บีบีซีไทย - BBC Thai
ชุมนุม 24 มี.ค.: มายด์ ภัสราวลี ขึ้นเวทีปราศรัยราชประสงค์ กราบบังคมทูลขอ 3 เรื่อง
น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ "มายด์" โผล่เวทีราชประสงค์ ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ปราศรัยถึงประชาชน "เป็นการพูดครั้งสุดท้าย" ไม่มั่นใจว่าศาลจะให้ประกันตัวในวันพรุ่งนี้ (25 มี.ค.)
ในเนื้อหาของการปราศรัย น.ส.ภัสราวลี ได้กราบบังคมทูลถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ขอพระราชทาน 3 เรื่อง คือ การบริหารจัดการกองทัพ บทบาททางการเมือง และ ทรัพย์สินของประชาชน
การชุมนุมมีขึ้นเพื่อสานต่ออุดมการณ์ทางการเมืองของแกนนำกลุ่ม "ราษฎร" หลายคน ที่ถูกคุมขังระหว่างการสอบสวน และการพิจารณาคดีของศาลในหลายคดีจากการชุมนุม ท่ามกลางกำลังเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน 18 กองร้อย ในขณะที่ตำรวจระบุการชุมนุมในเขตกรุงเทพมหานครยังผิดกฎหมาย เตือนผู้ร่วมชุมนุมอาจถูกดำเนินคดี
เมื่อเวลาประมาณ 20.25 น. น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า การขึ้นเวทีปราศรัยถือเป็นการส่งสารถึงประชาชนโดยตรง "เป็นการพูดครั้งสุดท้าย" เพราะเธอไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรม และศาลอาจจะไม่อนุญาตให้ประกันตัวเธอ หากอัยการนำตัวเธอส่งฟ้องศาลในวันที่ 25 มี.ค.
"ในฐานะเราประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ การพูดถึงสถาบันกษัตริย์นั้น เราควรจะต้องพูดถึงได้ทั้งในแง่ของการสรรเสริญและในแง่ของการวิพากษ์วิจารณ์ นี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไทยตามระบอบประชาธิปไตยที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ"
น.ส.ภัสราวลี กล่าวฝากถึงฝ่ายอนุรักษนิยมว่า ความรักความชื่นชมในสถาบันพระมหากษัตริย์ที่สั่งสมมาจากรัชกาลก่อน อาจจะหมดลง หากมีการขยายพระราชอำนาจออกไปจนเกินขอบเขต และออกห่างจากระบอบประชาธิปไตย
นอกจากนี้ เธอได้อ่านคำกราบบังคมทูลถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใน 3 เรื่อง คือ การบริหารจัดการกองทัพ บทบาททางการเมือง และ ทรัพย์สินของประชาชน
"...หนึ่งประเทศมีได้แค่กองทัพเดียว" น.ส.ภัสราวลี กล่าวถึงเรื่องแรก
ข้อที่สองที่เธอกล่าวถึง คือ ความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันชั้นสูง และข้อสาม คือ ประเด็นโต้แย้งเรื่องกฏหมายโอนทรัพย์สินอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินไปเป็นของส่วนพระองค์ ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในหมู่ประชาชนและผู้มีอำนาจ
การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมครั้งนี้เกิดขึ้นห่างจากการชุมนุมเมื่อ 20 ก.พ. ที่ด้านหน้าอาคารรัฐสภา
นอกจาก น.ส.ภัสราวลี จากกลุ่ม ROOT ยังมีผู้ปราศรัยหลักอีก 2 คนคือ นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือ "ครูใหญ่"จากพรรคก้าวล่วง(กลุ่มราษฎรโขง ชี มูล) และ น.ส.เบนจา อะปัญ จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ทั้ง 3 คนคือส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เนื่องจากการไปชุมนุมและอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนีจำนวน 13 คน
อัยการนัดหมายนำตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คน ฟังคำสั่งว่าจะส่งฟ้องต่อศาลหรือไม่ในวันที่ 25 มี.ค. ซึ่งหากอัยการไม่เลื่อนกำหนด หรือมีคำสั่งฟ้อง ทั้งหมดก็อาจจะไม่ได้รับการประกันตัวและถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีเช่นเดียวกับจำเลยคดีมาตรา 112 ที่เป็นแกนนำและกลุ่มราษฎรอีก 7 รายที่อยู่ในเรือนจำขณะนี้
จดหมายจากเพนกวิน
ก่อนหน้านี้เมื่อ 18.00 น. นายอรรถพล และ น.ส.เบนจา ได้ขึ้นปราศรัยบนเวที โดยนายอรรถพลได้กล่าวปราศรัยโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่วน น.ส.เบนจา ได้อ่านจดหมายที่นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ "เพนกวิน" เขียนถึงประชาชนว่า
"ถึง พ่อแม่พี่น้องผู้รักประชาธิปไตย
ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมานี้ ด้วยหนึ่งสมองและสองมือของพี่น้องราษฎรทุกคน เราได้ทำลายหลังคาที่ปิดบังไม่ให้เราได้เห็นฟากฟ้าจนพังทลายและเมื่อเพดานหลังคาเปิดกว้างจนเราได้เห็นฟ้า เราจึงรู้ว่าแท้จริงแล้วฟ้าไม่ได้สูงอย่างที่เราคิด หากต่ำเสียจนคนบนดินต้องหมอบราบกราบก้มตลอดเวลาเพราะฟ้าไม่สูงพอจะมีที่ให้คนยืนหลังตรงได้
เมื่อแสงสว่างได้ส่องมาแล้ว ความมืดมิดก็ไม่อาจจะปิดตาคนได้อีก เมื่อความจริงถูกเปิดเผย เผด็จการศักดินาก็ไม่อาจจะยืนอยู่บนหัวคนได้เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะเผด็จการศักดินารู้ตัวเองว่าเหลือวันเวลาไม่มากนัก จึงใช้ทุกวิถีทางเพื่อยืดอายุขัยของตัวเองไปให้ได้ยาวนานที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรา 112 พร่ำเพรื่อ การใช้ศาลแบบไม่อายฟ้าอายดิน และการใช้ความรุนแรงกับประชาชนแบบไม่สนใจโลก ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นพิษร้ายที่กร่อนทำลายเผด็จการศักดินาให้สูญสิ้นลงไปภายหลัง เป็นเครื่องรับประกันว่าความล่มสลายของเผด็จการศักดินานั้นไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และการต่อสู้ของประชาชนได้มาถึงจุดที่ไม่มีคำว่าแพ้เหลือแต่ชัยชนะที่เห็นอยู่เบื้องหน้าและจะต้องเดินไปให้ถึงเพียงเท่านั้น
ขอให้ทุกคนตั้งตามองตรงไปยังเป้าหมาย ไม่หลงเลือนอุดมการณ์ที่เรามีร่วมกัน จับมือและกอดคอกันให้มั่น ฝ่าฟันอุปสรรคไปด้วยกันจนถึงวันที่ฝันของเรา ฝันที่วีรชนประชาธิปไตยหลายต่อหลายรุ่นได้ฝันมาอย่างต่อเนื่องจะเป็นจริง ผมยังคงต่อสู้อยู่ข้างในคู่ขนานไปกับพี่น้องที่ต่อสู้ข้างนอก เมื่อถึงวันนั้น วันที่ประเทศไทยไม่มีปรสิตสิงสูบเลือดประชาชน วันที่ประเทศไทยจะไม่มีการรัฐประหาร วันที่ประเทศไทยจะไม่มีกฎหมายปิดปากประชาชน เราจะร่วมฉลองชัยชนะไปด้วยกัน หรือหากร่างกายผมไม่อาจอยู่ร่วมฉลองจิตวิญญาณของผมจะยังคงอยู่ยินดีเคียงข้างพี่น้องทุกคนตลอดกาล
ด้วยรักและภักดีต่อสถาบันประชาชน
ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ
พริษฐ์ ชิวารักษ์"
สานต่ออุดมการณ์เพื่อนในเรือนจำ
สาระสำคัญของการปราศรัยช่วงแรก ซึ่งเริ่มต้นประมาณ 17.30 น. มีนายธัชพงษ์ แกดำ จากกลุ่มเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย กล่าวปราศรัยเป็นรายแรก เป็การสานต่ออุดมการณ์ทางการเมืองของกลุ่มแกนนำและผู้ชุมนุมที่ยังคงถูกคุมขังในเรือนจำ เช่น อานนท์ นำภา พริษฐ์ ชิวารักษ์ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ภาณุพงศ์ จาดนอก จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และปิยรัฐ จงเทพ เป็นต้น พร้อมกับการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันและยกเลิก ม. 112
การชุมนุมในวันนี้ ผู้จัดได้เน้นที่เนื้อหาการปราศรัยและจัดระเบียบสถานที่ชุมนุม มีการเตรียมกลุ่มผู้ช่วยเหลือที่ติดแถบผ้าสีเทาสะท้อนแสงเป็นสัญลักษณ์ที่แขนเสื้อด้านซ้าย โดยแกนนำบนเวทีได้สื่อสารกับผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันเหตุรุนแรงที่อาจนำไปสู่การสลายการชุมนุมอย่างเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการชุมนุมของกลุ่ม REDEM เมื่อวันที่ 20 มี.ค.
"สิทธิการประกันตัว คือ สิทธิขั้นพื้นฐาน"
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมาย หรือไอลอว์ (iLaw) ผู้ปราศรัยรายที่สองที่ขึ้นบนเวที กล่าวถึงผลกระทบต่อสังคมจากการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งอยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐ โดยแบ่งเป็นผลกระทบ 3 ด้าน คือ 1 ทำให้เกิดความกลัวในสังคมไทย 2. กระทบเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์การบ้านเมือง และ 3. มีโทษรุนแรงจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี
นอกจากนี้เขายังชี้ให้เห็นว่าในกรณี ผู้ต้องขัง 13 คนที่ยังคงถูกควบคุมตัวในเรือนจำทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีใครที่ศาลตัดสินว่ากระทำความผิดคดีเกี่ยวกับ ม. 112 และอีกหลายข้อหา แต่กลับถูกขังในเรือนจำและถูกปฏิเสธการขอประกันตัวหลายครั้ง พร้อมเรียกร้องให้ยกเลิกม. 112
นายยิ่งชีพกล่าวย้ำว่า "สิทธิการประกันตัว คือ สิทธิขั้นพื้นฐาน"
นายยิ่งชีพยังได้รายงานสถานการณ์ของแกนนำและผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรที่ถูกดำเนินคดีและคุมขังในที่ต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้มีจำนวนอย่างน้อย 21 คน เช่น พริษฐ์ หรือ "เพนกวิน" ที่อดอาหารและดื่มแต่น้ำเปล่าเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวมาเป็นเวลา 10 วันแล้ว โดยเพนกวินนับเป็นบุคคลที่ถูกดำเนินคดี ม.112 มากที่สุดในประวัติศาสตร์คือ 18 คดี ขณะที่นายอานนท์โดนข้อหา ม. 112 ไม่ต่ำกว่า 13 คดี
นอกจากนี้ยังมีนายพรหมศร วีระธรรมจารี แกนนำ "กลุ่มราษฎรมูเตลู" ที่ถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 และไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวเช่นกัน ซึงขณะนี้เขาได้ประกาศอดอาหารขณะที่ถูกคุมขังในเรือนจำธัญบุรี จ.ปทุมธานี
เวลา 18.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมร่วมกันยืนชูสามนิ้วในระหว่างที่ยืนตรงเคารพธงชาติ แล้วตะโกนคำว่า "ยกเลิก 112" และปล่อยเพื่อนเรา ๆ"
ตร. เตือนชุมนุมในกทม.ยังผิดกม. เตรียม คฝ. 18 กองร้อยรับมือ
เมื่อเวลา 10.00 น. พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และโฆษก บช.น. แถลงข่าวเรื่องการเตรียมความพร้อมรับมือการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเย็นนี้ว่า กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ประกาศห้ามชุมนุมตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และประกาศของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 5 มี.ค. 2564 ซึ่งห้ามชุมนุมในทุก ๆ พื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร ห้ามจัดกิจกรรมที่มีลักษณะมั่วสุม อันจะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค หากพบว่ามีการชุมนุมก็จะมีความผิดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินมาตรา 9 และยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่ออีกด้วย
ส่วนผู้ที่โพสต์ข้อความเชิญชวน รวมทั้งส่งต่อกระจายข้อความต่อ หรือชักชวนโดยประการหนึ่งประการใด ตลอดจนผู้เข้าร่วมการชุมนุม ถือว่าเป็นผู้ร่วมกระทำผิดทั้งหมดและอาจจะได้รับโทษตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม พล.ต.ต. ปิยะกล่าวว่า ตามหน้าที่การรักษาความสงบเรียบร้อยและการรักษาทรัพย์สินสาธารณะ จะยังคงยึดถือหลักปฏิบัติสากล และเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน 18 กองร้อยเพื่อรับมือสถานการณ์
ภาคีนักกฎหมายสิทธิฯ ฟ้องศาลสอบสวนตร. เหตุสลายการชุมนุม
การชุมนุมที่แยกราชประสงค์วันนี้มีขึ้น 3 วันหลังเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมของกลุ่ม REDEM คืนวันที่ 20 มี.ค. บริเวณสนามหลวง-ถนนราชดำเนิน ซึ่งตำรวจควบคุมฝูงชนภายใต้สังกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตาและกระสุนยางในปฏิบัติการ เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย ทั้งตำรวจและประชาชน ซึ่งในวันนี้ นายศรายุทธ ตั้งประเสริฐ ผู้สื่อข่าวประชาไท พร้อมกับทนายความจากกลุ่มภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเข้ายื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่อศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ตาม พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองการชุมนุมสาธารณะ ไม่ปิดกั้นเส้นทางสัญจรต่าง ๆ ห้ามเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม และให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นอันตรายต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน
คำฟ้องยังบรรยายด้วยว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้ปิดกั้นเส้นทางไปรับการรักษาที่วชิรพยาบาลซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้พื้นที่เกิดเหตุที่สุด ทำให้นายศรายุทธ และประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บ ไม่สามารถเดินทางไปยังโรงพยาบาลซึ่งเป็นสถานที่สำคัญในการช่วยปฐมพยาบาลและช่วยชีวิตคนได้อย่างรวดเร็วที่สุดอย่างที่ควรจะเป็น
เดินสายทวงสัญญารัฐสวัสดิการ
ในช่วงเข้าและบ่ายโมงที่ผ่านมา ยังความเคลื่อนไหวของกลุ่มภาคประชาชนที่ใช้ชื่อว่า "เครือข่าย We Fair" นำโดยนายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ แกนนำเครือข่ายฯ ได้จัดกิจกรรมเดินสายเพื่อทวงสัญญารัฐสวัสดิการในโอกาสครบรอบ 2 ปี การเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 และแสดงจุดยืนและติดตามทวงถามนโยบายดังกล่าว หลังจากเครือข่ายเคยยื่นชุดข้อเสนอรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ต่อพรรคการเมืองทุกพรรค
โดยประเด็นที่ทวงถาม ประกอบด้วย เงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า การเรียนฟรีถึงมหาวิทยาลัย การยกระดับกองทุนหลักประกันสุขภาพ การเข้าถึงที่อยู่อาศัยและที่ดิน ประกันสังคมคนทำงานถ้วนหน้า ค่าจ้างปรับตามอายุการทำงาน ลาคลอด 180 วัน บำนาญประชาขน พัฒนาเบี้ยความพิการ และการปฏิรูประบบภาษี
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar