torsdag 28 januari 2021

4 ประเด็นคลุมเครือเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19

โควิด-19: 4 ประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ถึงวันที่ 23 ม.ค. มีคนมากกว่า 60 ล้านคนทั่วโลกที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ไปบ้างแล้ว ขณะที่หลายประเทศพยายามเร่งจัดซื้อและฉีดวัคซีนให้ประชาชน แต่ยังคงมีอีกหลายคำถามที่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน

1. วัคซีนให้ภูมิคุ้มกันนานแค่ไหน?

คำถามที่สำคัญที่สุดคำถามหนึ่ง คือ เราจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ไปอีกนานเท่าไร หลังจากที่เคยติดเชื้อโควิด-19 หรือหลังจากได้รับวัคซีนไปแล้ว

หนึ่งปีหลังจากการระบาดใหญ่เริ่มขึ้น เริ่มมีงานวิจัยชิ้นแรก ๆ เกี่ยวกับเรื่องภูมิคุ้มกันระยะกลาง-ยาวออกมา แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่เนื่องจากการวิจัยพัฒนาวัคซีนในครั้งนี้ใช้เวลาน้อยมาก

อย่างไรก็ดี สถาบันวิจัยด้านภูมิคุ้มกันวิทยา ลา จอลลา (La Jolla Institute of Immunology) ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ระบุว่า การตอบโต้ของระบบภูมิคุ้มกันหลายรูปแบบหลังจากติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว จะยังคงทำงานต่อไปอีกอย่างน้อยราว 6 เดือน

สำนักสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England) ระบุว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่จะมีภูมิคุ้มกันหลังจากหายจากอาการไปอีกอย่างน้อย 5 เดือน แต่ไม่ใช่ว่าคนไข้ทุกคนจะมีภูมิคุ้มกันเหมือนกัน

วัคซีนช่วยให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันคล้ายกับผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 เช่นกัน

"มันเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าภูมิคุ้มกันจะอยู่ได้นานเท่าไรเพราะเราเพิ่งเริ่มฉีดวัคซีน ผลอาจแตกต่างกันไปตามคนไข้และชนิดของวัคซีน แต่น่าจะอยู่ที่ราว 6-12 เดือน" ดร. จูเลียน ทัง นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ บอกกับบีบีซี

อย่างไรก็ตาม ดร. แอนดรูว์ แบดลีย์ ศาสตรจารย์ด้านการแพทย์ระดับโมเลกุล จากเมโย คลินิก ในสหรัฐฯ เชื่อว่าวัคซีนและภูมิคุ้มกันจะทำงานในร่างกายคนเราไปได้หลายปี

2. ติดโควิดได้อีกไหมหลังฉีดวัคซีน?

เป็นไปได้ จากหลายเหตุผลด้วยกัน

เหตุผลแรก คือ การป้องกันเชื้อจะยังไม่เริ่มต้นทันที ต้องรอหลังฉีดวัคซีนไปแล้วราว 2-3 สัปดาห์ และยังขึ้นอยู่กับประเภทของวัคซีนด้วย

ดร. ทัง จากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ บอกว่า คุณยังเสี่ยงติดโรคได้อยู่หากได้รับเชื้อหลังจากเพิ่งฉีดวัคซีนไป

A patient after receiving a coronavirus vaccine in Poland

ดร. แบดลีย์ บอกว่า "ข้อมูลที่มีอยู่ชี้ให้เห็นว่าบางคนยังคงติดเชื้อโควิดได้อยู่ แต่จะมีไวรัสในตัวน้อยกว่า ทำให้มีอาการป่วยน้อยกว่าคนที่ยังไม่เคยติดเชื้อ หรือยังไม่ได้รับวัคซีน"

แพทย์จากเมโย คลินิก ผู้นี้เสริมอีกว่า เขาเชื่อว่าคนที่ได้รับวัคซีนแล้วจะมีโอกาสนำเชื้อไปแพร่ระบาดได้น้อยกว่าเดิม

ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญจึงเห็นตรงกันในระดับหนึ่งว่า วัคซีนสามารถช่วยคนจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้เชี่ยวชาญบอกอีกว่า ไวรัสทำให้คนที่ติดเชื้อเกิดอาการแตกต่างกันไป และในลักษณะเดียวกัน วัคซีนก็ย่อมส่งผลต่อคนแต่ละคนต่างกันไปด้วย บ้างอาจจะไม่นำเชื้อไปแพร่ระบาดได้อีกเลย บ้างอาจจะยังไม่ได้รับการปกป้องอย่างเต็มร้อย

3. วัคซีนจัดการไวรัสที่กลายพันธุ์ได้ไหม?

A patient receiving a vaccine in the UK

นี่เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายต่างกังวล

ไวรัสสามารถกลายพันธุ์ได้ตลอดเวลา และบางครั้งก็กลายพันธุ์จนสามารถต้านทานวัคซีนได้ และขณะนี้ไวรัสที่กลายพันธุ์ซึ่งพบในสหราชอาณาจักรและแอฟริกาใต้ได้กระจายไปในหลายประเทศแล้ว

อย่างไรก็ดี บริษัทโมเดอร์นา ออกมาประกาศเมื่อวันที่ 25 ม.ค. ว่า วัคซีนของบริษัทได้ผลกับไวรัสกลายพันธุ์ทั้งที่พบในสหราชอาณาจักรและในแอฟริกาใต้ ด้านไฟเซอร์-ไบออนเทค ก็ออกมาบอกว่าวัคซีนของบริษัทใช้ได้ผลกับไวรัสกลายพันธุ์เหล่านั้นเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ดร. แบดลีย์ บอกว่า ต้องไม่ลืมว่าแม้วัคซีนที่ได้รับการอนุมัติจะมีประสิทธิภาพ แต่มันก็ไม่ใช่ว่าจะได้ผล 100% แม้แต่กับไวรัสโคโรนาที่ยังไม่ได้กลายพันธุ์

ดังนั้น ในตอนนี้รัฐบาลและหน่วยงานสาธารณสุขประเทศต่าง ๆ จึงต้องคอยสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไปว่าวิธีรักษาที่มีอยู่ใช้ได้ผลกับไวรัสที่กลายพันธุ์หรือไม่

4. ต้องให้วัคซีนกี่โดส และเว้นระยะนานเท่าไร?

Two people social distancing in London

วัคซีนของไฟเซอร์ โมเดอร์นา และแอสตร้าเซนเนก้า ต่างก็ต้องให้คนไข้แยกเป็น 2 โดส

ช่วงแรก มีการบอกให้คนรับโดสที่ 2 หลังจากเว้นไปราว 3-4 สัปดาห์ แต่ปลายปีที่แล้ว รัฐบาลสหราชอาณาจักรตัดสินใจเปลี่ยนยุทธศาสตร์หันไปให้วัคซีนคนให้ได้มากที่สุดก่อน และจะให้โดสที่ 2 อาจถึงสามเดือนให้หลัง

นี่ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงระดับนานาชาติ เพราะไฟเซอร์และผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นว่าควรทำตามระยะเวลาที่ได้ทดลองมาแล้วมากกว่า โดยให้เว้น 21 วัน ระหว่างโดสแรกและโดสที่ 2

องค์การอนามัยโลกออกมาแนะนำว่า ควรให้โดสที่ 2 หลังผ่านไปแล้ว 21-28 วัน แต่ก็ยอมรับว่าอาจเว้นระยะออกไปมากที่สุดได้ถึง 6 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์

แอสตร้าเซนเนก้ายืนยันว่า สยามไบโอไซเอนซ์เหมาะสมที่จะผลิตวัคซีนให้ พร้อมระบุว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้ราคาต่อโดสแต่ละประเทศไม่เท่ากัน

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar