ราชวงศ์ซูลูกำลังดำดิ่งสู่ความขัดแย้ง ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชาธิบดีกูดวิลล์ ซเวลิทีนี และผู้สำเร็จราชการ

สมาชิกราชวงศ์และกลุ่มกบฏเปิดศึกชิงบัลลังก์ หลังกษัตริย์ซูลูเสด็จสวรรคต

สมเด็จพระราชาธิบดีกูดวิลล์ ซเวลิทีนี ทรงครองราชย์มานานเกือบ 50 ปี

ที่มาของภาพ, Sowetan/Getty

คำบรรยายภาพ,

สมเด็จพระราชาธิบดีกูดวิลล์ ซเวลิทีนี ทรงครองราชย์มานานเกือบ 50 ปี

ราชวงศ์ของชนเผ่าซูลูในประเทศแอฟริกาใต้ กำลังเผชิญกับความขัดแย้ง หลังสมเด็จพระราชาธิบดีกูดวิลล์ ซเวลิทีนี เสด็จสวรรคต จากนั้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา สมเด็จพระราชินีซึ่งทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการก็เสด็จสวรรคตอีกพระองค์หนึ่ง

เรื่องนี้ได้นำไปสู่การแย่งชิงราชบัลลังก์กันอย่างดุเดือด สมาชิกราชวงศ์กำลังต่อสู้กันในชั้นศาล ต่อว่าด่าทอกันอย่างเปิดเผย และมีข่าวลือแพร่สะพัดถึงการวางยาพิษผู้ที่เป็นศัตรู

พูมซา ฟิชลานี ผู้สื่อข่าวบีบีซี ในนครโจฮันเนสเบิร์ก ไล่เรียงถึงตัวละครสำคัญในศึกชิงราชบังลังก์ซูลูนี้ :

พ่อของแผ่นดิน : สมเด็จพระราชาธิบดีกูดวิลล์ ซเวลิทีนี

ประสูติเมื่อ14 ก.ค. 1948 พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 8 ของเผ่าซูลู ก่อนที่พระองค์จะทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาในปี 1971 พระองค์จำต้องหลบซ่อนตัวนาน 3 ปี หลังคำขู่ปลงพระชมน์หลายครั้ง

พระองค์ทรงได้รับการขนานนามว่า อิซิโล ซามาบันดลา ออนเค (Isilo Samabandla Onke) หรือแปลคร่าว ๆ ได้ว่า "กษัตริย์ของกษัตริย์ซูลูทั้งมวล" เป็นองค์ทายาทสายตรงของกษัตริย์เคตชวาโย ผู้นำเผ่าซูลูกระหว่างสงครามต่อต้านกองทัพอังกฤษในปี 1879

พระองค์ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม 28 พระองค์จากพระชายา 6 คน สำหรับผู้คนจำนวนมากยกย่องกษัตริย์องค์นี้ ว่าเป็นผู้ยึดถือวัฒนธรรมหลายอย่างที่มีการปฏิบัติกันมายาวนาน ในช่วงที่พระองค์ทรงครองราชย์อยู่นั้นได้มีการรื้อฟื้นการเต้นระบำต้นกก หรือที่เรียกว่า Umhlanga ขึ้นมาในปี 1991

ผู้หญิงที่เข้าร่วมระบำต้นกก

ที่มาของภาพ, Sowetan/Getty

คำบรรยายภาพ,

การเต้นระบำต้นกก จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ที่พระราชวังเอนโยเคนี ในเมืองควาซูลู-นาทาล

หญิงสาวเผ่าซูลูที่ยังไม่ได้แต่งงานหลายร้อยคนเข้าร่วมในพิธีดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองพรหมจรรย์ แต่กษัตริย์ซเวลิทีนี ตรัสว่า พิธีนี้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้เกี่ยวกับเอชไอวีและเอดส์ในควาซูลู-นาทาล ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีอัตราการติดเชื้อเอชไอวีสูงที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ

กษัตริย์ซเวลิทีนี เสด็จสวรรคตที่โรงพยาบาล เมื่อ12 มี.ค. ขณะรักษาพระอาการประชวรที่เกี่ยวข้องกับพระโรคเบาหวาน พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดของซูลู คือเกือบ 50 ปี

หลังพิธีฝังพระบรมศพ ได้มีการอ่านพระราชพินัยกรรมของพระองค์ซึ่งจัดขึ้นเป็นการส่วนพระองค์ในหมู่สมาชิกราชวงศ์ซูลู โดยพระราชพินัยกรรมนี้ได้กลายศูนย์กลางแห่งความขัดแย้งภายในสมาชิกราชวศ์ในขณะนี้ โดยเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ทรงอ้างว่า พระราชพินัยกรรมนี้ถูกปลอมแปลงขึ้นมา

ผู้วางตัวกษัตริย์: สมเด็จพระราชินีมันต์ฟอมบี ดลามินี-ซูลู

จากพระพินัยกรรม สมเด็จพระราชาธิบดีซเวลิทีนี ทรงเลือกให้สมเด็จพระราชินีมันต์ฟอมบี ดลามินี ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการของชนเผ่าทีมีประชากร 11 ล้านคน

สมเด็นพระราชินีดลามินี-ซูลู ทรงครองบัลลังก์มาตลอด 3 เดือนของการไว้อาลัย ผู้คนคาดการณ์ว่า พระองค์จะทรงประกาศพระนามของกษัตริย์พระองค์ใหม่ที่จะเสด็จขึ้นครองราชย์ แต่พระองค์กลับเสด็จสวรรคตก่อน

สมเด็จพระราชินีมันต์ฟอมบี ดลามินี-ซูลู

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ,

มีการกล่าวหาว่า สมเด็จพระราชินีมันต์ฟอมบี ดลามินี-ซูลู ทรงถูกวางยาพิษ

พระองค์ทรงเป็นพระเชษฐภคินี (พี่สาว) ของสมเด็จพระราชาธิบดีอึมสวาตีที่ 3 แห่งเอสวาตีนี ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับกษัตริย์แห่งซูลูในปี 1977

การที่พระองค์ทรงเป็นสมาชิกราชวงศ์ ทำให้สมเด็จพระราชินีดลามินี-ซูลู ทรงได้ครองตำแหน่ง "พระอัครชายา" พระองค์ทรงมีองค์ทายาทกับกษัตริย์ซูลูที่เสด็จสวรรคตไปแล้วรวม 8 พระองค์

พระองค์ได้รับการปฏิบัติต่างจากพระชายาพระองค์อื่น ๆ ของกษัตริย์ซูลู กล่าวคือ ชนเผ่าซูลูต้องจ่ายค่าสินสอดให้พระองค์เป็นวัว 300 ตัว ซึ่งมีการเก็บรวบรวมมาจากสมาชิกในชนเผ่า

นักประวัติศาสตร์หลายคนระบุว่า ด้วยสถานะที่สูงส่งนี้ทำให้พระองค์มีสถานะเป็นผู้อาวุโสแห่งราชวงศ์

การแต่งตั้งพระองค์ให้เป็นผู้สำเร็จราชการทำให้มีการคาดเดากันมากขึ้นว่า เจ้าชายมิซูซูลู พระราชโอรสพระองค์โตของพระองค์ จะได้เป็นกษัตริย์องค์ต่อไป แต่สมาชิกราชวงศ์ก็ยังไม่ได้ยืนยันเรื่องนี้

เพียงหนึ่งเดือนหลังทรงรับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ สมเด็จพระราชินีพระชนมายุ 65 พรรษาเสด็จสวรรคตจาก พระอาการประชวรที่ไม่ได้มีการเปิดเผย พระศพของพระองค์ทรงถูกฝังเมื่อ 6 พ.ค. ที่ผ่านมา การสวรรคตโดยไม่มีใครคาดคิดเมื่อ 29 เม.ย. ทำให้เกิดคำถามขึ้นมากมายที่ยังไม่ได้รับคำตอบ และทำให้เกิดข่าวลือขึ้นว่าเกิดจากแผนการลอบปลงพระชนม์

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พระองค์ทรงใช้เวลาอยู่ในเอสวาตีนีมากขึ้น คาดว่าเพื่อทรงรักษาพระวรกาย

พระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีมันต์ฟอมบี ดลามีนี-ซูลู ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 พระองค์ทรงเป็นพระเชษฐภคินีของสมเด็จพระราชาธิบดีอึมสวาตีที่ 3 แห่งเอสวาตีนี

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

พระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีมันต์ฟอมบี ดลามีนี-ซูลู ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 พระองค์ทรงเป็นพระเชษฐภคินีของสมเด็จพระราชาธิบดีอึมสวาตีที่ 3 แห่งเอสวาตีนี

ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระราชาธิบดีซเวลิทีนี ทรงให้เหตุผลของการไม่ปรากฏตัวต่อชาวซูลูของสมเด็จพระราชินีว่า เพราะ พระราชินีถูกวางยาพิษ

มันโกซูทู บูเทเลซี นายกรัฐมนตรีตามประเพณีชนเผ่าซูลู ระบุในแถลงการณ์ที่ออกมาในสัปดาห์นี้ว่า "สมเด็จพระราชาธิบดีฯ ตรัสต่อหน้าประชาชนหลายร้อยคนในเดือน ธ.ค. ปี 2017 ขณะที่เราออกมารวมตัวกันเพื่อฉลองการครองราชย์ [ครบ 46 ปี] ของพระองค์ ต่อหน้าประชาชนเหล่านี้ พระองค์ตรัสว่า 'มเนมทาเนนโกซี ถูกวางยาพิษ นั่นคือเหตุผลที่เธอไม่ได้อยู่กับเราที่นี่'"

ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกล่าวอ้างเรื่องวางยาพิษในปี 2017 แต่เข้าใจว่า สมเด็จพระราชินีเสด็จเข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้งหลังจากเกิดเหตุดังกล่าว

นักรบซูลูที่พิธีศพของสมเด็จพระราชาธิบดีกูดวิลล์ ซเวลิทีนี คาเบกูซูลู เมื่อ 18 มี.ค. 2021 ในแอฟริกาใต้

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ชาวซูลูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกาใต้

ขณะนี้สาเหตุการสวรรคตของสมเด็จพระราชินียังไม่ชัดเจน บูเทเลซี กล่าวว่า ได้มีการชันสูตรพระศพเพื่อหาสาเหตุการสวรรคตแล้ว และคาดว่าจะทราบผลภายใน 2-3 สัปดาห์นี้

"ตอนที่ผมประกาศข่าวการสวรรคตของผู้สำเร็จราชการ ผมกล่าวเป็นภาษาซูลู อธิบายว่า แพทย์ไม่ต้องการถวายการผ่าตัดเพราะสารพิษที่พบในพระยกนะ (ตับ) ของพระองค์ จำเป็นต้องถวายการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเพื่อลดการติดเชื้อลง สารพิษเป็นคนละเรื่องกับยาพิษ" นี่คือคำพูดของเขาที่มีการอ้างถึงเมื่อวันจันทร์ ท่ามกลางข่าวลือว่า พระองค์ทรงถูกวางยาพิษอีกรอบหนึ่ง

พระราชินีที่ตาสว่าง : ซิบองกิล ดลามินี

พระชายาองค์แรกของสมเด็จพระราชาธิบดีซเวลิทีนี พระองค์ทรงฟ้องศาลขอสิทธิ์ในสมบัติครึ่งหนึ่งของสมเด็จพระราชาธิบดีซเวลิทีนี ซึ่งรวมถึงบ้านหลายหลังและที่ดินทำเลดีจำนวนมากทั่วจังหวัดควาซูลู-นาทาล ที่สมเด็จพระราชาธิบดีทรงเป็นผู้ดูแล

ยังไม่แน่ชัดว่า กษัตริย์ซูลูทรงมีเงินสดมากแค่ไหน รัฐบาลควาซูลู-นาทาล มอบเงินรายปีให้สำนักพระราชวัง 71 ล้านแรนด์ หรือประมาณ 152 ล้านบาท

สมเด็จพระราชินีดลามินี ตรัสว่า มีเพียงพระองค์เท่านั้นที่ได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชาธิบดีถูกต้องตามกฎหมาย จึงมีสิทธิ์ครองครองทรัพย์สินร่วมกัน

พระองค์ทรงมีพระประสงค์ให้ศาลมีคำสั่งกันพระชายาอีก 5 พระองค์ซึ่งเป็นการเข้าพิธีอภิเษกสมรสตามประเพณีออกไป เพื่อที่จะไม่ให้พระชายาเหล่านั้นเข้ามาได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์สินเท่ากับพระองค์ ให้ศาลยอมรับพระองค์ว่าเป็นพระชายาตามกฎหมายเพียงพระองค์เดียว และให้ห้ามผู้ที่ไม่ได้มาจากตระกูลของพระองค์ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ต่อไป

พระชายา 3 พระองค์ของอดีตกษัตริย์แห่งซูลู ในพิธีรำลึกถึงพระองค์เมื่อเดือน มี.ค.

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ,

พระชายา 3 พระองค์ของอดีตกษัตริย์แห่งซูลู ในพิธีรำลึกถึงพระองค์เมื่อเดือน มี.ค.

พระองค์ตรัสว่า ความจริงแล้ว พระองค์ทรงมีตำแหน่ง "พระอัครชายา" หรือ "อุดลุนกูลู" ในภาษาซูลู เพราะเป็นพระชายาพระองค์แรกของกษัตริย์ที่เข้าพิธีอภิเษกสมรสตามกฎหมายแพ่งซึ่งไม่ยอมรับการมีคู่สมรสหลายคน

ในการพระราชทานคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาล สมเด็จพระราชินีดลามินี ยังทรงเปิดเผยด้วยว่า พระองค์ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชาธิบดีซเวลิทีนี ตามธรรมเนียมปฏิบัติโบราณที่เรียกว่า "อูคูทวาลา" (การลักพาตัวไปแต่งงาน) ขณะพระองค์ทรงมีชนมายุ 20 พรรษา

"ในกรณีของข้าพเจ้า มีการนำตัวข้าพเจ้ามาที่บ้านของอิซีโลที่เสด็จสวรรคตไปแล้วตามธรรมเนียมอูคูทวาลา เพื่อที่จะได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับพระองค์ หลังจากนั้นพระองค์จึงจะสามารถขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ของชนเผ่าซูลูได้" สมเด็จพระราชินีทรงระบุ

พระองค์ทรงอ้างว่า ทรัพย์สินของสำนักพระราชวังเป็นของพระองค์และอดีตกษัตริย์ซูลูในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน และความพยายามใด ๆ ในการทำลายสิทธิ์นี้ "เสมือนว่า เป็นทรัพย์สินของอิซีโลที่เสด็จสวรรคตไปแล้วแต่เพียงพระองค์เดียวจะไม่มีผลและไม่ได้รับการยอมรับตามกฎหมาย"

ขณะที่ในการฟ้องศาลอีกคดีหนึ่ง พระราชธิดา 2 พระองค์ของสมเด็จพระราชินีดลามินี กำลังฟ้องกรณีความถูกต้องพระราชพินัยกรรมของกษัตริย์ซูลูและอ้างว่า ทั้งสองพระองค์มีเหตุผลที่จะทรงเชื่อว่า มีการปลอมแปลงพระราชพินัยกรรมขึ้น และยังได้สนับสนุนการอ้างกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของสมเด็จพระราชินีดลามินีด้วย

เจ้าชายที่สิ้นชีพ : เลทูกูทูลา

มีการเก็งกันมาหลายปีแล้วว่า กษัตริย์แห่งซูลูจะทรงเลือกเจ้าชายเลทูกูทูลา พระราชโอรสพระองค์โตของพระองค์ เป็นองค์รัชทายาท เจ้าชายเป็นพระราชโอรสของพระชายาพระองค์แรกของกษัตริย์ซูลูที่สวรรคต

แต่เจ้าชายสิ้นพระชนม์เมื่อเดือน พ.ย. จากสภาพการณ์ที่ยังเป็นปริศนา สมาชิกราชวงศ์บางส่วนทรงเชื่อว่า การสิ้นพระชนม์ของพระองค์อาจเป็นความพยายามในสกัดไม่ให้พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์

เจ้าชายเลทูกูทูลา

ที่มาของภาพ, KwaZulu-Natal government/Twitter

คำบรรยายภาพ,

การสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายเลทูกูทูลา ยังมีปริศนาที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย

ผู้ต้องสงสัย 5 คน เป็นผู้หญิง 4 คนอายุระหว่าง 27-42 ปี และผู้ชาย 1 คน อายุ 32 ปี ถูกจับกุมตัวในกรุงพริทอเรียฐานฆาตกรรมเจ้าชายซึ่งมีพระชันษา 50 ปี

รายงานเบื้องต้นกล่าวหาว่า ขณะพระองค์กำลังทรงมีพระเกษมสำราญกับผู้ต้องสงสัยเหล่านี้ที่บ้าน พวกเขาและเธอได้วางยาและขโมยทรัพย์พระองค์และหุ้นส่วนทางธุรกิจของพระองค์ ต่อมาพบว่าเจ้าชายสิ้นพระชมน์ส่วนหุ้นส่วนทางธุรกิจของพระองค์ถูกพบนอนหลับอยู่ในอีกห้องหนึ่ง

ขณะนี้การสอบสวนการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ยังดำเนินต่อ จึงยังไม่มีคำสั่งให้ผู้ต้องสงสัยเหล่านี้ให้การตอบรับหรือปฏิเสธต่อข้อหา

มีการอ้างคำพูดของโฆษกสำนักพระราชวังในตอนนั้นว่า ไม่สามารถที่จะถวายการรักษาความปลอดภัยแก่พระราชโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์ของกษัตริย์ได้ เพราะจะต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล และจะเป็น "ฝันร้าย"

"กบฏเชื้อพระวงศ์" : เจ้าชายอึมโบนีซี และเจ้าหญิงเทมบี

หลายวันหลังการสวรรคตของกษัตริย์ซูลู เจ้าชายอึมโบนีซีและเจ้าหญิงเทมบี พระราชอนุชาและพระราชขนิษฐาของพระองค์ ทรงถูกกล่าวหาว่า ได้จัดประชุมลับ ดูเหมือนทั้งสองพระองค์จะทรงไม่สนับสนุนการแต่งตั้งสมเด็จพระราชินีดลามีนี-ซูลี เป็นผู้นำชั่วคราว

เจ้าหญิงเทมบี

ที่มาของภาพ, African News Agency (ANA)

คำบรรยายภาพ,

เจ้าหญิงเทมบี ทรงปฏิเสธการวางแผนโค่นล้ม

ข่าวการประชุมลับทำให้เกิดความไม่สบายพระทัยขึ้นในหมู่สมาชิกราชวงศ์บางส่วน ซึ่งเชื่อว่า ทั้งสองพระองค์ทำให้เกิดความแตกแยกขึ้น

แต่เจ้าชายและเจ้าหญิงต่างปฏิเสธว่า การกระทำของพระองค์ไม่ได้เป็นการมุ่งร้าย ทรงระบุเป็นการหารือว่า จะสนับสนุนงานของผู้สำเร็จราชการพระองค์ใหม่อย่างไร และตั้งพระทัยที่จะรายงานให้แก่สมาชิกราชวงศ์พระองค์อื่น ๆ ทรงทราบ

ทั้งสองพระองค์ทรงรักษาระยะห่างจากการมีส่วนร่วมกับการสวรรคตของสมเด็จพระราชินี

"ผู้คนคิดว่าเราคือฆาตกร" เจ้าหญิงเทมบี ตรัสกับสื่อท้องถิ่นเมื่อ 2 พ.ค. ในงานแถลงข่าวที่จัดขึ้นอย่างกะทันหัน ท่ามกลางความแตกแยกในหมู่สมาชิกราชวงศ์เกี่ยวกับเรื่องกษัตริย์พระองค์ใหม่

พระองค์ตรัสเพิ่มเติมว่า พวกเขา "ไม่ได้วางแผนโค่นล้มใคร" และแสดงความรู้สึกเจ็บปวดพระทัยในช่วงท้าย

กระบอกเสียง : มันโกซูทู บูเทเลซี นายกรัฐมนตรีตามประเพณี

นับตั้งแต่การสวรรคตของกษัตริย์ซเวลิทีนี นายกรัฐมนตรีบูเทเลซี ได้พูดถึงเรื่องพัฒนาการภายในสมาชิกราชวงศ์

เขาถูกมองว่าเป็นนายกรัฐมนตรีตามประเพณีของกษัตริย์ผู้ล่วงลับ และมีบทบาทสำคัญในการประกาศการสวรรคตของพระองค์และผู้สำเร็จราชการ รวมถึงการประกาศให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับการเตรียมพระราชพิธีศพ

มันโกซูทู บูเทเลซี (ขวา) นายกรัฐมนตรีตามประเพณี เป็นลุงของสมเด็จพระราชาธิบดีกูดวิลล์ ซเวลิทีนี (ซ้าย)

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

มันโกซูทู บูเทเลซี (ขวา) นายกรัฐมนตรีตามประเพณี เป็นลุงของสมเด็จพระราชาธิบดีกูดวิลล์ ซเวลิทีนี (ซ้าย)

แต่บทบาทของเขาทำให้เจ้าชายและเจ้าหญิงบางพระองค์ทรงไม่พอพระทัย โดยทรงกล่าวหาเขาว่า ปิดปากคนที่ต่อต้าน เป็นเผด็จการ และโต้แย้งคำกล่าวอ้างของเขาที่ว่า เขาเป็นนายกรัฐมนตรีตามประเพณีหรือเป็นประธานที่ปรึกษาของสมเด็จพระราชาธิบดีซเวลิทีนี

"เวลาของเขา [ในการเป็นนายกรัฐมนตรีตามประเพณี] ยุติลงไปนานแล้ว เหตุผลที่เขายังคงอยู่ในตำแหน่งนี้เพราะเราเคารพเขา" นี่คือคำพูดที่มีการอ้างว่าเป็นของเจ้าหญิงเทมบี

ขณะที่บูเทเลซีเพิกเฉยต่อคำพูดดังกล่าว โดยระบุว่า เจ้าหญิงทรงเป็น "พระธิดานอกสมรสของสมเด็จพระราชาธิบดีไซเปรียน ซึ่งเป็นญาติของเขา" และยังเรียกเจ้าชายอึมโบนีซีว่าเป็นผู้ที่สมเด็จพระราชาธิบดีซเวลิทีนีทรงใช้ "ทำธุระต่าง ๆ"

ยังไม่แน่ชัดว่า ความขัดแย้งเรื่องกษัตริย์พระองค์ใหม่จะแก้ไขอย่างไร และเมื่อไหร่จะมีการเลือกกษัตริย์พระองค์ใหม่

แต่มีแรงกดดันมหาศาลต่อสมาชิกราชวงศ์ให้จัดการเรื่องนี้อย่างสันติ และด้วยวิธีที่สง่างาม

สถาบันกษัตริย์ของซูลูคงอยู่มานานหลายร้อยปีแล้ว และชาวซูลูจำนวนมากให้การเคารพนับถือ