Thai Democratic Movement in Scandinavia - ขบวนการประชาธิปไตยไทยในสแกนดิเนเวีย
måndag 24 augusti 2015
กัมปนาท ระเบิด ศาลท้าวมหาพรหม สาทร เป้าหมาย รัฐบาล
matichononline
คลิกอ่าน-
กัมปนาท ระเบิด ศาลท้าวมหาพรหม สาทร เป้าหมาย รัฐบาล
กัมปนาทแห่งระเบิด ณ ศาลท้าวมหาพรหม แยกราชประสงค์ เมื่อตอนค่ำวันที่ 17 สิงหาคม อาจมีบางอย่างเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นใน กทม. เมื่อปี 2555
อาจมีบางอย่างทำให้เกิดนัยประหวัดไปยังเมื่อปลายปี 2549
แต่ขอให้ศึกษา "บทเรียน" จากกัมปนาทแห่งระเบิด ณ ห้างสรรพสินค้า บนเกาะสมุย สุราษฎร์ธานี เมื่อเดือนเมษายน แม้จะมีรากที่มาแตกต่างกัน แต่จุดร่วมเป็นอย่างมากก็คือระเบิด
ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดคือ "ท่าที" และ "กระบวนการ" หลังกัมปนาทแห่งระเบิด
จุดสำคัญเป็นอย่างมากหากมองจากเจ้าหน้าที่ตำรวจก็คือ ต้องกุม "อุบัติการณ์" นั้นว่าดำเนินไปอย่างไร มีสาเหตุ มีมูลเชื้อและองค์ประกอบมาอย่างไร
หากเกิดภาวะ "ไขว้เขว" ผลก็คือ "สับสน" กระจัดกระจาย
กล่าวในแง่พนักงานสอบสวนสืบสวน พยานหลักฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงประจักษ์มีความสำคัญสูงสุด
เมื่อแจ่มชัดใน "ข้อมูล" เมื่อแจ่มชัดใน "หลักฐาน"
เมื่อสามารถประมวลข้อมูลหลักฐานเข้าสู่การวิเคราะห์ได้อย่างเป็นระบบ ก็จะสามารถหาบทสรุปอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ได้
เป็นบทสรุปอัน "น่าเชื่อถือ" ดำเนินการฟ้องร้องได้ "ตามกฎหมาย"
บทเรียน เกาะสมุย
การเมือง ครอบงำ
เหตุลอบวางระเบิดบนเกาะสมุย สุราษฎร์ธานี เกิดขึ้นในสถานการณ์ 2 สถานการณ์ กล่าวคือ 1 เกิดบนเกาะสมุย 1 เกิดที่สำนักงานสหกรณ์โคออป พุนพิน
เป้าหลักคือเกาะสมุย พุนพินเสมอเป็นเพียงเป้าเบี่ยงเบน
อาจเป็นเพราะที่พุนพินเป็นสหกรณ์โคออปซึ่งเกี่ยวพันกับนักการเมืองมากด้วยอิทธิพลแห่งสุราษฎร์ธานีและภาคใต้ จึงมีการเบียดแทรกเข้ามาของฝ่ายการเมือง
เป็นฝ่ายการเมืองอันสัมพันธ์กับกระบวนการรัฐประหาร
แทนที่เหตุวางระเบิดจะสัมพันธ์กับมือระเบิด ก็มีการโยงไปยังนักการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้และอดีตนายกรัฐมนตรีบางท่าน
กลายเป็นการก่อเหตุเพื่อทำลายกันในทางการเมือง
แต่เมื่อเจ้าพนักงานสอบสวนสืบสวนดำเนินการในทางเป็นจริง เป้าหมายที่จับกุม เป้าหมายที่มีการออกหมายจับ กลับเป็นบุคคลในแวดวงการก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าปัตตานี นราธิวาส ยะลา
ไม่มีอะไรเกี่ยวกับ "นักการเมือง" อันเป็นปรปักษ์แต่อย่างใด
ในที่สุด เรื่องก็ถูกกลืนหายไปในภูเขาเลากาแห่งคดีจำนวนมาก โดยที่ความเป็นจริงอันถูกทำให้ลบเลือนอย่างเจตนา คือ ความเป็นจริงที่การก่อความไม่สงบจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แพร่ลามมายังภาคใต้ตอนบน
โดยอาศัย "เกาะสมุย" เป็น "กรณีศึกษา"
ระเบิด แสวงเครื่อง
ศาลท้าวมหาพรหม
พลันที่กัมปนาทของระเบิดกึกก้องขึ้น ณ ศาลท้าวมหาพรหม แยกราชประสงค์ ยังไม่ทันที่บทสรุปจากกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด (อีโอดี) จะรายงานขึ้นไปยังผู้บังคับบัญชา
ก็ปรากฏ "ความเห็น" อย่างเอาการเอางาน "แสดงออก" ต่อสาธารณะ
1 เป็นอดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ 1 เป็นโฆษกประจำกระทรวงกลาโหม แถลงเป็นตุเป็นตะตรงกัน
ว่า เป็นเรื่องการเมืองภายในประเทศ
ว่ามาจาก "นักการเมือง" ซึ่งเป็นคู่ความขัดแย้งเดิมที่เคยลั่นวาจาแสดงความอาฆาตมาดร้ายว่าจะไม่ยอมให้รัฐบาลมีความสงบสุขได้อย่างเด็ดขาด
ท่าทีของบุคคลกลุ่มนี้เป็นเช่นเดียวกับที่เคยแสดงออกในกรณีระเบิดบนเกาะสมุย
เป็นท่าทีอันแตกต่างไปจากของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นท่าทีอันแตกต่างไปจาก พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และ ผบ.ทบ.
เพราะ 2 นาย พล.อ. นี้ มากด้วยความระมัดระวัง
ยิ่ง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ยิ่ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบ.ตร. ซึ่งได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบคดีนี้โดยตรง
ยิ่งมากด้วยความสุขุม ยิ่งมากด้วยความรอบคอบ
นั่นก็คือ คำนึงถึงรูปคดีเป็นสำคัญ นั่นก็คือ คำนึงถึงพยานหลักฐาน รวมถึงประจักษ์พยานเป็นสำคัญ อาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นแนวทางในการวินิจฉัยและสรุปรูปคดี
ไม่ตัดในเรื่อง "การเมือง" ไม่ตัดในเรื่อง "ก่อการร้าย"
ไม่เอาการเลือกข้าง เลือกฝ่ายในทางการเมืองมาเป็น "บรรทัดฐาน" หรือเป็น "แนวทาง" ในการสรุปและตัดสินใจ
นี่ย่อมตรงกันข้ามกับ 2 โฆษกยศ "พล.ต." และยศ "พ.อ." อย่างสิ้นเชิง
เป้าหมาย ระเบิด
การเมือง ก่อการร้าย
ไม่ว่าจุดประสงค์ในการวางระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหมในตอนค่ำวันที่ 17 สิงหาคม ไม่ว่าจุดประสงค์ในการโยนระเบิดที่บริเวณสะพานตากสิน สาทร จะเป็นเช่นใด
เป็น "การเมือง" หรือว่าเป็น "การก่อการร้าย"
แต่ที่แน่นอนอย่างที่สุดก็คือ 1 ระเบิดทั้ง 2 สถานที่นั้นมากด้วยความร้ายแรง ต้องการทั้งทำลายสถานที่ ต้องการทั้งทำลายชีวิต
เฉพาะที่ศาลท้าวมหาพรหมก็เสียชีวิตแล้ว 20 คน
และที่แน่นอนอย่างที่สุดก็คือ 1 ต้องการให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย ส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงทั้งในด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ
และที่แน่นอนอย่างที่สุดก็คือ 1 รัฐบาลต้องตกเป็นเป้าอย่างเต็มๆ
ความเสียหายทั้งหมดล้วนรวมศูนย์ไปยังอำนาจที่มีอยู่ในมือของรัฐบาล ก่อให้เกิดความสงสัยว่าสามารถในการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด
ตรงนี้จึงเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของรัฐบาล
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar
Senaste inlägg
Äldre inlägg
Startsida
Prenumerera på:
Kommentarer till inlägget (Atom)
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar