tisdag 16 mars 2021

ลิ่ว หรือ ล่ม ร่างแก้ รธน. วาระ 3 พุธ-พฤหัสนี้

มติ พปชร. ให้ ส.ส. ในสังกัด “งดออกเสียง” กับท่าทีของ ส.ว. ที่บอกว่า “จะทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตกไปได้อย่างไร” เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ตั้งต้นนับหนึ่ง ก.ย. 2563 กำลังจะถูกล้มกระดาน

 
 
ลิ่ว หรือ ล่ม ร่างแก้ รธน. วาระ 3 พุธ-พฤหัสนี้

แก้รัฐธรรมนูญ: สำรวจท่าที ส.ส. และ ส.ว. ก่อนโหวตร่างแก้ รธน. วาระ 3

การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ในวาระที่ 3 กำลังจะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ (17 มี.ค.) ท่ามกลางการตีความแตกต่างหลากหลายจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางการลงมติของสมาชิกรัฐสภา

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา นัดประชุมคณะกรรมการประสานงาน (วิป) 3 ฝ่าย ประกอบด้วย วิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (16 มี.ค.) แต่ไม่อาจหาข้อสรุปในการดำเนินการของรัฐสภาได้ จึงมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาไปพิจารณาอีกครั้งภายในวันนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าสามารถเดินหน้าลงมติในวาระที่ 3 ได้หรือไม่

ก่อนหน้านี้ ฝ่ายกฎหมายของรัฐสภามีมติเป็น "เอกฉันท์" ว่าสมาชิก 2 สภาสามารถเดินหน้าลงมติในวาระที่ 3 ได้ ซึ่งเป็นการพิจารณาตามแนวปฏิบัติของรัฐสภาที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฏหมาย และนายชวนก็ออกมาการันตีหลายครั้งว่าพร้อมเดินหน้านัดประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้ลงมติตามระเบียบวาระที่บรรจุไว้แล้ว ทว่าเขาต้องส่งสัญญาณใหม่หลังได้อ่านคำวินิจฉัยกลาง

"แนวโน้มต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งศาลได้วินิจฉัยไปในทางที่ว่าเป็นการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" นายชวนกล่าว

ประธานรัฐสภายังเปิดเผยแนวทางการพิจารณาของฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาไว้ 2 ทางเลือก ระหว่าง 1) ยึดตามกฏหมาย หรือ 2) ยึดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีผลผูกพันทุกองค์กร

ชวน หลีกภัย
คำบรรยายภาพ,

ชวน หลีกภัย นัดประชุมวิปสามฝ่าย

ต่อมาในช่วงเย็น นายชวนให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่าฝ่ายกฎหมายสภาผู้แทนราษฎร  เห็นว่า "ไม่ควรลงมติ" ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ควรต้องมีการทำประชามติก่อน ส่วนจะทำประชามติในขั้นตอนใดนั้น จะต้องหารือในที่ประชุมรัฐสภา โดยเปิดให้สมาชิกได้แสดงความเห็นอย่างเต็มที่ ก่อนตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

นายชวนยืนยันว่าการบรรจุระเบียบวาระประชุมรัฐสภาในวันพรุ่งนี้ เพราะเป็นการทำหน้าที่ตามกฏหมายบังคับไว้ ว่าเมื่อร่างผ่านการพิจารณาในวาระที่ 2 จะต้องรอ 15 วัน และเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 3

ขณะที่พรรคแกนนำรัฐบาลผสมอย่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีมติให้ ส.ส. ของพรรคลงมติ "งดออกเสียง" ตามคำเปิดเผยของ น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม. ในฐานะโฆษกพรรค ทั้ง ๆ ที่ ส.ส. พปชร. คือเจ้าของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะกลับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันพรุ่งนี้

เนื้อหาของร่างกฎหมายคืออะไร

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีเนื้อหา 5 มาตรา ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในวาระที่ 2 (พิจารณาเป็นรายมาตรา) เมื่อ 25 ก.พ. โดยสาระสำคัญคือการแก้ไขวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เพื่อเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง 200 คน ขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต่อมาประธานรัฐสภาได้เรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ วันที่ 17-18 มี.ค. เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 (พิจารณาให้ความเห็นชอบทั้งฉบับ) ทว่าได้เกิดเหตุแทรกซ้อนขึ้นจากคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. พปชร. และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง

คนในสภาตีความกันอย่างไร

ถึงขณะนี้เจ้าของโหวตทั้งในสภาสูงและสภาล่างยังตีความคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ตรงกัน ซึ่งบีบีซีไทยสรุปความเห็นของนักการเมืองระดับแกนนำที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเพื่อนร่วมสภาได้เป็น 2 กลุ่ม ระหว่าง

ที่ประชุมสภา

1. พรรคร่วมฝ่ายค้านที่ยืนยันเดินหน้าลงมติ "เห็นชอบ" ในวาระที่ 3 เพราะตีความว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ไม่ใช่การรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จึงไม่จำเป็นต้องทำประชามติก่อน

2. พปชร. ผนึกกับ ส.ว. ส่งสัญญาณ "ตีตก" ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ค้างสภา นั่นเท่ากับว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ตั้งต้นนับหนึ่งเมื่อรัฐสภาได้พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรวม 6 ฉบับ เมื่อเดือน ก.ย. 2563 ต้องถูกล้มกระดานไป

รัฐบาล

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย เสนอว่าวิธีดีที่สุดคือ "โหวต แต่อาจไม่ผ่าน" พร้อมบอกใบ้วิธีปฏิบัติในการลงมติวาระ 3 ไว้ว่า 1. อาจไม่มีคนมาประชุม หรือ 2. โหวต "งดออกเสียง" เพราะไม่รู้จะทำอย่างไรดี หรือ 3. โหวต "ไม่เห็นชอบ" ให้มันตกไป ให้จบเรื่อง แล้วค่อยเริ่มต้นกันใหม่ที่ลงประชามติก่อนเพื่อแก้ทั้งฉบับตามที่ศาลรัฐธรรมนูญแนะนำ หรือแก้เป็นรายมาตรา

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เจ้าของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และประธานวิปรัฐบาล ระบุว่า "เห็นปัญหาที่ไม่สามารถเดินหน้าต่อได้" และตั้งคำถามว่า "หากรัฐสภาดำเนินการขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญใครจะรับผิดชอบ" เพราะมองว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีความชัดเจนในตัวเองแล้ว

นายวิรัช รัตนเศรษฐ พูดในสภา
คำบรรยายภาพ,

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธาน กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ นำเสนอสาระสำคัญร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อที่ประชุมรัฐสภา วาระที่ 2 เมื่อ 24-25 ก.พ.

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. เจ้าของคำร้องตีความอำนาจรัฐสภา กล่าวว่า รัฐสภาไม่มีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เว้นแต่ให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ อีกทั้งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยังยืนยันว่ารัฐสภาไม่สามารถมอบอำนาจให้ ส.ส.ร. ดำเนินการแทนได้ ตามร่างรัฐธรรมนูญที่รอพิจารณาในวาระที่ 3 "ส่วนตัวเห็นว่าไม่สามารถโหวตเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่ขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญได้"

พรรคร่วมรัฐบาล

แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทั้งพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.), พรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ต่างออกมาระบุตรงกันว่าพร้อมเดินหน้าลงมติในวาระ 3 โดยให้เหตุผลว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น "จุดยืนของพรรค" และ "อยากเห็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย"

ทว่าหลังเห็นคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 15 มี.ค. พวกเขายังสงวนท่าทีว่าจะลงมติออกมาในทิศทางใด โดยอ้างว่าจำเป็นต้องปรึกษาฝ่ายกฎหมาย, ต้องศึกษารายละเอียด ฯลฯ

ฝ่ายค้าน

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานวิปฝ่ายค้าน เชื่อว่ารัฐสภาเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ได้ เพราะยังไม่ใช่กระบวนการยกร่างฉบับใหม่ เป็นเพียงการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 เพื่อรองรับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงไม่เข้าข่ายต้องทำประชามติก่อน

ส.ว.

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา กล่าว ยอมรับว่าการโหวตวาระ 3 มีผลทางการเมืองพอสมควร หากที่ประชุมเห็นชอบวาระ 3 เชื่อว่าจะมีผู้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้ง ทำให้กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญล่าช้าไปอีก แต่หากไม่เห็นชอบ เสียง ส.ว. ไม่ถึง 84 เสียง ส.ว. ก็จะตกเป็นจำเลยสังคมทันที หากเลือกทางนี้ ส.ว. ต้องชี้แจงต่อสังคม

ส.ว.

นายสมชาย แสวงการ เจ้าของคำร้องตีความอำนาจรัฐสภา ให้ความว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาในขณะนี้ เลยขั้นตอนการออกเสียงประชามติขอความเห็นจากประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาแล้ว จึงจะต้องหาทางออกว่า "จะทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตกไปได้อย่างไร เพราะไม่สามารถดำเนินกระบวนการต่อไปได้" พร้อมเตือนเพื่อนร่วมสภาว่าหากเดินหน้าต่อไปทั้งที่รู้ว่าผิด ไม่ใช่แค่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง แต่จะถูกดำเนินคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย

นายคำนูณ สิทธิสมาน ระบุว่า หากเดินหน้าต่อไปอาจขัดรัฐธรรมนูญ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเด็ดขาด และมีผลผูกพันทุกองค์กร

นายวันชัย สอนศิริ ตีความคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไว้ว่าถ้าจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องทำประชามติ 3 ครั้งคือ ครั้งแรกก่อนเริ่มดำเนินการ ครั้งที่ 2 หลังผ่านวาระที่ 3 และครั้งสุดท้ายหลังจากทำรัฐธรรมนูญเสร็จ ดังนั้นคงเป็นไปไม่ได้ทั้งด้านงบประมาณ และสถานการณ์ที่ต้องทำประชามติ 3 ครั้ง จะโกลาหลอลหม่าน "ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ค้างท่ออยู่ แท้งแน่นอน"

อนึ่งการทำประชามติใช้งบประมาณราว 3,000 ล้านบาท ทว่าหากดำเนินการในช่วงการระบาดของโควิด-19 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคยประเมินว่าต้องใช้งบราว 4,000 ล้านบาท นั่นหมายความว่าหากต้องทำประชามติ 3 ครั้ง ก็ต้องใช้เม็ดเงินราว 9,000-12,000 ล้านบาท

รัฐสภายืด "เปิดสวิตช์แก้ รธน."

ขั้นตอนในการผ่านวาระ 3

ความเห็นที่สอดคล้องกันของ ส.ส.พปชร. ที่มีเสียงในสภา 119 เสียง และ ส.ว. ที่มีอีก 250 เสียง ทำให้โอกาสที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในวาระที่ 3 คล้ายเป็นเรื่องยาก

ในการผ่านวาระที่ 3 ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 256 กำหนดให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องได้คะแนนเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา "มากกว่ากึ่งหนึ่ง" ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือ 367 คน จากสมาชิกที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 734 คน (ปัจจุบันมี ส.ส. ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 484 คน และ ส.ว. 250 คน) แต่มีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ส. ฝ่ายค้าน 20% หรือ 43 จาก 211 เสียง และมี ส.ว. เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ ส.ว. ที่มีอยู่ หรือ 84 คน

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar