torsdag 27 augusti 2015

ทีมเศรษฐกิจแพะการเมือง "ขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว"

มติชนออนไลน์
ทีมเศรษฐกิจแพะการเมือง
โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ระยะหลังๆ นี้ สื่อมวลชนมักจะนิยมเรียกกลุ่มรัฐมนตรีที่เป็นเจ้ากระทรวงที่ดูแลทางเศรษฐกิจ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอาจจะรวมถึงกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่าเป็นรัฐมนตรี "ทีมเศรษฐกิจ" และมักจะมีรองนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งที่ดูแลกลั่นกรองหรือสั่งราชการกระทรวงต่างๆ เหล่านี้ว่าเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ

ความจริงแล้วกระทรวงอื่นๆ นอกจากกระทรวงเหล่านี้ก็ทำงานที่มีส่วนกับเรื่องเศรษฐกิจทั้งนั้นไม่มากก็น้อย เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน เป็นต้น ขณะเดียวกันกระทรวงเศรษฐกิจต่างๆ ก็มีส่วนเกี่ยวพันกับสังคมและความมั่นคงของประเทศด้วยกันทั้งนั้น

ด้วยเหตุนี้ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนไหนจะมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจมีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจเองได้ทั้งหมดเรื่องทางเศรษฐกิจก็ดี เรื่องทางสังคมก็ดี เรื่องความมั่นคงก็ดี เป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวพันกัน เมื่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี ข้อเสนอของกระทรวงการคลังที่จะขอขึ้นภาษี

ยกตัวอย่างเช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งภาระภาษีจะถูกผลักไปที่ผู้บริโภค ราคาสินค้าจะแพงขึ้น หรือกระทรวงเกษตรฯเสนอให้มีการประกันราคาข้าวหรือยางพารา ซึ่งจะเป็นภาระต่อฐานะการคลังของประเทศ หรือกระทรวงพาณิชย์ อาจจะไม่เห็นด้วยในการขอขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือกระทรวงการคลังอาจจะไม่เห็นด้วยกับการประกันราคาพืชผลที่สูงเกินความจริงก็ได้ เจ้ากระทรวงที่ไม่เห็นด้วยก็อาจคัดค้าน ติติงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีหรือแม้แต่คณะรัฐมนตรีค้านด้วยกันหมด นายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วย เรื่องก็ไม่อาจจะผ่านเป็นมติไปได้

แม้ว่าเสียงของนายกรัฐมนตรีเป็นเพียงหนึ่งในบรรดาเสียงที่เท่ากัน แต่เสียงของนายกรัฐมนตรีก็เป็นเสียงที่สำคัญที่สุด เพราะเสียงของนายกรัฐมนตรีเป็นเสียงรัฐมนตรีที่สำคัญที่สุดในบรรดารัฐมนตรีอื่นๆ ตามหลัก "first among the equals" ของระบอบการปกครองระบอบรัฐสภาแม้จะเป็นสภาแต่งตั้งก็ตาม

ดังนั้น นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้งคณะต้องรับผิดชอบร่วมกันในทุกเรื่อง เมื่อเศรษฐกิจของเรามีปัญหา ซึ่งความจริงปัญหามาจากปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปัญหาการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมตกต่ำ สินค้าอุตสาหกรรมขายไม่ออก อุตสาหกรรมต่างลดปริมาณการผลิตลง และต่อไปข้างหน้าอาจจะลุกลามไปเป็นปัญหากิจการขนาดกลางและขนาดย่อยล้ม ปัญหาลูกหนี้ของสถาบันการเงินก็ได้

ปัญหาเหล่านี้จะให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเพียงกลุ่มเดียวรับผิดชอบก็เห็นจะไม่ถูกต้องการที่สื่อมวลชนก็ดี ประชาชนก็ดี กล่าวโจมตี "ทีมเศรษฐกิจ" ของรัฐบาลแต่ฝ่ายเดียวก็เห็นจะไม่ยุติธรรม เป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องรับผิดชอบร่วมกัน อย่างเดียวกับที่รัฐบาลกรีซต้องรับผิดชอบต่อประชาชนผู้เลือกตั้งเข้ามา ด้วยการลาออกให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีประเทศกรีซกระทำเมื่อเร็วๆ นี้

การปรับปรุงคณะรัฐมนตรีเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีและเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีสามารถทำได้เสมอ มีเหตุผลก็ได้ ไม่มีเหตุผลก็ได้ เป็นสิทธิของนายกรัฐมนตรี

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไม่มีความจำเป็นต้องอ้างว่าเป็นความรับผิดชอบของทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ แม้จะมีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เพราะกระทรวงพาณิชย์ก็ดี กระทรวงคมนาคมก็ดี เจ้ากระทรวงก็ไม่ได้อยู่ในทีมเศรษฐกิจ ทั้งๆ ที่เป็นกระทรวงสำคัญที่จะดูแลราคาสินค้าพืชผลทางการเกษตร การจัดการกับสต๊อกข้าวที่ค้างมาจากโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลที่แล้ว ในกรณีของกระทรวงคมนาคมนั้น โครงการก่อสร้างใหญ่ๆ ก็ต้องผูกพันการเงินการคลังของประเทศในระยะยาว

ในกรณีที่การทำงานของทีมเศรษฐกิจได้ผลดี ได้รับการชมเชยยกย่อง ก็เป็นความดีความสำเร็จของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ หาใช่เป็นความดีหรือผลงานของทีมเศรษฐกิจเท่านั้นไม่ การปรับปรุงคณะรัฐมนตรีโดยการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีหรือสับเปลี่ยนตำแหน่งรัฐมนตรีจึงเป็นเรื่องปกติ เป็นสิทธิขาดของนายกรัฐมนตรีในกรณีรัฐบาลปัจจุบัน ไม่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาและประชาชนด้วย

ความจริงรัฐมนตรีเศรษฐกิจหลายท่านในรัฐบาลชุดนี้ เป็นต้นว่ารองนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี คุณสมหมาย ภาษี คุณจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช  ดร.ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา และอีกหลายท่าน ก็เป็นผู้ที่รู้จักมักคุ้นกันมาเป็นเวลาช้านาน หลายท่านก็เคยทำงานร่วมกันมา ทุกท่านเคยดำรงตำแหน่งในหน้าที่ความรับผิดชอบระดับสูงของชาติและประสบความสำเร็จมาทั้งนั้น จึงถือได้ว่าเป็น "ทีมเศรษฐกิจ" ที่ดีที่สุดของประเทศทีมหนึ่ง ส่วนความเห็นบางครั้งอาจจะตรงกัน บางครั้งอาจจะไม่ตรงกัน ก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่เคยเดือดเนื้อร้อนใจอะไรเลย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งรองนายกรัฐมนตรี "หม่อมอุ๋ย" ท่านเป็นบัณฑิตเกียรตินิยมดีมากจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศิษย์เก่าโรงเรียนเซนต์คาเบรียล เป็นมหาบัณฑิตทางบริหารธุรกิจจากวอร์ตัน มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย มีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษ จึงติดต่อพูดคุยกันอยู่ตลอดเวลา


การทำงานของ "ทีมเศรษฐกิจ" ของรัฐบาลชุดนี้มีข้อจำกัดอยู่มากมายหลายด้านอย่างที่ว่าไว้ เป็นของธรรมดาที่ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนไหนมอบอำนาจความรับผิดชอบให้รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดทั้งหมดขณะเดียวกันกับการเกิดกระแสต่อต้านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดที่แล้ว เหมาเอาว่าเป็น "นโยบายประชานิยม" ไปหมดจนกลายเป็นข้อจำกัดไป

มีทั้งการแก้กฎหมาย ทั้งคำพิพากษาของศาลว่า การตั้งงบประมาณพิเศษเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่อเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่นด้วยการออกมาตรการคิวอีนั้น รัฐบาลนี้และรัฐบาลในอนาคตจะทำไม่ได้

 
การใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนอกงบประมาณ เช่น โครงการไทยเข้มแข็งก็จะถูกห้าม จะทำอีกไม่ได้ด้วยรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่
 
การเขียนรัฐธรรมนูญห้ามไว้เช่นนี้ก็ไม่น่าจะเป็นหลักการที่ถูกต้อง รัฐบาลควรมีสิทธิที่จะทำเป็นนโยบายตามที่ตนเห็นว่าถูกต้องและต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา รับผิดชอบต่อประชาชน ถ้าเกิดความผิดพลาด
 
มิฉะนั้น เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณอย่างมากก็คงจะทำไม่ได้ ทั้งๆ ที่รัฐบาลอาจจะกู้จากประชาชนเป็นเงินบาทโดยที่ยอดหนี้สาธารณะก็ยังต่ำกว่าเพดานที่เป็นเป้าหมายอีกมาก
 
เมื่อรัฐบาลมีข้อจำกัดโดยคำวินิจฉัยของฝ่ายตุลาการ ซึ่งไม่ควรจะมาก้าวก่ายอำนาจของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐบาลหรือ "ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลก็ไม่ควรต้องรับผิดชอบ" ความรับผิดชอบก็ควรไปอยู่ที่ศาลที่มีคำพิพากษาเช่นนั้น
  
หลักการแบ่งอำนาจ separation of power และคานอำนาจ check and balance ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ ทุกวันนี้จึงสับสนปนเปวุ่นวาย ไม่มีความชัดเจนไปหมด ต้องขอชมเชยนายกรัฐมนตรีที่ออกมากล่าวถึงความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจว่า

"ขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว"





Inga kommentarer:

Skicka en kommentar