ฟรีดอมเฮาส์เผยประชาธิปไตยทั่วโลกถดถอย-เสรีภาพในไทยต่ำลงอีก
ฟรีดอมเฮาส์ระบุว่า ในปีที่ผ่านมา ระบอบประชาธิปไตยทั่วโลกเผชิญกับภาวะถดถอยติดต่อกันเป็นปีที่ 15 ส่งผลให้มีเพียงประชากรโลกต่ำกว่าร้อยละ 20 เท่านั้น ที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีเสรีภาพในการแสดงออก
รายงานสถานการณ์เสรีภาพโลกประจำปี 2021 (Freedom in the World 2021) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ระบุว่า จากการประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาใน 195 ประเทศทั่วโลก ช่องว่างระหว่างประเทศที่ได้คะแนนต่ำลง 73 ประเทศ กับประเทศที่ได้คะแนนสูงขึ้น 28 ประเทศ นับเป็นตัวเลขที่แตกต่างกันมากที่สุดในรอบ 15 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ประเทศอินเดียถูกปรับลดสถานะจาก "มีเสรีภาพ" เป็น "มีเสรีภาพบางส่วน" ทำให้จำนวนประชากรโลกที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีเสรีภาพในการแสดงออก เหลือเพียงแค่ต่ำกว่าร้อยละ 20 เท่านั้น ซึ่งนับเป็นตัวเลขต่ำที่สุดในรอบ 15 ปี เช่นกัน
รายงานดังกล่าวได้รับการเผยแพร่เป็นประจำทุกปีโดยฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House) องค์กรเอกชนเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของสหรัฐอเมริกา
แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะคงสถานะประเทศที่มี "มีเสรีภาพ" แต่ก็ได้คะแนนต่ำลง 3 คะแนน สืบเนื่องจากกรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งปลดผู้ตรวจราชการประจำกระทรวงการต่างประเทศอย่างไม่โปร่งใส ไร้มาตรฐานทางจริยธรรม บิดเบือนข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และยุยงปลุกปั่นให้เกิดเหตุจลาจล สร้างความสั่นคลอนต่อระบอบประชาธิปไตย หลังไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เขาพ่ายแพ้ต่อนายโจ ไบเดน ในปีที่ผ่านมา
ด้านประเทศไทยถูกลดสถานะจากประเทศที่ "มีเสรีภาพบางส่วน" เป็น "ไม่มีเสรีภาพ" ได้คะแนน 30 จาก 100 คะแนนเต็ม ลดลงจากคะแนนปี 2020 ไป 2 คะแนน อันเนื่องมาจากคำสั่งศาลยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองหน้าใหม่มาแรงในการเลือกตั้งปี 2562 รวมถึงเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนเพื่อเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขับไล่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สืบทอดอำนาจมาจากระบอบเผด็จการทหาร
หลังจากที่ประเทศไทยต้องเผชิญการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการทหาร มาสู่กระบวนการเลือกตั้งในปี 2562 ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่โปร่งใสของกติกาและผลการนับคะแนน ในปีที่ผ่านมา ไทยก็ต้องเผชิญวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
หากแต่วิกฤตโรคระบาดก็เป็นหนึ่งในชนวนที่ทำให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการจัดการวิกฤตที่ไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล รวมกับกลุ่มเยาวชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ ออกมาเคลื่อนไหวจนเกิดเป็นการประท้วงขับไล่รัฐบาลครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศในรอบ 10 ปี ทวงความยุติธรรมให้กับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกจับกุม รวมไปถึงปรากฏการณ์ทะลุเพดาน เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
รายงานดังกล่าวระบุพัฒนาการสำคัญในปีที่ผ่านมาของประเทศไทย ดังนี้
- จากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ประเทศไทยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนยันน้อยกว่า 7,500 ราย และตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จำนวน 63 ราย นับเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลตัดสินใจประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และต่ออายุการใช้อำนาจภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งถูกมองว่าเป็นการเสริมสร้างอำนาจการปกครองของตนเอง มากกว่าเป็นไปเพื่อการจัดการวิกฤตเศรษฐกิจและโรคระบาด
- ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) พร้อมเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เป็นเวลา 10 ปี
- การชุมนุมประท้วงของเยาวชนทั่วประเทศซึ่งเริ่มต้นในเดือน ก.พ. ต้องล้มเลิกไปจากข้อบังคับเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก่อนที่จะกลับมาสานต่ออีกครั้งในเดือน ก.ค.
- ในเดือน ต.ค. รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ต้ังแต่ 5 คนขึ้นไป จนกระทั่งเดือน พ.ย. ที่มีการยกระดับการใช้ ม.112 เพื่อตั้งข้อหากับผู้ชุมนุมและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มออกมาแสดงความกังวลใจต่อสถานการณ์ในประเทศ
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar