tisdag 26 januari 2021

หนึ่งคำถามสำคัญของประเทศไทย! เราจะอยู่กันแบบไหนทุกวันนี้? สมบูรณาญาสิทธิราชย์? หรือกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ?

ThaiE News 

เราจะอยู่กันแบบไหนทุกวันนี้? สมบูรณาญาสิทธิราชย์? หรือกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ?



คณะก้าวหน้า - Progressive Movement
10h ·

[ เราจะอยู่กันแบบไหน? ]
.
เอกสารแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ 3 ฉบับ ที่ไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ก่อให้เกิดคำถามถึงปัญหาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ อำนาจการบริหารราชการแผ่นดินที่ผิดระบบ และพระราชอำนาจในระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ดังที่ Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล เสนอไปใน #สนามกฎหมาย
.
เรายังสามารถพิจารณาปัญหาทางกฎหมายเพิ่มเติมได้อีก 9 ปัญหา ที่จะนำไปสู่ 1 คำถามสำคัญของประเทศไทย
.
1. สถานะของ “คณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ” เหมือนคณะกรรมการที่ส่วนราชการอื่นๆ ตั้งขึ้นตามกฎหมายหรือไม่?
.
การบริหารราชการแผ่นดินในระบบปกติ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสามารถอาศัยอำนาจตามกฎหมายต่างๆ ในการตั้งคณะกรรมการได้ ทำให้ประเทศไทยมีคณะกรรมการเป็นจำนวนมาก
.
แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ มีสถานะเป็นคณะกรรมการเหมือนคณะกรรมการอื่นๆ ที่แต่งตั้งตามกฎหมายหรือไม่?
.
2. คณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ สังกัดส่วนราชการใด? สังกัดส่วนราชการในระบบปกติ ส่วนราชการในพระองค์ หรือ สังกัดส่วนราชการแบบใด?
.
หากสังกัดส่วนราชการปกติ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการฯ จะต้องขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างๆ
.
หากพิจารณาว่าสังกัดส่วนราชการในพระองค์หรือไม่ ก็ไม่ใช่ เพราะกรมราชทัณฑ์และคณะกรรมการดังกล่าวไม่มีระบุไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ 2560
.
งานของโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ อยู่ใน กรมราชทัณฑ์ ซึ่งสังกัดกระทรวงยุติธรรมในส่วนราชการระบบปกติ แต่เอกสารการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ กลับไม่มีการลงนามรับสนองฯ จากรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม หรือนายกรัฐมนตรี มีเพียงพระปรมาภิไธยในหลวงรัชกาลที่ 10 เท่านั้น
.
ยิ่งไปกว่านั้น คณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ มีข้าราชการเข้ามาเป็นกรรมการโดยตำแหน่งจำนวนมาก ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบดีกรมอนามัย อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เจ้ากรมแพทย์ทหารบก เจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ เจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ นายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
.
ทั้งหมดนี้คือข้าราชการระดับสูงในส่วนราชการที่สังกัดรัฐบาล ไม่ใช่ข้าราชในพระองค์ จึงเกิดข้อสงสัยว่าคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ สังกัดอยู่ที่ใด?
.
3. คณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ อยู่ในขอบเขตของ “คณะกรรมการ” ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวหรือไม่?
.
พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กล่าวถึง กระบวนการ ขั้นตอน ของบรรดาเจ้าหน้าที่ และคณะกรรมการต่างๆ ในการออกคำสั่ง ว่ามีวิธีการขั้นตอนอย่างไร เช่น การเคารพสิทธิ์ของคู่กรณี การทำคำสั่งเป็นหนังสือ การเรียกให้คู่กรณีมาชี้แจง การทำเหตุผลประกอบคำสั่ง การเพิกถอนคำสั่ง-แก้ไขคำสั่ง
.
ตรงนี้ไม่ชัดเจนว่า คณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ จะต้องดำเนินงานตามขอบเขตของ “คณะกรรมการ” ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 หรือไม่?
.
4. คณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ อยู่ในขอบเขตของ “คณะกรรมการ” ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งอาจถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองหรือไม่?
คณะกรรมการโดยปกติทั่วไป ซึ่งเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติต่างๆ เมื่อกระทำการหรือใช้อำนาจใดๆ ก็ตามย่อมถูกโต้แย้งได้ ผ่านการอุทธรณ์ภายในคณะกรรมการหรือฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
.
เมื่อคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ มีสังกัดไม่แน่ชัดแบบนี้ จึงไม่ชัดเจนว่าหากมีกรณีพิพาทจะอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และจะสามารถถูกฟ้องร้องเป็นคดีในศาลปกครองได้หรือไม่?
.
5. อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบงานราชทัณฑ์โดยตรง มีอำนาจสั่งการ บังคับบัญชา บริหารจัดการ คณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ หรือไม่?
ในระบบบริหารราชการแผ่นดินปกติ การบริหารงานในกรมราชทัณฑ์ล้วนอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของ กรมราชทัณฑ์ ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม
.
โดยมีผู้บังคับบัญชาคือ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุด
.
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้บริหารฝ่ายนโยบายและฝ่ายการเมือง
.
เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประธาน เหล่าผู้บริหารตามลำดับชั้นในระบบราชการปกติจะมีอำนาจในการบริหาร สั่งการ ออกแนวนโยบาย เกี่ยวกับคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ ได้หรือไม่?
.
6. คำสั่ง กฎ หรือระเบียบใดๆ ที่ออกมาจากคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ จะสามารถถูกโต้แย้ง อุทรณ์ ฟ้องขอเพิกถอนประกาศ-คำสั่งต่างๆ หรือฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นได้หรือไม่?
.
หากคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ มีการออกคำสั่ง กฎ ระเบียบใดๆ แล้วเกิดผลกระทบกับบุคคลภายนอก มีผู้เสียหาย ซึ่งในระบบปกติสามารถฟ้องร้องเป็นคดีความในศาลปกครองได้
.
แล้วคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ จะสามารถถูกดำเนินการตามกฎหมายเฉกเช่นระบบราชการปกติได้หรือไม่?
.
7. คณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติกฎหมายใดในการแต่งตั้ง?
.
โดยปกติ ในการแต่งตั้งคณะกรรมการ องค์กรผู้มีอำนาจแต่งตั้งต้องอ้างบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจ เช่น อาศัยอำนาจตามมาตราใด กฎหมายใด เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น
.
แต่ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ 3 ฉบับ ล้วนไม่มีการกล่าวอ้างถึงฐานทางกฎหมายใดๆ เลย
.
8. การแก้ไข เปลี่ยนแปลง พระบรมราชโองการหรือประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ ต้องทำอย่างไร? หน่วยงานราชการมีอำนาจแก้ไข-เปลี่ยนแปลงหรือไม่?
.
หากฝ่ายบริหารผู้มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินเกี่ยวกับงานราชทัณฑ์ ต้องการยกเลิก
.
โยกย้าย แต่งตั้ง เปลี่ยนองค์ประกอบ เปลี่ยนขอบเขตอำนาจหน้าที่ ภายในคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ จะสามารถทำได้หรือไม่?
.
9. ในอนาคต หากพระมหากษัตริย์มีพระบรมราโชบายเกี่ยวกับการดำเนินโครงการต่างๆ ที่เป็นการบริหารราชการแผ่นดินอยู่ในขอบเขตงานของส่วนราชการอื่น แล้วมีการออกพระบรมราชโองการ พระราชหัตถเลขา ทำนองเดียวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ อีก โดยไม่มีรัฐมนตรีรับสนองฯ หรือปราศจากการอ้างฐานทางกฎหมายใด นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะปฏิบัติอย่างไร?
.
นี่คือปัญหาในทางกฎหมาย 9 ประการ จากกรณีคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ
.
นประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ กษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ ไม่ทรงใช้อำนาจโดยแท้ในทางการเมือง การบริหาร การลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง มีอำนาจโดยแท้ในเรื่องนั้น ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเสมอ และเป็นผู้รับผิดชอบ
.
ในขณะที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ เป็นผู้มีอำนาจปกครองแผ่นดิน ทรงใช้พระราชอำนาจโดยแท้ตราพระราชบัญญัติ ประกาศกฎหมายต่างๆ บริหารบ้านเมืองด้วยพระองค์เอง และไม่ต้องรับผิดชอบ

.
ทั้งหมดนี้นำมาสู่หนึ่งคำถามสำคัญของประเทศไทย!
.
ว่าสุดท้ายแล้วประเทศไทยจะอยู่กันแบบไหน?
.
ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy)?
.
หรือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy)?

 


Inga kommentarer:

Skicka en kommentar