ราษฎร: ศาลให้ประกันตัว รุ้ง-ปนัสยา ส่วนราชทัณฑ์ย้ายเพนกวินกลับเข้า รพ.เรือนจำ ยืนยันอานนท์ติดโควิด

ปนัสยาชูสามนิ้วทักทายคนที่มาให้กำลังใจ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

ปนัสยาชูสามนิ้วทักทายคนที่มาให้กำลังใจเธอที่ศาลอาญาเมื่อวันที่ 15 มี.ค.

ศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัว รุ้ง-ปนัสยา แกนนำการชุมนุมทางการเมืองที่เรียกตัวเองว่า "ราษฎร" ซึ่งตกเป็นจำเลยคดี 112 ขณะที่ เพนกวิน กับ แอมมี่ ยังไม่ได้รับอิสรภาพกลับคืนมาเมื่อศาลเลื่อนการไต่สวนออกไป เหตุยังกักตัวไม่ครบ 14 วัน อีกทั้งกรมราชทัณฑ์ยังส่งตัวเพนกวินกลับเข้า รพ. ภายในเรือนจำด้วย

2 แกนนำคนสำคัญของกลุ่มราษฎรคือ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ และนายอานนท์ นำภา ถูกส่งตัวไปรับการรักษาภายใน รพ.ราชทัณฑ์ วันนี้ (6 พ.ค.) โดยคนแรกย้ายออกจาก รพ.รามาธิบดี ด้วยเหตุผลว่า "ได้รับการรักษาจนดีขึ้น ร่างกายฟื้นฟูตัวเองได้" หลังอดอาหารประท้วงกระบวนการยุติธรรม ส่วนคนหลังกลายเป็นผู้ป่วยโควิด-19 รายล่าสุดของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

เวลา 10.00 น. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราว นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน จำเลยที่ 1, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง จำเลยที่ 5 และนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธ์ หรือแอมมี่ เดอะ บอททอมบูลส์ จำเลยที่ 17 ในคดีชุมนุมการเมืองที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และปักหมุด "คณะราษฎร" ที่ท้องสนามหลวง เมื่อ 19-20 ก.ย. 2563

เมื่อถึงเวลานัด ศาลแจ้งว่าได้เลื่อนนัดไต่สวนคำร้องของนายพริษฐ์และนายไชยอมรออกไปก่อน ไม่ได้เบิกตัวทั้งคู่มาขึ้นศาล หลังได้รับแจ้งจากกรมราชทัณฑ์ว่ายังกักตัวไม่ครบ 14 วันตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเพนกวินและแอมมี่ถูกคุมอยู่ในห้องเดียวกับนายชูเกียรติ แสงวงศ์ หรือที่รู้จักในชื่อ "จัสติน" แนวร่วมกลุ่มราษฎร จำเลยคดี 112 ซึ่งได้รับการยืนยันเมื่อ 24 เม.ย. ว่าติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งหมดต้องกักตัวระหว่างวันที่ 24 เม.ย.-7 พ.ค. ศาลจึงเลื่อนการไต่สวนคำร้องของ 2 จำเลยออกไปก่อน โดยให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์รายงานว่าจะนำตัวจำเลยมาไต่สวนได้เมื่อใด ท่ามกลางความผิดหวังของครอบครัว ครูอาจารย์ เพื่อนฝูง และประชาชนที่มารอให้กำลังใจและติดตามคำสั่งของศาล

นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของเพนกวิน ตัดสินใจโกนศีรษะประท้วงทวงความยุติธรรมให้แก่บุตรชาย

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของเพนกวิน ตัดสินใจโกนศีรษะประท้วงทวงความยุติธรรมให้แก่บุตรชาย

รุ้ง ปนัสยา จึงเป็นจำเลยเพียงหนึ่งเดียวที่ถูกเบิกตัวมาจากทัณฑสถานหญิงกลางเพื่อเข้าร่วมการไต่สวน ร่วมกับพยานอีก 4 ปาก โดยรุ้งแถลงต่อศาลว่าจะเคารพและปฏิบัติตามเงื่อนไขการขอปล่อยชั่วคราวที่ทนายความยื่นคำร้อง ประกอบด้วย 1. จะไม่กระทำการที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 2. ไม่เดินทางออกนอกประเทศเว้น แต่ได้รับอนุญาตจากศาลก่อน และ 3. จะเดินทางมาศาลทุกครั้งตามนัดหมาย พร้อมแต่งทนายความในกระบวนพิจารณาคดีหลังถอนทนายความไปก่อนหน้านี้ นอกจากนี้เธอยังบอกด้วยว่าไม่ขัดข้อง หากศาลจะให้สั่งติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (กำไลอีเอ็ม) ทั้งนี้กระบวนการไต่สวนเสร็จสิ้นในเวลา 11.35 น. และนัดฟังคำสั่งว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน

ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวครั้งที่ 10 เมื่อ 30 เม.ย. ซึ่งในวันนั้นนางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของเพนกวิน ตัดสินใจโกนศีรษะประท้วงทวงความยุติธรรมให้แก่บุตรชายด้วย มาวันนี้เธอกล่าวกับสื่อมวลชนว่า "ครั้งนี้คาดหวังสูงมากว่าจะได้รับข่าวดีและได้รับลูกของเราออกมา เนื่องจากครั้งนี้มีการไต่สวน" ซึ่งในขณะให้สัมภาษณ์ "แม่สุ" ยังไม่รู้ว่าเพนกวินไม่ได้ถูกเบิกตัวออกจาก รพ.รามาธิบดี เพื่อมาขึ้นศาล

รุ้งรับเงื่อนไขไม่กระทำการเสื่อมเสียแก่สถาบันฯ

ต่อมาเวลา 17.15 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว น.ส.ปนัสยา ตีราคาหลักประกัน 2 แสนบาท

ศาลกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราวไว้ว่า

1. ห้ามมิให้จำเลยกระทำการในลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้องอันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายภายในบ้านเมือง

2. ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับหนังสืออนุญาตจากศาล

3. ให้มาตามกำหนดนัดโดยเคร่งครัด

ก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เคยยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราวนายพริษฐ์กับพวกมาแล้ว 9 ครั้ง โดยให้เหตุผลว่า "ความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูง", "จำเลยกระทำซ้ำ ๆ ต่างกรรมต่างวาระตามข้อกล่าวหาเดิมหลายครั้งหลายครา", "มีเหตุอันควรเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว อาจไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก" "ไม่มีข้อเท็จจริงทางคดีที่เปลี่ยนไป ย่อมไม่มีเหตุที่ศาลจะเปลี่ยนแปลงคำสั่ง" ฯลฯ

หน้าศาลอาญา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

การไต่สวนคำร้องของศาลเกิดขึ้นท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยปิดประตูทางเข้า-ออกเกือบทั้งหมด ให้ประชาชนที่มาติดต่อราชการและคู่ความเข้า-ออกประตูฝั่งศาลแพ่งเท่านั้น พร้อมนำแผงรั้วเหล็กมาวางกั้นพื้นที่ทางเข้าบริเวณรอบ อีกทั้งยังมีรถฉีดน้ำแรงดันสูง (รถจีโน่) จำนวน 2 คัน มาจอดตรงกับประตูทางเข้าศาลอาญาด้วย นอกจากนี้ยังมีการวางกำลังตำรวจคอยดูแลความสงบเรียบร้อยทั้งภายในพื้นที่ศาลและบริเวณรอบ

ในช่วงเที่ยง นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือไบร์ท แกนนำเครือข่าย "คนรุ่นใหม่นนทบุรี" แนวร่วมราษฎร ได้เปิดปราศรัยบริเวณประตู 8 ยืนยันว่าตราบที่ยังไม่มีคำพิพากษาว่าผิด ต้องถือว่าทุกคนยังเป็นผู้บริสุทธิ์ และขอให้กระบวนการยุติธรรมเป็นเหมือน "นาฬิกาไขลานที่เที่ยงตรง" นอกจากนี้ยังมี ส.ส. พรรคก้าวไกล นำโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เดินทางไปให้กำลังใจมารดาของเพนกวิน และร่วมสังเกตการณ์ที่ศาลอาญาด้วย

images

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ย้ายเพนกวินกลับไป รพ. ราชทัณฑ์

นายพริษฐ์ และ น.ส.ปนัสยา เป็นแกนนำคนสำคัญของกลุ่ม "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ซึ่งสร้างปรากฏการณ์ "ทะลุเพดาน" ด้วยการประกาศ 10 ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันฯ ระหว่างจัดการชุมนุมเมื่อ 10 ส.ค. 2563 ที่ มธ. ศูนย์รังสิต ก่อนที่ประเด็นดังกล่าวจะถูกพูดอย่างกว้างขวางในพื้นที่สาธารณะ ทั้งในเวทีชุมนุมการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ สื่อมวลชน และสื่อสังคมออนไลน์

ต่อมาทั้งคู่ตกเป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นสถาบันฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ยุยงปลุกปั่นฯ ตามมาตรา 116 และอีกหลายข้อหา จากกรณีชุมนุมเมื่อ 19-20 ก.ย. 2563 ซึ่งมีจำเลยรวม 22 คน แต่มีอยู่ 7 คนไม่ได้ประกันตัวในระหว่างการพิจารณาคดี

images

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

เพนกวินถูกคุมขังภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่ 9 ก.พ. พร้อมแกนนำราษฎรชุดแรกอีก 3 คน ได้แก่ นายอานนท์ นำภา, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ ทั้งนี้เพวกวินเริ่มอดอาหารตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. เพื่อประท้วงกระบวนการยุติธรรมที่ริบอิสรภาพไปจากเขาทั้งที่ศาลยังไม่ตัดสินความผิด ก่อนที่กรมราชทัณฑ์จะตัดสินย้ายนายพริษฐ์ออกจากเรือนจำ และส่งตัวเข้าตัวรับการรักษาที่ รพ.รามาธิบดี เมื่อ 30 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่ 45 ของการอดอาหาร ทำให้น้ำหนักลดลงไป 12.5 ก.ก. รวมระยะเวลาที่ถูกคุมขังในเรือนจำ 81 วัน และนอนรักษาตัวใน รพ. อีก 5 วัน

ล่าสุดวันนี้ (6 พ.ค. ) นายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีและโฆษกกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยผ่านเอกสารข่าวของกรมราชทัณฑ์ว่า ขณะนี้นายพริษฐ์ "ได้รับการรักษาอาการจนดีขึ้น ร่างกายฟื้นฟูตัวเองได้ สามารถดื่มน้ำเกลือแร่ นม และวิตามินได้เป็นปกติแล้ว แพทย์จึงเห็นควรส่งตัวกลับรักษาที่ทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์ ตามระเบียบปฏิบัติของราชทัณฑ์ เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ผ่านมา"

เพนกวิน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ส่วนรุ้งเป็นแกนนำชุดที่ 2 ที่ต้องอยู่ในเรือนจำตั้งแต่ 8 มี.ค. พร้อมแกนนำอีก 2 คนคือ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ทว่ารุ้งเป็นคนเดียวที่ถูกแยกตัวไปคุมขังภายในทัณฑสถานหญิงกลาง โดยเธอเป็นอีกคนที่ร่วมอดอาหารประท้วงไปพร้อม ๆ กับเพนกวิน โดยเริ่มต้นจากการงดอาหารมื้อเย็นตั้งแต่ 30 มี.ค. และค่อย ๆ ลดลงตามลำดับ ก่อนได้รับการปล่อยตัวในวันนี้หลังยอมรับเงื่อนไข "ไม่ทำกิจกรรมที่ทำให้เสื่อมเสียแก่สถาบันฯ" รวมระยะเวลาที่ถูกคุมขัง 59 วัน ก่อนถูกเบิกตัวมาขึ้นศาลหลังถูกจองจำนาน 59 วัน

เส้นทางการขอคืนอิสรภาพ

ตลอดเวลาเกือบ 3 เดือนนับจากแกนนำ "ราษฎร" ชุดแรกถูกจองจำ มีจำเลยคดี 112 ทั้งคดีชุมนุม 19 ก.ย. และคดีอื่น ๆ ทยอยได้รับอิสรภาพคืนกลับมาหลังยอมรับเงื่อนไข "ห้ามทำกิจกรรมที่อาจทำให้เสื่อมเสียแก่สถาบันฯ"

บีบีซีไทยสรุปรายละเอียดไว้ ดังนี้

  • 9 เม.ย. ศาลอาญาอนุญาตปล่อยชั่วคราวนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ จำเลยที่ 3 คดีชุมนุม 19 ก.ย. รวมระยะเวลาถูกคุมขังในเรือนจำ 59 วันก่อนได้รับการปล่อยตัว (ถูกคุมขังตั้งแต่ 9 ก.พ.)
  • 23 เม.ย. ศาลอาญาอนุญาตปล่อยชั่วคราวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยที่ 4 และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน จำเลยที่ 7 คดีชุมนุม 19 ก.ย. รวมระยะเวลาที่นายสมยศถูกคุมขังในเรือนจำ 73 วันก่อนได้รับการปล่อยตัว (ถูกคุมขังตั้งแต่ 9 ก.พ.) และระยะเวลาที่ไผ่ถูกคุมขังในเรือนจำ 46 วันก่อนได้รับการปล่อยตัว (ถูกคุมขังตั้งแต่ 8 มี.ค.)
  • 5 พ.ค. ศาลกาฬสินธุ์อนุญาตปล่อยชั่วคราวนายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ แกนนำกลุ่มการ์ดอาสา "วีโว่" จำเลยคดี 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากกรณีจัดทำป้ายวิจารณ์การจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 ของรัฐบาล แต่มีข้อความดูหมิ่นสถาบันฯ เมื่อ 23 ม.ค. รวมระยะเวลาถูกคุมขังในเรือนจำ 60 วันก่อนได้รับการปล่อยตัว (ถูกจับกุมด้วยข้อหาอั้งยี่ ก่อนถูกแจ้งข้อหา 112 เพิ่มและถูกคุมขังตั้งแต่ 6 มี.ค.)

อานนท์ติดโควิดในเรือนจำ

ปัจจุบันมีแกนนำ/แนวร่วมคดีชุมนุม 19 ก.ย. ซึ่งถูกตั้งข้อหาคดี 112 อีก 5 คนยังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้แก่ นายพริษฐ์, นายอานนท์, นายภาณุพงศ์, นายไชยอมร และนายชูเกียรติ

นายพริษฐ์ (ที่สองจากซ้าย) และ น.ส.ปนัสยา (ขวาสุด) ร้องรำทำเพลงหลังประกาศยุติการชุมนุม "19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร"

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

นายพริษฐ์ (ที่สองจากซ้าย) และ น.ส.ปนัสยา (ขวาสุด) ร้องรำทำเพลงหลังประกาศยุติการชุมนุม "19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร" ที่ท้องสนามหลวงเมื่อ 20 ก.ย. 2563

สายวันนี้ (6 พ.ค.) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่า มีรายงานว่านายอานนท์ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังมีไข้ขึ้น เวียนศีรษะ และคลื่นไส้เป็นเวลา 3 วัน ขณะนี้ถูกส่งไปที่ รพ.ราชทัณฑ์แล้ว

ก่อนที่กรมราชทัณฑ์จะออกมายืนยันว่านายอานนท์ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จริง โดยเพิ่งตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 5 พ.ค. สันนิษฐานว่าเป็นการติดเชื้อจากนายชูเกียรติ แสงวงค์ หรือ "จัสติน" ที่ตรวจพบเชื้อไปก่อนหน้า (23 เม.ย.)

กรมราชทัณฑ์ระบุว่า นายอานนท์ถือเป็น 1 ในกลุ่มสัมผัสใกล้ชิดความเสี่ยงสูงจากการกักตัวร่วมกันกับนายจัสติน ในห้องแยกกักโรคผู้ต้องขังเข้าใหม่-รับย้าย และออกศาล ซึ่งเคยได้รับการตรวจหาเชื้อไปแล้วครั้งแรก แต่ผลเป็นลบ ต่อมาได้ตรวจหาเชื้อซ้ำในช่วงระหว่างกักตัวและพบการติดเชื้อ พร้อมกับผู้ต้องขังอีก 1 รายที่เป็นกลุ่มสัมผัสใกล้ชิดความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ผู้ต้องขังทั้ง 2 รายได้เข้ารับการรักษาที่ทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ต่อมาในช่วงบ่าย มารดาของทนายอานนท์ได้เดินทางไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยขอให้ย้ายตัวนายอานนท์ไปรักษายัง รพ. อื่นนอกสังกัดกรมราชทัณฑ์ เพื่อความปลอดภัยของนายอานนท์ และผู้ต้องขังรายอื่น พร้อมขอให้แถลงอาการของนายอานนท์ทุกวันจนกว่าจะหายจากโรค เพื่อให้ญาติและสาธารณชนรับทราบอาการต่อไป

มารดาของนายอานนท์ระบุด้วยว่า ไม่ได้รับสิทธิเข้าเยี่ยมบุตรชายตั้งแต่ถูกควบคุมตัววันที่ 8 ก.พ. เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19