ส.ส.
รังสิมันต์ : “พอเรามาไปบอกว่าหมวดนี้ห้ามยุ่ง มาตรานี้ห้ามแตะ
ถามว่าเป็นผลดีต่อสถาบันฯ หรือไม่ ยิ่งเราห้าม ยิ่งไม่เป็นผลดีต่อสถาบันฯ
จึงไม่เห็นด้วยกับการห้าม ส.ส.ร. แตะต้องหมวด 1 และ 2
.
ส.ว. กิตติศักดิ์ : “มากเกินไปแล้ว พอแล้ว แตะสถาบันฯ จนกระทั่งเลือกตั้งแพ้ทุกคราว ถ้าอยากทำเรื่องสถาบันฯ ให้ไปตอนหาเสียง จบไหม”
รัฐธรรมนูญ 2560: รัฐสภาถกร่างแก้ รธน. วาระ 2 ห้ามแตะหมวดกษัตริย์ ด้าน ส.ว. แพ้โหวต หลังชงยกพระราชอำนาจ 38 ม. ใส่ รธน. ใหม่
- หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
- ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต้องแพ้โหวตกลางสภา หลังพยายามผลักดันให้ยกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจทั้งหมด ซึ่งปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 จำนวน 38 มาตรา ไปไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการเงื่อนไขห้ามแตะต้องหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ แต่ถูกเสียงส่วนใหญ่ของ 2 สภาตีตกไป
ในวันที่สองของการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 วาระ 2 เพื่อเปิดทางตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส.ส. พรรคก้าวไกลได้เปิดวิวาทะกับ ส.ว. ในระหว่างพิจารณามาตรา 256/13 กำหนดให้ ส.ส.ร. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน และห้ามแตะต้องเนื้อหาในหมวด 1 และ 2
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) เสียงข้างน้อย อภิปรายว่าที่กังวลกันว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่การล้มล้างสถาบันฯ หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่แล้ว เพราะต้องทำตามข้อบังคับมาตรา 255 แต่พอไปเขียนห้ามเอาไว้ ประชาชนก็สงสัย เพราะแม้แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็สามารถแก้ไขได้ตามข้อสังเกตพระราชทาน หลังผ่านประชามติเมื่อปี 2559
"พอเรามาไปบอกว่าหมวดนี้ห้ามยุ่ง มาตรานี้ห้ามแตะ ถามว่าเป็นผลดีต่อสถาบันฯ หรือไม่ ยิ่งเราห้าม ยิ่งไม่เป็นผลดีต่อสถาบันฯ จึงไม่เห็นด้วยกับการห้าม ส.ส.ร. แตะต้องหมวด 1 และ 2 มันเป็นความประหลาด" นายรังสิมันต์กล่าวและยังตั้งคำถามต่อ ส.ส. รัฐบาล และส.ว. ที่ต้องการให้สถาบันฯ อยู่เหนือการเมือง แต่กลับไปล็อกอำนาจ ส.ส.ร.
ทว่ายังไม่มันพูดจบประโยค นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ก็ลุกขึ้นประท้วงแกมอภิปรายเสียงดังว่า "มากเกินไปแล้ว พอแล้ว แตะสถาบันฯ จนกระทั่งเลือกตั้งแพ้ทุกคราว ถ้าอยากทำเรื่องสถาบันฯ ให้ไปตอนหาเสียง จบไหม" ทำให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่ประธานที่ประชุม ต้องเอ่ยปากเตือน ส.ส.ก้าวไกล ให้หยุดพูดถึง "ประเด็นสำคัญ"
สำหรับมาตรา 256/13 เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาในมาตรา 4 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่มีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นประธาน
ตีตกข้อเสนอ ส.ว. ให้ยกพระราชอำนาจ 38 ม. ไปไว้ใน รธน. ใหม่
แม้เนื้อหาโดยรวมของมาตรานี้แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ที่รัฐสภาลงมติรับหลักการในวาระแรก แต่สมาชิกสภาสูง นำโดย พล.อ. สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา ก็เสนอแปรญัตติมาตรา 256/13 วรรคห้า เพื่อคงพระราชอำนาจในมาตราอื่น ๆ เอาไว้ ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลของ ส.ว. พบว่านอกจากหมวด 1 และ 2 มีบทบัญญัติไม่น้อยกว่า 38 มาตรา ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์
"ถ้าประธานให้โหวตเป็นวรรค ๆ จะดีมาก จะได้รู้ว่าใครจะเอาสถาบันฯ หรือไม่เอา กับปากอย่างใจอย่าง ผมไม่ได้ว่าใครนะครับ สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่รักและเทิดทูนสถาบันฯ" รองประธานวุฒิสภากล่าว
นอกจากนี้ยังมี ส.ว. อีกหลายคนอภิปรายสนับสนุน อย่างนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประกาศว่า "ส.ว. ต้องปกป้องสถาบันฯ" ในการพิจารณา พวกเขาไม่ได้มีมโนภาพไปเอง และต้องให้ความสำคัญกับสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นนอกห้องประชุม ซึ่งมีการเสนอความเห็นแล้วก่อเกิดความรู้สึกไม่ดีของคนในสังคม น่าห่วงใย และกังวล
"ถ้าเราจะเขียนรัฐธรรมนูญในสถานการณ์แบบที่เกิดขึ้นอยู่ เราไม่ไว้ใจ หากจะให้ ส.ส.ร. ไปเขียนทุกเรื่องแบบที่บางท่านอภิปราย" และ "ส.ว. ยืนยันจะทำหน้าที่ปกป้องสถาบันฯ อย่างเต็มที่ ไม่เปิดโอกาสให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ก่อให้เกิดปห. ต่อการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ
เช่นเดียวกับนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ที่ย้ำว่าจำเป็นต้องเอาพระราชอำนาจที่กระจายอยู่ใน 38 มาตราไปใส่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แบบ copy and paste (คัดลอกและวาง) และจำเป็นต้องเติมเนื้อหาในส่วนนี้เข้าไป เป็นผลให้ ส.ส. พรรคก้าวไกลอีกคน นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ตั้งคำถามว่า ส.ว. ไม่ไว้ใจใคร เพราะ ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่มาจากการแต่งตั้ง ก่อนที่ประธานจะตัดบทและขอให้งดตอบโต้กันไปมา
เมื่อ ส.ว. ยืนกรานจะเพิ่มเติมเนื้อหาในมาตรา 256/13 หน้าบัลลังก์ ทำให้ประธานสั่งพักการประชุมในเวลา 17.42 น. เพื่อให้ กมธ.เสียงข้างมาก และ ส.ว. ไปตกลงกัน
ท้ายที่สุดที่ประชุมรัฐสภาลงมติ "เห็นด้วย" กับการใช้ร่างเดิมของ กมธ. ด้วยคะแนนเสียง 349 ต่อ 200 งดออกเสียง 58 ไม่ลงคะแนน 2 ทำให้ข้อเสนอของ ส.ว. เรื่องการยกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจ 38 มาตราไปใส่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถูกตีตกไป
รอถกวิป 3 ฝ่ายหลังทราบคำวินิจฉัยศาล รธน.
แม้ยังไม่ทราบชะตากรรมของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้แน่ชัด แต่สมาชิกสภาสูงและสภาล่างจำต้องเดินหน้าพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ตามกระบวนการ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พปชร. และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ไว้พิจารณา
นายไพบูลย์เสนอ "ญัตติแทรกซ้อน" ขึ้นมากลางที่ประชุมรัฐสภาเมื่อ 9 ก.พ. โดยขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนถูกฝ่ายค้านและผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่เรียกตัวเองว่า "ราษฎร" วิจารณ์ว่ารัฐบาล "ไม่จริงใจ" ในการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560
ตามปฏิทินทางกฎหมาย รัฐสภาจะใช้เวลาระหว่างวันที่ 24-25 ก.พ. พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 2 โดยมี กมธ. เสียงข้างน้อย 109 คนขอสงวนคำแปรญัตติไว้อภิปรายในที่ประชุมร่วมของรัฐสภา จากนั้นจะกลับมาพิจารณาวาระ 3 ในวันที่ 17-18 มี.ค. ซึ่งต้องเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องนี้
อย่างไรก็ตามนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ยอมรับว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลต่อการพิจารณาวาระ 3 ว่าจะได้เดินหน้าต่อหรือต้องหยุด ส่วนถ้าศาลไม่ให้ตั้ง ส.ส.ร. จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราทันทีหรือไม่นั้น ขอปรึกษากับประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) และวิปวุฒิสภาก่อน
เปิดสาระสำคัญร่างแก้ไข รธน. ฉบับวิรัชกับพวก
กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชุดนายวิรัช ใช้เวลา 3 เดือนในการจัดทำรายงานซึ่งมีเนื้อหา 131 หน้า ทำให้วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากขึ้น พร้อมยืนยันหลักการว่าห้ามแตะต้องหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์
สาระสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับรัฐบาลที่รัฐสภาลงมติรับหลักการในวาระแรก เมื่อ 18 พ.ย. 2563 มีดังนี้
1) เพิ่มเสียงในสภา เปิดประตูรื้อ รธน.
การเปิดประตูสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ถูกกำหนดให้ใช้คะแนนเสียงของ ส.ส. และ ส.ว. มากขึ้น
ร่างเดิม: การผ่านวาระ 1 และวาระ 3 ให้ใช้เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (หรือ 450 จากทั้งหมด 750 คน) ส่วนวาระ 2 ใช้เสียงข้างมาก
ร่างของ กมธ.: การผ่านวาระ 1 และวาระ 3 ให้ใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (หรือ 500 จากทั้งหมด 750 คน) วาระ 2 ใช้เสียงข้างมาก
2) ส.ส.ร. จากการเลือกตั้งล้วน
กำหนดให้ ส.ส.ร. มี 200 คน ทว่าการได้มาซึ่ง ส.ส.ร. ยอมปรับให้มาจากการ "เลือกตั้งล้วน" ตามข้อเสนอของฝ่ายค้าน โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
ร่างเดิม: ให้ 150 คนมาจากการเลือกตั้ง และ 50 คนมาจากการคัดเลือก (ของรัฐสภา, ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย, นักเรียนนิสิตนักศึกษา)
ร่างของ กมธ.: ให้ 200 คนมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
3) ส.ส.ร. เลือกเอง มือยกร่าง รธน.
การยกร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ร. ในการแต่งตั้ง กมธ. ขึ้นมาเป็นมือยกร่าง แต่ กมธ. อื่นอาจแต่งตั้งจากบุคคลภายนอกได้
ร่างเดิม: ให้นำข้อบังคับการประชุมรัฐสภามาใช้แต่งตั้ง กมธ.
ร่างของ กมธ.: ให้ ส.ส.ร. เป็นผู้แต่งตั้ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยตั้งจากสมาชิก ส.ส.ร. เท่านั้น
4) ทำประชามติทุกกรณี
ร่างรัฐธรรมนูญที่ กมธ.ยกร่างฯ จัดทำเสร็จแล้วถูกกำหนดให้นำเสนอต่อรัฐสภา แต่มีการเปลี่ยนแปลงกติกาหลังจากนั้น
ร่างเดิม: ให้เสนอต่อรัฐสภา เพื่อขอความเห็นของร่างทั้งฉบับ ซึ่งใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ทั้งสองสภา จากนั้นให้ประธานรัฐสภานำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ในกรณีที่ร่างถูกคว่ำในรัฐสภา ให้นำไปทำประชามติถามว่าประชาชนเห็นชอบหรือไม่
ร่างของ กมธ.: ให้เสนอต่อรัฐสภา ซึ่งกำหนดให้เปิดอภิปรายโดยไม่ลงมติภายใน 30 วัน จากนั้นให้ประธานรัฐสภานำร่างส่งประธาน กกต. ภายใน 7 วันเพื่อจัดให้มีการออกเสียงประชามติ
5) ร่าง รธน. ต้องผ่านประชามติเกินครึ่ง
ในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ให้ กกต. ครม. และหน่วยงานของรัฐเผยแพร่เนื้อหาให้ประชาชนรับทราบ จากนั้นให้ กกต. ประกาศผลภายใน 15 วันหลังวันออกออกเสียง โดยมีการแก้ไขเสียงขั้นต่ำของผู้ลงคะแนนให้สูงขึ้น
ร่างเดิม: การผ่านร่างรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียง 1 ใน 5 ของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง (หรือ 10.2 ล้านคน จากผู้มีสิทธิออกเสียงราว 51 ล้านคน)
ร่างของ กมธ.: การผ่านร่างรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง (หรือ 25.5 ล้านคน จากผู้มีสิทธิออกเสียงราว 51 ล้านคน)
รัฐสภาตีตก ปมเพิ่มเสียงรัฐสภาโหวตปลดล็อกแก้ รธน.
ตลอดเวลา 2 วันที่เปิดให้ ส.ส. ส.ว. และ กมธ. ที่ขอสงวนคำแปรญัตติได้อภิปราย ไม่ว่าจะยกเหตุผลมาชี้แจงแสดงความคิดเห็นอย่างไร แต่เมื่อถึงเวลาลงมติ เสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาก็ลงมติเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ กมธ. ชุดนายวิรัช
ถึงขณะนี้มีเพียงมาตราเดียวคือ มาตรา 3 ว่าด้วยการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่สมาชิกรัฐสภามีมติ "ไม่เห็นด้วย" กับร่างของ กมธ. ที่ให้ใช้เสียงไม่น้อย 2 ใน 3 ในการผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 1 และวาระ 3 โดยให้กลับไปยึดร่างเดิมที่ใช้เสียง 3 ใน 5 ในการลงมติผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนน 441 ต่อ 178 ซึ่งถือเป็นการ "ตีตก" ข้อเสนอของ กมธ. ชุดนายวิรัช เพราะมองว่าการใช้เสียงในสภามากขึ้น จะทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากขึ้น และทำให้เกิดวิกฤตมากกว่า
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวว่า ขณะนี้มีสมาชิกรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 737 คน แบ่งเป็น ส.ส. 487 คน และ ส.ว. 250 หากใช้เสียง 3 ใน 5 ตามร่างเดิม เท่ากับต้องใช้เสียง 443 คน แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นใช้เสียง 2 ใน 3 เท่ากับต้องใช้เสียง 492 คน นั่นหมายความว่าต่อให้ ส.ส. ทั้งหมดจะแก้รัฐธรรมนูญ ก็ไม่สามารถทำได้หาก ส.ว. ไม่เอาด้วย นี่คือตัวเลขจากความเป็นจริง
"ตอนรัฐสภารับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระแรก เพราะต้องการปลดล็อกเสียง ส.ว. 1 ใน 3 (กำหนดใช้เสียง ส.ว. 84 คนในการผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ) แต่พอปลดล็อกนั้นได้ ก็เกิดล็อกใหม่ขึ้นมา หาก ส.ว. ไม่เห็นด้วย ต่อให้ ส.ส. และประธานสภาลงมติเห็นชอบ ก็จะไม่ผ่านตั้งแต่วาระ 1 แล้ว" นายคำนูณกล่าว
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar