ใครเป็นใครใน "ตั๋วช้าง" ระบบหัวคิวในพระบรมราชูปถัมภ์
กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group - DRG
5h ·
• ใครเป็นใครใน "ตั๋วช้าง" ระบบหัวคิวในพระบรมราชูปถัมภ์ •
.
กลายเป็นประเด็นใหญ่ของวัน เมื่อรังสิมันต์ โรม ส.ส. ฝ่ายค้านพรรคก้าวไกลถูกขัดขวางการอภิปรายอีกครั้ง เมื่อเนื้อหานั้นเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจโดยมิชอบ ผ่านเครือข่ายด้วยระบบ "ตั๋ว"
.
ตั๋วที่ใหญ่คับฟ้า ที่เมื่อใครได้รับก็สบายใจได้ว่ามีการการันตีแน่นอน ตั๋วใบนี้ถูกเรียกว่า "ตั๋วช้าง" ซึ่งผ่านการรับรองจากอำนาจจากเบื้องบน ซึ่งเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก "กษัตริย์"
.
นี่เป็นอีกครั้งที่ปรากฏเด่นชัดว่ากษัตริย์ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ โดยหลักฐานที่ถูกอ้างถึงนั้นมีตัวอย่างเช่น หนังสือของหน่วยราชการในพระองค์ เรื่อง ขอรับพระมหากรุณาธิคุณ แต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ที่ลงวันที่ 23 มกราคม 2562 เนื้อความโดยสรุปกล่าวว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ในขณะนั้น ได้กราบบังคมทูลต่อกษัตริย์ให้แต่งตั้งนายตำรวจจำนวน 20 คน (ซึ่งหนึ่งในนั้นมี ร.ต.อ.ชานันท์ ชัยจินดา ลูกชายของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดารวมอยู่ด้วย) และมีการลงนามท้ายเอกสาร ประกอบด้วย
- พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์
- พล.อ.หญิงสุทิดา วชิราลงกรณ์ รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์
- ลายเซ็นปริศนา ที่หากเทียบกับเอกสารอื่น ๆ ก็เป็นใครไม่ได้นอกจากกษัตริย์วชิราลงกรณ์ ซึ่งมีตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์
.
สิ่งที่ปรากฏในเอกสารนั้นตอกย้ำว่ามีการขยายขอบเขตพระราชอำนาจของกษัตริย์ออกไปอีกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการแต่งตั้งนายตำรวจนั้นมีการระบุเอาไว้ตามขั้นตอนอย่างชัดเจนในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
.
ความผิดปกติของระบบ "ตั๋ว" ยังพบในเอกสารราชการ ซึ่งเป็นหนังสือขอสนับสนุนขอรับการแต่งตั้ง ที่ลงนามโดย พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบก.มหด.รอ.904 (ยศและตำแหน่งขณะที่ออกหนังสือ) ที่ขอแต่งตั้งนายตำรวจ 3 นาย ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ และไม่ได้เป็นไปตามกระบวนการตามกฎหมาย แต่อ้างว่านายตำรวจเหล่านี้ได้ "ผ่านการอบรมหลักสูตรจิตอาสา 904 หลักสูตรประจำ และได้ผ่านการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสา 904 ได้มอบหมายภารกิจแล้ว
.
แล้วหลักสูตรจิตอาสา 904 มีความสำคัญอย่างไร ก็ต้องมาดูว่าใครที่ดูแลหลักสูตรนี้ ซึ่งถ้าไปดูที่เอกสารที่ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา "คำสั่งหน่วยราชการในพระองค์ 904 (สำนักราชเลขานุการในพระองค์)" ก็จะพบรายชื่อที่น่าสนใจที่มีความเกี่ยวข้องกันก็คือ
- พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ประธานคณะกรรมการอำนวยการ
- พล.อ.จักรภพ ภูริเดช รองประธาน
- พล.อ.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ กรรมการ
.
ความสัมพันธ์ของรายชื่อเหล่านี้คือ พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ เป็นพี่ชายของ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ในขณะที่ พล.อ.จักรภพ มีน้องชายคือ พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช โดยมี พล.อ.ฐิติราช เป็นพี่เขย เนื่องจากแต่งงานกับพี่สาวของ พล.ต.ต.จิรภพ
.
ย้อนกลับมาที่ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ที่นอกจากการให้ "ตั๋ว" แก่นายตำรวจคนอื่นแล้ว พล.ต.ท.ต่อศักดิ์เองก็ได้รับการสนับสนุนผ่านการ "ยกเว้นหลักเกณฑ์" 3 ครั้งติดต่อกัน ทำให้มีความก้าวหน้าในตำแหน่งอย่างก้าวกระโดด และร่นระยะเวลาไปกว่า 8 ปี จนมีตำแหน่งถึงระดับผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผบช.ก.)
.
ส่วน พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ก็ได้รับการ "ยกเว้นหลักเกณฑ์" เช่นกันโดยร่นระยะเวลาตามกฎหมายไปกว่า 3 ปี และได้รับตำแหน่งถึงระดับผู้บังคับการกองปราบปราม (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รอง ผบช.ก.)
.
นอกจากนี้ยังมีการก้าวก่ายกิจการภายในของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อ พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ ราชเลขานุการในพระองค์ซึ่งอยู่นอก สตช. ได้ส่งหนังสือถึง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ในขณะที่ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. โดยระบุว่าจะมีการคัดเลือกตำรวจสัญญาบัตร มาบรรจุลงใน บก.มหด.รอ.904 (ซึ่งขณะนั้นมี พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ คุมอยู่) ซึ่งก็มีการรับลูกจาก ผบ.ตร. โดยมี พล.ต.ท.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในขณะนั้นปฏิบัติราชการแทน แต่ไปๆ มาๆ กลับกลายเป็นว่าตำรวจเหล่านี้จะถูกส่งตัวไปฝึกเป็น "ตำรวจราบในพระองค์" และเมื่อมีตำรวจ 100 นายขอปฏิเสธ ก็ถูกคำสั่งให้ดำรงวินัย ซึ่งใช้งบประมาณกว่า 12 ล้านบาท (ตำรวจ 3 นายลาออกทันที ส่วนอีก 97 นายถูกส่งตัวไปธำรงวินัยนานถึง 9 เดือน เมื่อกลับมาก็ยังโดนดองอีก)
.
นี่เป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของการทุจริตภายในวงการตำรวจที่ถูกแทรกแซงด้วยอำนาจที่อยู่นอกกฎหมาย และถือเป็นการสมคบคิดกันทำผิดกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของเครือข่ายอำนาจเดียวกันเท่านั้น แต่สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งการสูญเสียผลประโยชน์ของประชาชนไม่ว่าจะเป็นเงินภาษีที่เสียไปโดยไม่เกิดผลบวกกับประชาชน, เกิดการทุจริตอย่างใหญ่หลวงต่อวงการตำรวจ, การขยายขอบเขตพระราชอำนาจของกษัตริย์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดหลักการประชาธิปไตย อีกทั้งเครือข่ายอำนาจนี้ยังพัวพันไปถึงกษัตริย์ นำมาสู่การตั้งคำถามว่า
.
หรือกษัตริย์ ได้เข้ามาแทรกแซงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ "นาย" ผู้สั่งการสูงสุดที่ตำรวจทั้งหลายอ้างถึงเพื่อคุกคามประชาชนนั้น แท้จริงแล้วคือกษัตริย์ ใช่ หรือไม่ ?
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar