måndag 4 oktober 2021

45 ปี 6 ตุลา แสยงใจอำนาจอนุรักษนิยม


ผู้บริหารธรรมศาสตร์อ้างโควิดไม่ยอมให้จัด 45 ปี 6 ตุลา จะให้จัดออนไลน์ ทั้งที่คนตายในมหาวิทยาลัย ไม่ได้ตายออนไลน์

ศบค.ออกคำสั่งผ่อนคลาย เปิดโรงหนัง ฟิตเนส ร้านอาหารเล่นดนตรีได้ แต่ธรรมศาสตร์ไม่ยอมให้จัดงานในสถานที่โล่งแจ้งแค่ครึ่งวัน พอสภานักศึกษา องค์การนักศึกษา (กลับใจ) รุกเร้า ผู้บริหารก็สั่งปิดทั้งท่าพระจันทร์ มันชัดเจนเกินไปไหม ว่ามีใบสั่ง

6 ตุลาเป็นประวัติศาสตร์ประชาชน ธรรมศาสตร์ก็เป็นของประชาชน ผู้บริหารกลับกางขาเป็นเจ้าของ ใช้อำนาจสั่งห้าม ทั้งที่มหาวิทยาลัยร่วมจัดงานมาหลายสิบปี ยุคสมคิดที่ไปร่างรัฐธรรมนูญให้รัฐประหาร ยังยอมให้จัดไม่ขัดขวาง กลับมาถูกห้ามในยุคเกศินีสร้างภาพ

45 ปี 6 ตุลา แสยงใจอำนาจอนุรักษนิยม ไม่เพียงเพราะรื้อฟื้นอดีต แฉเบื้องหลัง แต่เพราะ 45 ปีผ่านไป ขบวนคนรุ่นใหม่ที่ใฝ่ฝันจะเปลี่ยนแปลงสังคมถึงโครงสร้าง เกิดขึ้นอีกครั้ง ท่ามกลางความเสื่อมของอำนาจ ครั้งนี้แม้ยังไม่ชนะก็จะไม่พ่ายแพ้อีก อำนาจที่เคยยิ่งใหญ่จะไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิม

อันที่จริง งานรำลึก 6 ตุลา ช่วงก่อน 2549 ไม่ค่อยมีใครสนใจ เป็นเหมือนงานเช็งเม้งของ “คนตุลา” เพื่อนพ้องน้องพี่เจอกันปีละครั้ง กระทั่งเกิดรัฐประหาร 19 กันยา ที่คนตุลาแยกเป็นสองฝ่าย งาน 6 ตุลา 14 ตุลาจึงเดือด เกิดการแย่งชิงความหมายระหว่างตุลาเหลืองตุลาแดง

จุดเปลี่ยนสำคัญ คือการล้อมปราบเสื้อแดง “กระสุนจริง” 99 ศพ ที่มวลชนตะโกนอย่างเคียดแค้นว่า “เอี้ยสั่งฆ่า” 6 ตุลา จึงกลับมามีความหมายกว้างขวางร้อนแรง คนเสื้อแดงโอบรับ 6 ตุลา ด้วยอารมณ์ร่วมเศร้า-แค้น หัวอกเดียวกัน

หลังพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง งานรำลึก 6 ตุลา รวมถึง 14 ตุลาก็เลยคึกคัก จนกระทั่งเกิดรัฐประหาร 2557 ปราบเสื้อแดง แต่หลังเลือกตั้งยุบพรรคอนาคตใหม่ เกิดม็อบคนรุ่นใหม่ “สามนิ้ว” ปฏิรูปถึงโครงสร้าง ซึ่งก็เกิดอารมณ์ร่วมเดียวกัน เมื่อคนรุ่นใหม่ย้อนไปอ่านประวัติศาสตร์ขบวนการนักศึกษา 2516-2519

ซ้ำร้าย วันนี้ อานนท์ เพนกวิน ไผ่ ไมค์ และอีกหลายคนยังถูกคุมขัง เป็นนักโทษทางอุดมการณ์ ไม่ต่างจากยุค 18 ผู้ต้องขัง สุธรรม-ธงชัย-สมศักดิ์

ไม่ประหลาดใจหรอกที่อำนาจหวั่นไหว แต่ห้ามจัดไปก็เท่านั้น คนรุ่นใหม่ขุดประวัติศาสตร์ 6 ตุลามาเผยแพร่ล้นโลกออนไลน์ พอดีทมยันตีตาย โดนขุดทั้งประวัติและทัศนะในนิยาย

คน 6 ตุลาจึงบอกกันว่า ไม่ต้องห่วงแล้ว พวกเราตายก็จะมีคนรุ่นใหม่รำลึกสืบทอด มีทั้งเสื้อแดง สามนิ้ว ผู้ถูกอุ้มสูญหายทุกฝ่ายที่ไม่ได้รับความยุติธรรม ภายใต้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

รางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ สืบทอดสู่เพนกวิน และคนรุ่นต่อๆ ไป เช่นเดียวกับบันทึก 6 ตุลา “กล่องฟ้าสาง” ที่คนรุ่นใหม่ ช่วยสร้างสรรค์ โดยมั่นใจว่าพวกเขาจะไม่ประสบชะตากรรมเดียวกัน และเป็นความหวังแห่งการเปลี่ยนแปลง

คนรุ่นใหม่จะซ้ำรอยคนตุลาไหม ถูกปราบ เข้าป่า ผิดหวัง พ่ายแพ้ ฯลฯ โลกเปลี่ยนไปแล้ว

บริบท 6 ตุลา แตกต่างจากปัจจุบัน สมัยนั้นเป็นยุคสงครามเย็น ขบวนการนักศึกษาถูกปราบถูกฆ่า เข้าป่าจับปืน ยึดมั่นอุดมการณ์สังคมนิยม แต่ก็พบว่าแนวทาง ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี การวิเคราะห์สังคม ของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยผิดถนัด เกิดความขัดแย้ง เผชิญความไม่เป็นประชาธิปไตย จนป่าแตก

6 ตุลา 2519 เป็นวันที่จีนโค่นแก๊งสี่คน เติ้งเสี่ยวผิงนำจีนเปลี่ยนสู่ทุนนิยมโดยรัฐ ไม่กี่ปีถัดมา ระบอบสังคมนิยมล่มสลายทั้งในจีน โซเวียต ฝ่ายสหรัฐอเมริกาก็เปลี่ยนนโยบายจากสนับสนุนเผด็จการต้านคอมมิวนิสต์ มาเปิดการค้าเสรี บนกติกาประชาธิปไตย เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน

ชนชั้นนำไทยก็ปรับตัวหลัง 6 ตุลา รัฐบาลหอยขวาจัด จะพาลงเหว เกรียงศักดิ์ทำรัฐประหาร ประกาศเลือกตั้ง ร่างรัฐธรรมนูญ นิรโทษกรรมนักโทษ 6 ตุลา ตามมาด้วยเปรม “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” คือการหาจุด Compromise ภายใต้อำนาจนำ กองทัพยังกุมอำนาจแต่เปิดโอกาสให้พรรคการเมือง ภาคเอกชน ประชาสังคม มีบทบาท แล้วโชคดี ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิต ตีปี๊บโชติช่วงชัชวาล

คนรุ่นใหม่ในวันนี้ แม้อุดมการณ์ “ปฏิรูป” ร้อนแรง แต่ก็สอดคล้องกับกระแสโลก คนรุ่นใหม่ทั่วโลกลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องอำนาจตัดสินใจอนาคต ทั้งสิ่งแวดล้อม สิทธิเสรีภาพ ความเป็นธรรม

อุดมการณ์เสรี สิทธิมนุษยชน เป็นจุดร่วมของมนุษย์ ไม่มีทางล่มสลายเหมือนสังคมนิยมในอดีต เพียงแต่โลกยุคนี้ กำลังวิกฤต มีแนวโน้มอำนาจนิยมชั่วขณะ

บริบทสำคัญที่แตกต่างสิ้นเชิงคือ ชนชั้นนำไทยไม่สามารถปรับตัวเหมือนอดีต ไม่มีคำว่าผ่อนคลาย Compromise แม้แต่น้อย มีแต่ยิ่งกระชับอำนาจ ขยายอำนาจ เพิ่มความใหญ่โตของอำนาจจนขัดแย้งกับประชาธิปไตยประชาชนอย่างรุนแรง โดยแม้มีทั้งปืนกฎหมาย อำนาจศรัทธาก็เสื่อมสลาย พ่ายแพ้ทาง Soft Power

รัฐประหาร 49 เข่นฆ่า 53 แทนที่จะตระหนัก หาทางประนีประนอมอยู่ร่วมกัน ยิ่งแข็งกร้าว

รัฐประหาร 57 ประยุทธ์อยู่มา 7 ปี รัฐธรรมนูญ 2560 ถอยหลังยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ 2521 เทียบประวัติศาสตร์ง่ายๆ ถ้าชนชั้นนำไทยปรับตัวได้ คงเปลี่ยนรัฐบาลหอยประยุทธ์ไปนานแล้ว

อำนาจนี้อาจใหญ่โตน่ากลัว แต่ถ้าปรับตัวไม่ได้ เอาแต่แตกหักปราบปราม แม้ประชาชนถูกกระทำ สูญเสีย อำนาจ ก็แตกปริเช่นกัน

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/hot-topics/news_6653598


Inga kommentarer:

Skicka en kommentar