ชื่อของ พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง วัย 45 ปีเศษ และพี่ชาย พล.อ.จักรภพ ภูริเดช นายทหารที่รับใช้เบื้องพระยุคลบาทด้วยความซื่อสัตย์ กลับมาอยู่ในความสนใจของสาธารณะ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่่านมา หลัง นายรังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล อภิปรายเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายในแวดวงตำรวจว่าด้วย "ตั๋วช้าง"
ตั๋วช้าง : จักรภพ - จิรภพ ภูริเดช สองพี่น้องผู้รับใช้ชาติและราชบัลลังก์
ชื่อของ พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง วัย 45 ปีเศษ และพี่ชาย พล.อ.จักรภพ ภูริเดช นายทหารที่รับใช้เบื้องพระยุคลบาทด้วยความซื่อสัตย์ กลับมาอยู่ในความสนใจของสาธารณะ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่่านมา หลัง นายรังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล อภิปรายเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายในแวดวงตำรวจว่าด้วย "ตั๋วช้าง"
1 ต.ค. 2563 พล.ต.ต.จิรภพ ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง รอง ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง หลังดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการ กองปราบปราม เพียง 2 ปี
ด้วยการเติบโตในราชการอย่างรวดเร็ว และเหลืออายุราชการอีกกว่าสิบปี (เกิด 2 ธ.ค. 2518) หลายฝ่ายจึงคาดการณ์ว่า โอกาสที่เขาจะได้คว้าตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงไม่ใช่เรื่องไกลเกินจริง
ผลงานโดดเด่น
เมื่อ 20 มิ.ย. 2563 พล.ต.ต.จิรภพ แถลงถึงกรณีคนร้ายวางแผนชิงตัว พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีตรัฐมนตรี ผู้ต้องหาร่วมกันกับพวกอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครโดย พล.ต.ต.จิรภพ ยืนยันว่ามีการจับกุมผู้ต้องหาในคดีอื่นที่ให้การอ้างว่า พ.ต.ท.บรรยิน มีแผนการตามที่เป็นข่าวจริง ขณะนี้ตำรวจกองปราบปรามกำลังสืบสวนขยายผลเพิ่มเติม
ก่อนหน้านี้ เมื่อ ต้น มิ.ย. ผู้บังคับการกองปราบก็เพิ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานตราสัญลักษณ์ประจำชุดปฏิบัติการพิเศษหนุมาน กองกำกับการสนับสนุน กองบังคับการปราบปราม เพื่อใช้ในการปฏิบัติหน้าที่
เช้าของวันที่ 3 มิ.ย. พล.ต.ต.จิรภพ พร้อมข้าราชการตำรวจกองปราบปราม ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเข้ารับพระราชทานตราสัญลักษณ์ประจำชุดปฏิบัติการพิเศษ หนุมาน หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ต่อมาได้อัญเชิญตราสัญลักษณ์พระราชทาน มายังกองบังคับการปราบปราม และประกอบพิธีประดับเครื่องหมายตราสัญลักษณ์ประจำหน่วยให้แก่ชุดปฏิบัติการพิเศษหนุมาน พร้อมทั้งนำข้าราชการตำรวจในสังกัด ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์
ฝีมือของชุดปฏิบัติการพิเศษหนุมานเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วประเทศ พวกเขาปรากฏตัวในคดีสะเทือนขวัญที่ใหญ่ที่สุดของปี 2563 คือ เหตุการณ์ จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา ทหารสังกัดค่ายสุรธรรมพิทักษ์ กราดยิงประชาชนในพื้นที่และหลบหนีเข้าไปในศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 นครรราชสีมา ตั้งแต่เวลา 14.35 น.ของวันที่ 8 ก.พ. 2563 ก่อนถูกวิสามัญฆาตกรรมในช่วงเช้าวันที่ 9 ก.พ.
พล.ต.ต.จิรภพเป็นผู้บัญชาการชุดปฏิบัติการนี้ โดยปฏิบัติงานร่วมกับ พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการ ตำรวจสอบสวนกลางและกองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
"หนุมานกองปราบ" ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ย. 2562 หลังจากที่พล.ต.ต.จิรภพ รับตำแหน่งผู้บังคับการกองปราบปราม ประสงค์ให้กองปราบปรามมีชุดปฏิบัติการของหน่วยตัวเอง เพื่อจะได้เรียกใช้สำหรับภารกิจต่าง ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ หน่วยคอมมานโด ซึ่งเคยสังกัดกองปราบปราม ได้แยกตัวไปอยู่ในสังกัดกองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904
"พ่อคือไอดอล"
พล.ต.ต.จิรภพ ก็คือ "ลูกไม้ใต้ต้น" ของบ้าน "ภูริเดช" ที่สมาชิกครอบครัวล้วนมีการศึกษาสูงและมีหน้าที่การงานดี
เริ่มตั้งแต่บิดา พล.ร.อ.สมภพ ภูริเดช ดำรงตำแหน่งนายทหารราชองครักษ์พิเศษ หลังเกษียณราชการจากกองทัพเรือ ในตำแหน่งผู้บัญชาการกองเรือภาค 3 นอกจากนี้เขาคือ ต้นแบบและแรงบันดาลใจให้ลูก ๆ
"พี่มีคุณพ่อเป็นไอดอล คุณพ่อพี่เป็นผู้การเรือ เป็นนักรบ - นักสู้ เรือหลวงที่ว่าดัง ๆ คุณพ่อพี่เป็นผู้การเรือมาหมดแล้ว ครอบครัวพี่จึงเป็นแรงบันดาลใจผลักดันให้เราประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน" พล.ต.ต.จิรภพกล่าวกับ ไทยรัฐ ในบทสัมภาษณ์ที่เผยแพร่เมื่อ 10 พ.ค. 2560
มารดา คือ นางรสสุคนธ์ ภูริเดช อดีตข้าราชการกรมสรรพากร และอดีตวุฒิสมาชิกผู้ล่วงลับ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพเมื่อ 7 ส.ค. 2560
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานเมื่อ 8 ส.ค. 2560 ว่า ทรงจุดฝักแคพระราชทานเพลิงศพเป็นครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบัน และนับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี
ผู้ช่วยรัฐมนตรี-ผู้บัญชาการทหารมหาดเล็กฯ-หมอฟัน-ตำรวจ
พล.ต.ต.จิรภพคือน้องคนสุดท้องของบ้าน ที่มีพี่ ๆ เป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจ
พี่คนโต คือ ณัฐภพ ภูริเดช หรือ "กล้า" เป็นนักธุรกิจด้านโทรคมนาคมและได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีเมื่อ 20 เม.ย. 2554 ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
พี่ชายคนที่ 2 คือ พล.อ.จักรภพ ภูริเดช นายทหารที่รับใช้เบื้องพระยุคลบาทด้วยความซื่อสัตย์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และผู้บัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์
พี่คนที่ 3 คือ รศ.ทพญ.ดร. ภฑิตา ภูริเดช ที่เป็นทั้งศิษย์เก่าและอาจารย์ปัจจุบันของคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ทพญ.ดร.ภฑิตา สมรสกับ พล.อ. ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายทหารราชองครักษ์ และ รองผู้บัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พล.อ.)
พล.ต.ต.จิรภพ หรือ "ก้อง" คือ น้องคนเล็กของบ้าน เป็นคนเรียนหนังสือดีไม่น้อยหน้าพี่ ๆ เขาบอกกับ ไทยรัฐเมื่อ 4 ปีก่อนว่า เลือกมาเรียนเหล่าตำรวจ หลังสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารได้ แม้รู้สึกว่าตัวเองเหมาะกับการขับเครื่องบินไอพ่นเพราะ "หากเป็นทหารอากาศแล้ว ไม่ได้เป็นนักบินไอพ่น ก็ไม่อยากเป็น เมื่อคำนึงถึงโอกาสต่าง ๆ แล้วจะได้เป็นอย่างที่คาดหวังรึไม่ เลยคิดว่าอาชีพที่ตื่นเต้นรองลงมาก็คือการเป็นตำรวจ จึงเลือกสอบเป็นตำรวจ"
ขึ้นเป็นผู้การกองปราบ เมื่ออายุยังไม่ครบ 43 ปีเต็ม
พล.ต.ต.จิรภพ เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 34 นักเรียนนายร้อยรุ่นที่ 50 จบปริญญาโทด้านการบริหารข้อมูลสารสนเทศ จากมหาวิทยาลัยเซ็นทรัลมิชิแกน สหรัฐฯ จบปริญญาเอกวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ จบหลักสูตรเอฟบีไอรุ่นที่ 271 จากสหรัฐฯ
เขาเริ่มรับราชการตำแหน่งแรกเป็นรองสารวัตรฝ่ายปฏิบัติการ 3 กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (บก.ปปป.) เป็นรองสารวัตร แผนก 2 กก. 1 บก.ป. ก่อนติดยศ พ.ต.ต. เป็นสารวัตรตำรวจท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต จากนั้นก็ขึ้นเป็นรอง ผกก.ท่องเที่ยวภูเก็ต และได้ขึ้นเป็น ผกก.ท่องเที่ยวภูเก็ต ต่อมาได้ย้ายกลับถิ่นเก่ามาเป็น ผกก.1 บก.ป. เมื่อปี 2557 ขึ้นเป็นรอง ผบก.ป.เมื่อ มิ.ย. 2560
ไม่ถึง 2 เดือน ก่อนอายุครบ 43 ปีบริบูรณ์ เขาทำพิธีรับมอบตำแหน่งผู้บังคับการกองปราบจาก พล.ต.ต. ไมตรี ฉิมเฉิด เมื่อ 18 ต.ค. 2561
พล.ต.ต.จิรภพมีผลงานจับกุมคดีใหญ่ ๆ ระดับประเทศมากมาย เช่น คดียักยอกเงินของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง, คดีปล้นรถขนเงิน บริษัทโพรเกรส กันภัย จำกัด คดียิงนายสมยศ สุธางค์กูร เจ้าพ่อพระราม 9 คาเฟ่, คดีจับ "หญิงไก่" แอบอ้างเบื้องสูง, คดีฆ่าโบกปูนชาวอิสราเอลซุกไว้บ้านพักบางบัวทอง เป็นต้น
พล.อ. จักรภพ ภูริเดช นายทหารผู้จงรักภักดี
ในบทสัมภาษณ์ไทยรัฐที่เผยแพร่เมื่อ 10 พ.ค. 2560 พล.ต.ต.จิรภพกล่าวว่า ความสำเร็จในหน้าที่การงานของพ่อและพี่ชาย คือ พล.อ.จักรภพ ล้วนสร้างแรงบันดาลใจให้เขา
"พ่อเคยเป็นผู้การเรือรบหลวงต่าง ๆ ส่วนพี่ชายก็เป็นทหารอากาศ เป็นนักบินไอพ่น F-5, F-16 แต่ละคนก็เท่ระเบิด"
พล.อ. จักรภพอายุมากกว่า พล.ต.ต. จิรภพ 6 ปี เขาเกิดเมื่อ 25 พ.ค. 2512 เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 28 และนักเรียนนายเรืออากาศรุ่น 35 เพื่อน ๆ ในรุ่นเรียกเขาว่า "แหบ" และสื่อมวลชนไทยบางแห่ง รายงานว่าเขามีอีกฉายาว่า "นายค๊อก"
เมื่อ 1 พ.ค. 2563 เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันราชาภิเษกสมรส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีเสด็จ ฯ เป็นการส่วนพระองค์ไปทอดพระเนตรโครงการพระราชทานความช่วยเหลือประชาชน ในความรับผิดชอบของกองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ณ กรมทหารรักษาวังมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ โดย พล.อ. จักรภพ ผู้บัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ได้กราบบังคมทูลรายงานเรื่องการเย็บถุงผ้า สำหรับบรรจุเครื่องอุปโภคบริโภค และหน้ากากอนามัย พระราชทานแก่ราษฎร
พล.อ. จักรภพเจริญเติบโตในหน้าที่การงานอย่างรวดเร็ว จากการสืบค้นราชกิจจานุเบกษา พบประกาศต่าง ๆ ดังนี้
- 5 มี.ค. 2553 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศทหาร ให้แก่ นายทหารสัญญาบัตร สังกัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งรับราชการมาด้วยความเรียบร้อย เป็นผลดีแก่ทางราชการ จํานวน 2 ราย โดย 1 ใน 2 คือ นาวาอากาศเอก จักรภพ ภูริเดช ที่ได้เลื่อนเป็น พลอากาศตรี
- 1 มี.ค. 2555 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ พระราชทานยศทหาร ให้แก่ นายทหารสัญญาบัตร สังกัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งรับราชการมาด้วยความเรียบร้อย เป็นผลดีแก่ทางราชการ 3 ราย โดย 1 ใน 3 คือ พลอากาศตรี จักรภพ ภูริเดช ที่ได้เลื่อนเป็น พลอากาศโท
- 4 ก.ค. 2555 ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็น ผู้บังคับหน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สํานักผู้บัญชาการทหารสูงสุด จากตำแหน่งเดิม นายทหารปฏิบัติการพิเศษ สํานักงานนายทหารปฏิบัติการพิเศษในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สํานักผู้บัญชาการทหารสูงสุด
- ราชกิจจาฉบับวันที่ 22 ม.ค. 2560 26 ธ.ค. 2559 ประกาศว่า มีพระราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ พลโท จักรภพ ภูริเดช ทำหน้าที่ ราชองครักษ์เวร
ปัจจุบันเขาดำรงยศพลเอก ในตำแหน่งรองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และผู้บัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และมีตำแหน่งที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในราชการอีก 5 ตำแหน่ง ประกอบด้วย
- 17 ก.ค. 2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ให้ พล.อ.จักรภพ ภูริเดช ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น 1 ใน 8 คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่มี พล.อ.อ. สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ( ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระดับ11 เทียบเท่าเลขาธิการพระราชวัง ตำแหน่งหมายเลข 1 และประธานข้าราชบริพารในพระองค์) เป็นประธาน
- 17 พ.ย. 2560 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯประกาศแต่งตั้งให้ พล.อ. จักรภพ เป็นกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง
- 9 ธ.ค. 2560 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ประกาศแต่งตั้งให้ พล.อ. จักรภพ เป็นรองประธานกรรมการบริหาร มูนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
- 30 ส.ค. 2562 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯประกาศแต่งตั้งให้ พล.อ.จักรภพ เป็นกรรมการในคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขทำความดีด้วยหัวใจ
- 11 ม.ค. 2563 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯประกาศ แต่งตั้งให้ พล.อ. จักรภพ เป็น กรรมการในคณะกรรมการมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
พ้นวาระราชองครักษ์ 11 วัน
20 ต.ค. 2561 ราชกิจจานุเบกษามีประกาศเผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เขาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ทว่า 6 เดือนต่อมา ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ณ วันที่ 23 เม.ย. 2562 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารพ้นวาระราชองครักษ์ในพระองค์ จำนวน 2 นาย โดยมีชื่อที่ 1 คือ พล.อ. จักรภพ ภูริเดช ตำแหน่งรองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ / ผู้บัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์
และชื่อที่ 2 พ.อ. นราพร แสนธิ ตำแหน่ง รักษาราชการ ผู้บังคับการกรมทหารรักษาวังมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์
ต่อมา 2 พ.ค. 2562 ราชกิจจานุเบกษา ประกาศตอนหนึ่งว่า อาศัยมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติ ราชองครักษ์ พุทธศักราช 2480 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ทั้ง 2 คน เป็นราชองครักษ์ในพระองค์อีกครั้ง
ถัดจากนั้น 5 พ.ค. 2562 มีพระราชพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราสถลมารคตามโบราณราชประเพณี
พล.อ.จักรภพปฏิบัติหน้าที่ในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศพระดำเนินกระหนาบข้างคู่เคียงพระราชยาน ในริ้วเจ้าพนักงานอินทร์เชิญทวนเงินคู่เคียงพระราชยาน ได้แก่ แถวทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์แซงเสด็จ ข้างละ 2 สาย สายละ 12 นาย รวมเป็นข้างละ 24 นาย โดยแต่ละข้างจะมีพลแตร 2 นาย และมีนายทหารผู้บังคับบัญชาของแถวแซงเสด็จ ข้างละ5 นาย
โดยแถวแซงเสด็จขวา มี พล.อ.จักรภพ ผู้บัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เป็นนายทหารกำกับแถวแซงเสด็จขวา และแถวแซงเสด็จซ้ายมี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ตำแหน่งขณะนั้น) และผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 เป็นนายทหารกำกับแถวแซงเสด็จซ้าย
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar