Somsak Jeamteerasakul
“ทำไมสังคมไทยไม่ค่อยสนใจประวัติศาสตร์? เราคงได้ยินการพูดว่าประวัติศาสตร์ 6 ตุลา “ถูกลืม” แต่ถ้าเทียบกับเรื่องอื่นๆ แล้ว นับว่ามีการพูดถึงกันมากอยู่ แต่ที่สำคัญเท่าที่มีการ “พูดถึง” ก็พูดถึงแต่เรื่องโศกนาฏกรรมวันนั้น ดูเหมือนไม่สู้จะก้าวล่วงเรื่องนี้เลย (คนนั้นชื่ออะไร คนนี้ชื่ออะไร ตายอย่างไร คนที่อยู่ในภาพชื่ออะไร คนที่อยู่ในภาพหายไปไหน ตำรวจที่ยิงปืนชื่ออะไร? ฯลฯ ฯลฯ) ดูเหมือนว่า เรื่อง 6 ตุลาจะมีเพียงแค่นักศึกษาประท้วงการกลับของถนอม แล้วกลุ่มฝ่ายขวาก็อาศัยภาพหลอกปลุกระดมคนมาฆ่า ฯลฯ
จนบัดนี้ 46 กว่าปีแล้ว เรื่องเกี่ยวกับ 6 ตุลา ยังไม่มีการทำเป็นเรื่องเป็นราวนอกเหนือจากนี้ ผมจึงรู้สึกเสียดายที่หนังสือของ “ยิ้ม” สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เล่มล่าสุด ไม่ได้ก้าวพ้นจากที่มีการพูดๆ กันมา ที่สำคัญ ก่อนตายไม่นาน ผมได้คุยกับยิ้ม ได้ยินว่าเขาได้คุยกับพวก “คนเก่าๆ” จำนวนมาก ทั้งลุงธง ลุงประโยชน์ (ซึ่งไม่ยอมคุยกับผม) และบรรดามิตรสหายหลายคน ได้เก็บข้อมูลไว้จำนวนมาก นึกว่าคงจะได้เวลาเริ่มเขียนเรื่องราวอย่างจริงจังในฐานะขบวนการนักศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ พคท. เสียที ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมจึงไม่เป็นไปตามนั้น
ผมอยากจะเขียน แต่รู้ตัวว่าทำไม่ได้ เพราะหนึ่ง ผมเขียนเรื่อง 6 ตุลา และเรื่องราวที่เกี่ยวข้องไม่ค่อยได้ มีความลำบากในการพูดเรื่องนี้อยู่ สอง ข้อมูลที่ผมรวบรวมได้ ไม่เพียงพอ
บางทีผมคิดว่าผมคงต้องพยายามเขียนเสียแล้ว แม้ข้อมูลไม่เพียงพอ แต่อาจกระตุ้นให้คนที่รู้เรื่องดีกว่าผมเขียนออกมา
พัฒนาการของขบวนการนักศึกษากับ พคท.ช่วง 14 ถึง 6 ตุลานั้น แบ่งได้เป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือก่อนกลางปี 2518 กับหลังกลางปี 2518
จากกลางปี 2518 เป็นต้นมา ขบวนการนักศึกษาได้เปลี่ยนเป็นขบวนของ พคท โดยพื้นฐานแล้ว สมัยนั้นเรามีศัพท์เรียกว่า ความคิด-การเมือง-การจัดตั้ง หลังกลางปี 2518 ถือว่าในทางความคิด ขบวนการนักศึกษาเป็นเอกภาพ ถูกชี้นำด้วยวิธีคิดแบบ พคท. แล้ว
(เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ผู้ทำงานศึกษาการเคลื่อนไหวของชาวนาในช่วงนี้ กล่าวว่าไม่มี พคท. เป็นปัจจัยสำคัญ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ถึงกับไปขยายความเป็นตุเป็นตะ ความจริงขบวนการนักศึกษาในภาคเหนือที่ทำงานชาวนา ไม่มีใครจะใกล้ชิดพรรค และทำงานประสานพรรคมากเท่านี้อีกแล้ว)
ขณะนั้น กล่าวกันว่า “งานในเมือง” ของ พคท.มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง คือ หลังการกวาดล้างใหญ่ที่ ประเสริฐ เอี้ยวฉาย ต้องติดคุกนั้น พรรคฯได้แบ่งการทำงานออกจากกันเป็น “สองสายงาน” มีสายงาน “เมน” (นิยมเรียกกันแบบนี้ มาจากคำว่า main) ซึ่งผู้นำสูงสุดคือคนที่เขียนเรื่อง “ปรัชญาชาวบ้าน” ใช้นามปากกาว่า “ศักดิ์ สุริยะ” กับสายงานลุงประโยชน์ (มาโนช เมธางกูล) นอกจากนี้ ยังเปิดให้กรุงเทพ เป็นเขตพิเศษที่ทุกสายงานทั่วประเทศ (เหนือ ใต้ อีสาน) มาขยายสายงานได้ (แต่มีบางคนว่า ในระดับสูงสุดนั้น มีการประสานงานและประชุมกันอยู่ ระหว่างลุงประโยชน์กับ "ศักดิ์ สุริยะ" เรื่องนี้ไม่ชัวร์ ผมก็อยากรู้เหมือนกันว่าความจริงเป็นอย่างไร)”
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar