ธรรมนัส ไม่พ้น ส.ส.-รมต. ศาลรัฐธรรมนูญชี้เอาคำพิพากษา ตปท. มาบังคับไม่ได้ หวั่นกระทบ "อำนาจอธิปไตยทางศาลของไทย"
.
"หากตีความว่าเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุด
หมายรวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วย ทำให้ไม่อาจกลั่นกรอง
หรือตรวจสอบความชอบในหลักนิติธรรมของกระบวนการพิจารณาของศาลประเทศดังกล่าว
และขัดต่อหลักการต่างตอบแทน กล่าวคือศาลต่างประเทศไม่ต้องบังคับ
หรือยอมรับคำพิพากษาของศาลไทย
ทำให้อำนาจอธิปไตยทางศาลของไทยถูกกระทบกระเทือนอย่างมีนัยสำคัญ"
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุตอนหนึ่ง
.
อ่านเพิ่มเติมที่นี่ https://bbc.in/3emxJBk
ธรรมนัส ไม่พ้น ส.ส.-รมต. ศาลรัฐธรรมนูญชี้เอาคำพิพากษา ตปท. มาบังคับไม่ได้ หวั่นกระทบ “อำนาจอธิปไตยทางศาลของไทย”
ศาลรัฐธรรมนูญยก "หลักอธิปไตย" ของประเทศมาเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ลงมติว่า ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่ต้องพ้นจากสถานภาพ ส.ส. และรัฐมนตรี เนื่องจากต้องคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศ ไม่ใช่ศาลไทย
เวลา 15.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีนายวรวิทย์ กังศศิเทียม เป็นประธาน ออกนั่งบัลลังก์เพื่ออ่านคำวินิจฉัย คดีสมาชิกภาพ ส.ส. และความเป็นรัฐมนตรีของ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมอบหมายให้นายนภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย โดยใช้เวลาเพียง 15 นาที
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า สมาชิกภาพของ ส.ส. ของผู้ถูกร้อง (ร.อ. ธรรมนัส) ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10)
ข้อกฎหมาย-ข้อเท็จจริงทางคดีเบื้องต้น
การอ่านคำวินิจฉัยคดีนี้ เริ่มต้นด้วยการไล่เรียงข้อกฎหมายที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยมาตรา 101 (6) บัญญัติว่าสมาชิกภาพของ ส.ส. สิ้นสุดลงเมื่อมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (10) โดยที่มาตราหลังได้กล่าวถึงลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หากเคย "ต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด" ว่ากระทำความผิดในคดีต่าง ๆ หนี่งในจำนวนนั้นคือ "กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิด ฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า"
ศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือเรียกสำนำคำพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2537 และสำเนาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2538 และเอกสารหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องจากผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ทว่าบุคคลทั้งสามฝ่าย "ไม่สามารถส่งสำเนาคำพิพากษาดังกล่าว และเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องที่ทางราชการรับรองได้ถูกต้อง"
ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องเป็น ส.ส. พะเยา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ก่อนสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ผู้ถูกร้องรับว่าตนเคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย
เอาคำพิพากษา ตปท. มาบังคับในไทยไม่ได้ เหตุ "ขัดหลักอธิปไตย-ต่างตอบแทน"
คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดประเด็นที่ต้องวินิจฉัยไว้ 2 ประเด็น
ประเด็นแรก สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด
ข้อต้องพิจารณาคือคำว่า "เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุด" ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) หมายถึงคำพิพากษาของศาลไทยเท่านั้นหรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 3 บัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี (ครม.) และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และวรรคสองบัญญัติรัฐสภา ครม. และศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนร่วมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม
จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญได้ระบุถึง "อำนาจอธิปไตย" ไว้ ดังนี้
- อำนาจอธิปไตยอันเป็นอำนาจปกครองสูงสุดของประเทศ
- ลักษณะของอำนาจอธิปไตยคือ "มีความเด็ดขาดสมบูรณ์ ไม่อยู่ในอาณัติ หรืออยู่ภายใต้อำนาจของรัฐอื่น"
- แบ่งแยกตามลักษณะหน้าที่ 3 ส่วน ได้แก่ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ "โดยการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นการใช้อำนาจตุลาการอันเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตย ย่อมต้องไม่ตกอยู่ในอาณัติ หรือภายใต้อำนาจของตุลาการของรัฐอื่น"
- หลักการปกครองของประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์มีหลักการสำคัญคือ "ไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น และไม่ถูกประเทศอื่นแทรกแซงกิจการภายในของตนโดยไม่มีการทำข้อตกลงยินยอม ดังนั้นการบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศก็ดี การตีความให้คำพิพากษาของต่างประเทศมีสถานะที่ทางกฎหมายเช่นเดียวกับศาลไทย จึงไม่สอดคล้องกับหลักดังกล่าว"
- หลักอธิปไตยของรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศ คำพิพากษาของศาลรัฐใด ก็จะมีผลในดินแดนของรัฐนั้น ในบางกรณีรัฐใดรัฐหนึ่งอาจให้การรับรองคำพิพากษาของอีกรัฐหนึ่ง และอาจบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษานั้นได้ แต่ต้องมีการทำสนธิสัญญารับรองบังคับตามคำพิพากษาตามหลักการต่างตอบแทน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีแพ่ง คดีครอบครัว และคดีมรดก สำหรับคดีอาญา อาจได้รับการยอมรับพิจารณาบ้าง กรณีส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือการโอนนักโทษ
"ดังนั้นทั้งหลักการและทางปฏิบัติของรัฐเกี่ยวกับการใช้อำนาจตุลาการ จึงได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ เพื่อยืนยันหลักการความเป็นอิสระของตุลาการ และความศักดิ์สิทธิ์ของคำพิพากษา เมื่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีการกล่าวถึงคำพิพากษา จึงย่อมต้องหมายถึงคำพิพากษาของศาลแห่งรัฐหรือประเทศนั้นเท่านั้น ไม่รวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ" นายนภดลกล่าว
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญระบุต่อไปว่า การตราบทบัญญัติอาญาของแต่ละประเทศ กำหนดการกระทำที่เป็นความผิด องค์ประกอบความผิด ฐานความผิด และเงื่อนไขการลงโทษไว้แตกต่างกัน
"หากตีความว่าเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุด หมายรวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วย ทำให้ไม่อาจกลั่นกรอง หรือตรวจสอบความชอบในหลักนิติธรรมของกระบวนการพิจารณาของศาลประเทศดังกล่าว และขัดต่อหลักการต่างตอบแทน กล่าวคือศาลต่างประเทศไม่ต้องบังคับ หรือยอมรับคำพิพากษาของศาลไทย ทำให้อำนาจอธิปไตยทางศาลของไทยถูกกระทบกระเทือนอย่างมีนัยสำคัญ" นายนภดลกล่าว
แม้ข้อเท็จจริงทางคดีฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องเคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย ก่อนสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แต่ไม่ใช่คำพิพากษาของศาลไทย ผู้ถูกร้องจึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(10) สมาชิกสภาพของ ส.ส. ของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10)
สถานะ รมต. ก็ยังอยู่
ประเด็นที่สอง ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด
เมื่อศาลได้วินิจฉัยในประเด็นหนึ่งไว้แล้วว่าไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตาม 98 (10) จึงไม่มีเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 160 (6) ความเป็นรัฐมนตรีมาสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4)
คดีนี้เป็นผลสืบเนื่องจากกรณี ส.ส. 51 ราย เข้าชื่อร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสถานะทางการเมืองของ ร.อ. ธรรมนัส จากกรณีเคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายอันถึงที่สุดว่าได้กระทำผิดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้าซึ่งยาเสพติด ที่แม้เป็นคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ แต่ ส.ส. ฝ่ายค้านเห็นว่าทำให้ ร.อ. ธรรมนัส เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส. และความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง
คณะตุลาการรัฐธรมนูญได้นัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ ก่อนออกนั่งบัลลังก์ในช่วงบ่าย ซึ่ง ร.อ. ธรรมนัส ไม่ได้เดินทางมายังสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการอาคารเอ ถ.แจ้งวัฒนะ แต่ส่งทนายความมาเป็นตัวแทนรับฟังคำวินิจฉัยแทน
ร.อ. ธรรมนัส วัย 55 ปี เป็น ส.ส.พะเยา เขต 1 พปชร., รมช.เกษตรและสหกรณ์ และรองหัวหน้าพรรคฝ่ายปฏิบัติการ ซึ่งนิยามตัวเองเป็น "คนใจนักเลง" และ "เส้นเลือดใหญ่ของรัฐบาล" เนื่องจากได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า พปชร. ให้รับหน้าที่ประสานงานการเมืองในหลายเรื่อง
รัฐมนตรีรายนี้เคยถูกฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อต้นปี 2563 โดยกล่าวหาว่าขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี จากกรณีเข้าไปพัวพันกับคดียาเสพติดตามคำพิพากษาของศาลออสเตรเลียเมื่อปี 2537 แต่สุดท้ายก็รอดศึกซักฟอกมาได้ เมื่อเพื่อน ส.ส. ร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่ลงมติ "ไว้วางใจ" ให้แก่เขา
ปฏิกริยาหลังคำวินิจฉัย
หลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โลกโซเชียลอื้ออึงไปด้วยปฏิกริยาต่อคำตัดสินนี้ มีมล้อเลียนคำตัดสินออกมามากมาย และแฮชแท็กที่เกี่ยวข้อง 2 ชิ้น คือ #ธรรมนัส และ #มันคือแป้ง กำลังเทรนดิ้งทางทวิตเตอร์
ด้าน หนังสือพิมพ์ซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์ (SMH) ของออสเตรเลีย ที่ขุดคุ้ยข่าว ร.อ.ธรรมนัส ตั้งแต่ ก.ย. 2562 ได้รายงานข่าวคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเป็น ข่าวด่วน เบรกกิงนิวส์ พร้อมใส่ความเห็นนักวิเคราะห์ฝีปากกล้า 2 คน คือ วรนัยน์ วาณิชกะ บรรณาธิการเว็บไซต์ข่าว Disrupt และ สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษา ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ประจำประเทศไทย
"ในรอบ 1 ปีครึ่งทีผ่านมา รมช. ธรรมนัส มีบทบาททางการเมืองที่สำคัญและเป็นมือประสานหลักของระบอบประยุทธ์... เขามีค่ามาก(เกินกว่าที่จะถูกกำจัด) ตัวเขารู้ดี และระบอบนี้ก็รู้ดี คนไทยก็รู้เรื่องนี้ คำวินิจฉัยนี้ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไร" วรนัยน์ กล่าว
SMH อ้างความเห็นของ สุณัยว่า "คำวินิจฉัยที่น่าตกใจยิ่งของศาลรัฐธรรมนูญนี้ จะทำให้บรรดาอาชญากรทั้งหลายที่ถูกพิพากษาคดีในศาลประเทศอื่น สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ในประเทศไทยอย่างไร้กังวล อาชญากรรมที่คนพวกนี้ก่อไว้ในต่างแดน ไม่ว่าจะร้ายแรงแค่ไหน ไม่มีความหมายในกระบวนการยุติธรรมของไทย"
ส.ส. คนไหนพ้นจากเก้าอี้ด้วยคำวินิจฉัยศาล รธน. บ้าง
ตลอดเวลากว่า 2 ปีของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 มี ส.ส. อย่างน้อย 4 คนต้องพ้นจากตำแหน่ง ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
- 13 พ.ย. 2562 ศาลวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ ส.ส. ของนายนวัธ เตาะเจริญสุข ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย (พท.) สิ้นสุดลง หลังศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษาประหารชีวิต ในคดีจ้างวานฆ่านายสุชาติ โคตรทุม อดีตปลัด อบจ.ขอนแก่น โดยศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี จึงเข้าข่ายว่า "ถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล" แล้ว
- 19 พ.ย. 2562 ศาลวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ ส.ส. ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) สิ้นสุดลง จากกรณีเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วีลัค-มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชนในวันที่ 6 ก.พ. 2562 อันเป็นวันที่ อนค. ยื่นบัญชีผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อต่อ กกต. โดยถือเป็นลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.
- 28 ต.ค. 2563 ศาลวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ ส.ส. ของ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (กก.) สิ้นสุดลง เนื่องจากปรากฏหลักฐานว่าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท เฮดอัพ โปรดักชั่น และบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชน ในวันที่ 6 ก.พ. 2562 อันเป็นวันที่ อนค. (ต้นสังกัดเดิม) ยื่นบัญชีรายชื่อสมัครรับเลือกตั้งต่อ กกต.
- 27 ม.ค. 2564 ศาลวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ ส.ส. ของนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) สิ้นสุดลง หลังศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชพิพากษาจำคุก 2 ปี ไม่รอการลงโทษ และเพิกถอนสิทธิการเมือง 10 ปี ในคดีร่วมทุจริตเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช เมื่อปี 2557
ที่มา: บีบีซีไทยรวบรวม
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar