รัฐเดินหน้าใช้แก๊สน้ำตาสลายชุมนุมท่ามกลางเสียงเรียกร้องประนีประนอม

รัฐเดินหน้าสลายชุมนุมท่ามกลางเสียงเรียกร้องประนีประนอม

ที่มาของภาพ, Reuters

ตำรวจยังคงใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมประท้วงขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 3 ในรอบสัปดาห์นี้ แม้ผู้ชุมนุมในนามกลุ่มทะลุฟ้าจะยืนยันว่าการรวมตัวในวันนี้ (13 ส.ค.) เพื่อเดินขบวนไปยังบ้านพักของนายกรัฐมนตรี จะเป็นไปด้วยสันติวิธี

การชุมนุม "ศุกร์ 13 ไล่ล่าทรราช" ของกลุ่มทะลุฟ้า เริ่มต้นขึ้นที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเมื่อเวลา 15.00 น. และยุติลงในเวลา 17.25 น. โดยแกนนำประกาศว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน "ใช้อาวุธในการสลายการชุมนุม" และมีรายงานว่าผู้ปราศรัยและแกนนำได้รับบาดเจ็บที่ใบหน้า โดยเชื่อว่าเกิดจากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่

ผู้ชุมนุมต้องการขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากการบริหารงานที่ล้มเหลวและไม่เป็นประชาธิปไตย และได้นำมังคุดและลำไยจำนวน 600 กิโลกรัม มาเทรวมกันกลางถนน และจุดไฟเผา เพื่อสะท้อนปัญหาพืชผลการเกษตรตกต่ำในยุคของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์

รัฐเดินหน้าสลายชุมนุมท่ามกลางเสียงเรียกร้องประนีประนอม

ที่มาของภาพ, Thai news pix

จากนั้นได้เดินขบวนไปที่บริเวณแยกดินแดง โดยมีจุดหมายที่บ้านพักของนายกรัฐมนตรี ในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ถ.วิภาวดีรังสิต แต่เมื่อมาถึงแยกดินแดงได้ไม่นาน แกนนำรายงานว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ คือ นายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย หรือที่ผู้ชุมนุมเรียกว่า "ไฮโซลูกนัท" ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ขึ้นปราศรัยและนำการชุมนุมในวันนี้

นายธนัตถ์มีบาดแผลบริเวณใบหน้า มีเลือดไหลอาบ ขณะที่ผู้ชุมนุมพยายามช่วยกันปฐมพยาบาล หลังเกิดเหตุไม่นาน แกนนำจึงได้ประกาศยุติการชุมนุม และย้ำให้ผู้ชุมนุมเดินทางออกจากพื้นที่ทันที

รัฐเดินหน้าสลายชุมนุมท่ามกลางเสียงเรียกร้องประนีประนอม

ที่มาของภาพ, Thai news pix

อย่างไรก็ดี แม้แกนนำจะประกาศยุติการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมบางส่วนยังคงอยู่ในพื้นที่และพยายามตอบโต้เจ้าหน้าที่ที่ยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ และเหตุการณ์ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

ตำรวจย้ำมีหมายจับตามหลัง

รัฐเดินหน้าสลายชุมนุมท่ามกลางเสียงเรียกร้องประนีประนอม

ที่มาของภาพ, Thai news pix

พันตำรวจเอกกฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกตำรวจ ให้สัมภาษณ์ว่า ผู้ที่ก่อเหตุวุ่นวายจะต้องถูกดำเนินคดีทั้งการจับกุมในพื้นที่ชุมนุม และการออกหมายจับตามหลัง ส่วนที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่นั้น รองโฆษกตำรวจระบุว่าโดยหลักการแล้วต้องยิงไปในจุดที่จะสามารถยับยั้งผู้ก่อความรุนแรง หรือชักใย ยุยงปลุกปั่น ทำให้เกิดความรุนแรง ซึ่งไม่ใช่การชุมนุมประท้วงแต่เป็นการก่อความไม่สงบ

พันตำรวจเอกกฤษณะยืนยันว่า ผู้ชุมนมสามารถใช้สิทธิในการชุมนุมได้ในสถานการณ์ปกติ แต่ขณะนี้มีการใช้กฎหมายพิเศษเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิดจึงต้องมีการควบคุมเหตุการณ์ ส่วนที่ต้องใช้กระสุนยางและแก๊สน้ำตาก็เพราะผู้ชุมนุมขว้างปาสิ่งของและไม่ยอมเลิกชุมนุมตามประกาศของเจ้าหน้าที่

เรียกร้องรัฐบาลประนีประนอม

ในวันเดียวกันนี้คณะกรรมการสมานฉันท์ที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ตั้งขึ้น ได้ส่งเสนอวิธีหาทางออกความขัดแย้ง ไปยังรัฐบาล โดยเรียกร้องให้เคารพการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ ยุติการใช้ความรุนแรง และให้เน้นการเจรจาแก้ไขปัญหา

รัฐเดินหน้าสลายชุมนุมท่ามกลางเสียงเรียกร้องประนีประนอม

ที่มาของภาพ, Thai news pix

ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในกรรมการสมานฉันท์ เห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลควรทำในเวลานี้คือการแสดงท่าทีประนีประนอมอย่างชัดเจนหรือแสดงความพร้อมที่จะปรับท่าทีเพื่อแสดงให้เห็นว่าให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องของประชาชน เพื่อสร้างความ และอย่ามองผู้ที่วิจารณ์รัฐบาลว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม

"อย่าแสดงความไม่สนใจผู้ออกมาเรียกร้อง และผลักให้เป็นเรื่องของตำรวจ…การใช้กำลังปราบปรามไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่ทางออก มีแต่จะรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อไมมีช่องทางการสื่อสารกัน ผู้ชุมนุมก็จะหาวิธีสื่อสารโดยเรียกร้องความสนใจอย่างที่เห็นกัน ย้ำว่าการชุมนุมเป็นกระบวนการทางประชาธิปไตยปกติที่รัฐธรรมนูญก็รองรับสิทธิเสรีภาพไว้อยู่แล้ว" ศ.สุริชัยระบุ

รัฐเดินหน้าสลายชุมนุมท่ามกลางเสียงเรียกร้องประนีประนอม

ที่มาของภาพ, Thai news pix

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันอาทิตย์ที่ 15 ส.ค. จะมีการชุมนุมขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อีกครั้ง โดยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระบุว่าจะเป็นการยกระดับการชุมนุมที่จะเคลื่อนขบวนอย่างสันติไปตามจุดต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ แต่ไม่ผ่านพื้นที่ที่จะเป็นเงื่อนไขให้มีการเผชิญหน้า