โควิด-19: สำรวจวัดในกรุงเทพฯ ช่วงล็อกดาวน์ แม้ขาดปัจจัยแต่ยังให้บริการชุมชน

  • ชัยยศ ยงค์เจริญชัย
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ท่ามกลางวิกฤตสาธารณสุขที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ โรงพยาบาลดูเหมือนจะเป็นสถานที่ที่ผู้คนต้องการมากที่สุด ด้วยผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในทุกวัน บุคลากรทางการแพทย์ต้องรับบทบาทในฐานะ "ด่านหน้า" ในการจัดการกับปัญหานี้

แต่นอกจากโรงพยาบาลแล้ว วัดซึ่งเป็น "ด่านสุดท้าย" ที่รับศพผู้เสียชีวิตจากโควิดและเป็นที่พึ่งทางใจของครอบครัวผู้สูญเสียต่างก็เผชิญกับวิกฤตที่ถาโถมเข้ามาเช่นกัน ทั้งจากความเสี่ยงในการติดโควิดของพระสงฆ์ การเผาศพผู้ติดเชื้อ ไปจนถึงงดกิจกรรมทางศาสนา งานบุญและงดกิจนิมนต์ ที่ส่งผลต่อรายได้ของวัดอย่างวัดที่มีมากกว่า 42,000 แห่งทั่วประเทศ

บีบีซีไทยสำรวจความเป็นไปของวัดในช่วงที่การระบาดของของโควิด-19 กำลังรุนแรง จนรัฐบาลบังคับใช้มาตรการ "ล็อกดาวน์" ขั้นสูงสุดต่อเนื่องหลายสัปดาห์ อีกทั้งผู้คนต่างก็ประสบกับปัญหาทั้งด้านสุขภาพและการเงินจนไม่สามารถออกมาทำบุญเหมือนเช่นเคย

คนไม่กล้าใส่บาตร

จากที่เคยมีกิจนิมนต์และการจัดงานบุญต่าง ๆ ในทุกวัน พระที่วัดโปรดเกศเชษฐาราม ที่ตั้งอยู่ใน อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ในต้องปิดวัดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้พระสงฆ์ที่วัดนี้ติดเชื้อไปแล้ว 7 รูป และมรณภาพไป 1 รูป

พระสงฆ์บิณฑบาตร

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ชูศักดิ์ ไวยาวัจกรของวัดบอกกับบีบีซีไทยว่าวัดแห่งนี้มีพระสงฆ์อยู่ทั้งหมด 66 รูป นับตั้งแต่การระบาดเริ่มต้นขึ้นในปี 2563 วัดไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากนัก จนกระทั่งเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา

"คนในชุมชนที่อยู่ด้านหลังของวัดเริ่มติดเชื้อกันเพิ่มมากขึ้น พระสงฆ์ยังออกบิณฑบาตในทุกเช้า แต่หลังจากนั้นเริ่มไม่ค่อยได้อาหารและปัจจัยเท่าเดิมเพราะชาวบ้านก็กลัวติดโรคกันจนไม่กล้าออกมา" ชูศักดิ์อธิบาย

หลังจากนั้นไม่นาน ชุมชนที่อยู่บริเวณรอบ ๆ วัดก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทางวัดจึงเห็นว่านี่ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมนักสำหรับการบิณฑบาต และตัดสินใจยกเลิกการบิณฑบาตไปชั่วคราว แต่พระสงฆ์ก็ยังรับกิจนิมนต์จากชาวบ้านที่เข้ามาทำบุญในโอกาสต่าง ๆ เช่น ฉลองกระดูก ทำบุญครบรอบวันตายของญาติ โกนผมไฟ หรือเจิมรถเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคล

"พระวัดเราได้รับวัคซีนครบหมดแล้ว แต่ไม่นานมานี้ก็ยังมีพระสงฆ์ที่ติดเชื้อโควิด แล้วก็มีหนึ่งรูปที่มรณภาพไป เราจึงตัดสินใจปิดวัดไม่ให้คนเข้ามาทำบุญเลย เพราะพระวัดเรามีพระที่อายุเยอะ ๆ อยู่หลายรูป" ชูศักดิ์กล่าว

ช่วงที่ "ปิดวัด" เมื่อกลางเดือน ก.ค. วัดโปรดเกศเชษฐารามก็ขาดรายได้จากการทำบุญของญาติโยม ทำให้ต้องนำเงินเก็บยามฉุกเฉินมาเป็นค่าใช้จ่าย ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบริหารจัดการต่าง ๆ เดือนละร่วมแสนบาท

พระสงฆ์บิณฑบาตร

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

"ตอนนี้ท่านเจ้าอาวาสก็จ้างพ่อครัวมาทำอาหารแทนที่จะให้พระออกไปบิณฑบาต แต่ก็ยังเสี่ยงเพราะพ่อครัวที่มาทำอาหารให้บางรายก็ติดโควิด แต่อย่างไรเราก็ยังต้องช่วยเหลือชุมชนต่อไปเพราะคนแถวนี้ก็ไม่มีรายได้ พอคนหนึ่งติด เราก็หาคนใหม่มาทำแทน"

วันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา ทางวัดกลับมาเปิดให้คนเข้าออกได้อีกครั้ง แต่ยังงดรับกิจนิมนต์ไปจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปรกติ

ศูนย์รวมจิตใจของชุมชน

ไม่ใช่แค่วัดในปริมณฑลที่ประสบกับปัญหาช่วงโควิด แต่วัดในกรุงเทพมหานครก็เจอกับปัญหาในรูปแบบคล้าย ๆ กัน อย่างเช่นวัดสุวรรณ ในเขตคลองสาน ก็เงียบเหงาลงถนัดตาเพราะไร้คนเข้ามาทำบุญ ถึงแม้ว่าทางวัดจะไม่ได้มีการประกาศปิด แต่การออกบิณฑบาตและรับกิจนิมนต์ของพระในวัดจำเป็นต้องยุติไปชั่วคราว

"พระที่นี่มีติดเชื้อไป 3 รูป ทางวัดไม่แน่ใจว่าติดจากทางไหนก็เลยงดกิจกรรมทุกอย่างไปชั่วคราวก่อน เพราะชุมชนที่อยู่บริเวณรอบวัดก็มีคนติดเชื้อกันเยอะมาก ๆ" บุญชู สังเสียงสูง คณะกรรมการวัดสุวรรณกล่าว

"ปรกติจะมีคนเข้ามากราบไหว้เจ้าแม่กวนอิมที่มีอยู่ในวัด มาทำสังฆทาน ทำบุญสะเดาะเคราะห์ ทางวัดก็จะได้เงินบริจาคค่าน้ำค่าไฟจากผู้มีจิตศรัทธาที่มาทำบุญที่วัด แต่ตอนนี้เราแทบไม่มีเงินเข้ามาเลย"

พระเผาศพโควิด

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ด้วยความที่วัดสุวรรณตั้งอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลตากสินที่มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รายใหม่ในทุกวัน ทางวัดจึงมีภารกิจหลักในการฌาปนกิจศพผู้ป่วยที่เสียชีวิต

"เราเริ่มรับเผาศพโควิดจากโรงพยาบาลตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. จริง ๆ แล้วเราก็รับมาตลอดแต่ไม่ได้ป่าวประกาศ เพราะคนในชุมชนรอบ ๆ วัดก็มีเสียชีวิตจากโควิด" บุญชูอธิบาย

"เรารับเผาได้วันละ 3-4 ศพ พระสงฆ์ที่มาทำพิธีให้ก็ได้รับปัจจัยตามศรัทธา แต่ส่วนมากที่มาก็ไม่ได้มีเงินมา บางคนทางคณะกรรมการวัดต้องออกเงินช่วยซื้อโลงศพให้เพราะพวกเขาไม่มีจริง ๆ ทางวัดต้องรับผิดชอบค่าน้ำมันเผาศพต่อครั้งที่ 70 ลิตร ซึ่งไม่ต่ำกว่า 4,000 บาทต่อครั้ง แต่เราไม่ได้เรียกเก็บจากใคร ใครมีเท่าไหร่ก็ให้ ไม่มีเราก็จ่ายเอง"

ขณะที่รายรับขาดหายไปในช่วงนี้ รายจ่ายก็ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ทั้งเรื่องของการจัดการศพที่เข้ามารายวัน ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าบำรุงวัดต่าง ๆ นอกจากนี้วัดก็ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมจิตใจผู้คนแม้ในยามที่วัดเองก็ตกอยู่ในภาวะลำบาก

พระทำพิธีศพ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

เจ้าอาวาสวัดสุวรรณมอบหมายให้บุญชูเข้าไปในชุมชนรอบ ๆ วัดเพื่อสำรวจความต้องการของชาวบ้านว่าต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ขาดรายได้จากการทำงานและยังต้องช่วยกันดูแลผู้ติดเชื้อและป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อในชุมชนอีก

"ผมจะออกไปที่ชุมชนวันละรอบเพื่อไปบริจาคน้ำดื่มและอาหารให้ชาวบ้าน เพราะบางบ้านเขาไม่มีกันจริง ๆ ไม่ว่าวัดจะลำบากอย่างไรแต่เราก็ยังต้องทำหน้าที่ในฐานะศูนย์รวมของชุมชนต่อไป" บุญชูกล่าวทิ้งท้าย

ผลกระทบมาถึงช้าแต่รุนแรง

วัดต่าง ๆ ที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงเข้มที่มีการระบาดรุนแรงได้รับผลกระทบจากการไร้คนเข้ามาทำบุญกันตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกของการระบาดระลอกเดือน เม.ย. 2564 แต่วัดในต่างจังหวัดหลายแห่งเพิ่งมาได้รับผลกระทบจริง ๆ เมื่อไม่นานมานี้

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีพระสงฆ์จากวัดใน อ.แม่สอด จ.ตาก ต้องเข้ารับการตรวจค้นหาเชื้อโควิดกันแทบทั้งวัดเหตุเพราะมีพระและเณรหลายรูปติดเชื้อโควิด-19

เกรียงศักดิ์ วงศ์เขื่อนแก้ว ประธานชุมชนสองแคว 2 และไวยาวัจกรของวัดดอนแก้วให้ข้อมูลกับบีบีซีไทยว่าวัดมีพระและเณรทั้งหมด 71 รูป ขณะนี้มีเณรติดโควิด-19 ทิ้งสิ้น 13 รูป พระสงฆ์อีก 5 รูป

วัดดอนแก้ว

ที่มาของภาพ, เกรียงศักดิ์ วงศ์เขื่อนแก้ว

คำบรรยายภาพ,

วัดดอนแก้วที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ต้องปิดวัดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 และตั้งเต็นท์โรงครัวเพื่อทำอาหารถวายพระและเณร

"วัดเราไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลยจนกระทั่ง 2 เดือนที่ผ่านมา คนเริ่มออกมาทำบุญกันน้อยลงและมีคนออกมาใส่บาตรน้อยลงด้วย แต่เราก็ยังมีกิจนิมนต์ต่าง ๆ อยู่อย่างปรกติ" เกรียงศักดิ์กล่าว

"แถวนี้มีแรงงานจากเมียนมาข้ามไปมาอยู่ตลอด ที่วัดดอนแก้วก็มีชาวเมียนมาเข้ามาช่วยงาน ทำให้เราควบคุมและป้องกันการแพร่ของโควิดได้ยาก โดยกลุ่มแรก ๆ ที่ป่วยก็คือเณรแต่ไม่ได้ป่วยหนัก แค่มีอาการไอ ที่ป่วยหนักจริง ๆ ก็คือพระสงฆ์ที่ต้องเข้าโรงพยาบาล"

เกรียงศักดิ์เล่าว่าก่อนหน้านี้ เจ้าอาวาสของวัดดอนแก้วตั้งใจจะย้ายไปปฏิบัติธรรมที่ อ.อุ้มผาง ชั่วคราวเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ แต่เจ้าอาวาสก็มารู้ตัวว่าติดเชื้อโควิด-19 เมื่อไปถึงสถานปฏิบัติธรรมและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อรักษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

"ตอนนี้เรายังไม่เห็นผลกระทบจากการที่ไม่มีคนเข้ามาทำบุญชัดเจนมากเพราะทางคณะกรรมการวัดได้สั่งปิดทางเข้าออกหลักของวัดและตั้งเต็นท์โรงครัวเพื่อทำอาหารถวายพระและเณรไป 21 วันจนถึงช่วงเกือบสิ้นเดือน ส.ค. และชาวบ้านก็สลับกันมาเป็นเจ้าภาพถวายอาหาร" เกรียงศักดิ์กล่าว

"ทุกวันนี้วัดยังไม่น่าจะมีปัญหา แต่หลังจากครบ 21 วันไปแล้วก็ไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นเพราะชาวบ้านในพื้นที่ก็เริ่มติดเชื้อกันมากขึ้นเรื่อย ๆ"