กองทัพเมียนมาให้คำมั่นว่าจะ “ปกป้องรัฐธรรมนูญและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด”
เมียนมา: ทำไมข่าวลือรัฐประหารถึงดังหนาหู ก่อนเปิดประชุมรัฐสภา 1 ก.พ.
กองทัพเมียนมาออกแถลงการณ์สยบข่าวลือการก่อรัฐประหารที่ดังหนาหูตลอดสัปดาห์ โดยยืนยันว่าจะมุ่งมั่น "ปกป้องรัฐธรรมนูญและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด"
แถลงการณ์ของกองทัพเมียนมาถูกเผยแพร่วันนี้ (30 ม.ค.) หรือสองวันก่อนการประชุมรัฐสภาเมียนมาชุดใหม่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 1 ก.พ.
ในแถลงการณ์ฉบับนี้ยังอ้างถึงถ้อยแถลงของ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยชี้ว่าการกล่าวหากองทัพว่าต้องการยกเลิกรัฐธรรมนูญ เป็นข้อสันนิษฐานที่ไม่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงขององค์กรบางแห่งและสื่อบางสำนัก
ด้านรัฐบาลพลเรือนเมียนมาก็ออกแถลงการณ์เช่นกัน โดยระบุเพียงว่า "ท่าทีของกองทัพคือคำอธิบายที่เหมาะสม"
การออกมาแสดงจุดยืนของกองทัพเมียนมาเกิดขึ้นท่ามกลางความหวาดวิตกว่าจะเกิดการรัฐประหารขึ้น โดยก่อนหน้านี้ องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และชาติตะวันตกได้ออกแถลงการณ์ดักคอกองทัพให้ยึดมั่นต่อประชาธิปไตย และเคารพผลการเลือกตั้ง
พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี - NLD) ภายใต้การนำของนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ กำชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อ 8 พ.ย. 2563 อย่างถล่มทลาย ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยที่ 2 โดยคว้าที่นั่งในสภาไปถึง 346 ที่นั่ง แบ่งเป็น สภาผู้แทนราษฎร หรือสภาล่าง 258 ที่นั่ง (เพิ่มขึ้นจากเดิม 3 ที่นั่ง) และสภาชนชาติ หรือสภาสูง 138 ที่นั่ง (เพิ่มขึ้นจากเดิม 3 ที่นั่ง) ยัดเยียดสถานะฝ่ายค้านให้แก่พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (ยูเอสดีพี - USDP) ซึ่งได้รับการสนับสนุนของกองทัพอีกหน โดยยูเอสดีพีมีเสียงในสภาล่าง 26 ที่นั่ง และสภาชนชาติ 7 ที่นั่ง (ลดลงจากเดิมสภาละ 4 ที่นั่ง)
เกือบทันทีทันใด พรรคยูเอสดีพีได้ออกมาประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง พร้อมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม
สอดคล้องกับท่าทีของผู้นำกองทัพเมียนมาที่กล่าวหาว่าพรรครัฐบาลร่วมมือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทุจริตการเลือกตั้ง และขอให้ กกต. เปิดเผยรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยอ้างว่าพบความผิดปกติในการลงคะแนนของประชาชน 8.5 ล้านคน แต่ไม่ได้รับการสนองตอบจาก กกต.
พรรคยูเอสดีพีและกองทัพจึงเดินเกมใหม่ ด้วยการขอให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อหาทางออกจากสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า "ทางตันทางการเมือง" ก่อนที่สมาชิกรัฐสภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงในวันที่ 31 ม.ค. ทว่าสภาปฏิเสธ เพราะเห็นว่าเป็นอำนาจของ กกต. อีกทั้งยังเดินหน้าเรียกประชุมสมาชิกรัฐสภาชุดใหม่ในวันที่ 1 ก.พ. นี้ สร้างความไม่พอใจให้แก่นายพลคนสำคัญของเมียนมา
พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ระบุว่า ในบางสถานการณ์ "คงจำเป็นต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ หากคนไม่ปฏิบัติตาม"
วรรคทองของนายทหารผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดในเมียนมา ทำให้ข่าวลือเรื่องรัฐประหารมีน้ำหนักขึ้นมา เพราะในจังหวะไล่เลี่ยกัน กองทัพได้เคลื่อนรถถังนานาชนิดมาไว้บนท้องถนน โดยให้เหตุผลว่าเป็นการทดสอบสมรรถภาพเครื่องจักร
นอกจากนี้ยังมีประชาชนผู้สนับสนุนพรรคยูเอสดีพีหลายร้อยคนออกมาชุมนุมประท้วง กกต. ในอย่างน้อย 2 เมือง
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 ของเมียนมา กำหนดให้มีการเปิดประชุมรัฐสภานัดแรกภายใน 90 วันนับจากวันเลือกตั้ง
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยกร่างภายใต้การควบคุมของกองทัพ จึงกำหนดให้กันที่นั่งในทั้งสองสภาให้แก่ทหาร 25% พร้อมล็อกเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงอย่างกระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทย ไว้ในกำมือของกองทัพ นอกจากนี้ยังห้ามไม่ให้บุคคลที่มีคู่สมรสหรือบุตรเป็นพลเมืองต่างชาติดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทำให้นางซูจีหมดโอกาสดำรงตำแหน่งดังกล่าว ภายหลังนำพรรคเอ็นแอลดีคว้าชัยชนะเลือกตั้งหนแรกเมื่อปี 2558 และล่าสุดในปี 2563 แต่ถึงกระนั้น นางซูจีได้สถาปนาตำแหน่งใหม่ที่ไม่อยู่ในรัฐธรรมนูญให้แก่ตัวเอง โดยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐ ทว่ามีอำนาจและบารมีเหนือประธานาธิบดี จนถูกเรียกขานว่าเป็น "ผู้นำรัฐบาลพลเรือนโดยพฤตินัย"
เส้นทางข่าวลือรัฐประหาร กับความพยายามสกัดรถถัง
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์การเมืองในเมียนมาเข้าสู่ภาวะตึงเครียด ท่ามกลางข่าวลือเรื่องการก่อรัฐประหารของกองทัพ และการจับตามองด้วยความกังวลจากนานาประเทศ
- 26 ม.ค. โฆษกกองทัพเมียนมาไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่กองทัพจะเข้ายึดอำนาจ เพื่อจัดการกับสิ่งที่เขาเรียกว่า "วิกฤตทางการเมือง"
- 27 ม.ค. พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา กล่าวในงานให้โอวาทนักเรียนเตรียมทหารแห่งวิทยาลัยป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม ถึงความเป็นไปได้ในการยกเลิกรัฐธรรมนูญของประเทศ โดยบอกว่ารัฐธรรมนูญคือกฎหมายแม่ของกฎหมายทั้งปวง แต่ "คงจำเป็นต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ หากคนไม่ปฏิบัติตาม" ทั้งนี้ถ้อยแถลงของ พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ถูกเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์เมียวดีฉบับวันรุ่งขึ้นด้วย
- 28 ม.ค. มีการประชุมร่วมกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับคณะทหาร ที่กรุงเนปิดอว์ ก่อนที่โฆษกพรรคเอ็นแอลดีจะออกมาเปิดเผยกับรอยเตอร์สว่า "ไม่ประสบความสำเร็จ" ในการหาทางออกจากวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้น
- 29 ม.ค. ประชาชนผู้สนับสนุนพรรคยูเอสดีพีหลายร้อยคนชุมนุมประท้วง กกต. ทั้งที่กรุงเนปิดอว์และกรุงย่างกุ้ง แต่ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บและไม่มีรายงานการใช้ความรุนแรง
- 29 ม.ค. สื่อมวลชนท้องถิ่นและและผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ในเมียนมาเผยแพร่ภาพรถถังที่ถูกเคลื่อนออกมาบนท้องถนนหลายแห่ง
- 29 ม.ค. คณะผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู) และสถานเอกอัครราชทูตจากประเทศตะวันตกประจำกรุงย่างกุ้ง 16 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา เดนมาร์ก เช็ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ นอร์เวย์ และนิวซีแลนด์ ออกแถลงการณ์ร่วม เรียกร้องให้กองทัพเมียนมาและทุกฝ่ายยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย และแสดงความคาดหวังว่าการเปิดประชุมรัฐสภาเมียนมาในวันที่ 1 ก.พ. จะเกิดขึ้นโดยสันติ
- 30 ม.ค. กองทัพเมียนมาออกแถลงการณ์ยืนยันว่าจะปกป้องรัฐธรรมนูญและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ที่มา : บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลที่ปรากฏต่อสาธารณะในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ม.ค. 2564
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar