เมียสี่ ลูกสาวสอง ลูกชายห้า และสนมเอกหนึ่ง
เหตุเพราะวชิราลงกรณ์มีชีวิตรักที่แสนสับสนอลเวงซึ่งทำให้มีตัวเลือกจำนวนมาก
จึงเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากว่าใครจะขึ้นครองราชย์ต่อจากเขา
หากเราจะวิเคราะห์พลวัตรการสืบราชสันตติวงศ์ของราชวงศ์ไทย
เราจำเป็นต้องย้อนไปดูประวัติการสมรสของกษัตริย์องค์นี้
ในช่วงปี
พ.ศ. 2515 - 2519 ที่วชิราลงกรณ์ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนนายร้อยดันทรูน
ประเทศออสเตรเลีย เขาชอบพออยู่กับ ลักษสุภา กฤษดากร
ลูกสาวของฑูตไทยประจำสถานฑูตออสเตรเลีย ณ ขณะนั้น
ความสัมพันธ์ครั้งนี้ก่อให้เกิดความกังวลในราชวงศ์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับราชินีสิริกิติ์
แม่ผู้ไม่ต้องการได้หญิงสามัญชนมาเป็นลูกสะใภ้
สิริกิติ์หมายมั่นว่าราชสกุลกิติยากรของเธอจะต้องครองอำนาจในราชวงศ์ไทยในอนาคต
เธอยืนยันว่าลูกชายจะต้องสมรสกับลูกพี่ลูกน้องของตัวเอง นั่นคือ โสมสวลี
กิติยากร ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของสิริกิติ์
ความขัดแย้งในเรื่องนี้ทำให้เกิดความแตกแยกภายในวังซึ่งอยู่ในช่วงเดียวกันกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง
พ.ศ. 2519 ในขณะนั้นราชวงศ์ไทยกลัวถูกล้มล้างเหมือนในลาวและกัมพูชา
ดังนั้นวังจึงหันไปจับมือกับกองทัพและกลุ่มชาตินิยมฝ่ายขวากวาดล้างขบวนการประชาธิปไตยที่กำลังมีบทบาทมากขึ้นในสังคมไทย
ซึ่งนำไปสู่การสังหารหมู่ผู้ประท้วงนักเรียนนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเช้าวันที่
6 ตุลาคม ปีนั้น
วชิราลงกรณ์เดินทางกลับไทยไม่กี่วันก่อนเหตุการณ์การสังหารหมู่ในเดือนธันวาคมพ.ศ.
2519
หนังสือพิมพ์ประกาศข่าวงานหมั้นของเขากับโสมสวลีและเข้าพิธีสมรสกันในวันเมษาหน้าโง่
(April Fool’s Day) พ.ศ. 2520 ที่กรุงเทพฯเขาอายุ 24 และเธออายุ 19 ปี
ในหนังสือ The King Never Smiles พอลแฮนด์ลีย์อธิบายว่าเหตุผลที่สิริกิติ์ต้องการให้ลูกชายแต่งงานกับโสมสวลีเป็นเพราะ
โสมสวลีเป็นตัวแทนของความทะเยอทะยานอยากเป็นใหญ่ในราชวงศ์ของทั้งราชสกุลกิติยากร
และสนิทวงศ์ในฝั่งแม่ของสิริกิติ์ รวมถึงเหล่าทายาทของรัชกาลที่ 5
สายเจ้าชายยุคลซึ่งเป็นราชสกุลลำดับสามที่เสี่ยงต่อการตกชั้น
แม่ของโสมสวลีคือหม่อมหลวงพันธุ์สวลี ยุคล
ซึ่งเป็นลูกของหญิงตระกูลสนิทวงศ์
โสมสวลีจึงเป็นตัวเชื่อมทางสายเลือดระหว่างสามราชสกุลที่เกือบไร้ที่ติ
แต่ความสัมพันธ์นี้กลับเต็มไปด้วยปัญหามากมายตั้งแต่เริ่ม
ซึ่งเกิดจากความคลั่งสายเลือดบริสุทธิ์ของสถาบันกษัตริย์ไทยที่เชื่อว่าผู้ที่เกิดจากสายเลือดบริสุทธิ์จะมีอำนาจบารมีเหนือกว่าผู้อื่น
ทำให้มีการแต่งงานภายในครอบครัวเดียวกันจากรุ่นสู่รุ่นมาเป็นระยะเวลานาน
โสมสวลีเป็นลูกพี่ลูกน้องของวชิราลงกรณ์ทางฝั่งตระกูลของสิริกิติ์และเป็นญาติห่างๆของฝั่งตระกูลภูมิพลด้วย
แฮนด์ลีย์กล่าวว่า
ในทางพันธุกรรม โสมสวลีคือหายนะ
ในราชวงศ์ที่เชื่อมโยงกันด้วยการแต่งงานภายในครอบครัว
กษัตริย์และราชินีเป็นญาติใกล้ชิดสายตรงจากทายาทของรัชกาลที่ 5
ดังนั้นโสมสวลีจึงมีสายเลือดเดียวกับเจ้าฟ้าชาย
นอกจากนั้น
วชิราลงกรณ์ไม่เคยมีใจให้โสมสวลี เขามองว่าเธอแสนจะธรรมดา น่าเบื่อ
และไม่ประสีประสา เขาแต่งกับเธอเพื่อจะเอาใจแม่จอมบงการเท่านั้น
หลังจากแต่งงานกัน
ทั้งสองเดินทางไปทั่วประเทศซึ่งเป็นความพยายามเรียกความนิยมให้แก่สถาบันกษัตริย์หลังเหตุการณ์สังหารหมู่
6 ตุลา แต่ไม่นานชีวิตสมรสของทั้งคู่ก็พังลง
กษัตริย์ได้สร้างชื่อเสียงในฐานะเสือผู้หญิงและนักปาร์ตี้กับเหล่าผู้มีอิทธิพลและมหาเศรษฐีฉ้อโกง
ต่อมาไม่นานเขาตกหลุมรักหัวปักหัวปำกับนักแสดงสาวดาวรุ่ง “เบ๊นซ์” ยุวธิดา
พลประเสริฐ ในช่วงปี พ.ศ. 2521 โสมสวลีกำลังตั้งครรภ์
แต่หลังจากนั้นไม่นาน
วชิราลงกรณ์ก็ทิ้งเธอไปอยู่กับยุวธิดาในวังอีกแห่งหนึ่ง
โสมสวลีให้กำเนิดลูกคนแรกของวชิราลงกรณ์ในวันที่
7 ธันวาคม พ.ศ. 2521 เป็นลูกสาวชื่อ พัชรกิตติยาภา
ซึ่งถือเป็นข่าวร้ายสำหรับราชวงศ์ที่ต้องการลูกชายมากกว่า ในวันที่ 29
สิงหาคม พ.ศ. 2522 วชิราลงกรณ์ได้ลูกชายคนแรก จุฑาวัชร แต่แม่คือยุวธิดา
แฮนด์ลีย์กล่าวว่า
สำหรับสิริกิติ์ นี่คือหายนะ
เด็กชายคนนี้สั่นคลอนแผนการสร้างความเป็นใหญ่ในราชวงศ์ของครอบครัวเธอ
ยกเว้นว่าโสมสวลีจะให้กำเนิดลูกชายซึ่งจะมีศักดิ์เป็นมกุฎราชกุมาร
แต่ความหวังที่โสมสวลีจะมีลูกเพิ่มกับวชิราลงกรณ์นั้นแสนริบหรี่
เพราะในขณะนั้นเขาขลุกอยู่แต่กับยุวธิดา เวลาผ่านไปสิบกว่าปี
ทั้งคู่มีทายาทเพิ่มอีก 4 คน เป็นลูกชาย 3 คน และลูกสาว 1 คน
สิริกิติ์เริ่มวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมของลูกชายอย่างเปิดเผยกับสื่อต่างประเทศ
ในงานแถลงข่าวในรัฐเท็กซัสปี พ.ศ. 2524 เธอให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า
ลูกชายมกุฎราชกุมารของฉันออกจะเป็นคนเจ้าชู้แบบดอน
ฮวน เขาเป็นนักเรียนที่ดี เป็นเด็กดี
แต่ผู้หญิงมากมายชื่นชอบเขาและเขาก็ชอบผู้หญิงอย่างมาก...
หากคนไทยไม่ยอมรับตัวเขาในแง่นี้ เขาจะต้องปรับปรุงตัวหรือสละฐานันดรศักดิ์
ภูมิพลเองก็กังวลกับพฤติกรรมของลูกชายแต่ก็พยายามจะควบคุมเขา
ราชสกุลบางกลุ่มที่สนับสนุนโสมสวลีเริ่มแผนการทำลายชื่อเสียงวชิราลงกรณ์ด้วยการเผยแพร่ใบปลิวลับแฉพฤติกรรมของเขา
เหตุการณ์นี้ถูกบันทึกไว้ในรายงานของซีไอเอในปี พ.ศ. 2531
อย่างไรก็ตามสายลับอเมริกันพลาดที่ระบุว่านี่เป็นฝีมือของกลุ่มล้มเจ้า
เพราะแท้จริงแล้วมันเป็นความแตกแยกที่เกิดขึ้นภายในราชวงศ์เอง
ในที่สุดภูมิพลและสิริกิติ์จำต้องยอมให้ลูกชายหย่าขาดจากโสมสวลีอย่างเป็นทางการในปี
พ.ศ. 2536
มีการเผยแพร่ใบปลิวลับอีกครั้งจากฝีมือของสมาชิกราชวงศ์ฝั่งตรงข้ามเพื่อมุ่งทำลายชื่อเสียงของวชิราลงกรณ์และยุวธิดา
มีข้อความว่า
วชิราลงกรณ์สมรสกับยุวธิดาแบบเงียบๆในเดือนกุมภาพันธ์
พ.ศ. 2537
ความสัมพันธ์ของทั้งสองได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการในงานวันเกิดปีที่ 42
ของเขาในวันที่ 28 กรกฎาคม
เขาปรากฎตัวต่อสาธารณะทำบุญปล่อยนกปล่อยปลาพร้อมกับภรรยาใหม่และลูกทั้ง 5
คน
แต่ในขณะนั้น
ชีวิตคู่ของวชิราลงกรณ์กับยุวธิดาอยู่ในความตึงเครียด
ด้วยความที่เขาเป็นเสือผู้หญิงที่ไม่เคยถอดเขี้ยวเล็บและหวังว่าเมียจะก้มหน้ายอมรับพฤติกรรมนี้
ทั้งสองทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อยครั้งและสถานการณ์เลวร้ายมากขึ้นหลังจากที่วชิราลงกรณ์ตกหลุมรักนางบำเรอคนใหม่
ศรีรัศมิ์ สุวะดี
สาวนั่งดริ๊งประจำธนบุรีคาเฟ่ที่เข้ามาอยู่ในฮาเร็มของเขาตั้งแต่ปี พ.ศ.
2536 ในฐานะ “นางสนองพระโอษฐ์” หลังจากวชิราลงกรณ์ย้ายศรีรัศมิ์เข้าไปในวัง
ยุวธิดาก็หมดความอดทนและออกจากวัง
จนกระทั่ง พ.ศ. 2539
วชิราลงกรณ์ตัดสินใจแยกทางกับยุวธิดาและแต่งตั้งให้ศรีรัศมิ์เป็นสนมเอก
ราชินีสิริกิติ์เห็นว่านี่เป็นโอกาสที่จะไล่ยุวธิดากับเหล่าลูกชายให้พ้นไปจากวังหลวงซึ่งจะทำให้พัชรกิตติยาภา
ลูกสาวของโสมสวลี
ได้ครองตำแหน่งรัชทายาทในการสืบราชสมบัติของราชวงศ์จักรีอีกครั้ง
วชิราลงกรณ์ได้รับคำสั่งจากพ่อแม่ว่าเขาสามารถเลิกกับยุวธิดาได้แต่ต้องเนรเทศลูกชายทั้ง
4 คนของเธอไปด้วย
ในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2539
วชิราลงกรณ์ส่งข้อความถึงผู้อำนวยการโรงเรียนประจำเฮิร์สท์ลอดจ์ (Hurst
Lodge School) ประเทศอังกฤษที่บุษย์น้ำเพชร (ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ
สิริวัณณวรี) ลูกสาวของเขาเรียนอยู่
เพื่อบอกความประสงค์ว่าเขาต้องการนำเธอกลับประเทศไทยทันทีด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ
เขาบินไปรับลูกสาวที่ลอนดอนแต่ไม่ไปพบกับเหล่าลูกชายที่เรียนโรงเรียนประจำในอังกฤษเช่นกัน
วชิราลงกรณ์และบุษย์น้ำเพชรเดินทางถึงกรุงเทพฯในวันที่
26 พฤษภาคม
สองวันต่อมาวชิราลงกรณ์ประกาศเนรเทศยุวธิดาออกจากประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
มีการแจกแผ่นพับไปทั่วกรุงเทพฯ และติดประกาศบนรั้ววัง
เนื้อหาในแผ่นพับกล่าวโทษยุวธิดาว่าคบชู้กับลูกน้องของวชิราลงกรณ์และทำร้ายบุษย์น้ำเพชร
แฮนด์ลีย์กล่าวว่ายังมีการเผยแพร่ภาพเปลือยของยุวธิดา
“ในรูปของแผ่นดิสก์และส่งไปยังสถานฑูตและหนังสือพิมพ์
รวมถึงถูกเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ตด้วย”
หลังจากนั้นไม่นาน
ทุกอย่างก็ชัดเจนว่าวชิราลงกรณ์เนรเทศทั้งยุวธิดาและเหล่าลูกชายของเธอ
ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2540
เขาส่งข้อความถึงผู้อำนวยการโรงเรียนในอังกฤษว่าลูกชายทั้งสี่ถูกถอดฐานันดรศักดิ์และยึดหนังสือเดินทางฑูต
แต่ยืนยันว่าจะยังจ่ายค่าเล่าเรียนให้พวกเขาอยู่
ภาพจดหมายด้านล่างคือฉบับที่ส่งถึงนิโคลัส บอมฟอร์ด
ผู้อำนวยการโรงเรียนฮาร์โรวที่จุฑาวัชรและวัชรเรศร
ลูกชายคนโตและคนรองเรียนอยู่
ในเดือนกุมภาพันธ์
วชิราลงกรณ์ตัดสินใจหยุดจ่ายค่าเล่าเรียนให้พวกเขาตามที่เขาอธิบายในจดหมายอีกฉบับหนึ่งที่ส่งถึงบอมฟอร์ด
จดหมายในลักษณะเดียวกันส่งถึงผู้อำนวยการโรงเรียนแพงบอร์นและโรงเรียนซันนิงเดลที่จักรีวัชรและวัชรวีร์เรียนอยู่
ตามลำดับ
ในที่สุดโรงเรียนฮาร์โรวต้องติดต่อไปยังสถานฑูตไทยเพื่อขอให้จ่ายค่าเล่าเรียนที่ค้างไว้จนเกินกำหนด
ซึ่งต่อมายุวธิดาได้จ่ายไป 9,200 ปอนด์และหลังจากนั้นวชิราลงกรณ์ก็ส่งเงิน
10,141.04 ปอนด์ให้สถานฑูตเพื่อจ่ายส่วนที่เหลือ
หลังจากนั้นยุวธิดาและลูกชายทั้งสี่ย้ายไปตั้งรกรากในรัฐฟลอริดาในจดหมายเปิดผนึกฉบับหนึ่งลงวันที่ในเดือนกุมภาพันธ์พ.ศ.
2541
เล่าเรื่องซุบซิบนินทาและเรื่องราวจากฝั่งของลูกชายพวกเขาเล่าว่าวชิราลงกรณ์ไม่เคยปฏิบัติต่อยุวธิดาในฐานะเมียและขับไล่เธอออกจากวังเป็นป
ระจำเมื่อมีนางบำเรอคนใหม่เข้ามา
รวมถึงเล่าว่าในตอนที่เขาแอบเดินทางไปนำตัวบุษย์น้ำเพชรกลับไปอยู่กับตัวเอง
วชิราลงกรณ์พูดกับยุวธิดาว่า “ลูกชาย...ไม่จำเป็นสำหรับเขาอีกแล้ว”
ลูกชายทั้งสี่กล่าวว่าวชิราลงกรณ์
“พยายามลบพวกเราออกจากความทรงจำของผู้คนที่รู้จักพวกเรา”
การที่วชิราลงกรณ์มีพฤติกรรมตามอาฆาตและทอดทิ้งครอบครัวเป็นเพราะเขาต้องการไฟเขียวจากแม่เพื่อทิ้งยุวธิดา
เขาจึงต้องตัดความสัมพันธ์กับเหล่าลูกชายของเธอด้วย
เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง
ดูเหมือนว่าแผนการของสิริกิติ์ได้บรรลุแล้ว
พัชรกิตติยาภาได้รับตำแหน่งผู้สืบราชบัลลังก์กลับคืนมา
และดูเหมือนกับว่าวชิราลงกรณ์ไม่น่าจะมีทายาทได้อีกเพราะในช่วงปลายทศวรรษ
1990 เขาติดเชื้อเอชไอวี
แต่ศรีรัศมิ์อยากมีลูกเพื่อรักษาตำแหน่งในวังไว้และวชิราลงกรณ์ก็เห็นด้วย
ทั้งคู่จึงหันไปพึ่งเทคนิคไอวีเอฟ (IVF) และ “การปั่นล้างสเปิร์ม”
เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสไปสู่ลูก ในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2548
เด็กชายทีปังกรรัศมีโชติก็ถือกำเนิดขึ้น
ราชวงศ์จักรีได้มีองค์ชายรัชทายาทอีกครั้ง
เหตุการณ์ดังกล่าวจุดไฟความขัดแย้งเรื่องการแย่งราชบังลังก์ภายในวังขึ้นมาอีกครั้ง
มีความพยายามทำลายชื่อเสียงของศรีรัศมิ์ ในปี พ.ศ. 2550
มีการปล่อยวิดีโอฉาวเป็นภาพศรีรัศมิ์เปลือยกายในงานวันเกิดครบรอบ 30
ปีในวังที่นนทบุรีต่อหน้าขุนนางธารกำนัลในขณะที่มกุฎราชกุมารกำลังสูบไปป์อย่างมีความสุข
บันทึกลับทางการฑูตสหรัฐฯระบุว่า
“ชื่อเสียงของมกุฎราชกุมารกำลังเสื่อมถอยลงและคาดว่าจะเสียหายเพิ่มมากขึ้น
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาพวิดีโออื้อฉาวของมกุฎราชกุมารและสนมเอกที่ถูกเผยแพร่ทางออนไลน์และดีวีดี
ซึ่งเราสามารถสรุปได้ว่าคลื่นใต้น้ำครั้งนี้สร้างผลกระทบใหญ่หลวงต่อมกุฎราชกุมาร”
ในเดือนกรกฎาคม ในขณะที่วชิราลงกรณ์และศรีรัศมิ์อยู่ในยุโรป
มีการปล่อยข่าวเท็จจากแหล่งข่าววงในว่าวชิราลงกรณ์สวรรคตด้วยโรคเอดส์แล้ว
ในขณะเดียวกันวชิราลงกรณ์ก็เริ่มเบื่อศรีรัศมิ์
และมีคนโปรดคนใหม่คือ สุทิดา ติดใจ
ลูกเรือของการบินไทยที่เขาพบในเที่ยวบินพิเศษมหากุศลที่เขาเป็นคนขับในวันที่
5 มกราคม พ.ศ. 2550 ในปีเดียวกันหลังจากนั้น
เขาย้ายไปอยู่เยอรมนีเพื่ออยู่กับสุทิดาในมิวนิค
และจะกลับมาไทยเป็นครั้งคราวเพื่อประกอบพระราชกรณียกิจ
บันทึกลับทางการฑูตสหรัฐฯฉบับหนึ่งระบุว่าในที่สุดราชินีสิริกิติ์ก็ตัดหางปล่อยวัดลูกชายของเธอตั้งแต่ปี
พ.ศ. 2550 หลังจากพยายาม
“โปรโมทความสนใจของมกุฎราชกุมารวชิราลงกรณ์และถูกมองว่าเป็นผู้หนุนหลังรายใหญ่ในช่วงที่เขาเผชิญกับกระแสการคัดค้านจากสาธารณะ”
รายงานยังระบุอีกว่า “ความสัมพันธ์แม่ลูกเปลี่ยนไปทันทีในปี 2550”
และในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551
“พระราชินีกับมกุฎราชกุมารมีปากเสียงกันในโรงพยาบาลระหว่างที่พระราชินีเข้ารับการรักษาตัว
มกุฎราชกุมารด่าทอแม่ต่อหน้าเหล่านางใน”
สิริกิติ์เริ่มละทิ้งโลกความเป็นจริงและเชื่อในการกลับชาติมาเกิดว่าในสมัยอยุธยาเธอคือพระนางศรีสุริโยทัยที่เสียสละชีวิตปลอมตัวขี่ช้างออกไปรบกับทหารพม่าเพื่อรักษาเอกราชให้สยามในสงครามไทยรบพม่า
พ.ศ. 2091
สิริกิติ์ตั้งใจจะปกป้องราชบังลังก์ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนหลังภูมิพลสวรรคต
แทนที่จะให้ลูกชายขึ้นครองราชย์และเริ่มเข้ามาแทรกแซงการเมืองอย่างเต็มตัวโดยสนับสนุนขบวนการรอยัลลิสต์ที่ต่อสู้กับทักษิณ
ชินวัตร
แต่ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2555
สิริกิติ์ล้มขณะที่เดินอยู่ในโรงพยาบาลศิริราชในกรุงเทพฯ
เธอป่วยหนักด้วยโรคเส้นเลือดในสมองและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้นับจากนั้น
ผู้หญิงที่คอยบงการชีวิตวชิราลงกรณ์มากกว่าใครและวางแผนการสืบราชสันตติวงศ์เพื่อให้สายตระกูลของเธอได้เป็นใหญ่ได้สูญสิ้นอำนาจและบทบาทในอนาคตของราชวงศ์
ในตอนนั้น ความผิดปกติของทีปังกรก็เริ่มชัดเจนมากขึ้น บันทึกลับทางการฑูตสหรัฐฯฉบับหนึ่งในปี พ.ศ. 2550 ระบุถึง “ข่าวลือเรื่องภาวะออทิซึ่ม” และบันทึกลับที่รั่วไหลออกมาอีกฉบับหนึ่งในปี
พ.ศ. 2552 ระบุว่าเด็กชาย
“มีภาวะพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจช้าผิดปกติและมีรายงานว่ามีอาการชักเป็นประจำ”
เวลาผ่านไปหลายปี
ความผิดปกติด้านพัฒนาการและความสามารถทางการคิดของทีปังกรก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้น
ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นภาวะออทิซึ่มแต่ก็ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ
ปลายปี
พ.ศ. 2557 ในขณะที่ภูมิพลเริ่มช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อีกคน
วชิราลงกรณ์ตัดสินใจหย่ากับศรีรัศมิ์ที่ถูกทิ้งไปก่อนหน้านี้แล้วหลายปี
เธอถูกถอดฐานันดรศักดิ์ ถูกเนรเทศและคุมขังอยู่ในบ้านพักในจังหวัดราชบุรี
ญาติสนิทส่วนใหญ่ของเธอถูกส่งเข้าคุก
แต่ไม่เหมือนกับกรณีของลูกชายทั้งสี่ของยุวธิดา
ทีปังกรไม่ได้ถูกขับออกจากราชวงศ์
เด็กชายถูกจับแยกจากแม่และส่งไปโรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษในเมืองเกเร็ทสรีดที่อยู่นอกมิวนิค
หลังภูมิพลสวรรคตและวชิราลงกรณ์ได้ขึ้นครองราชย์ในปี
พ.ศ. 2559 ทหาร ตำรวจ
และข้าราชบริพารในหน่วยงานภายในของเขาต่างก็ติดเข็มกลัดรูปทีปังกร
เข็มกลัดนี้เป็นรางวัลที่วชิราลงกรณ์มอบให้ข้ารับใช้ที่ภักดีต่อเขาและถูกตีความว่าเป็นสัญญาณที่สื่อว่าทีปังกรคือผู้ที่ได้รับเลือกให้ขึ้นครองราชย์เป็นคนต่อไป
แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่าใครจะขึ้นเป็นรัชกาลที่
11 ไม่ว่าจะเป็นทีปังกรหรือแคนดิเดตคนอื่น
วชิราลงกรณ์ยังไม่ประกาศผู้สืบทอดราชสมบัติ คำถามนี้ยังคงไม่มีคำตอบ
กฎหมายไม่สร้างความกระจ่าง
กฎเกณฑ์และราชประเพณีเกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ของราชวงศ์ไทยนั้นมีอยู่มากมาย
แต่ไม่มีกฎใดเป็นหลัก ซึ่งหมายความว่าไม่มีกฎที่ตายตัว ในหนังสือ Siamese State Ceremonies ตีพิมพ์ในปีพ.ศ. 2474
เอช จี ควอริช เวลส์ นักวิชาการอังกฤษระบุว่าแม้ว่าการสืบราชสันตติวงศ์
ไทยจะเป็นเพียงทฤษฎีที่ถูกร่างขึ้นตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ในสมัยอยุธยาเมื่อ
600 กว่าปีก่อน
แต่ในทางปฏิบัติไม่มีใครทำตามกฎอย่างเคร่งครัดและการแก่งแย่งชิงดีเพื่อสืบราชสันตติวงศ์นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นปกติในประวัติศาสตร์ไทย
ไม่ว่ากฎมณเฑียรบาลจะระบุไว้อย่างไร
กษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการประกาศว่าใครจะเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์
หากตัวเลือกรัชทายาทไม่ตรงกับกฎ
กษัตริย์ก็สามารถเปลี่ยนกฎได้เพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์
ในปี พ.ศ.
2467 หนึ่งปีก่อนสวรรคต กษัตริย์วชิราวุธ หรือ รัชกาลที่ 6
ประกาศแก้ไขกฎมณเฑียรบาลเกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์
กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467
เขียนขึ้นโดยวชิราวุธเป็นหลักเพื่อกีดกันไม่ให้น้องชายต่างมารดา
เจ้าฟ้าบริพัตร ที่วชิราวุธเกลียดมีสิทธิ์ขึ้นครองราชย์
และเปิดโอกาสให้น้องชายร่วมมารดามีสิทธิ์อย่างเต็มที่ในการขึ้นครองราชย์แทน
การแก้ไขเจาะจงที่กฎการสืบราชสันตติวงศ์ในกรณีที่กษัตริย์มีลูกชายหลายคนจากราชินีหลายองค์
แม้ว่าจะเป็นที่รู้กันดีว่าวชิราลงกรณ์จะเป็นกษัตริย์องค์แรกหลังจากวชิราวุธที่มีราชินีมากกว่าหนึ่งองค์
กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467
ก็ไม่สามารถสร้างความกระจ่างได้ว่าใครจะขึ้นครองราชย์ต่อจากเขา
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นเกี่ยวข้องที่ควรกล่าวถึงอยู่สองสามประเด็น
ประการแรก
กฎระบุไว้อย่างชัดเจนว่ากษัตริย์สามารถประกาศชื่อแคนดิเดตคนใดก็ได้ที่ต้องการให้สืบทอดราชบัลลังก์
กฎใหม่จะถูกนำมาใช้ในกรณีที่กษัตริย์สวรรคตโดยที่ยังไม่ได้ประกาศชื่อรัชทายาท
ประการที่สองซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญ
กฎระบุว่ามีเพียงรัชทายาทเพศชายที่สามารถขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ได้
ในมาตรา 13 ของกฎปี 2467 ระบุว่า
ในกาลสมัยนี้ยังไม่ถึงเวลาอันควรที่ราชนารีจะได้เสด็จขึ้นทรงราชย์เปนสมเด็จพระแม่อยู่หัวบรมราชินีนาถ ผู้ทรงสำเร็จราชการสิทธิ์ขาด
ในทางทฤษฎี
การสืบราชสันตติวงศ์ยังถูกกำกับโดยรัฐธรรมนูญไทย ในทางปฏิบัติ
วชิราลงกรณ์ได้แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่าไม่ยอมรับการปฏิวัติ 2475
ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นยุคสมัยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
และแสดงให้เห็นว่าเขาสามารถละเมิดกฎหมายด้วยการนิรโทษกรรมตัวเองและสั่งการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตามใจชอบ
เขาแทรกแซงการเมืองโดยการสั่งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560
แต่ไม่แตะกฎการสืบราชสันตติวงศ์
ดังนั้นรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่สิ่งที่จะหยุดวชิราลงกรณ์ได้จากการวางแผนว่าใครจะได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากเขา
อย่างไรก็ตาม
เราควรกล่าวประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย
โดยส่วนใหญ่กฎเกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ในรัฐธรรมนูญไทยจะอ้างอิงกฎมณเฑียรบาล
หากกษัตริย์แต่งตั้งรัชทายาทในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
รัชทายาทก็จะขึ้นครองราชย์หลังจากกษัตริย์สวรรคต
และรัฐสภาจะต้องจัดการให้มีพิธีขึ้นครองราชย์และประกาศพระนามกษัตริย์พระองค์ใหม่
หากกษัตริย์สวรรคตโดยไม่ได้แต่งตั้งรัชทายาท องคมนตรี
ซึ่งเป็นกลุ่มข้าราชการชายในพระองค์ที่มีหน้าที่คอยให้คำปรึกษาแก่กษัตริย์
จะต้องเสนอชื่อแคนดิเดตที่เหมาะสมที่สุดให้รัฐสภา
ใน พ.ศ. 2517
มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎการสืบราชสมบัติในรัฐธรรมนูญที่น่าสนใจ
ซึ่งถูกใช้มาถึงปัจจุบัน มีใจความว่าหากกษัตริย์ไม่มีพระราชโอรส
องคมนตรีจะได้รับการทาบทามให้เสนอชื่อกษัตริย์องค์ใหม่โดย
"ให้พระราชธิดาสืบราชสันตติวงศ์ก็ได้"
ประเด็นนี้ดูเหมือนจะขัดกับกฎมณเฑียรบาลซึ่งประกาศห้ามไม่ให้ผู้หญิงขึ้นครองราชย์อย่างชัดเจน
แต่กฎมณเฑียรบาลก็สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้โดยกษัตริย์เอง
และถึงแม้ว่ากษัตริย์ไม่แก้ไขกฎและสวรรคตโดยไม่ได้แต่งตั้งผู้สืบราชสันตติวงศ์
ประธานองคมนตรี ซึ่งปัจจุบันคือ สุรยุทธ จุฬานนท์
จะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนและมีอำนาจในการแก้ไขกฎเพื่อแต่งตั้งสมเด็จพระแม่อยู่หัวบรมราชินีนาถ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี
2517
เพื่อให้ไทยสามารถมีสมเด็จพระแม่อยู่หัวบรมราชินีนาถเป็นความต้องการที่มาจากในวังเอง
ในยุคที่กษัตริย์มีคู่ครองคนเดียว
ราชวงศ์จักรีใช้แนวปฏิบัติเหมือนราชวงศ์ต่างประเทศทั่วโลกที่อนุญาตให้ลูกสาวเป็นรัชทายาทได้
เพื่อแก้ปัญหาความเสี่ยงที่ราชวงศ์ไม่มีลูกชาย มีแต่ลูกสาวสืบราชสมบัติ
อาจเป็นไปได้ว่าภูมิพลผลักดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งสอนแกมขู่วชิราลงกรณ์ว่าพี่น้องผู้หญิงของเขาอาจได้ขึ้นครองราชย์แทนหากเขาไม่ปรับปรุงตัว
นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่นำไปสู่การแต่งตั้งสิรินธร
น้องสาวของเขาให้มีตำแหน่งมกุฎราชกุมารีในปี พ.ศ. 2520
แต่การขู่นี้ก็ไม่เป็นผลเพราะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าภูมิพลไม่สามารถเข้าใจหรือควบคุมลูกชายของตัวเองได้เลย
โดยภาพรวม
ทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎมณเฑียรบาลนั้นเปิดกว้างให้กับคำตอบว่าใครจะเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป
อาจจะเป็นชาย
หรืออาจจะเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ไทยที่กษัตริย์จะเป็นหญิง
ทุกอย่างล้วนเป็นไปได้
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar