สุมหัวคิด - ยื้อแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ สว.อยู่โหวตประยุทธ์รอบ 2
.......................................................................
บีบีซีไทย - BBC Thai
ด้านนักวิชาการรัฐศาสตร์จากจุฬาฯ มองว่า การเดินหน้าแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระ 3 จะต้องเผชิญกับ "ค่ายกล ส.ว." ซึ่งต้องได้รับเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกที่มีอยู่
แก้รัฐธรรมนูญ : ประธานรัฐสภายืนยันเดินหน้าต่อตามระเบียบวาระ
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ยืนยันรัฐสภาจะเดินหน้าพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระ 3 ตามที่บรรจุระเบียบวาระไว้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ว่าสภามีอำนาจร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ตาม
ด้านพรรคฝ่ายค้าน เห็นด้วยต้องพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมรายมาตราในวาระ 3 แม้ศาลรัฐธรรมนูญ เปิดทางยกร่างใหม่ทั้งฉบับ
นายชวน กล่าวว่าได้บรรจุระเบียบวาระเรื่องแก้รัฐธรรมนูญไว้แล้วในวันที่ 17 มีนาคม ไม่มีสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าจะเป็นการระงับหรือชะลอไว้ก่อน โดยขณะนี้ยังไม่ได้รับคำวินิจฉบับเต็มจากศาลรัฐธรรมนูญ แต่รัฐสภาจะยึดตามหลักรัฐธรรมนูญ แล้วค่อยพิจารณาว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันองค์กรต่าง ๆ อย่างไร
เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจและหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ได้ แต่ต้องจัดทำประชามติ 2 ครั้ง ครั้งแรกให้ประชาชนลงมติว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และครั้งที่สองเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่ารัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติ
ในวันนี้ (12 มี.ค.) นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำพรรคร่วมฝ่ายค้าน แถลงว่า ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านมีความเห็นว่าจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกลไกของสภาฯ ในวาระ 3 ต่อไป โดยไม่ให้ผิดมติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ จะเป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย อนุญาตให้รัฐสภาสามารถแก้ไขได้ทั้งฉบับก็ตาม
นายสมพงษ์ย้ำเช่นเดียวกับนายชวนว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นญัตติที่ค้างอยู่ในสภา ไม่สามารถปรับเปลี่ยนในตอนนี้ได้
ด้านพรรคภูมิใจไทย พร้อมเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 และจะไม่ยอมให้มีการต่อรองการพิจารณาใด ๆ อีก
สมชาย แสวงการ ชี้ไม่สามารถเดินหน้าโหวตร่างแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 ได้
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ให้ความเห็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ารัฐสภาสามารถยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ว่า กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้มีเพียงแค่การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เท่านั้น และศาลรัฐธรรมนูญระบุชัดเจนว่าจะต้องทำประชามติก่อน แล้วค่อยกำหนดว่าจะใช้วิธีการ ตั้ง ส.ส.ร หรือตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมายกร่าง
นายสมชายเห็นว่าทั้งการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1-2 เป็นกระบวนการที่ทำไปก่อนล่วงหน้า เป็นกระบวนการเดียวกันกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำอยู่ แต่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ถือเป็นกระบวนการใหม่
ส.ว.รายนี้ ให้ความเห็นด้วยว่า การประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติในวาระที่ 3 วันที่ 17 มีนาคมนี้ ที่ประชุมจะต้องหารือถึงคำวินิจฉัยของศาลกันก่อนว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เพราะคำวินิจฉัยผูกพันรัฐสภา หากจะเดินหน้าต่อไปก็ต้องกลับไปทำประชามติก่อน และถ้าหากทำประชามติรวบไปพร้อมกันหลังการลงมติวาระ 3 ก็จะมีปัญหาเพราะสิ่งที่ดำเนินการมามีเนื้อหาที่เกินอำนาจจากที่ศาลวินิจฉัย
"ก้าวไกล" ยืนยันกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ วาระ 1-2 ไม่เป็นโมฆะ ชี้ถ้าถูกโหวตคว่ำ รัฐบาลต้องเปิดทางประชามติ
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวในการแถลงของที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า หากสมาชิกรัฐสภาของพรรคร่วมรัฐบาลโหวตคว่ำการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 และปิดประตูการแก้ไขรายมาตรา คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ได้บอกไว้ถึงวิธี "ลดอุณหภูมิการเมืองและแก้ไขวิกฤตรัฐธรรมนูญ" ว่าให้มีการลงประชามติขอความเห็นชอบจากประชาชน
"เมื่อมีการปิดการแก้ไขรายมาตราไป ก็ควรที่จะเปิดวิธีการแก้ไข ถามเจตจำนงของประชาชนว่าต้องการที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ตามมาตรา 166 (ของรัฐธรรมนูญ)"
นักวิชาการจุฬาฯ หนุนยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ทำประชามติ 2 รอบ
รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าสามารถตีความได้ 2 แนวทาง
แนวทางที่ 1 เป็นการเปิดให้ทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แต่การจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อทดแทนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้นั้น ในทางปฏิบัติต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยในระหว่างจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะกำหนดให้ใช้ฉบับปัจจุบันหรือฉบับใดฉบับหนึ่งเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว ดังนั้นคำถามในการลงประชามติจะต้องชัดเจน ตรงไปตรงมา เช่น "ท่านเห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ ที่จะยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ"
นักวิชาการจุฬาฯ ระบุว่า หากประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบ และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้วเสร็จ จึงให้ทำประชามติอีกครั้ง เป็นการสถาปนารัฐธรรมนูญโดยประชาชน
รศ.ดร.สิริพรรณ ยังให้ความเห็นด้วยว่า หากดำเนินการแนวทางนี้ก็ควรปรับเปลี่ยนวิธีเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จากเขตละ 1 คน 200 เขต ที่ผ่านวาระ 2 มาเป็นการใช้ระบบเลือกตั้งเช่นเดียวกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เมื่อปี 2543 ก็ต้องเร่งผ่าน พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และเร่งรัดให้ทำประชามติโดยไว
ส่วนการตีความแนวทางที่ 2 นั้น รศ.ดร.สิริพรรณ ระบุว่ากระบวนการที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ เป็นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 เพื่อเปิดช่องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราอื่น แต่ไม่ได้เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยแท้ เพราะได้ยกเว้นหมวด 1-2 และที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์
มาตรา 256 วรรค 8 กำหนดว่าเมื่อผ่านวาระ 3 ต้องมีการออกเสียงประชามติ ซึ่งก็เป็นไปตามคำวินิจฉัยอยู่แล้ว
นักวิชาการหญิงระบุว่า หากจะนำคำวินิจฉัยมาใช้เพื่อให้กระบวนการขณะนี้ดำเนินต่อไปได้ ไม่ให้เกิดทางตันทางการเมือง เมื่อแก้ไขแล้วเสร็จก็ให้นำร่างดังกล่าวมาทำประชามติอีกครั้ง ก่อนประกาศใช้
อย่างไรก็ดี ยังมีอุปสรรคสำคัญ คือ มาตรา 256 วรรค 6 ที่ระบุว่า การจะผ่านวาระ 3 ได้ ต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกที่มีอยู่ หรือประมาณ 84 เสียง
"ค่ายกล ส.ว. นี้ จะทำให้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่ดำเนินอยู่ผ่านไปได้ยาก"
นอกจากนี้การให้ ส.ส.ร. มีที่มาจากการเลือกตั้งเขตละ 1 คน 200 เขต ตามร่างที่ผ่านวาระ 2 มา จะทำให้เราได้ ส.ส.ร.ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของเครือข่ายการเมือง และจักรกลอำนาจรัฐในพื้นที่มากกว่าจะได้ตัวแทนประชาชนที่หลากหลาย
"หากแนวทางที่ดำเนินอยู่นี้ต้องเจอทางตัน
การเลือกแนวทางทำประชามติ 2 รอบ รอบแรกเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560
เริ่มกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และรอบ 2
ทำประชามติเพื่อรับรองรัฐธรรมนูญ
จะทำให้เราได้รัฐธรรมนูญเพื่ออนาคตที่ถือกำเนิดจากอำนาจของประชาชนอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง"
รศ.ดร.สิริพรรณ ระบุ
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar