รำลึกคดี ร.7 ยักยอกทรัพย์แผ่นดิน
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีดำที่ ๑๙๗/๒๔๘๒ คดีแดงที่ ๒๗๘/๒๔๘๒ ความแพ่งระหว่าง กระทรวงการคลัง โจทก์ สมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่๑ และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ที่๒ จำเลย
"จำเลยได้โอนทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยดั่งคำฟ้องของโจทก์" [ความตอนหนึ่งของข้อเท็จจริงในคำพิพากษา]ในคำพิพากษานี้ แยกเป็น ๓ ส่วน (โดยสังเขป)
ข้อ๑.ศาลวินิจฉัยว่า ตามพฤติการณ์ที่จำเลยโอนเงินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไปยังต่างประเทศ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก จำเลยไม่มีสิทธิในทรัพย์สินส่วนนั้น ในกรณีดังกล่าวเป็นเหตุฉุกเฉินโจทก์ยื่นคำฟ้องโดยมีเหตุสมควร ศาลสามารถยึดหรืออายัดทรัพย์ของจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ข้อ๒.โจทก์นำ หลวงสารสินทะเบียนสิษฐ์ นายวานิต นาวิกบุตร์ และนายเฉลียว ปทุมรส เข้าเบิกความ ศาลพิเคราะห์ว่า จำเลย โอนขายอสังหาริมทรัพย์โดยสมรู้กับคู่สัญญา เพื่อจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยให้พ้นอำนาจศาล ซึ่งอาจบังคับเอาแก่จำเลยและเพื่อฉ้อโกงโจทก์ การกระทำของจำเลยไม่เป็นไปโดยสุจริตและเป็นเสียหายแก่โจทก์
ข้อ๓.ศาลอุทธรณ์ วินิจฉัยให้อายัดหรือยึดทรัพย์จำเลยทั้งหมดรวมทั้งทรัพย์สินของบุคคลภายนอกซึ่งถึงกำหนดชำระแก่จำเลยไปพลางก่อน และเงินวางศาลเพื่อประกันสำหรับค่าสินไหมทดแทน ให้จำเลยเป็นฝ่ายเสีย
>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
จำนวนเงินโดยละเอียดนั้นเราจะกล่าวถึงอีกครั้งในตอนข้างหน้า, ต่อไปนี้เป็นเพียงจำนวนโดยคร่าวๆ เท่านั้น, คือ :
วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๗๕ หนึ่งแสนสามหมื่นบาทเศษ,วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๔๗๕ สามแสนสองหมื่นบาทเศษ,วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๗๕ หนึ่งล้านหนึ่งแสนบาทเศษ,วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๔๗๕ ห้าแสนสี่หมื่นบาทเศษ,วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๔๗๕ เก้าหมื่นห้าพันบาทเศษ,วันที่ ๖ กันยายน ๒๔๗๕ สามแสนหนึ่งหมื่นบาทเศษ,วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๔๗๕ ทรงโอนเงินที่จะต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลอังกฤษ เข้าบัญชีของพระองค์หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นบาทเศษ,วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๔๗๕ ทรงถอนเงินจากบัญชีพระคลังข้างที่ไปทำประกันสามแสนบาท,วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๗๕ ทรงถอนเงินจากบัญชีพระคลังฯ ไปทำประกันอีกหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทเศษ,รายการสุดท้ายคือ, ในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๔๗๗ ทรงโอนเงินก้อนสุดท้ายจากพระคลังข้างที่เข้าบัญชีส่วนพระองค์เป็นจำนวนเงินหนึ่งล้านบาทเศษ.
อ่านคำพิพากษาฉบับเต็มที่นี่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีแดงที่ ๒๗๘/๒๔๘๒
ศาลอุทธรณ์
วันที่ ๒๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒
ความแพ่ง
กระทรวงการคลัง | โจทก์ | ||
ในระหว่าง | |||
สมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่ ๑ | จำเลย | ||
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ที่ ๒ |
คำสั่งลงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒
ผู้พิพากษาซึ่งมีนามต่อไปข้างท้ายนี้ได้พร้อมกันตรวจสำนวนคดีเรื่องนี้แล้วจึ่งพิพากษาเด็ดขาดดั่งจะกล่าวต่อไปนี้
คดีนี้ โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ มีใจความว่า จำเลยได้โอนทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลย โจทก์จึ่งฟ้องเรียกเงินรวมทั้งดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้อง เป็นเงินหกล้านสองแสนเจ็ดหมื่นสองพันเจ็ดร้อยสิบสองบาท เก้าสิบสามสตางค์
ในวันเดียวกันนั้นเอง โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยได้ทั้งหมด รวมทั้งทรัพย์สินของบุคคลภายนอกซึ่งถึงกำหนดชำระแก่จำเลยด้วย และโดยที่กรณีมีเหตุฉุกเฉิน จึ่งขอให้ศาลมีคำสั่งจัดให้มีวิธีคุ้มครองตามคำขอโดยไม่ชักช้า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๖๒ และ ๒๖๗
ศาลแพ่งได้ทำการไต่สวนแล้วมีคำสั่งในวันนั้นเอง ให้ยกคำร้องของโจทก์เสีย คำสั่งนี้เป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๖๗
ในวันที่ ๒๐ เดือนเดียวกัน โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอใหม่ตามความในมาตรา ๒๖๗ วรรค ๓ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ในคำร้องฉบับหลังนี้ โจทก์คงขอให้ศาลมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยได้ทั้งหมด รวมทั้งทรัพย์สินของบุคคลภายนอกซึ่งถึงกำหนดชำระแก่จำเลยด้วย เช่นเดียวกับคำขอในคำร้องฉบับแรก โดยอ้างเหตุว่า เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ จำเลยที่ ๑ ได้โอนขายที่ดินโฉนดที่ ๕๕๓๒ ของจำเลยที่ ๑ ให้แก่หม่อมเจ้ารัตยากรวิสุทธิ์ไปเป็นเงินห้าพันบาท และในวันที่ ๑๒ เดือนเดียวกัน จำเลยที่ ๑ ได้ให้ผู้แทนมาขอต่อเจ้าพนักงานทะเบียนที่ดินและโลหกิจ จังหวัดพระนครและธนบุรี เพื่อนำนิติกรรมโอนขายที่ดินอีกแปดแปลงตามบัญชีท้ายคำร้องให้แก่หม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล เป็นราคาหนึ่งแสนสองหมื่นแปดพันสามร้อยยี่สิบบาท การกระทำของจำเลยที่ ๑ ดั่งกล่าวมานี้เป็นการที่จำเลยตั้งใจจะโอนขายทรัพย์สินของจำเลยไปให้พ้นอำนาจศาลซึ่งอาจจะออกบังคับเอาแก่จำเลยและเพื่อฉ้อโกงโจทก์ และนอกจากนั้น ตัวจำเลยอยู่นอกอำนาจศาลด้วย
ศาลแพ่งได้ไต่สวนคำร้องฉบับนี้แล้วมีคำสั่งให้ยกเสีย
โจทก์อุทธรณ์ต่อมา
คณะผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๕๕ การที่ศาลจะอนุญาตตามคำขอของโจทก์ ศาลจะต้องพอใจจากพยานที่โจทก์นำมาสืบหรือที่ศาลได้เรียกมาสืบว่า
(๑) คำฟ้องที่ผู้ขอยื่นและในโอกาสที่ยื่นคำขอนั้นมีเหตุสมควร และ
(๒) มีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีคุ้มครองตามที่ขอนั้นมาใช้ได้ กล่าวคือ
(๒) (ก) จำเลยตั้งใจจะโอนขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของตนเสียทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือยักย้ายไปเสียให้พ้นจากอำนาจศาล เพื่อประวิงหรือขัดขวางต่อการบังคับตามคำบังคับอย่างใดซึ่งอาจจะออกบังคับเอาแก่จำเลย หรือเพื่อจะฉ้อโกงโจทก์ หรือ
(๒) (ข) มีเหตุอื่นใดในการยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น ตามที่ศาลจะพิเคราะห์เห็นเป็นการยุติธรรมและสมควร
ในข้อ (๑) นั้น โจทก์ได้นำหลวงกาจสงคราม[1] ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานในคณะกรรมการตรวจรับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เมื่อประมาณห้าเดือนมานี้ และหลวงดำริอิศรานุวรรต[2] ซึ่งเป็นกรรมการร่วมอยู่ในขณะนี้ และเป็นประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีหน้าที่ตรวจบัญชีของสำนักงานพระคลังข้างที่ มาเบิกความเป็นพยาน ได้ความว่า ในการตรวจรับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ปรากฏตามบัญชีว่า จำเลยได้โอนทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยเป็นจำนวนดั่งที่โจทก์กล่าวไว้ในฟ้อง การที่พยานยืนยันว่าเป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ก็โดยพยานตรวจทราบจากบัญชีของสำนักงานพระคลังข้างที่ เพราะมีการแยกบัญชีไว้เป็นสองประเภท คือ ประเภทหนึ่ง ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ อีกประเภทหนึ่ง ทรัพย์สินส่วนพระองค์ เงินที่จ่ายและโอนไปนั้นจ่ายและโอนไปจากบัญชีทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น
อนึ่ง หลวงกาจสงครามได้เบิกความด้วยว่า ได้ตรวจพบเอกสารซึ่งจำเลยที่ ๑ สั่งให้กรมพระกำแพงเพ็ชรฯ[3] เสนอโครงการส่งเงินทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไปต่างประเทศ โครงการที่เสนอมานั้นมีหลายวิธี การประกันชีวิตเป็นวิธีหนึ่งในโครงการที่เสนอ และจำเลยได้จ่ายเงินทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ไปในการประกันชีวิตของจำเลยกับบริษัทที่อยู่ในต่างประเทศ การส่งเงินไปประกันชีวิตนั้นเป็นเวลาติด ๆ กับที่กรมพระกำแพงเพ็ชร์ฯ เสนอโครงการ
ศาลแพ่งเห็นว่า ตามคำพยานโจทก์ดั่งกล่าวนี้ คดียังไม่พอฟังเป็นมูลได้ว่า จำเลยได้โอนและจ่ายเงินทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลย พอแก่การที่จะออกคำสั่งก่อนคำพิพากษาให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยตามคำขอของโจทก์ เพราะโจทก์มิได้นำบัญชีแม้แต่แผ่นเดียวหรือหนังสือสั่งการของจำเลยที่ ๑ แม้แต่ชิ้นเดียวมาแสดง พยานสองปากนี้ทราบเป็นข้อเท็จจริงมาได้ก็โดยตรวจพบจากเอกสารต่าง ๆ จึ่งมีค่าเสมือนพยานบอกเล่า โจทก์หาได้นำพยานที่รู้เรื่องเดิมแม้แต่ปากเดียวมาสืบประกอบไม่
ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วยกับความเห็นนี้ บทบัญญัติในมาตรา ๒๕๕ อนุมาตรา (๑) มีแต่เพียงว่า คำฟ้องที่ผู้ขอยื่นและในโอกาสที่ยื่นคำขอนั้นมีเหตุสมควรเท่านั้น กฎหมายไม่ประสงค์ถึงกับว่า ศาลต้องพอใจจากพยานที่โจทก์นำมาสืบหรือที่ศาลได้เรียกมาสืบว่า คดีของโจทก์มีพยานหลักฐานมั่นคง เมื่อฟังได้ว่า คดีของโจทก์มีเค้ามูลควรเชื่อว่าเป็นความจริงก็เพียงพอแล้ว ยิ่งในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน ศาลอาจมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยไว้ก่อนคำพิพากษาโดยเพียงแต่ฟังจากคำแถลงของโจทก์เท่านั้น ดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๗ วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ในเรื่องนี้ โจทก์ได้นำหลวงการสงครามและหลวงดำริอิศรานุวรรตซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่ราชการดั่งกล่าวแล้วมาเบิกความยืนยันว่า จำเลยได้โอนทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยดั่งคำฟ้องของโจทก์ นับว่า โจทก์ได้นำพยานมาสืบเป็นที่พอใจของศาลแล้ว ตามมาตรา ๒๕๕ อนุมาตรา (๑)
ในข้อ (๒) นั้น โจทก์ได้นำหลวงสารสินทะเบียนสิษฐ์ นายวินิต นาวิกบุตร์ และนายเฉลียว ปทุมรส มาเบิกความฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ จำเลยที่ ๑ ได้โอนขายที่ดินตำบลสวนดุสิตหนึ่งแปลงให้แก่หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ เป็นราคาห้าพันบาท ครั้นวันที่ ๑๒ เดือนเดียวกัน ผู้แทนของจำเลยที่ ๑ ได้มาขอทำนิติกรรม ณ หอทะเบียนที่ดินเพื่อขายที่ดินอีกแปดแปลง ราคาหนึ่งแสนสองหมื่นแปดพันสามร้อยยี่สิบบาท ให้แก่บุคคลคนเดียว คือ หม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล ที่ดินรายแรกที่จำเลยขายให้แก่หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ์นั้น ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ ได้โอนขายให้แก่หม่อมเจ้าหญิงอุไรวรรณ ทองใหญ่ เป็นราคาสี่พันบาท หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ และหม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล มิใช่เป็นคนอื่นไกล แต่เป็นคนที่อยู่ในวังศุโขทัยซึ่งเคยเป็นที่ประทับของจำเลยและในบัดนี้อยู่ในความครอบครองของจำเลย และบุคคลทั้งสองนี้เป็นผู้ที่จำเลยที่ ๑ เคยอุปการะมา นอกจากนั้น หม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล ก็เป็นน้องชายของหม่อมเจ้าอุปลีสาณ ชุมพล ซึ่งเป็นตัวแทนจัดการทรัพย์สมบัติของจำเลยที่ ๑ ด้วย อนึ่ง หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ ไม่มีฐานะพอที่จะซื้อที่ดินราคาตั้งห้าพันบาทได้
ศาลแพ่งเห็นว่า ไม่มีเหตุผลจะฟังได้ว่า จำเลยตั้งใจจะโอนขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยไปให้พ้นอำนาจศาลซึ่งอาจจะออกบังคับเอาแก่จำเลยและเพื่อฉ้อโกงโจทก์ เพราะโจทก์ไม่ได้สืบว่า จำเลยรู้ถึงการเรียกทรัพย์สินเหล่านั้นคืน การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำธรรมดาของบุคคลในการดำเนินอาชีพ และฐานะหม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ ก็ดี การที่หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ ได้โอนที่ดินที่ได้รับซื้อไว้ต่อไปก็ดี เป็นเรื่องส่วนตัวของหม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ ไม่ปรากฏว่า จำเลยได้รู้เห็นด้วยอย่างไร ทั้งเป็นจำนวนเงินที่น้อยเมื่อเทียบกับทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องและทรัพย์สินที่จำเลยมีอยู่
ความเห็นของศาลแพ่งในข้อนี้ ศาลอุทธรณ์ก็ไม่เห็นพ้องด้วยอีก เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงต่าง ๆ ตามที่โจทก์ได้นำพยานมาสืบประกอบกันเข้าแล้ว จะเห็นได้ว่า การกระทำของจำเลยที่ไม่เป็นไปโดยสุจริตและเป็นที่เสียหายแก่โจทก์ อันเป็นเนื้อแท้ของบทบัญญัติในมาตรา ๒๕๕ (๒) (ก) ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น การที่หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ อาศัยอยู่ในวังศุโขทัยก็ดี ได้เคยรับความอุปการะจากจำเลยก็ดี ตลอดจนไม่มีฐานะพอที่จะซื้อที่ดินราคาตั้งห้าพันบาทได้นั้น ส่อให้เห็นว่า จำเลยไม่ได้กระทำไปอย่างธรรมดาของบุคคลในการดำเนินอาชีพ ยิ่งกว่านี้ ต่อมาอีกเพียงสี่วัน หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ ได้โอนขายที่รายนั้นให้แก่หม่อมเจ้าหญิงอุไรวรรณ ทองใหญ่ ไปเพียงราคาสี่พันบาท ยอดขาดทุนถึงหนึ่งพันบาทชั่วเวลาสี่วัน ในแง่กฎหมาย การที่หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ โอนขายที่รายนั้นไปอีกต่อหนึ่งเช่นนี้ อาจเป็นผลให้โจทก์ในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้จำเลยเสื่อมเสียสิทธิยิ่งขึ้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๘ การที่จะหาพยานหลักฐานโดยตรงมาแสดงให้ศาลเห็นว่า จำเลยได้รู้เห็นด้วยกับหม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ ถ้าไม่พ้นวิสัยก็เห็นจะไม่ง่ายนัก แต่ศาลย่อมสันนิษฐานเอาได้ตามพฤติการณ์นั้น
นอกจากนี้ โจทก์ยังได้นำสืบอีกว่า เมื่อได้โอนขายที่ดินให้หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ แล้ว ต่อมาอีกสองวัน ผู้แทนของจำเลยที่ ๑ ยังได้มาขอทำนิติกรรม ณ หอทะเบียนที่ดินเพื่อโอนขายที่ดินอีกแปดแปลง ราคาหนึ่งแสนสองหมื่นแปดพันสามร้อยยี่สิบบาท ให้แก่หม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล ซึ่งเป็นคนอยู่ในวังศุโขทัยนั้นเอง และเป็นน้องชายหม่อมเจ้าอุปลีสาณ ชุมพล ซึ่งเป็นตัวแทนจัดการทรัพย์สมบัติของจำเลยที่ ๑
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ได้สืบเป็นที่พอใจของศาลในข้อนี้แล้ว อันที่จริง เพียงแต่สืบว่า จำเลยตั้งใจจะโอนขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยก็พอกับที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕๕ (๒) (ก) ที่กล่าวมาแล้ว แต่ในคดีนี้ โจทก์ได้สืบไปถึงว่า จำเลยได้โอนขายไปเสียซ้ำไป และเมื่อตั้งใจจะโอนขายหรือจำหน่ายเพื่อประวิงหรือขัดขวางต่อการบังคับตามคำบังคับอย่างใดซึ่งอาจจะออกบังคับเอาแก่จำเลยหรือเพื่อจะฉ้อโกงโจทก์แม้เพียงเล็กน้อยเท่าใด ก็ต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายที่กล่าวแล้ว
อย่างไรก็ดี บทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๖๓ ได้ระวังความเสียหายของจำเลยอยู่แล้ว ฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น จึ่งพิพากษากลับคำสั่งศาลแพ่ง ในคดีนี้ โจทก์ฟ้องเรียกเงินจากจำเลยถึงหกล้านสองแสนเจ็ดหมื่นสองพันเจ็ดร้อยสิบสองบาท เก้าสิบสามสตางค์ แต่ทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ เท่าที่โจทก์ได้สอบสวนมานั้น ตามบัญชีปรากฏว่า มีราคาต่ำกว่าจำนวนที่โจทก์ฟ้อง จึ่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งไว้ก่อนพิพากษา รวมจำนวนเงินหรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกซึ่งถึงกำหนดชำระแก่จำเลยตามความในมาตรา ๒๕๔ อนุมาตรา (๑) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และโดยเหตุที่โจทก์เป็นองค์การส่วนใหญ่ในระเบียบราชการบริหารของประเทศ จึ่งไม่จำเป็นที่จะสั่งให้โจทก์นำเงินมาวางศาลเพื่อเป็นประกันสำหรับค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำเลยอาจได้รับก่อนศาลจะออกหมายยึดหรืออายัด ค่าธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ผู้แพ้คดีในที่สุดเสีย
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar