tisdag 4 oktober 2022

ใบตองแห้ง: ชนะ กม. แพ้การเมือง

ใบตองแห้ง 

2022-10-03 14:12

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ “ประยุทธ์ 8 ปี” เริ่มนับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ที่จริงไม่ผิดคาด และมีเหตุผลทางกฎหมาย

แต่ความไม่ชอบธรรมทางการเมือง เนื่องจากรัฐประหาร สืบทอดอำนาจ และใช้อำนาจกดขี่บีฑา ทำให้เกิดแรงต้านทั้งฝ่ายค้าน นักวิชาการ อาจารย์กฎหมาย ประชาสังคม (กระทั่งจตุพร-พันธมิตร หลอมรวมกันได้)

ทำให้โจทย์กฎหมายง่ายๆ “กฎหมายมีผลใช้บังคับนับแต่วันประกาศใช้” ซับซ้อนขึ้นทันใด ใช้เวลายืดเยื้อ 38 วัน ตอบอย่างไรสังคมก็ไม่ยอมรับ นอกจากตกเก้าอี้สถานเดียว

8 ปีเริ่มนับเมื่อไหร่ นับตามจริงหรือนับเพื่อใช้กฎหมาย ถ้านับตามจริงเด็กอมมือก็ตอบได้ แต่ถ้านับเพื่อใช้กฎหมาย ก็ต้องนับเมื่อมีกฎหมาย นี่เป็นหลักทั่วไป และเป็น common sense ทางกฎหมาย

สมมติเช่น เป็นประธานบริษัทมา 2 ปี กรรมการออกระเบียบใหม่ ต่อไปเป็นได้แค่ 4 ปี นับเมื่อไหร่ ก็นับตั้งแต่วันออกระเบียบใหม่

หรือเป็นข้าราชการ ตำแหน่ง ผอ. มีกฎใหม่เป็นได้ 4 ปี ก็นับตั้งแต่วันที่มีกฎใหม่ ศาลแพ่ง ศาลปกครองใช้ common sense เช่นนี้

สมมติประเทศสารขัณฑ์ มีนายกฯ จากเลือกตั้งโดยชอบธรรม เป็นมา 3 ปี มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดย ส.ส.ร. กำหนดให้นายกฯ ดำรงตำแหน่งได้ 8 ปี จะเริ่มนับเมื่อไหร่

ในทางปฏิบัติ สังคมจะถกเถียงตั้งแต่ตอนร่าง นับย้อนหลังไหม นับไม่นับก็ต้องเขียนในบทเฉพาะกาล (ไม่ใช่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว ส.ส.ร.มาตั้งวงกินข้าวเบิกเบี้ยประชุมเพิ่มคำอธิบายภายหลัง)

ว่าโดยหลักกฎหมาย หลักความชอบธรรมเป็นธรรม ทั้งนักกฎหมายและสังคมส่วนใหญ่จะเห็นพ้องต้องนับใหม่ กฎเกณฑ์ที่กำหนดใหม่ไม่ควรกระทบผู้ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อน

แต่นั่นไม่ใช่ประยุทธ์ เพราะประยุทธ์ไม่ชอบธรรมตั้งแต่วันแรก ไม่ชอบธรรมแม้แต่วันเดียว รัฐธรรมนูญก็ถูกยัดเยียด ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ไม่สามารถตั้งคำถามไม่มีการถกเถียง กรธ.ทำงานแบบลวกๆ ทิ้งปมไว้เลี้ยงข้าวต้มกันภายหลัง

อันที่จริงถ้าเทียบใกล้เคียง ก็มีกรณีประธานศาลปกครองสูงสุด แก้กฎหมายเมื่อปี 60 ให้มีวาระสี่ปี แต่เขียนบทเฉพาะกาลชัดให้เริ่มนับใหม่ตั้งแต่กฎหมายประกาศใช้ 26 กันยา 60 ปิยะ ปะตังทา ซึ่งเป็นประธานตั้งแต่ปี 59 จึงครบวาระเมื่อ 26 กันยา 64

ประยุทธ์เป็น “นายกฯ เถื่อน” ไหม เป็นครับ เป็นนายกฯ เถื่อนจากรัฐประหาร 22 พฤษภา 57 เขียนรัฐธรรมนูญเอง ตั้งสภาโหวตตัวเองเป็นนายกฯ จาก 24 สิงหา 57 ถึง 6 เมษา 60 ประยุทธ์เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญเถื่อน กระทั่ง 6 เมษา 60 ประยุทธ์จึงเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เข้ามาอยู่ใต้กฎเกณฑ์ใหม่ที่ให้เป็นนายกฯ ได้ 8 ปี

หลักกฎหมายตอบได้จำกัดแค่นี้ หลักกฎหมายไม่สามารถตอบสนองทางการเมืองทุกเรื่อง ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นตุลาการภิวัตน์ ส่วนที่เหลือคือการต่อสู้ของพรรคการเมืองและประชาชน ซึ่งถ้ากฎหมายตรงไปตรงมาทุกเรื่อง ก็ไม่เป็นปัญหา ปัญหาคือความไม่ตรงไปตรงมา (ตรงเฉพาะเรื่องที่เป็นประโยชน์กับรัฐบาล) ทำให้คนไม่เชื่อมั่น ไม่เชื่อถือ

จนกระทั่งไม่เชื่อถือคำวินิจฉัยครั้งนี้ ซึ่งก่อนวินิจฉัยก็ไม่มีใครกล้าคาดเดาว่าผลจะออกมาอย่างไร เช่นแม้ผมเข้าใจเหตุผลทางกฎหมาย ว่าต้องนับจาก 60 แม้เห็นคำให้การมีชัย ก็ยังไม่แน่ใจว่าคำวินิจฉัยจะเป็นไปตามหลักกฎหมาย คนส่วนใหญ่ยังมองเหตุผลทางการเมือง เช่น บางคนมองว่าเพื่อประโยชน์ของฝ่ายอนุรักษนิยม ตัดหางประยุทธ์เสียเถอะ หรือเอานะเพื่อประนีประนอมกันให้ประยุทธ์อยู่ต่ออีกหน่อย ยุบสภาแล้ววางมือ หรือถ้าอำนาจดันทุรังเขาคงให้อยู่ถึงปี 70 บลาๆๆ

อย่างไรก็ดี ผลพลอยได้จากศาลรัฐธรรมนูญแม้ประยุทธ์กลับมาคือ คำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ 38 วัน ซึ่งทำให้การเมืองเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ 38 วัน ประเทศมูฟออน รัฐบาลมูฟออน พรรคร่วมฯ มูฟออน มองไปข้างหน้าสู่เลือกตั้ง ประยุทธ์ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ประยุทธ์กลายเป็นส่วนเกิน ประยุทธ์ไม่กลับไม่มีใครเดือดร้อน ประยุทธ์กลับมากลายเป็นภาระรุงรัง

8 ปี 4 เดือนของประยุทธ์ หายวับไปในความว่างเปล่า 38 วัน กลับมาอย่างกร่อยๆ เหลืออำนาจฉุกเฉินให้ใช้แค่ไม่กี่ชั่วโมง วันรุ่งขึ้น ข้าราชการก็เปลี่ยน ตำรวจทหารเปลี่ยน

การอยู่ได้ถึงปี 68 ในทางการเมืองจึงมีความหมายแค่กลับมายุบสภาหลังประชุมเอเปก แล้วไม่สามารถเป็นแคนดิเดตนายกฯ อีก พรรคไหนยังอยากส่งคนเป็นนายกฯ ได้แค่ 2 ปี ถ้าสำนึกตัวก็ควรวางมือ ปล่อยให้ประเทศเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ขั้วอำนาจหาลู่ทางประนีประนอม

คำถามสำคัญ อำนาจอนุรักษ์จะยอมประนีประนอมกับสังคมไหม หรือหวังให้ประยุทธ์กลับมาแข็งกร้าวเป็นศูนย์กลางอำนาจนิยมอีก

แต่ยิ่งแข็งกร้าวแบบประยุทธ์ยิ่งแพ้เลือกตั้ง องคาพยพต่างๆ ก็เสื่อม 250 ส.ว.เจอทั้งเพื่อนนายหน้าค้าอาวุธ ทั้งกิ๊ก ส.ต.ท. หลังเลือกตั้งครั้งหน้า ประยุทธ์อยู่ได้อีก 2 ปี 250 ส.ว.อยู่ได้อีกปีเดียว จะดันทุรังต่ออย่างไร

คำวินิจฉัยให้ประยุทธ์อยู่ได้ถึงปี 68 จึงไม่เป็นจริงในทางการเมือง อยู่ได้ครบวาระก็บุญ ภายใต้แรงกดดันยุบสภาแล้ววางมือ

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ https://www.khaosod.co.th/politics/news_7294195

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar