Thai E-News
ชักอยากรู้ว่าเฮโรอินที่ ‘ธรรมนัส’ ขนไปขายออสเตรเลียนั่น ใครนะเป็นยี่ปั๊ว ‘คนรับใช้’ รัฐบาลถึงได้เรียงหน้าออกมาแบกรัฐมนตรีคนนี้กันใหญ่ อ้างแต่ตีความกฏหมายไม่สนจริยธรรม ซ้ำประกาศให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็น ‘พ่อง’ ทุกคน ทุกกรณี
วิษณุ เครืองาม นี่จัดเป็น Butler ระดับเดียวกับ ‘แรมโบ้’ ละนะ หน้าที่แก้ต่างแก้ตัวท่าเดียว ไม่ต้องคำนึงศักดิ์ศรีและคุณธรรมกันแล้ว บอกว่า “ความเหมาะสมจริยธรรมถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง” ไม่สำคัญเท่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
“กรณีนี้ถือเป็นบรรทัดฐานที่ใช้ได้กับทุกคน เพราะไม่เคยมีคำวินิจฉัยมาก่อน และใช้ได้กับความผิดทุกกรณี” แม้กระทั่งความผิดคดียาเสพติด “ซึ่งอาจจะมีมลทินก็ได้” แต่ถือว่า “คำวินิจฉัยเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม” การเป็น ส.ส.เท่านั้น
จึงโดน ‘นิติจุฬาฯจะไม่เป็นทาสคุณอีกต่อไป’ @lawcunotslave ท้วง “เดี๋ยวนะทั่น พ้นโทษมาแล้วเกิน ๕ ปี นี่มันลักษณะต้องห้ามมาตราไหนใน รธน.๖๐ ที่กฤษฎีกาวินิจฉัย คือลักษณะต้องห้ามตาม รธน. ๒๕๒๑...คนละเรื่องกับลักษณะต้องห้ามอันนี้”
เช่นกันกับ ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรครัฐบาลแผนกหัวหมอ ช่วยยันความวิเศษของศาล รธน. “ขอย้ำว่าเมื่อศาลมีคำวินิจฉัยออกมาก็ถือเป็นที่สุดแล้ว...มีผลผูกพันทุกองค์กร” สามารถตำรงตำแหน่ง ส.ส.และรัฐมนตรีต่อไปได้ ไม่ต้องสอบจริยธรรม
“ซึ่งพรรค พปชร.จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อปี ๒๕๖๑...กรณี ร.อ.ธรรมนัส (พรหมเผ่า) เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายสิบปีก่อนจะเป็นสมาชิกพรรค จึงไม่อยู่ในกรอบจริยธรรมตามข้อบังคับของพรรค” หากว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส จะยื่นร้อง ปปช. “ก็ร้องไป
...ต้องดูระหว่างที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีการกระทำละเมิดจริยธรรมในขณะดำรงตำแหน่งหรือไม่ ส่วนเหตุที่เกิดก่อนหน้านั้น เราเข้าไปดูไม่ได้” ง่ายดี งั้นเลยหมายความว่าการที่เมื่อครั้งยังใช้ชื่อ ‘มนัส’ เขาเคยพัวพันคดีฆ่าคนตายก็ไม่นับ
การดี ศรีสุเมธ ขุดเอามาเล่าถึงคดีฆาตกรรม+ข่มขืน ดร.พูลสวัสดิ์ จิราภรณ์ ถูกตัดสินผิดทั้งในศาลชั้นต้นและชั้นอุธรณ์ “แต่ใช้พลังภายในจนยกฟ้องชั้นฎีกา มนัสคนเดียวกันนี้เกี่ยวข้องกับการถล่มยิงพ่อค้า แม่ค้าคลองเตย ที่ตนเองมีเอี่ยวรับสัมปทาน
มนัสอีกแหละ ที่เกี่ยวข้องกับคดีจ้างวานให้วางเพลิงเผาโรงงานย่านรังสิต” ก่อนจะไปถูกจับในออสเตรเลียคดีขนยาเสพติดเข้าประเทศเขา หลังติดคุกระยะหนึ่งมีการส่งตัวกลับไทยตามคำร้องส่งผู้ร้ายข้ามแดน แล้วได้รับการฟอกผิดล้างมลทินได้อย่างน่าฉงน
มิใยที่คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ
ได้รับการโต้แย้งไม่เฉพาะในแง่จริยธรรม แต่ในการละเลยไม่วินิจฉัยด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมาย
แม้กระทั่งการอ้างอิงตัวบท เลือกใช้ล้วนแต่ในส่วนที่เป็นประโยชน์แก่จำเลย
ทำให้ผู้รู้เรื่องกฎหมายระดับคณะบดีนิติศาสตร์ต้องชี้ทางสว่าง
“คณบดีนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ชี้ปมผลแห่งคดี #ธรรมนัส ไม่คำนึงเจตนารมณ์กฎหมาย ทำให้ความเชื่อมั่นศรัทธาของสังคมที่มีต่อระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทยยิ่งตกต่ำลงไปเรื่อยๆ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” #TheStandardNews
นักกฎหมายอีกคนในคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต “ยกความเห็นกฤษฎีกาปี ๖๓ แย้งคำตัดสินศาล รธน. ระบุคดียาเสพติดในสหรัฐใช้พิจารณาคดีในไทยได้ ไม่กระทบอธิปไตย” ทั้งนี้ดูได้จาก ความเห็นกฤษฎีกาที่ ๑๒๗๑/๒๕๖๓
“การพิจารณาให้ความเห็นในกรณีนี้ เป็นกรณีที่ใช้ผลของคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมารับฟัง เป็นพยานหลักฐานในฐานะข้อเท็จจริง ในการดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการทหาร...มิใช่การรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ มาบังคับโทษในประเทศไทย”
ฉันใดก็ฉันนั้น การพิจารณาวินิจฉัยของศาล ไม่ว่าจะชั้นไหน ที่ใดๆ ในโลก สูงส่งอย่างไร มักปฏิบัติตามครรลองของการนำคำพิพากษาเดิมมาปรับใช้อยู่เสมอ ศาลรัฐธรรมนูญไทยซึ่งเป็นศาลทางการเมือง ไม่ควรทำให้มัวหมองด้วยการวินิจฉัยโดยธง
แม้ได้รับอำนาจเหลือล้นจากรัฐธรรมนูญ ก็ยังควรต้องเดินตามทำนองคลองแห่งจริยธรรมไว้เสมอ และพยายามคัดง้างต่ออำนาจอิทธิพลในทางการเมือง โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นการ ‘ลุแก่อำนาจ’ ของผู้ปกครอง
(https://www.facebook.com/new.srukhosit/posts/10164961248030462, https://www.facebook.com/photo.php?fbid=4070992139625880&set=a.440635312661599&type=3 และ https://www.khaosod.co.th/politics/news_6382258)
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar