ขบวนเสด็จฯ: ศาลให้ประกันตัว 5 จำเลยคดีประทุษร้ายองค์ราชินี ม.110 หลังอัยการสั่งฟ้อง

3 ผู้ต้องหาคดี ม.110 จากซ้ายไปขวา นายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง นายเอกชัย หงส์กังวาน และนายสุรนาถ แป้นประเสริฐ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

3 ผู้ต้องหาคดี ม.110 จากซ้ายไปขวา นายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง นายเอกชัย หงส์กังวาน และนายสุรนาถ แป้นประเสริฐ

เกือบ 6 เดือนหลังเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมกลุ่ม "คณะราษฎร 2563" บางคนชูสามนิ้วและส่งเสียงโห่ร้องใส่ขบวนเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีที่เคลื่อนผ่านกลุ่มชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ในที่สุดอัยการได้นำตัวผู้ต้องหา 5 รายส่งฟ้องต่อศาลแล้วในวันนี้ (31 มี.ค.)

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาบางรายในคดีนี้รายงานว่าเมื่อเวลา 10.48 น. อัยการมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 5 คน พร้อมคัดค้านการประกันตัว ได้แก่ นายเอกชัย หงส์กังวาน อายุ 45 ปี นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและนักเขียนอิสระ นายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง อายุ 21 ปี นักศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหิดล และนายสุรนาถ แป้นประเสริฐ อายุ 35 ปี ส่วนผู้ต้องหาอีก 2 รายไม่ขอเปิดเผยชื่อ

"ถือได้ว่าเป็นคดี ม.110 คดีแรกในประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย โดยโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต หากศาลไม่อนุญาตให้ประกัน ทั้ง 5 จะต้องถูกจองจำจนกว่ากระบวนพิจารณาจะสิ้นสุด" ศูนย์ทนายฯ ระบุในทวิตเตอร์

ผู้ต้องหาได้วางหลักทรัพย์เพื่อขอประกันตัวในชั้นศาล และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้ง 5 คน โดยสุรนาถและเอกชัยวางเงินสดเป็นหลักประกาคนคนละ 300,000 บาท ส่วนบุญเกื้อหนุนและจำเลยอีก 2 คน วางเงินคนละ 200,000 บาท

สำหรับคดีนี้ ตำรวจออกหมายจับผู้ต้องหา 3 คน ไม่กี่วันหลังเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ในข้อหาประทุษร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินีหรือรัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 หมวด "ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท" ทั้งหมดได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน ต่อมาตำรวจได้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมอีก 2 ราย

วันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา ผู้ต้องหาทั้ง 5 เดินทางไปพบอัยการตามนัดฟังคำสั่งคดี แต่ปรากฏว่าอัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งมาเป็นวันนี้ (31 มี.ค.)

ผู้ที่มาให้กำลังใจสวมกอดนายบุญเกื้อหนุน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

ผู้ที่มาให้กำลังใจสวมกอดนายบุญเกื้อหนุน

นายเอกชัยและนายบุญเกื้อหนุนเคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยก่อนหน้านี้ว่าพวกเขาไม่รู้ว่าจะมีขบวนเสด็จฯ ผ่านมาในจุดที่ผู้ชุมนุมรวมตัวกันอยู่

เขายืนยันว่าตลอดช่วงเวลาที่ยืนอยู่ตรงนั้น เจ้าหน้าที่ไม่ได้ประกาศให้ประชาชนทราบเลยว่าจะมีขบวนเสด็จผ่านเส้นทางนี้

"ผมไม่รู้เลยว่าจะมีขบวนเสด็จฯ ระหว่างที่ดันกับตำรวจก็มองไปเห็นขบวนเสด็จฯ มา ก็เลยถามตำรวจว่าขบวนเสด็จเหรอ ทำไมไม่บอก" นายเอกชัยกล่าว

เขาบอกว่านาทีที่ขบวนเสด็จฯ เคลื่อนผ่านนั้นเขาเห็นผู้ชุมนุมบางคนชูสัญลักษณ์สามนิ้ว ส่วนเสียงตะโกนต่าง ๆ นั้น เอกชัยบอกว่าไม่แน่ใจว่าเสียงดังกล่าวดังมาจากทางไหน

ด้านนายบุญเกื้อหนุนหรือที่รู้จักในกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมืองว่าในชื่อเล่นว่า "ฟรานซิส" บอกว่า สิ่งที่เขาทำในวันนั้นเป็นเพียงแค่การเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอันเป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ เขาไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มเพื่อนเพื่อไปขายของที่ระลึกในที่ชุมนุม

"ทันใดนั้นผมก็เห็นว่ามีขบวนเสด็จฯ มา ผมก็...อ้าว...ก็หลบสิครับ รีบขอทางคนข้าง ๆ ว่าขอผมออกไปหน่อย ระหว่างพยายามจะออกมาก็ใช้โทรโข่งที่ถือมาเพื่อประกาศขายของบอกผู้ชุมนุมให้ถอยออกมาเพื่อเปิดทางให้ขบวน หลังจากนั้นตำรวจก็ตั้งแถวกันประชาชนไม่ให้เข้าใกล้ ขบวนเสด็จฯ ก็เคลื่อนผ่านไปช้า ๆ" เขาเล่าเหตุการณ์

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 เขียนไว้ว่าอย่างไร

"ผู้ใดกระทําการประทุษร้ายต่อพระองค์หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจําคุกตลอดชีวิต หรือจําคุกตั้งแต่สิบหกปีถึงยี่สิบปี

"ผู้ใดพยายามกระทําการเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

"ถ้าการกระทํานั้นมีลักษณะอันน่าจะเป็นอันตรายแก่พระชนม์หรือชีวิต ผู้กระทําต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจําคุกตลอดชีวิต

"ผู้ใดกระทําการใดอันเป็นการตระเตรียมเพื่อประทุษร้ายต่อพระองค์หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์หรือรู้ว่ามีผู้จะประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือประทุษร้ายต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ กระทําการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สิบสองปีถึงยี่สิบปี"

ะขบวนเสด็จฯ เคลื่อนผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม "คณะราษฎร 2563"

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ,

ภาพเหตุการณ์วันที่ 14 ต.ค. 2563 ขณะขบวนเสด็จฯ เคลื่อนผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม "คณะราษฎร 2563"

เกิดอะไรขึ้นเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563

วันที่ 14 ต.ค. 2563 เป็นวันแรกของการชุมนุมของกลุ่ม "คณะราษฎร 2563" ซึ่งได้เคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมายังทำเนียบรัฐบาลในช่วงเย็น ขณะที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ถูกตำรวจสกัดไว้ที่แยกนางเลิ้ง ผู้ชุมนุมบางส่วนได้เดินทางล่วงหน้ามารวมตัวกันอยู่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล

ก่อน 18.00 น. เล็กน้อยมีขบวนรถยนต์พระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีและสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกร รัศมีโชติฯ ผ่านเส้นทางดังกล่าว ขณะที่เคลื่อนที่ผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุมบางคนได้ชูสัญลักษณ์ 3 นิ้วและโห่ร้อง

ข่าวพระราชสำนักค่ำวันนั้นรายงานว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร โดยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ เสด็จในการนี้ด้วย

เช้าวันรุ่งขึ้น (15 ต.ค. 2563) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ลงนามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพฯ โดยเนื้อหาตอนหนึ่งของประกาศระบุว่า ผู้ชุมนุม "...มีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล อันมิใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรอง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย"

คำบรรยายวิดีโอ,

ขบวนรถยนต์พระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีเคลื่อนที่ผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม "คณะราษฎร"

วันที่ 5 พ.ย. 2563 พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยว่าตำรวจปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการในการจัดการจราจรและรับขบวนเสด็จฯ เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563

"ข้อเท็จจริงประการแรกคือได้มีการกำหนดเส้นทางเสด็จไว้ล่วงหน้าก่อนวันที่ 14 ต.ค. นานแล้ว และประการที่สอง ก่อนที่ขบวนเสด็จฯ จะผ่าน ได้มีเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเส้นทางเสด็จทำการประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรับทราบตามระเบียบปฏิบัติ เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลขบวนเสด็จปฏิบัติเป็นประจำจนอยู่ในสายเลือด เราไม่พลาดอยู่แล้ว"