การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความขัดแย้งในสังคมไทย
โดย เด่นพงษ์ รักประชา
ประชาธิปไตย :
คำว่า ประชาธิปไตย เป็นศัพท์ใหม่เพิ่งมีผู้ตั้งศัพท์นี้มาเมื่อประมาณ ๖๐ ปีมานี้เอง จากรากศัพท์เดิมของคำว่า ประชาธิปไตย แปลมาจากคำในภาษากรีก “ DEMOKRATIA “ ซึ่งมาจากมูลศัพท์ “DEMOS”แปลว่า ปวงชน ผสมกับคำว่า .” KRATOS “ แปล ว่าอำนาจ และ “ KRATIEN “ แปลว่า การปกครอง ดังนั้นคำว่า “ DEMOKRATIA “ จึงหมายถึง อำนาจสูงสุดของปวงชน การปกครองโดยมติของปวงชน
คำว่า ประชาธิปไตย จึงหมายถึงรูปแบบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ เพราะอำนาจสูงสุดเป็นของปวงชน ซึ่งมีสิทธิ์กับหน้าที่ตามธรรมชาติของมนุษยชน
ถึงแม้จะมีผู้ตั้งศัพท์คำว่าประชาธิปไตยขึ้นมาเมื่อ ๖๐ ปีที่แล้วก็ตาม แต่รูปแบบการปกครองประชาธิปไตยมีมาพร้อมกับการเกิดสังคมของมนุษย์ชาติที่มนุษย์รู้จักอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เป็นกลุ่มในสังคม ในยุคสมัยของสังคมบุพกาลทุกคนต้องล่าเนื้อหาอาหารกินเองจะอาศัยแรงงานคนอื่นหาให้กินไม่ได้ ซึ่งหมายความว่าในยุคของสังคมบุพกาลมนุษ์ไม่มีการเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบกัน
ในระยะต่อมามนุษย์ได้รู้จักการเลือกตั้งเจ้าโคตรเจ้าตระกูลขึ้นมาเป็นหัวหน้ากลุ่มหรือหัวหน้าของสังคม เพื่อทำพิธีทางไสยศาสตร์ จึงเกิดมีการรวมกลุ่มเกิดชุมชนขึ้น ต่อมา มีการแย่งชิงเขตแดนที่ทำมาหากิน จึงมีการรบราฆ่าฟันกันในแต่ละกลุ่ม หัวหน้ากลุ่มไหนแข็งแรงก็สามารถขยายอาณาเขตของตนให้กว้างขวางออกไป และจับเอาฝ่ายตรงกันข้ามมาเป็นเชลย ซึ่งเชลยนี้ครั้งแรกก็ฆ่าทิ้งหรือใช้กินเป็นอาหาร แต่ต่อมาเชลยที่ถูกจับได้ถูกบังคับให้เป็นทาสเพื่อใช้แรงงานให้แก่เจ้าโคตรเจ้าตระกูลที่เป็นหัวหน้าของสังคม ระบบทาสซึ่งเป็นระบบที่โหดร้ายที่สุดของมนุษย์ชาติจึงเกิดขึ้น
เมื่อระบบทาสได้เริ่มขึ้นในสังคมของมนุษย์ รูปแบบการปกครองประชาธิปไตยที่มีมาแต่เดิมนั้นก็หมดไป พวกนายทาสได้กลายมาเป็นหัวหน้าของสังคม และได้ใช้วิธีปกครองแบบบังคับอย่างโหดร้ายทารุณที่สุดกับพวกทาส ทาสจึงเปรียบเสมือนสัตว์ที่พูดได้ นายทาสจะซื้อขายหรือเข่นฆ่าและบังคับใช้แรงงานได้ตามใจชอบเหมือนกับสัตว์
ในกฏหมายเก่าของไทยก็ได้บัญญัติไว้ว่า ทาสเป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่งจำพวกเดียวกับสัตว์ที่มีชีวิตทั้งหลายเรียกว่า “ วิญญาณทรัพย์ “ ระบบทาสจึงเป็นระบบเผด็จการที่ทารุณโหดร้ายและเลวทรามที่สุดของมนุษย์ ที่ดำรงคงอยู่มาเป็นเวลาหลายร้อยปี ความเจริญรุ่งเรืองในยุคต่างๆของมนุษย์ ได้ถูกสร้างขึ้นอย่างมากมายก็โดยน้ำพักน้ำแรงของพวกทาส เช่นสถานที่โบราณ วัตถุก่อสร้างต่างๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยโรมัน สมัยกรีก และโบสถ์ วัดวาอารามสมัยเก่าของไทยก็ได้ถูกสร้างขึ้นโดยน้ำพักน้ำแรงของพวกทาสทั้งนั้น ระบบทาสได้ดำรงคงอยุ่ในสังคมไทยมาจนถึงรัชสมัยรัชกาลที่ ๕
เมื่อวิวัฒนาการของสังคมได้เจริญก้าวหน้าขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ระบบทาสได้กลายมาเป็นสิ่งที่ขัดขวางความเจริญทางการผลิตทำให้เกิดความขัดแย้งกันภายในของสังคมระบบทาสขึ้น พวกลูกทาสได้ลุกขึ้นต่อสู้ อาทิ การต่อสู้ของสปาตาคุสในระบบทาสโรมัน เมื่อ ๗๔ ปีก่อนพระเยซูเกิด เป็นต้น ต่อมาพวกเจ้าทาสจึงได้ผ่อนผันให้ทาสบางส่วนทำการเพาะปลูกในที่ดินของเจ้าทาสและนำผลผลิตที่ได้ส่งเป็นเครื่องบรรณาการให้แก่พวกนายทาสหรือที่เรียกว่า “ส่งส่วย “
สมัยก่อนมนุษย์เรายังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฏเกณฑ์ต่างๆของธรรมชาติ ไม่สามารถอธิบายสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในจักรภพนี้ได้ จึงเชื่อเอาอย่างงมงายว่าธรรมชาติและสรรพสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลกนี้ล้วนมีสิ่งบรรดาลมาจากเบื้องบนเพื่อให้เป็นไปเช่นนั้น ซึ่งอำนาจจากเบื้องบนนั้นเชื่อกันว่าเป็นอำนาจของพระเจ้า หรืออำนาจของพวกเทวาอารักษ์ พวกเจ้าโคตรเจ้าตระกูลทั้งหลาย ผู้ที่เป็นหัวหน้าสังคมที่ถูกเลือกขึ้นในยุคของสังคมบุพกาลเพื่อให้เป็นตัวแทนในการทำพิธีทางไสยศาสตร์นั้น ต่อมาก็ได้ตั้งตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ หรือจักรพรรดิ์ ปกครองอยู่ตามดินแดนหรือในแค้วนต่างๆ บุคคลเหล่านี้ได้ตั้งตนเองขี้นเป็นตัวแทนของพระเจ้า อ้างว่าพระเจ้าส่งตนลงมาจุติในโลกมนุษย์ หรือเป็นตัวแทนมาจากเบื้องบน คือสวรรค์เพื่อลงมาโปรดมนุษย์ โดยได้รับอำนาจมาจากสรวงสวรรค์ เพื่อให้มาปกครองมนุษย์ เช่นในสมัยโบราณของจีนเชื่อกันว่ากษัตริย์หรือ จักรพรรดิ์เป็นโอรสมาจากสวรรค์ ในประเทศญี่ปุ่นสมัยเก่าก็เชื่อกันว่าจักรพรรดิเป็นโอรสของพระอาทิตย์มาเกิด เป็นต้น
นี้คือต้นเหตุหรือแนวความคิดที่กษัตริย์ หรือจักรพรรดิ์ของประเทศต่างๆ คิดไปเองว่า ที่ดินและสรรพสิ่งทั้งหลายรวมทั้งคนและสัตว์ทั้งหมดภายใต้สวรรค์เป็นสมบัติของตน
ในประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยายังปรากฏในกฏหมาย “ ตราสามดวง “ ว่า “ ที่ดินทั้งหลายในแคว้นศรีอยุธยาเป็นของพระเจ้าอยู่หัวโดยพระบรมเดชานุภาพ “ ระบอบศักดินาจึงเกิดขึ้น อำนาจการปกครองทุกอย่างอยู่ในมือของผู้เป็นหัวหน้าของสังคมแต่ผู้เดียว กษัตริย์ หรือจักรพรรดิ์ ก็สามารถใช้อำนาจได้โดยไม่จำกัดขอบเขต อำนาจเผด็จการโดยสมบูรณ์ของกษัตริย์ก็เกิดขึ้น ต่อมากษัตริย์ หรือจักรพรรดิ์ ยังได้ตราเป็นกฏหมายขึ้นอีกว่า เมื่อตัวเองตายลงก็ให้ลูกหรือญาติที่สนิทของตนรับช่วงเป็นผู้สืบทอดวงค์ตระกูลปกครองประเทศสืบต่อไป เป็นการสืบทอดราชสันติวงค์ต่อไปอีกเป็นทอดๆ
รูปแบบการปกครองนี้คือรูปแบบการปกครองเผด็จการศักดินา มิได้แตกต่างไปจากการปกครองในระบอบทาสมากนัก จะต่างกันก็เพียงแต่ว่าเปลี่ยนจากระบอบทาสมาเป็น ระบบ “ส่วย “
ในระบอบสังคมศักดินาพวกทาสนอกจากจะผลิตเพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัวแล้วยังต้องผลิตให้แก่พวกเจ้าศักดินาอีกด้วยตามระบบ “ ส่วย “ ซึ่งปัจจัยและเครื่องมือสำหรับทำมาหากินอยู่ในมือของพวกเจ้าศักดินา เช่นที่ดินและเครื่องมือในการผลิตต่างๆ การปกครองแบบนี้ในเมืองไทยเรียกว่า การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นรูปแบบการปกครองที่กษัตริย์มีอำนาจสูงสุดแต่ผู้เดียว
สังคมศักดินาในยุโรบได้ถูกโค่นล้มลงไปในปลายของศตวรรตที่ ๑๘ ระบอบทุนนิยมได้เข้ามาแทนที่ การวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ชาติจากสังคมหนึ่งเข้าสู่อีกสังคมหนึ่งเป็นกฏเกณฑ์ตามธรรมชาติของสังคมที่จะต้องเป็นไปเช่นนั้น มาร์กช์ได้ค้นพบในวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ถึงสาเหตุการเปลี่ยนของสังคม จากสังคมหนึ่งไปสู่อีกสังคมหนึ่งโดยเกิดจากการขัดแย้งภายในของสังคมนั้นเอง ระหว่างความสัมพันธ์การผลิต คือมีผู้ถือปัจจัยการผลิตและกำลังการผลิตอีกด้านหนึ่ง เมื่อความสัมพันธ์การผลิตในสังคมใดสอดคล้องกันสังคมนั้นก็เจริญพัฒนา ถ้าสังคมใดที่ผู้ถือปัจจัยการผลิตขัดขวางกำลังการผลิต ความขัดแย้งภายในสังคมนั้นก็จะเกิดขึ้น เมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้นถึงขั้นรุณแรงที่สุดก็สามารถเปลี่ยนไปสู่สังคมอีกรูปแบบหนึ่งที่สูงกว่า เช่นการเปลี่ยนแปลงจากสังคมระบอบทาสไปสู่สังคมระบอบศักดินา และการเปลี่ยนแปลงสังคมศักดินาเข้าสู่ระบอบทุนนิยม จากทุนนิยมเข้าสู่สังคมนิยม จากระบอบสังคมนิยมเข้าสู่ระบอบสังคมคอมมิวนิสต์ นี่คือวิวัฒนาการของสังคมของมนุษย์ชาติที่มาร์กช์ได้ค้นพบและพิสูจน์ให้เห็นในวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ซึ่งถือว่าเป็นผลงานอันยิ่งใหญ่ทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งของมาร์กช์
ดังนั้นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของมนุษย์จึงเป็นหน้าที่อันชอบธรรมตามธรรมชาติของมนุษยชนพึงกระทำ อำนาจสูงสุดของปวงชนย่อมหมายถึงอำนาจของผู้ที่เป็นกำลังการผลิตซึ่งเป็นพลังส่วนมากของสังคม การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็คือการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์การผลิต โดยเปลี่ยนปัจจัยการผลิตจากบุคคลกลุ่มน้อยในสังคมให้มาอยู่ในมือของผู้ที่เป็นกำลังการผลิตที่เป็นพลังส่วนมากของสังคม เมื่อเป็นเช่นนี้ระบอบประชาธิปไตยอันสมบูรณ์จึงจะเกิดขึ้น
เนื่องจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นสิทธิและหน้าที่อันชอบธรรมตามธรรมชาติของมนุษย์ที่มนุษย์พึงกระทำ มนุษย์ชาติทั่วโลกจึงได้ลุกขึ้นต่อสู้ เพื่อสิทธิและเสรีภาพของตนอยู่เรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ในยุโรป อเมริกา อาฟริกา อาเชีย ลาตินอเมรืกา และตะวันออกกลางเป็นต้น ซึ่งการต่อสู้ได้ดำเนินไปในรูปแบบที่แตกต่างกัน ในประเทศยุโรปตะวันตก ในประเทศแถบสแกนดิเนเวียประชาชนของประเทศเหล่านั้นได้ต่อสู้มาเป็นขั้นๆและยาวนาน เริ่มจากการจัดตั้งพรรคการเมืองต่างๆขึ้นโดยไม่มีการจำกัดความคิดทางด้านอุดมการณ์ ไปจนถึงการเรียกร้องสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งเท่าเทียมกันของหญิงชาย สิทธิในการจัดตั้งสหพันธ์กรรมกรแรงงานในอาชีพต่างๆ เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้แก่สมาชิกผู้ใช้แรงงานในด้านต่างๆที่เป็นธรรม และระบบสวัสดิการต่างๆ ประชาชนสามารถเลือกตัวแทนของตนเองได้โดยวิถีทางประชาธิปไตย และสามารถตั้งรัฐบาลที่เป็นตัวแทนรักษาผลประโยชน์ให้แก่มวลชนที่เป็นเสียงส่วนมากของสังคม
แต่ในประเทศที่ชนชั้นปกครองไม่ยอมให้ประชาชนมีประชาธิปไตยตามธรรมชาติโดยสันติวิธี ประชาชนในประเทศเหล่านั้นย่อมทำการต่อสู้โดยวิธีรุนแรง ซึ่งก็เป็นหน้าที่และสิทธิอันชอบธรรมโดยธรรมชาติของมนุษย์ในสังคมนั้น อาทิ การปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศสในปี คศ. ๑๗๘๙ และการปฏิวัติใหญ่ในรัสเซียเมื่อปี คศ. ๑๙๑๗ เป็นต้น
การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของไทย :
ถึงปี พศ. ๒๔๗๕ ระบอบศักดินาซึ่งเป็นระบอบเก่าแก่และล้าหลังกำลังเสื่อมสลายได้กลายมาเป็นสิ่งที่ขัดขวางกำลังการผลิต ทำให้เศรษฐกิจของชาติไม่เจริญก้าวหน้า ราษฎรที่เป็นผู้ผลิตส่วนมากของสังคม ได้รับความเดือดร้อน จึงได้มีการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบศักดินาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ดีกว่า ได้เกิดการขัดแย้งกันขึ้นภายในสังคม ข้าราชการและปัญญาชนที่มีหัวก้าวหน้าภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชไม่พอใจกับความเป็นอยู่ของสังคมที่หล้าหลังและความไม่ยุติธรรมในระบอบเผด็จการกษัตริย์ และ ขณะเดียวกันระบอบศักดินาในประเทศยุโรปตะวันตก ได้ถูกโค่นล้มลงมีการวิวัฒนาการอย่างก้าวกระโดดทางด้านอุตสาหกรรม มีการค้นพบเครื่องมือการผลิตใหม่ๆ เช่นเครื่องจักรกลและเครื่องจักรไอน้ำแบบใหม่ในปลายศตวรรษที่ ๑๘ ทำให้ประเทศเหล่านั้นกลายมาเป็นประเทศทุนนิยมได้ขยายขอบเขตอิธิพลทางเศรษฐกิจข้ามทวีปเข้าสู่ประเทศด้อยพัฒนาหรือประเทศในโลกที่สามเพื่อล่าอาณานิคมเมืองขึ้น เพื่อเป็นแหล่งขูดรีดแรงงาน แสวงหาวัตถุดิบตลอดจนใช้เป็นแหล่งสำหรับระบายสินค้า ประเทศฝรั่งเศสได้เข้ายึดครองในอินโดจีน ฮอลันดาเข้ายึดครองอินโดนิเชีย อังกฤษเข้ายึดครองอินเดีย พม่า มลายู ปอร์ตุเกสเข้ายึดครองประเทศในอาฟริกาเป็นต้น
ในประเทศไทยพวกชาติตะวันตกได้บังคับให้ชนชั้นปกครองศักดินาไทยทำสัญญาไม่เสมอภาคต่างๆกับประเทศอังกฤษ ประเทศฝรั่งเศส ทำให้ไทยต้องเสียเอกราชทางการเมือง ทางศาล และทางด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งต้องเสียดินแดนเป็นจำนวนมากให้แก่ประเทศเหล่านั้น
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี พศ. ๒๔๗๐ ปัญญาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตยที่เป็นตัวแทนกองหน้าของราษฎรไทยได้ร่วมกันจัดตั้ง คณะราษฎร ขึ้นในประเทศฝรั่งเศส มี ดร. ปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า เพื่อทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์เผด็จการ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ภายใต้กฏหมาย หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบราชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยอำนาจการปกครองสูงสุดเป็นของปวงชน และปวงชนเป็นผู้ใช้อำนาจนั้นผ่านทางนิติบัญญัติหรือรัฐสภา ทางการบริหาร หรือรัฐบาล และทางตุลาการ มีหลักนโยบายทางการเมืองดังต่อไปนี้
๑. รักษาความเป็นเอกราชทั้งหลายเช่นเอกราชทางการเมือง ทางศาล ทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
๒. รักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดลงให้มาก
๓. บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฏรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำจะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดหยาก
๔. ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน
๕. ให้ราษฎรมีเสรีภาพที่ไม่ขัดต่อหลักสี่ประการดังกล่าวแล้ว
๖. ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
หลังจาก คณะราษฎร ได้ก่อตั้งขึ้นในปี พศ ๒๔๗๐ อีกห้าปีต่อมาคือในปี พศ. ๒๔๗๕ ก็ได้ทำการยึดอำนาจเปลี่ยนการปกครองทำให้ระบอบเผด็จการกษัตริย์ต้องสิ้นสุดลง และนำเอาระบอบการปกครองประชาธิปไตยมาใช้ในเมืองไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียอาคเนย์. โดยปวงชนชาวไทยมีสิทธิและเสรีภาพในการเลือกตัวแทนของตนเป็นรัฐบาล ออกกฎหมายและรัฐธรรมนูญเพื่อปกครองตนเอง
ตามรัฐธรรมนูญฉบับ ๙ พฤษภาคม พศ. ๒๔๘๙ ได้ให้สิทธิประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ที่สุดแก่ปวงชนชาวไทย ตามข้อความในมาตรา ๑๓ ให้มีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาหรือลัทธินิยมใดๆ มาตรา ๑๔ ให้เสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกาย เคหสถาน ทรัพย์สิน การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา การศึกษาอบรม การชุมนุมสาธารณะ การตั้งสมาคม การตั้งพรรคการเมือง การอาชีพ
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พศ. ๒๔๗๕ เป็นการโค่นล้มระบอบศักดินาลงพร้อมกันนั้นก็ได้ลบล้างความสัมพันธ์การผลิต โดยเปลียนปัจจัยการผลิตในการทำมาหากิน เดิมอยู่ในมือของพวกศักดินาให้มาอยู่ในมือของชาวนาและกสิกรที่เป็นกำลังการผลิตส่วนใหญ่ของสังคมในเวลานั้นโดยการออกพระราชบัญญัติต่างๆ เช่น พรบ.ห้ามยึดทรัพย์กสิกร พรบ.ประมวลรัชฎากรยกเลิกรัชชูปการและอากรค่านาในปี พศ. ๒๔๘๑ ซึ่งประกาศใช้ในเดือนเมษายน พศ. ๒๔๘๒ การออกกฏหมายจำกัดขนาดการยึดครองที่ดินได้ไม่เกินคนละ ๕๐ ไร่ในปี ๒๔๗๙
การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พศ. ๒๔๗๕ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงจากสังคมศักดินาที่หล้าหลังเข้าสู่สังคมใหม่ที่สูงกว่า คือสังคมระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจรัฐอยู่ในมือของปวงชนที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ของสังคมจึงดีกว่าระบอบเผด็จการกษัตริย์ที่เป็นระบอบเก่าหล้าหลัง เป็นการปกครองโดยประชาชน เพื่อประชาชนตามวิถีทางของประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ พร้อมกันนั้นรัฐก็ได้วางโครงการเศรษฐกิจใหม่ เช่นการจัดตั้งธนาคารชาติ โอนกิจการต่างๆมาเป็นของรัฐ ปรับปรุงการศึกษาให้คนไทยทุกคนได้รับการศึกษา จัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้การศึกษาแก่ปัญญาชนทุกคนทุกชนชั้น
การเปลียนจากสังคมหนึ่งเข้าสู่อีกสังคมหนึ่งที่สูงกว่าเป็นสิ่งที่ยากมากโดยเฉพาะในระยะผ่านการยึดอำนาจแม้จะเป็นเรื่องยากก็ไม่ยากเท่ากับการรักษาไว้ และยิ่งเป็นเรื่องยากลำบากมากที่จะสร้างสังคมของมนุษย์ชาติขึ้นใหม่จากสังคมเก่าที่หล้าหลัง ดังนั้นในระยะผ่านซึ่งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ระบบให้การศึกษาอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับประชาธิปไตยเพื่อให้ประชาชนในสังคมยอมรับและมีจิตสำนึกเพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยพัฒนาก้าวหน้าต่อไป
เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่การเปลี่ยนการปกครอง พศ. ๒๔๗๕ ที่นำโดยกลุ่มบุคคลของคณะราษฎรยังไม่ทันที่จะเปลี่ยนระบบสังคมไทยให้ไปสู่เป้าหมายตามนโยบายของคณะราษฎร ก็ได้ถูกพวกซากเดนศักดินาที่เป็นพลังเก่าและหล้าหลังทำการขัดขวางการเปลี่ยนแปลงมาตลอดและ สนับสนุนให้พวกทหารฝ่ายขวายึดอำนาจกลับคืนในวันที่ ๘ พฤษภาคม พศ.๒๔๙๐
จนกระทั่งบัดนี้มีรัฐบาลที่ปกครองประเทศมาแล้วหลายยุคหลายสมัยแต่ประชาชนชาวไทยก็หาได้มีประชาธิปไตยไม่ เป็นเวลากว่า ๖๐ ปีแห่งความขัดแย้งในทางสังคมไทยระหว่างพลังเก่าซากเดนศักดินาหล้าหลัง ที่เคยสูญเสียอำนาจไปเมื่อ ๖๐ ปีก่อนได้ฟื้นฟูอำนาจกลับคืนมาอีก ผูกขาดอำนาจทางการเมือง การเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ร่วมกับพวกนายทุนต่างชาติครอบครองปัจจัยการผลิตของสังคมไทยไว้ในมือ กับอีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นกำลังการผลิตส่วนมากของสังคมได้แก่ ชาวไร่ ชาวนา กรรมกร พ่อค้าแม่ค้าผู้ผลิตรายย่อยต่างๆ รวมทั้งข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ชั้นผู้น้อย กำลังได้รับการกดขี่ขูดรีดแรงงานอย่างหนักจากกลุ่มพวกนายทุนผูกขาด
ความขัดแย้งของสังคมไทย :
ปัญหาเรื่องความขัดแย้งนี้ผู้เขียนจะขอวิจัยตามหลักของวัตถุนิยมประวัติศาสตร์โดยแยกความขัดแย้งออกเป็นสองประเด็น ประเด็นแรกคือผู้กุมปัจจัยการผลิตและประเด็นที่สองได้แก่กำลังการผลิต
หลังจากการรัฐประหาร ๘ พฤษภาคม ๒๔๙๐เป็นต้นมาความขัดแย้งในสังคมไทยได้ดำรงคงอยู่มาจนถึงเวลาปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ของคณะราษฎร ถึงแม้ว่าจะยึดอำนาจรัฐได้แต่สถาบันอื่นๆที่เป็นโครงสร้างส่วนบนของสังคมเก่ายังเหลืออยู่โดยมิได้เปลี่ยนแปลง เช่น สถาบันทหาร ตำรวจ ศาล ศาสนา โดยเฉพาะสถาบันกษัตริย์ ที่เป็นพลังเก่าของสังคมยังมีทัศนะหลงเหลือมาจากสังคมเก่าในระบบทาส บุคคลที่เป็นตัวแทนของพลังเก่าจากสถาบันเหล่านี้เคยสูญเสียอำนาจ เมื่อมีโอกาสก็สนับสนุนให้พวกทหารฝ่ายขวายึดอำนาจกลับคืนมา เพื่อให้คุ้มครองสถาบันและรักษาผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มของพวกตน จึงเป็นสาเหตุให้พวกชนชั้นศักดินาเก่าฟื้นฟูอำนาจกลับคืนมาอีก และกลายมาเป็นนายทุนผูกขาดร่วมกับพวกนายทุนต่างชาติผูกขาดอำนาจทาง การเมือง การเศรษฐกิจ สังคม และ วัฒนธรรมไทย อยู่จนถึงปัจจุบัน
สมัยที่พวกชนชั้นศักดินาเรืองอำนาจ พวกเจ้าศักดินาได้ปล่อยให้พวกพ่อค้าที่เป็นคนต่างชาติเชื้อสายจีนเข้ามาทำการค้าขาย เป็นนายหน้าผูกขาดการขนส่งสินค้าต่างๆ โดยส่งให้พวกศักดินาส่วนหนึ่งและส่งไปขายยังต่างประเทศ ในระยะหลังๆพวกพ่อค้าต่างชาติเหล่านี้ได้กลายมาเป็นนายทุนผูกขาดเศรษฐกิจของชาติ เป็นเจ้าของธุรกิจการค้า การธนาคารและการอุตสาหกรรมในสาขาต่างๆของสังคม ต่อมากลุ่มนายทุนผูกขาดเหล่านี้ก็ได้เข้าไปมีส่วนบริหารกิจการของรัฐและได้อาศัยอำนาจรัฐคุ้มครองผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มของพวกตน
จากงานวิจัยของ เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม ในหัวข้อเกี่ยวกับ “การวิเคราะห์ลักษณะการเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทย “ เมื่อปี ๒๕๒๕ หน้า ๓๒๕- ๓๔๖ แสดงให้เห็นถึงกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางที่ครอบครองเศรษฐกิจของชาติมีประมาณ ๑๐๐ กลุ่มซึ่งมียอดทรัพย์สินรวมกันประมาณ ห้าแสนล้านบาท กลุ่มธุรกิจที่มีทรัพย์สินมากอันดับหนึ่งคือตั้งแต่หนึ่งหมื่นล้านขึ้นไปมีประมาณ ๗ กลุ่มในจำนวนนั้นเป็นของพวกนายทุนต่างชาติเชื้อสายจีนมาอันดับหนึ่ง รองลงมาได้แก่กลุ่มศักดินานายทุน
การที่จะพิจารณาว่าสังคมหนึ่งสังคมใดเป็นสังคมอะไรนั้น จะต้องดูที่ความสัมพันธ์การผลิตหรือรูปแบบการผลิตของสังคมนั้นว่าปัจจัยการผลิตของสังคมนั้นอยุ่ในมือของชนชั้นไหน ถ้าปัจจัยการผลิตอยู่ในมือของชนชั้นนายทุนที่เป็นชนกลุ่มน้อยของสังคม สังคมนั้นก็เรียกว่าสังคมทุนนิยม จากหลักทฤษฎีดังกล่าวตามข้อมูลของเกริกเกียรติจะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีกลุ่มนายทุนผูกขาดประมาณ ๑๐๐ กลุ่มที่กุมปัจจัยการผลิตของสังคม เป็นเจ้าของธนาคาร เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจการค้า ซึ่งพวกนายทุนเหล่านี้สามารถกำหนดความเป็นอยู่ของคนในสังคม
กลุ่มนายทุนผูกขาดเหล่านี้นอกจากจะเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตแล้วยังมีกรรมสิทธิ์ในการจัดสรรและแบ่งปันแรงงาน เช่น การบริหารจัดการ การกำหนดค่าจ้างแรงงาน เป็นต้น อีกอย่างคือกรรมสิทธิ์ในการแบ่งปันผลกำไรจากผลิตผลสินค้าต่างๆที่กรรมกร ชาวไร่ ชาวนา ผู้ใช้แรงงานเป็นผู้ผลิต
สำหรับกรรมกรผู้ใช้แรงงานทั้งหลายที่เป็นผู้ผลิตให้แก่พวกนายทุนต่างๆเหล่านั้น ฝ่ายกรรมกรเองจะได้รับเพียงแต่ค่าจ้างในการขายแรงงานที่พอประทังชีวิตไปวันๆเท่านั้น ในระบอบทุนนิยมนายทุนจะจ้างค่าแรงงานต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อจะเอาผลกำไรจากมูลค่าส่วนเกินจากแรงงานของกรรมกรให้มากที่สุด ดังนั้นผลกำไรที่นายทุนทั้งหลายแบ่งปันกันแต่ละปี คือผลกำไรที่สะสมมาจากมูลค่าแรงงานของกรรมกรที่ผลิตเป็นส่วนเกินให้แก่พวกนายทุนแต่ละปี เพราะลำพังเงินเดือนหรือรายได้ของกรรมกรแต่ละเดือนทีได้รับมาจะใช้เวลาผลิตเพียงหนึ่งหรือสองอาทิตย์ก็จะคุ้มและเหลือเฟือ ส่วนที่เหลือจึงเป็นการผลิตให้แก่นายทุน ดังนั้นความร่ำรวยต่างๆของนายทุนผูกขาดเหล่านั้นคือความร่ำรวยที่สะสมมาจากการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินของกรรมกร
ฉนั้นระบอบทุนนิยมจึงเป็นระบอบที่กดขี่ขูดรีดของพวกชนชั้นนายทุนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่บนแรงงานของชนส่วนมากของสังคม นายทุนไม่ได้ทำการผลิตให้แก่สังคม แต่จะคอยสูบกินเลือดจากแรงงานของสังคม ชนกลุ่มนี้จึงเป็นเสมือนกับพวกกาฝากของสังคม
ตามหลักทฤษฎีของวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ถือว่ารูปแบบการผลิตคือพื้นฐานชั้นล่างของสังคม ในเมืองไทยรูปแบบการผลิตเป็นรูปแบบทุนนิยมผูกขาด ฉนั้นพื้นฐานชั้นล่างของสังคมคือทุนนิยมผูกขาด เมื่อพื้นฐานชั้นล่างเป็นทุนนิยมผูกขาดโครงสร้างส่วนบนของสังคมก็ต้องสร้างขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับพื้นฐานชั้นล่างตามหลักปรัชญาที่ว่า “ รูปแบบจะต้องให้เหมาะสมกับเนื้อหา “
โครงสร้างส่วนบนของสังคมได้แก่ รัฐ กฏหมาย ศาสนา ทหาร ตำรวจ การ เมือง อุดมการณ์ ศิลปและวัฒนธรรม เป็นต้น ย่อมสร้างขึ้นให้เหมาะสมกับเนื้อหาที่เป็นพื้นฐานชั้นล่างของสังคมเพื่อปกป้องพื้นฐานชั้นล่างที่เป็นระบบเศรษฐกิจของพวกนายทุน ดังนั้นรัฐบาลชุดต่างๆที่ขึ้นมาบริหารประเทศที่เป็นตัวแทนของรัฐก็คือรัฐบาลของพวกนายทุนผูกขาด เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้แก่พวกนายทุน
อำนาจรัฐก็คือเครื่องมือของพวกนายทุนเพื่อใช้ในการกดขี่ ข่มเหงรังแกชนชั้นผู้ใช้แรงงาน และประชาชนทั่วไป ไม่ว่ารัฐบาลเหล่านั้นจะมาในรูปแบบของทหารหรือรูปแบบของพลเรือนก็คือรัฐบาลที่รักษาผลประโยชน์ให้แก่พวกนายทุน ในระบอบทุนนิยมทุกอย่างคือสินค้า พวกนายทุนจะขายได้ทุกอย่างตั้งแต่คุณธรรม อุดมการณ์ ไปจนกระทั่งถึงชาติและประชาชน การผลิตสินค้าในระบอบทุนนิยมก็เพื่อหากำไร เมื่อต้องการกำไรมากก็ต้องขูดรีดแรงงานมาก ยิ่งขุดรีดมากผู้ขายแรงงานก็เดือดร้อนมาก เมื่อประชาชนเดือดร้อนก็ต้องดิ้นรนหาทางลุกขึ้นต่อสู้เพราะ ที่ไหนมีการกดขี่ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้ เมื่อมีการกดขี่ขูดรีดมากขึ้นการต่อสู้ก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้นความขัดแย้งภายในสังคมก็จะรุนแรงมากขึ้น
ความขัดแย้งนี้จึงเป็นความขัดแย้งหลัก ของชนชั้นสองฝ่ายในสังคม คือความขัดแย้งระหว่างนายทุนผูกขาด กับชนชั้นผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นความขัดแย้งของสองสิ่งที่อยุ่ตรงข้ามกัน ตราบใดที่ระบอบทุนนิยมผูกขาดยังดำรงคงอยู่ ตราบนั้นความขัดแย้งนี้ก็จะดำเนินต่อไป
ผู้ที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้ได้ ไม่ใช่พวกรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของพวกนายทุนผูกขาด แต่เป็นภาระกิจและหน้าที่โดยตรงของชนชั้นผู้ใช้แรงงานทั้งหลายในสังคม เป็นหน้าที่และสิทธิอันชอบธรรมตามธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อใดที่พลังของผู้ใช้แรงงานและพลังของ ปัญญาชน นักศึกษา ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ที่มีหัวก้าวหน้า และผู้รักชาติรักประชาธิปไตยทั้งหลายซึ่งเป็นพลังส่วนใหญ่ของสังคมรวมกันได้ ก็จะกลายเป็นพลังทางวัตถุที่แข็งแกร่ง เมื่อนั้นก็จะสามารถโค่นล้มระบอบเผด็จการเก่าทุนนิยมผูกขาดที่หล้าหลังลงได้ แล้วมวลชนที่เป็นพลังส่วนใหญ่ของสังคมก็จะสามารถมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ มีสิทธิเสรีภาพ มีความเสมอภาค ความยุติธรรมในสังคมก็จะเกิดขึ้น ประชาชนจะสามารถเลือกรัฐบาลของตนเองขึ้นมาปกครองประเทศ ตามระบอบประชาธิปไตย สังคมใหม่ที่สูงกว่าก็จะเกิดขึ้นคือสังคมระบอบประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ของปวงชน.
หมายเหตุ :- บทความนี้ผู้เขียนได้เขียนขึ้นเมื่อประมาณ ๓๐ ปีมาแล้ว ซึ่งผู้เขียนคิดว่าบทความนี้ก็ยังเหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้ท่านผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลายได้อ่านเพื่อศึกษาและเปรียบเทียบในการต่อสู้จากอดีดจนถึงปัจจุบัน.
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar