"ตอนนี้เวลาออกไปหางานทำ คำถามแรกคือคุณมาจากไหน พอตอบว่าบ้านอยู่ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ เขาก็จะไล่กลับไปเลย" ชาย อาชีพรับจ้างวัย 43 ปี ตัดพ้อถึงความยากลำบากของคนในชุมชนตอนนี้ที่ถูกตีตราโดยสังคม
โควิด-19: ติดเชื้อก็แย่ ไม่ติดก็ลำบาก เผยวิกฤตชีวิตชาวชุมชนคลองเตย
- ชัยยศ ยงค์เจริญชัย
- ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
ถึงแม้ว่าการระบาดระลอกที่สามของโควิด-19 จะเริ่มต้นจากสถานบันเทิงย่านสุขุมวิท แหล่งรวมตัวของผู้มีอันจะกิน แต่มาถึงวันนี้พื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากกลับกลายเป็นชุมชนแออัดซึ่งเป็นที่อยู่ของผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ
ชุมชนคลองเตย ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ และชุมชน 70 ไร่ ในเขตคลองเตยมีประชากรรวมกันร่วมแสนคน สมาชิกของแต่ละครอบครัวอยู่รวมกันในพื้นที่จำกัด ความแออัดทำให้การติดเชื้อโรคโควิด-19 เกิดขึ้นอย่างง่ายดายและรวดเร็ว
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร (กทม.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะส่งเจ้าหน้าที่มาควบคุมการระบาดด้วยการตรวจหาเชื้อเชิงรุก นำผู้ป่วยมารักษา กักตัวผู้เสี่ยงสัมผัส ตลอดจนเร่งฉีดวัคซีนให้คนในชุมชน แต่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ผลกระทบจากการะบาดครั้งนี้ขยายวงกว้าง ไม่เพียงผู้ติดเชื้อเท่านั้น แต่คนในชุมชนที่ไม่ติดเชื้อก็ได้รับผลกระทบไปด้วย เช่น ถูกตีตราและกีดกันจากการทำงานเพียงเพราะเขาและเธออยู่ในชุมชนแออัด หลายคนตกงาน ไม่มีรายได้ ไม่รู้ว่าจะได้กลับไปทำงานเมื่อไหร่ หรือจะยังมีงานทำอยู่หรือไม่
พักงานไม่มีกำหนด
"ตอนนี้เวลาออกไปหางานทำ คำถามแรกคือคุณมาจากไหน พอตอบว่าบ้านอยู่ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ เขาก็จะไล่กลับไปเลย" ชาย อาชีพรับจ้างวัย 43 ปี บอกกับบีบีซีไทย
ชายเป็นคนอีสาน เขาเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ ตามคำชักชวนของเพื่อนและพักอยู่ในชุมชนพัฒนาบ่อนไก่มามากกว่า 10 ปีแล้ว ชายรับจ้างขนของในตลาดย่านพระราม 4 ได้ค่าจ้างวันละ 300 บาท แต่ตอนนี้ไม่มีใครจ้างเขา ทำให้ชายไม่มีรายได้เลยแม้แต่บาทเดียวและต้องรออาหารบริจาค
"ผมเอาผลตรวจไปยืนยันแล้วว่าผมไม่ได้ติดโควิด แต่ก็ไม่มีใครให้งานผมทำ เขาบอกมาจากที่นี่ก็เป็นตัวแพร่เชื้อทั้งหมด ทุกวันนี้ผมต้องไปขอข้าวเขากิน ถ้าไม่มีก็ต้องกินน้ำก๊อกประทังชีวิตไป" ชายกล่าว
โส อายุ 27 ปี ชาวชุมชนคลองเตย เพิ่งได้งานเป็นพนักงานส่งของที่บริษัทแห่งหนึ่งได้เพียง 1 เดือน ได้ค่าจ้างรายวัน ๆ ละ 400 บาท ตอนนี้บริษัทขอให้เขาพักงานไปก่อน โสจึงไม่มีรายได้สักบาทมาเลี้ยงดูลูกและภรรยาซึ่งไม่มีรายได้เหมือนกัน
"ที่ทำงานเรียกประชุมและถามพนักงานแต่ละคนว่าอยู่ที่ไหน พอผมบอกไปว่ามาจากชุมชนคลองเตยเขาก็ขอให้ผมและคนที่มาจากชุมชนเดียวกันอีก 2 คนพักงานไปเลย ในขณะที่คนที่มาจากที่อื่นยังทำงานต่อไปได้"
ทุกวันนี้โสเข้าไปช่วยงานมูลนิธิดวงประทีป ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ช่วยเหลือผู้ยากไร้ในชุมชนคลองเตย จึงพอได้อาหารที่มีคนบริจาคให้มูลนิธิฯ กลับมากินกับลูกเมีย
"ถ้าไม่มีงาน ผมก็ไม่มีกิน" โสบอก "ช่วงแรก ๆ ที่ถูกขอให้พักงาน ผมก็ไปที่ท่าเรือเพื่อไปรับจ้างขนของ แต่งานไม่มีและเขาก็ไม่รับคนจากชุมชนคลองเตยด้วย ก็เลยต้องกลับเข้ามารอของบริจาคในชุมชน"
"ตั้งแต่โควิด-19 ระบาดมา ครั้งนี้นับว่าแย่ที่สุดแล้ว เพราะ (การระบาด) สองครั้งที่ผ่านมา ก็ยังมีงานทำ มีรายได้มาเลี้ยงครอบครัว แต่ตอนนี้เจ้านายเขาให้พักไปเลย ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะยังกลับไปทำงานได้อีกหรือเปล่า เขาจะรับผมกลับไปทำงานหรือไม่"
สถานการณ์ในชุมชน
ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ หรือ "ครูประทีป" ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป สรุปสถานการณ์ในชุมชนคลองเตยขณะนี้ว่า นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในชุมชนคลองเตยช่วงปลายเดือน เม.ย. เจ้าหน้าที่ยังคงพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่องจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน และยังคงมีผู้ติดเชื้อที่รอถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลอีกหลายคน โดยบางคนยังพักอยู่ที่บ้านที่มีสมาชิกคนอื่นในครอบครัวอยู่ด้วย บางคนแยกออกมาอยู่ที่ "ศูนย์พักคอย" ที่ทางการจัดให้
แต่ข่าวดีก็คือจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่พบจากการค้นหาเชิงรุกเริ่มลดลงเป็นวันละไม่ถึง 10 คน จากที่เคยพบวันละหลายสิบคน
"ตอนนี้ก็ยังมีคนรอส่งตัวไปรักษาอยู่อีกหลายคน ทั้งจากที่ศูนย์พักคอยวัดสะพานและในชุมชน บางคนได้รับแจ้งว่าสำนักงานเขตคลองเตยจะส่งรถมารับจากบ้านไปส่งโรงพยาบาลเอง แต่รถของเขตมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยที่รอส่งตัว" ครูประทีปกล่าว
"การรอที่เนิ่นนานเกินไป ก่อให้เกิดการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยไปให้สมาชิกในครอบครัวได้ง่าย" เธอแสดงความกังวล
ครูประทีปบอกว่าเธอได้รับข้อมูลจากแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ที่มาร่วมประชุมกับผู้นำชุมชนว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 จากชุมชุนคลองเตยจำนวนหนึ่ง เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลซึ่งอยู่ห่างจากชุมชน เพียง 5 กม. ราว 20 คนมีอาการหนัก
"สถานการณ์ของการแพร่เชื้อของปีที่แล้วกับปีนี้มีปัจจัยต่างกัน รอบแรกติดมาจากสนามมวยซึ่งมีคนเฉพาะกลุ่มจริง ๆ ไม่กี่คน แต่ครั้งนี้ติดมาจากสถานบันเทิง และคนที่อยู่ในชุมชนคลองเตยหลายคนก็ทำงานในสถานบันเทิงย่านสุขุมวิทกันอยู่หลายคน ก็เลยทำให้การลุกลามเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก" ครูประทีปอธิบาย
"ประกอบกับสภาพพื้นที่ในชุมชนมีความแออัดสูง การที่จะขอให้คนที่ติดเชื้อแยกกักตัวที่บ้านแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะบ้านหลังหนึ่งมีคนอยู่กันหลายคนในพื้นที่เล็ก ๆ ช่วงแรก ๆ กว่าจะรอรถมารับเพื่อไปส่งตามโรงพยาบาลสนามก็รอนานกันมาก พอผู้ป่วยต้องรออยู่ในบ้านทำให้สมาชิกในครอบครัวติดกันหมด บางบ้านติดกันทั้งบ้าน"
นายวีรชัย รื่นผกา ประธานชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ บอกกับบีบีซีไทยถึงสถานการณ์การติดเชื้อโรคโควิด-19 ในชุมชนว่าจนถึงขณะนี้ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่และชุมชนบ่อเขียวซึ่งอยู่ติดกันมีผู้ติดเชื้อสะสมรวมกัน 61 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 6 พ.ค.)
ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่มีประชากรกว่า 1,700 คน มีทะเบียนบ้านอยู่ 508 หลังคาเรือน ในจำนวนนี้มี 33 หลังที่มีที่ต้องกักตัวอยู่
นายวีรชัยบอกว่าทางชุมชนต้องการรับบริจาคข้าวกล่องเพื่อส่งให้ผู้ที่กักตัวรับประทานทุกมื้อทุกวัน ซึ่งบางวันก็มีคนบริจาคมากเพียงพอ บางวันก็ไม่พอ ส่วนคนอื่น ๆ ในชุมชนจะได้รับถุงยังชีพที่มีอาหารแห้งและของใช้จำเป็น
อคติต่อชาวชุมชนแออัด
"ช่วงนี้ไปไหนมาไหนลำบาก เพราะถ้าเรียกแท็กซี่แล้วบอกให้มาส่งที่ชุมชนคลองเตย พวกเขาก็จะไม่ค่อยมากัน แท็กซี่ส่วนใหญ่จะไม่รับ" ดา อายุ 24 ปี พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งบอกถึงความยากลำบากของชีวิตในชุมชนพัฒนา 70 ไร่ ในช่วงนี้
ดากล่าวว่าในละแวกบ้านของเธอมีคนตกงานเยอะ บางคนถูกเลิกจ้างหรือให้พักงานไม่มีกำหนดเพียงเพราะว่าถูกมองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงเพราะมาจากชุมชนแออัดในคลองเตย ตัวเธอเองก็เช่นกัน สัปดาห์นี้อยู่ดี ๆ นายจ้างก็ขอให้เธอทำงานจากที่บ้าน ซึ่งต่อไปเธอก็อาจจะถูกพักงานและไม่ได้รับค่าจ้างในที่สุด
"อยากให้คนข้างนอกลองมองเข้ามาว่าพวกเราเป็นคนที่ทำให้เชื้อแพร่กระจายแต่แรกหรือเปล่า หรือว่าจริง ๆ แล้วเชื้อมันแพร่กระจายจากคนที่ไปเที่ยวทำให้เข้ามาในชุมชน ก่อนหน้านี้การแพร่ระบาดในระลอกแรกและสองพวกเราแทบไม่ได้รับผลกระทบเลย แต่ระลอกนี้มันเข้าใกล้ตัวมากขึ้น มันเกิดมาจากคนที่เขามีเงินไปเที่ยว แต่คนจนอย่างเราต้องมารับผลกระทบด้วย" ดาระบายความรู้สึก
มีรายงานว่าสถานประกอบการ ร้านค้าและโรงงานบางแห่งมีนโยบายให้พักงานหรือเลิกจ้างลูกจ้างที่มีที่พักอาศัยอยู่ในชุมชนคลองเตย
"มีข้อมูลแชร์กันว่าอย่าสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันส่งอาหารต่าง ๆ เพราะมีคนคลองเตยทำงานเป็นคนส่งเยอะ" ครูประทีปกล่าว "สถานประกอบการหลายแห่งกลัวมาก กลัวจนก่อให้เกิดความเกลียดและเกิดอคติว่าคนพวกนี้ต้องเอาเชื้อมาแพร่แน่ ๆ ซึ่งมันไม่ควรเป็นแบบนั้น เราต้องไม่ให้ความกลัวมาบดบังความมีเมตตาและสติปัญญาของเรา"
วีรชัย ประธานชุมชนพัฒนาบ่อนไก่บอกกับบีบีซีไทยเช่นเดียวกันว่า คนส่วนใหญ่ในชุมชนประกอบอาชีพ ค้าขาย รองลงมาเป็นคนขับรถแท็กซี่-รถสามล้อ แม่บ้าน พนักงานรักษาความปลอดภัยและลูกจ้างบริษัทเอกชน แต่เวลานี้คนในชุมชนที่ไม่ได้ติดโควิด-19 ก็ได้รับผลกระทบหนักไปด้วยจากการไม่มีงานทำเพราะไม่มีใครจ้าง ส่วนคนที่ประกอบอาชีพค้าขายก็ ออกไปขายของไม่ได้
นอกจากนี้ในชุมชนยังมีคนต่างด้าวมาอาศัยอยู่ด้วย บางคนเป็นขอทาน ขายพวงมาลัย หรือรับจ้างขายแรงงานทั่วไปในตลาด
"อยากจะขอเรียกร้องให้ กทม. หรือสำนักงานเขตมาบริจาคถุงยังชีพ และหาข้าวกล่องให้คนที่ต้องกักตัว และอีกหนึ่งเรื่องก็คืออยากให้มีการควบคุมชาวต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่ของชาวต่างด้าวจะไม่มีบัตรอนุญาตการทำงาน" วีรชัยกล่าว
จิตอาสาเฉพาะกิจ
อนุสรา ปาลวัฒน์ ชาวชุมชนพัฒนาบ่อนไก่และอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัย ฐานเทพวารินทร์ ผันตัวเองจากการเป็นอาสาสมัครดับเพลิงมาให้ความช่วยเหลือคนในชุมชนของเธอในช่วงแห่งความยากลำบากนี้
อนุสราเปิดศูนย์รับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในช่วงแรก แต่ต่อมาพบว่าคนที่ไม่ติดเชื้อก็ประสบปัญหาหนักเช่นกันจากการตกงาน เธอจึงต้องเริ่มรับบริจาคอาหารให้ชาวชุมชนแทบทุกหลังคาเรือน
"ตอนนี้ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานนอกชุมชนเข้ามาบริจาคข้าวกล่องให้มื้อละ 200 กล่อง แต่ด้วยทีมเราเป็นจิตอาสากลุ่มเล็ก ๆ การแจกจ่ายก็กระจายไปไม่ถึงทุกคนในพื้นที่ เรายังต้องการอาสาสมัครมาช่วยเดินแจกจ่ายอาหาร" อนุสราบอกกับบีบีซีไทย
"เราทำได้แค่ช่วยบรรเทาปัญหาในเบื้องต้น ทำเท่าที่เรามีกำลังเพียงพอเท่านั้น แต่ชุมชนยังต้องการความช่วยเหลืออีกมาก"
ปัญหาหลักของชุมชนนี้คือความแออัด บ้านบางหลังมีสมาชิกอยู่ร่วมกันมากถึง 8 คนในพื้นที่เล็ก ๆ บางครอบครัวที่มีคนติดเชื้อโควิด-19 ก็ยากที่จะแยกกักตัว เป็นสาเหตุให้การแพร่กระจายของเชื้อเป็นไปได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว
ไร้การเยียวยา
ครูประทีปกล่าวว่านอกจากการตรวจหาเชื้อเชิงรุกและการฉีดวัคซีนแล้ว ตอนนี้ไม่มีความช่วยเหลือและกการเยียวยาใด ๆ จากทางภาครัฐเลย อาหารที่ส่งให้ชาวชุมชนในขณะนี้ก็มาจากคนบริจาคล้วน ๆ
"ที่ผ่านมามูลนิธิฯ ต้องช่วยแจกอาหารให้บ้านที่พบคนติดเชื้อ วันแรก ๆ ต้องเอาอาหารไปให้ประมาณ 300 บ้าน แต่ต่อมาพบว่ามีคนที่ตกงานเพิ่มขึ้น พวกเขาไม่มีเงินซื้ออาหารประทังชีวิต ทำให้ตอนนี้ต้องไล่แจกแทบทุกบ้าน" ครูประทีปกล่าวและบอกว่าข้าวของที่ยังต้องการรับบริจาคในขณะนี้ ได้แก่ หน้ากากอนามัยสำหรับเด็ก วิตามินซี น้ำยาฆ่าเชื้อ น้ำยาล้างจาน สบู่ ผงซักฟอก และอาหารแห้ง
"รัฐบาลต้องเยียวยา การนำเงินไปแจกตามมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ แบบนี้ถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกจุด คนในชุมชนแออัดที่กำลังเดือดร้อนหนัก ๆ แบบนี้ ก็เอาเงินไปเยียวยาช่วยเหลือพวกเขาเลย อย่างน้อย ๆ คนละ 5,000 บาทก็ยังดี" ครูประทีปเสนอ
วีรชัย ประธานชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ เห็นด้วยกับข้อเสนอของครูประทีป และเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาผู้ที่ไม่มีงานทำในชุมชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพวกเขาในช่วงที่ไม่มีรายได้
"สิ่งที่อยากเรียกร้องให้ทางรัฐบาลช่วยเหลือคือเงินสนับสนุนให้คนที่ไม่สามารถทำงานได้ จริงอยู่ว่าช่วงนี้พวกเขายังพอมีกิน แต่ถ้าเลยช่วงเวลานี้ไป เราไม่รู้ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ผมเชื่อว่าพวกเขาจะไม่มีอะไรกิน ในส่วนของเงินช่วยเหลือผ่านโครงการต่าง ๆ ผมว่ามันน้อยไป เพราะคนกลุ่มที่เคยทำงานได้เราไม่รู้เลยว่าพวกเขาจะได้กลับไปทำงานเมื่อไหร่ และจะได้กลับไปทำงานหรือไม่" วีรชัยกล่าว
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar