torsdag 25 mars 2021

อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งฟ้อง คดี ม. 112 ชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี

บีบีซีไทย - BBC Thai

ม.112: อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งฟ้อง มายด์-ครูใหญ่-เบนจา และพวกรวม 13 คน คดี ม. 112 ชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี

tnp

ที่มาของภาพ, Thai news pix

พนักงานอัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งฟ้องคดีอาญามาตรา 112 และยุยงปลุกปั่นฯ ตามมาตรา 116 น.ส. ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ กับพวกรวม 13 คน จากคดีชุมนุมและอ่านแถลงการณ์หน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย เมื่อ 26 ต.ค. 2563

วันนี้ (25 มี.ค.) พนักงานอัยการนัดนักกิจกรรมการเมืองที่เรียกตัวเองว่า "ราษฎร" ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาจำนวน 13 คน จากการร่วมชุมนุมและอ่านแถลงการณ์หน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ถ.สาทร เมื่อปีก่อน มาฟังคำสั่งในคดี ซึ่งถือเป็นผู้ต้องหาชุดที่ 3 ที่อัยการนัดฟังคำสั่งฟ้องในคดีที่ถูกแจ้งข้อหาหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และยุยงปลุกปั่นฯ ตามมาตรา 116

พนักงานอัยการได้นัดให้ผู้ต้องหาทั้งหมด นัดฟังคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 13 พ.ค. นี้ เวลา 10.00 น.

ในการนัดรับทราบการเลื่อนฟังคำสั่งฟ้องของอัยการ น.ส. ภัสราวลี ระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ของสถานทูตหลายประเทศ ไม่ใช่เพียงสถานทูตเยอรมนี เข้าสังเกตการณ์ เนื่องจากเป็นประเด็นสิทธิมนุษยชน เธอยืนยันอีกว่าไม่กังวลว่าจะถูกดำเนินคดีเพิ่ม หลังจากร่วมปราศรัยในการชุมนุมที่ราชประสงค์ วานนี้ (24 มี.ค.)

"เราเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำ และเชื่อมั่นสิ่งที่เราพูด ซึ่งเราพูดตามสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย"

tnp

ที่มาของภาพ, Thai news pix

คำบรรยายภาพ,

ผู้ต้องหาในคดีหมิ่นสถาบันฯ ชุดที่ 3 ยืนยันจะเคลื่อนไหวต่อ หลังอัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งฟ้อง

ก่อนการเข้าพบอัยการ น.ส. ภัสราวลียืนยันว่า กำลังใจดีมาก ๆ ยังเข้มแข็ง ยังสู้เหมือนเดิม และได้พลังของประชาชนมาส่งต่อให้เธอ พร้อมย้ำว่าหากไมได้รับการประกันตัวก็แค่ "เปลี่ยนที่สู้ แต่ทุกคนยังคงสู้เหมือนเดิม"

ด้านนายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ หนึ่งในแกนนำ "ราษฎร" ระบุว่า นี่อาจเรียกว่า "เป็นสัญญาณที่ดีได้" และถือเป็นโอกาสที่แกนนำทั้งหมดจะได้เคลื่อนไหวต่อ ทั้งนี้คาดว่าพนักงานอัยการอาจจะยังทำสำนวนไม่เสร็จหรือมีปรากฏการณ์บางอย่าง พร้อมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรมทำหน้าที่ด้วยความเป็นธรรม

"เรายืนยันให้เจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจในระบบตุลาการธำรงรักษาไว้ซึ่งความเที่ยงธรรมในประเทศนี้" นายอรรถพล กล่าว และเรียกร้องต่อมวลชนด้วยว่า ต้องไม่ลืมว่ามีแกนนำหลายคนยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัวในคดี ม.112

tnp

ที่มาของภาพ, Thai news pix

ขณะที่ น.ส. เบนจา อะปัญ หนึ่งในสมาชิก "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ซึ่งถูกตั้งข้อหาในคดีนี้เช่นกัน ระบุว่า แนวร่วมฯ จะออกมาเคลื่อนไหวเพื่อทวงถามความยุติธรรม ไม่ใช่แค่กับกลุ่มที่ถูกดำเนินคดีหน้าสถานทูต แต่ยังรวมถึงแกนนำ "ราษฎร" ที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้

สำหรับผู้ต้องหาในคดีชุมนุมและอ่านแถลงการณ์หน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ไม่ได้มีเฉพาะแกนนำการเคลื่อนไหวชุมนุมในปี 2563 หากแต่ผู้อ่านแถลงการณ์ภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมันบางคน บอกกับบีบีซีไทยว่า เป็นเพียงหนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมที่เข้าไปอาสาอ่านแถลงการณ์บางส่วน

การชุมนุมในวันดังกล่าว กลุ่ม "ราษฎร" ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อรัฐบาลเยอรมนีเพื่อขอความชัดเจนเกี่ยวกับการประทับและการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

วานนี้ (24 มี.ค.) กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ซึ่งเป็นแกนนำทางความคิดของ "ราษฎร" ได้นัดชุมนุมใหญ่ที่แยกราชประสงค์ เพื่อ "สั่งลา" และ "ส่งต่ออารมณ์ให้มวลชน" โดยมี 3 ผู้ต้องหาขึ้นปราศรัยด้วย ได้แก่ น.ส. ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, นายอรรถพล บัวพัฒน์ และ น.ส. เบนจา อะปัญ

สำหรับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ มีนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มธ. และ น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง นักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เป็นแกนนำ ซึ่งทั้งคู่อยู่ระหว่างถูกคุมขังภายในเรือนจำ หลังถูกสั่งฟ้องคดีชุมนุม "19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร" ที่ มธ. และสนามหลวงเมื่อ 19-20 ก.ย. 2563 และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว

การเข้าพบพนักงานอัยการตามนัดหมายของแกนนำราษฎร ซึ่งถือเป็น "ผู้ต้องหาชุดที่ 3" ในครั้งนี้ มีครอบครัวของแกนนำราษฎรรายอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างถูกคุมขังภายในเรือนจำ หลังถูกสั่งฟ้องคดีชุมนุม 19-20 ก.ย. 2563 และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว เดินทางมารอให้กำลังใจด้วย อาทิ นายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา หรือ "ทนายอู๊ด" บิดาของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, นางสุรีย์ ชิวารักษ์ มารดาของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน

การชุมนุมที่แยกราชประสงค์เมื่อ 24 มี.ค. มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดนับจากปี 2564

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar