lördag 6 mars 2021

ศ.ป.ป.ส. นำป้ายที่อ้างว่ามีลายพระหัตถ์พระราชินีร่วมกิจกรรมปกป้องสถาบันฯ

“พระองค์ท่านมีรับสั่งว่า ‘เราจำได้ว่าเป็นแฟนคลับของเรา’ แล้วก็มีเมตตาเซ็นให้ ไปไหนก็จะถือติดไปตลอด ซึ่งถือเป็นเกียรติสูงสุดของชีวิตที่ได้ความเมตตาจากพระองค์ท่าน” สมาชิก ศ.ป.ป.ส. นำป้ายไวนิลที่มีตราสัญลักษณ์ของกลุ่ม ซึ่งอ้างว่ามีลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี มาร่วมกิจกรรมปกป้องสถาบันฯ ด้วย

ชุมนุม 6 มีนา: “อาชีวะปกป้องสถาบัน” รวมตัวหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ขณะที่ ศ.ป.ป.ส. นำป้ายที่อ้างว่ามีลายพระหัตถ์พระราชินีร่วมกิจกรรม

ภาคีเครือข่าย "ปกป้องสถาบัน" นัดรวมตัวกันบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ แยกราชประสงค์ ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เพื่อแสดงพลังปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยระบุว่าฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ออกมาเคลื่อนไหวคือการก่อเหตุเผาพระบรมฉายาลักษณ์หน้าเรือนจำคลองเปรม

ผู้เข้าร่วมชุมนุมบางส่วนสวมใส่เสื้อที่มีตราสัญลักษณ์ประจำกลุ่มของตน ขณะที่บางส่วนเลือกสวมใส่เสื้อสีเหลืองมาร่วมกิจกรรม บ้างก็เอาริบบิ้นสีธงชาติมาผูกไว้ที่ศีรษะและข้อมือ

ที่น่าสนใจคือกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน" หรือ ศ.ป.ป.ส. ได้นำป้ายไวนิลที่มีตราสัญลักษณ์ของกลุ่ม ซึ่งอ้างว่ามีลายพระหัตถ์ (ลายเซ็น) ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกจำนวนมาก

สตรีที่ใช้ชื่อว่า "ป้าบุษ" สมาชิก ศ.ป.ป.ส. เล่าว่า ได้ไปรอเฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ระหว่างทรงตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี เมื่อเดือน ธ.ค. 2563 และได้ทูลขอลายพระหัตถ์จากพระองค์

"พระองค์ท่านก็จำได้ว่าพวกเราติดตามเสด็จพระองค์ท่านตลอด และพระองค์ท่านมีรับสั่งว่า 'เราจำได้ว่าเป็นแฟนคลับของเรา' แล้วก็มีเมตตาเซ็นให้ ไปไหนก็จะถือติดไปตลอด ซึ่งถือเป็นเกียรติสูงสุดของชีวิตที่ได้ความเมตตาจากพระองค์ท่าน" ป้าบุษกล่าวกับสื่อมวลชน

ขณะที่นายจักรพงศ์ กลิ่นแก้ว แกนนำ ศ.ป.ป.ส. กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่ประชาชนไปรอเฝ้ารับเสด็จ บางคนก็นำพระบรมฉายาลักษณ์และปากกาไปให้พระองค์ท่าน พอท่านเสด็จพระดำเนินมา ก็เซ็นให้ อย่างป้าบุษไปเฝ้าฯ ตลอด ก็เลยได้โอกาสอันดี ต้องเป็นความดีความชอบและความปลื้มปิติ

ลายเซ็นราชินี
ลายเซ็นราชินี

การนัดรวมพลของประชาชนที่เรียกตัวเองว่าภาคีเครือข่ายปกป้องสถาบันฯ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของปี 2564 โดยมีแนวร่วมอย่างน้อย 8 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่ม "อาชีวะปกป้องสถาบัน" ในฐานะผู้ประสานงานหลักในการจัดกิจกรรม
  • "ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน" หรือ ศ.ป.ป.ส.
  • "ศูนย์กลางประสานงานนักศึกษาอาชีวะประชาชนปกป้องสถาบัน" หรือ ศอปส.
  • กลุ่ม "นักรบองค์ดำสองคาบสมุทร"
  • กลุ่ม "นักรบศรีวิชัยสองคาบสมุทร"
  • กลุ่ม "นักรบอิสระ"
  • กลุ่ม "กุหลาบพิทักษ์ราชัน"
  • กลุ่ม "อนุชนคนรักสถาบัน"

กิจกรรมหลัก ๆ คือการให้แกนนำแต่ละกลุ่มผลัดเปลี่ยนกันปราศรัยแสดงความรู้สึก, ออกแถลงการณ์, ร่วมขับร้องบทเพลงต่าง ๆ ทั้งสรรเสริญพระบารมี, เพลง "หนักแผ่นดิน" ก่อนปิดท้ายด้วยการร่วมร้องเพลงชาติ แล้วยุติกิจกรรม

เต้ บูรณพนธ์ จากกลุ่ม "อาชีวะปกป้องสถาบัน" กับสองสตรีผู้เป็นสมาชิกกลุ่ม "นักรบอิสระ"
คำบรรยายภาพ,

เต้ บูรณพนธ์ จากกลุ่ม "อาชีวะปกป้องสถาบัน" กับสองสตรีผู้เป็นสมาชิกกลุ่ม "นักรบอิสระ"

บีบีซีไทยพูดคุยกับแกนนำภาคีอย่างน้อย 3 กลุ่ม ประกอบด้วย นายสุเมธ ตระกูลวุ่นหนู แกนนำ ศอปส. และนักรบองค์ดำ, นายจักรพงศ์ กลิ่นแก้ว แกนนำ ศ.ป.ป.ส. และนายอัครวุธ หรือ "เต้ บูรณพนธ์" จากกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ ต่างระบุตรงกันว่าเหตุที่ทำให้พวกเขาออกมาชุมนุมเพราะ "รับไม่ได้" กับกรณีนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ แนวร่วมกลุ่ม "ราษฎร" ก่อเหตุเผาพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ร. 10 หน้าเรือนจำคลองเปรม เมื่อ 28 ก.พ. และเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศก็รู้สึกไม่ต่างกัน จึงต้องออกมาถวายความจงรักภักดี และต่อต้านการกระทำของฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการจาบจ้วงดูหมิ่นสถาบันฯ

"เราไม่พอใจ และยอมรับไม่ได้กับการกระทำที่เหมือนเป็นการข่มขู่โดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ได้... ดังนั้นขอมาร่วมแสดงจุดยืนเพื่อบ่งบอกให้พวกสามกีบได้รู้ว่าสมควรหรือยังที่จะหยุดการกระทำเช่นนี้" นายจักรพงศ์กล่าว

"เหตุเราเลือกมาที่ราชประสงค์ เพื่อแสดงออกให้รู้ว่าราษฎรที่จงรักภักดีมีความประสงค์จะเห็นสถาบันฯ สถิตสถาพร จึงต้องออกมาแสดงพลังให้อีกฝั่งรู้ว่าคนรักและเทิดทูนสถาบันฯ มีอยู่จำนวนมาก" นายสุเมธกล่าว

นายสุเมธ ตระกูลวุ่นหนู แกนนำ ศอปส. และกลุ่ม "นักรบองค์ดำ"
คำบรรยายภาพ,

นายสุเมธ ตระกูลวุ่นหนู แกนนำ ศอปส. และกลุ่ม "นักรบองค์ดำ"

การชุมนุมครั้งนี้ ทางแกนนำกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันในฐานะผู้ประสานงานหลัก ได้แจ้งต่อ สน.ปทุมวัน เพื่อขออนุญาตจัดการชุมนุมตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ชุมนุมสาธารณะ ตั้งแต่เวลา 13.00-18.00 น. โดยไม่มีการเคลื่อนขบวน

อย่างไรก็ตามค่ำวานนี้ (5 มี.ค.) ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ฉบับที่ 5) ในพื้นที่ 6 จังหวัด รวมถึงกรุงเทพฯ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน ได้เข้าพื้นที่เพื่ออ่านประกาศฉบับดังกล่าวให้ผู้ร่วมชุมนุมรับฟัง และขอให้บังคับใช้มาตรการด้านสาธารณสุขที่ทางราชการกำหนด เช่น การเว้นระยะห่าง และสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด ซึ่งทางผู้จัดกิจกรรมก็รับปากจะดำเนินการ

การจัดชุมนุมถือเป็นสิ่งต้องห้ามตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เต้ บูรณพนธ์ บอกว่า ได้นัดหมายประชาชนผ่านเฟซบุ๊กก่อนแล้วว่าให้มาชุมนุม และทุกคนก็เตรียมตัวออกมาแสดงพลังปกป้องสถาบันฯ จึงต้องเดินหน้าจัดกิจกรรมต่อไป ดังนั้นถ้าจะมีความผิด ถูกดำเนินคดี ก็พร้อมยอมรับ แต่หวังว่าจากโทษหนักจะเป็นเบา เพราะได้แจ้งขออนุญาตก่อนหน้านี้แล้ว และหวังว่ากฎหมายจะบังคับใช้อย่างเท่าเทียม ไม่สองมาตรฐาน

หมอบูรณ์ (คนเสื้อขาว) พูดคุยกับแกนนำ "อาชีวะปกป้องสถาบัน" ก่อนแยกย้าย และไม่มีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้นแต่อย่างใด
คำบรรยายภาพ,

หมอบูรณ์ (คนเสื้อขาว) พูดคุยกับแกนนำ "อาชีวะปกป้องสถาบัน" ก่อนแยกย้าย และไม่มีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้นแต่อย่างใด

ในช่วงต้นของกิจกรรม นายสัตวแพทย์ บูรณ์ อารยพล หรือหมอบูรณ์ ที่เคลื่อนไหวในนามกลุ่ม "ขอคืนไม่ได้ขอทาน" ได้เดินทางมายืนฟังการให้สัมภาษณ์สื่อของแกนนำกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน ทำให้ เต้ บูรณพนธ์ ตะโกนถามว่าจะออกสื่อหรือไม่ ถ้าจะออกสื่อให้มานี่ และบอกให้นายสัตว์แพทย์มาฟังได้ แต่อย่ามาสร้างความแตกแยก อย่าป่วน ก่อนที่แกนนำจัดการชุมนุมจะเข้าพูดคุยกับหมอบูรณ์ ซึ่งเจ้าตัวก็ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนามาสร้างความวุ่นวาย และก็รักในหลวงเหมือนกัน

..............................................................................

ราชินีสิริกิติ์กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย


ราชินีสิริกิติ์กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ปีนี้ ครบรอบ 10 ปี ของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "ตาสว่าง" ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญไม่เพียงแต่ของวิกฤติการเมืองไทยครั้งนี้เท่านั้น แต่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทยโดยรวมด้วย นั่นคือ การเกิดกระแสต่อต้านราชวงศ์โดยตรงอย่างกว้างขวาง เหตุการณ์สำคัญที่สุดของปรากฏการณ์ดังกล่าว (ดังที่ทราบกันดี) คือการปรากฏตัวของราชินีสิริกิติ์ในงานศพของผู้ร่วมชุมนุมพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2551
แต่ความจริง เริ่มมี "สัญญาณ" ปรากฏให้เห็นตั้งแต่ก่อน 13 ตุลาคมแล้วว่า ราชินีสิริกิติ์มีความสัมพันธ์ให้การสนับสนุนพันธมิตรฯ เพียงแต่คนส่วนใหญ่ แม้แต่ในหมู่คนที่ไม่นานหลังจากนั้นจะกลายมาเป็น "เสื้อแดง" ก็ยังคิดไม่ถึง
"สัญญาณ" สำคัญที่สุดคือ ในช่วงวันอาสาฬหะ-เข้าพรรษาปีนั้น ซึ่งตกวันที่ 17-18 กรกฎาคม (ปีนี้เลื่อนลงมา 10 วันคือช่วง 28 กรกฎาคมที่เพิ่งผ่านไป) ในที่ชุมนุมพันธมิตรฯ คุณสนธิ ลิ้มทองกุลได้นำเอาคลิปเสียงพระราชินีสิริกิติ์มาเปิดบนเวที คลิปเสียงดังกล่าว โดยเนื้อหาเหมือนกับไม่เกี่ยวกับการเมืองอะไร เป็นเพียงการที่ราชินีอ่านเรื่อง "พระอานนท์" จากหนังสือเล่มหนึ่ง แต่ที่ประหลาดคือ เป็นคลิปเสียงในลักษณะ "ส่วนพระองค์" ไม่เคยมีการเผยแพร่มาก่อน แต่พันธมิตรฯกลับสามารถได้คลิปเสียงดังกล่าวมา มิหนำซ้ำ คุณสนธิยังอธิบายเชื่อมโยงเนื้อหาของคลิปที่ราชินีทรงอ่านหนังสือที่เล่าถึงการที่พระพุทธเจ้าไม่สามารถเอ่ยไล่พระเลวในที่ประชุมสงฆ์ได้ ต้องอาศัยพระโมคคัลลานะช่วยไล่แทน ให้เข้ากับการชุมนุมของพันธมิตรด้วย:
................
[บางส่วนของการพูดของสนธิคืนวันที่ 17-18 กรกฎาคม หลังการเปิดคลิปเสียงพระราชินีสิริกิติ์]
"พระเจ้าอยู่หัวก็เหมือนกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ต้องนิ่งเฉย พระองค์ไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะมาบอกว่า “ออกไป” หน้าที่นี้ ต้องตกอยู่ที่ผู้มีฤทธิ์ ใช่มั้ย?.....พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เหมือนพระพุทธเจ้า พระองค์ท่านไม่ได้อยู่สถานะที่จะไปบอกว่าคนนี้ดี คนนี้ชั่ว ใช่มั้ยใช่ แต่พระองค์ทรงทราบด้วยพระทัยของพระองค์เอง ใช่มั้ย ใครทำชั่วอยู่ รัฐบาลทำชั่วอยู่ รัฐมนตรีทำชั่วอยู่ ถวายสัตย์ต่อหน้าพระองค์ท่าน แล้วก็ตระบัดสัตย์วันรุ่งขึ้นทันที อย่าคิดว่าพระองค์ท่านไม่รู้ พระองค์ท่านรู้ แต่ไม่ได้อยู่ในสถานภาพที่พระองค์ท่านจะทำเช่นนั้น เหมือนพระพุทธเจ้าเช่นกัน ใช่มั้ยใช่ พระพุทธเจ้าเมื่อพึ่งพระโมคคัลลานะ เราไม่ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นทหารเสือพระราชา ทหารเสือพระราชินี แต่เราต้องทำหน้าที่เป็นทหารเสือพระราชา ทหารเสือพระราชินี ใช่มั้ยใช่ พี่น้อง และนี่คือหน้าที่ที่พวกเราได้ทำกัน เหมือนกับสมัยก่อนพุทธกาล ที่พระโมคคัลลานะได้ทำแทนพระพุทธเจ้า พวกเราก็ทำแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช่มั้ยใช่"
................
 
วันนี้เมื่อ 10 ก่อน (12 สิงหาคม 2551) ผมได้เผยแพร่บทความเรื่อง "พระบารมีปกเกล้า : พระสุรเสียงราชินีบนเวทีพันธมิตร" ทางเว็บไซต์ประชาไท เล่าถึงการเปิดคลิปเสียงพระราชินีดังกล่าว ตอนนั้นแม้แต่หลายคนที่แอนตี้พันธมิตรฯ ก็ยังลังเล แสดงความเห็นในลักษณะว่า พระราชินีหรือทางวังอาจจะไม่รู้เรื่อง เป็น "การแอบอ้าง" ของสนธิเอง ฯลฯ (ตอนนั้นผมเขียนอยู่บอร์ดฟ้าเดียวกัน และโพสต์บทความนี้ที่นั่นด้วย)
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่ https://prachatai.com/journal/2008/08/17688 หรือที่นี่ http://somsakwork.blogspot.com/2008/09/blog-post.html

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar