มีคำว่า “โลกเสรี” โลกที่เป็นจริงคือเผด็จการทหาร ทั้งในเอเชีย แอฟริกา ละตินอเมริกา เผด็จการชิลี อินโดนีเซีย เข่นฆ่าประชาชนเป็นล้านๆ จึงเกิดการต่อสู้ด้วยอาวุธ เข้าป่าจับปืน

อุดมการณ์ในปัจจุบัน ถ้ายึดมั่นเสรีภาพ ความเป็นธรรม ไม่ว่าคนตุลาหรือคนรุ่นใหม่ก็ไม่ต่างกัน คนรุ่นใหม่ก็เรียกร้องความเป็นธรรม ต้านผูกขาด เรียกร้องรัฐสวัสดิการ อำนาจรัฐใดกดขี่บีฑาปราบปรามทำลายเสรีภาพก็ต้องประณาม ไม่ว่าจีน รัสเซีย พม่า อิหร่าน

คนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน เห็นโลกกว้างกว่าอดีต เห็นบทเรียนเห็นความผิดพลาด และมีทางเลือกหลากหลายกว่า แม้ดูเหมือนว่าการต่อสู้ของพวกเขาจะยากลำบากกว่า ตีบตันกว่า แต่ก็ไม่แพ้ง่าย พร้อมจะต่อสู้ยาวไกล แต่เชื่อเถอะว่าไม่ไกล จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลง เพราะเราอยู่ในโลก Disrupt ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เมื่อ 3 ปีก่อน ใครเชื่อว่าเกิดม็อบ “แผ่นดินไหว” ไม่อยากจะเชื่อก็ต้องตาค้าง

ผู้มีอำนาจไม่ต้องกลัวคนรุ่นตุลาแล้วนะครับ คนรุ่นตุลามีแต่จะโรยราตามวัย แต่คนรุ่นใหม่จะเติบโตเป็นคลื่นมหาศาล

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_7303806

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar