การออกแบบบ้านหลังใหญ่อย่างประเทศไทย
หลังเผชิญสารพัดวิกฤตอย่างหนักหน่วงข้ามปีควรเป็นอย่างไร
เพื่อให้คนรุ่นเก่า-คนรุ่นใหม่ คนรวย-คนจน ผู้ปกครอง-เจ้าของบ้าน
อยู่ร่วมกันได้?
.
คำตอบของเศรษฐาคือควรมี “พื้นที่ปลอดภัย” ให้แสดงความเห็นภายใต้กรอบของกฎหมาย และสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เศรษฐา ทวีสิน บอสใหญ่แสนสิริ เผยความหวังในวิกฤตโควิด และ “ปีแห่งการประท้วง”
- เรื่องโดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
- วิดีโอโดย วสวัตติ์ ลุขะรัง ผู้สื่อข่าววิดีโอ
นักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อย่าง เศรษฐา ทวีสิน เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีใช้ "ภาวะผู้นำ" ในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม พร้อมเตรียมมาตรการรับมือกับสารพัดม็อบใน "ปีแห่งการประท้วง" ตามการคาดการณ์ของนักวิชาการ
วิกฤตโควิด-19 ทุบเศรษฐกิจไทยข้ามปี ทำให้ที่อยู่อาศัยซึ่งเป็น 1 ในปัจจัย 4 กลายเป็นปัจจัยที่คนทั่วไปยากจะครอบครอง
ภายใน 1 ปี (2563) คนไทยจนเพิ่มอีก 1.5 ล้านคน ตามรายงานของธนาคารโลก
ภายใน 2 ปี (2563-2564) บัณฑิตจบใหม่ตกงานทันที 9 แสนคน ตามข้อมูลของสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย
ไม่กี่ชั่วโมงหลัง เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) แถลงผลประกอบการและประกาศแผนธุรกิจปี 2564 ภายใต้แนวคิด "ปีแห่งความหวัง" เขาให้สัมภาษณ์พิเศษกับบีบีซีไทย โดยแจ้งทั้ง "ข่าวดี" และ "ข่าวร้าย" ขององค์กร
ข่าวดีคือแสนสิริคือได้รับการจัดอันดับโดย WorkVenture ให้เป็น 1 ใน 10 บริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานด้วย แต่ข่าวร้ายคือ "ผมจ้างคนไม่ได้ เพราะธุรกิจที่เข้ามา มันไม่เอื้อให้จ้างคนแล้ว"
"อสังหาริมทรัพย์เป็นภาคอุตสาหกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ถ้าเศรษฐกิจไม่โต อสังหาฯ ก็ไม่โต... Rule of thumb (กฎทั่วไป/หลักการพื้นฐาน) เราคิดว่าตลาดอสังหาฯ จะโตประมาณ 1.5 เท่าของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) ถ้าปีนี้บอกว่าจีดีพีโต 3% อย่างมากที่สุดอสังหาฯ ก็โต 5% แต่เราไม่ได้พิจารณาจากจีดีพีอย่างเดียว มันมีปัจจัยอื่นด้วย โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของโรคระบาดซึ่งยังไม่สามารถจำกัดวงได้" เศรษฐากล่าว
ความหวังเปิดเศรษฐกิจอยู่ที่วัคซีน
ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยต้องเผชิญกับปัจจัยลบอย่างต่อเนื่อง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ประเมินว่าระหว่างปี 2563-2565 กำลังซื้อจะหายไป 9 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงในการผิดชำระหนี้ของผู้ซื้อ สะท้อนผ่านหนี้ครัวเรือนที่พุ่งไป 86.6% ต่อจีดีพี ณ ไตรมาส 3 ของปี 2563
แต่ถึงกระนั้น แสนสิริกลับโตสวนทางภาวะเศรษฐกิจติดลบ สามารถเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในรอบ 36 ปีขององค์กร ด้วยการปิดโอนทะลุเป้าที่ 45,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 ทำให้มีกระแสเงินสดในมือ 15,000 ล้านบาทมาหมุนเวียนหล่อเลี้ยงธุรกิจเมื่อไวรัสมรณะหวนกลับมาแพร่ระบาดระลอกใหม่
มาถึงปี 2564 แผนธุรกิจมูลค่า 26,000 ล้านบาทของบริษัทอสังหาริมทรัพย์แห่งนี้ ถูกจัดทำขึ้นภายใต้การคาดการณ์ฉากทัศน์ทางเศรษฐกิจที่ว่า 1 ต.ค. ไทยจะเริ่มเปิดประเทศรองรับนักท่องเที่ยวได้
แม้เอ่ยปากยอมรับว่าปีนี้ "ตลาดคงไม่โตไปกว่านี้" และ "เชื่อว่ากำลังซื้อจะยังไม่กลับมาใน 12-18 เดือนข้างหน้า" แต่ชายที่ถูกเรียกว่า "บอสใหญ่" ของแสนสิริ ก็ไม่หมดหวัง
"มันเป็นเรื่องของความมืดมนส่วนหนึ่ง แต่ว่าบนความมืดมนนั้น เราเองก็ต้องมีความหวังเหมือนกัน ไม่อย่างนั้นจะตื่นขึ้นมาทำไม ถ้าตื่นขึ้นมาแล้วไม่มีความหวัง หรือตื่นขึ้นมาแล้วไม่รู้เลยว่ามีแสงสว่าง มันก็หดหู่ไปหน่อย ถามว่าความหวังนั้นคืออะไร หนึ่งในนั้นก็คือการมีวัคซีนที่ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพสูงสุด" ซีอีโอแสนสิริระบุ
ชี้กระแสต้านบริจาควัคซีนสัญชาติไทย สะท้อนความเปราะบางของการเมือง
เมื่อความหวังในการเปิดเศรษฐกิจอยู่ที่วัคซีน ข้อมูล ข่าวสาร งานวิจัยว่าด้วยการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิดของบริษัทยาทั่วโลก จึงอยู่ในความสนใจใคร่รู้ของนักธุรกิจหมื่นล้าน
ยิ่งไปกว่านั้น เศรษฐายังเป็นผู้สนับสนุน-ผู้ร่วมรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันบริจาคเงิน 500 บาท เพื่อผลิต "วัคซีนเพื่อคนไทย" โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะมองว่าการมีแหล่งผลิตและค้นคว้าวัคซีนในไทยจะส่งผลดีมากกว่าท่ามกลางภาวะกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019
อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าการเรียกระดมรับเงินบริจาคตามโครงการนี้ ทำให้ผู้คนบางส่วนตั้งคำถามฟาดกลับไปยังรัฐบาลว่างบประมาณแผ่นดินมีไว้ทำไม ซึ่งเศรษฐาชี้ว่านี่เป็นการสะท้อนให้เห็นความเปราะบางของภาคการเมืองที่มี 2 ฝ่าย และมีความคิดสุดโต่ง
"ใครทำอะไรมาก็ไม่ดี มันแล้วแต่ว่าคุณอยู่ภาคไหน แต่ผมว่าเรื่องนี้เราต้องลืมว่าคุณชอบรัฐบาลหรือไม่ชอบรัฐบาล อันนี้มันเป็นเรื่องของการที่เราต้องมาสู้กับโรคระบาดครั้งใหญ่ ถ้าเกิดเขาทำมาดี คุณก็ต้องชื่นชม" นักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์แถวหน้าของเมืองไทยแนะ
แม้เข้าใจว่าการค้นหาและจัดซื้อวัคซีนให้คนไทยเข้าถึงอย่างทั่วถึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาล แต่เขาตั้งคำถามชวนคิดว่าหากมีวัคซีนมากขึ้น และซื้อจากทุกฝ่าย ให้ทุกคนมีส่วนร่วมจะดีกว่าหรือไม่ และมองว่าโดยพื้นฐานจิตใจคนไทยก็ชอบช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในยามตกทุกข์ได้ยากอยู่แล้ว ไม่ว่าน้ำท่วม อัคคีภัย หรือกระทั่งแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิดในต่างแดน
จี้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
ในช่วงโควิด-19 ระบาดระลอกแรก รัฐบาลออกคำสั่ง "ปิดบ้าน" ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) เวลากลางคืน และ "ปิดเมือง" (ล็อกดาวน์) นาน 6 สัปดาห์ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยถูกปิดไปโดยปริยาย
เศรษฐาเป็นหนึ่งในบุคคลที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐสร้างสมดุลระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจประเทศ และยังขอย้ำ "จุดยืนเดิม"
มาถึงการระบาดระลอกนี้ แม้ยอดผู้ติดเชื้อหน้าใหม่และพื้นที่การแพร่ระบาดกว้างขวางขึ้น แต่รัฐบาลเลือกใช้มาตรการผ่อนคลายลง โดยพิจารณาเป็นรายธุรกิจและบริหารจัดการตามระดับความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ ซึ่งเศรษฐาเห็นว่า "รัฐบาลมีความพร้อมมากขึ้น" ซึ่งถือเป็นอีกความหวัง ทว่ายังต้องการเห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมโดยอาศัยทั้งนโยบายและงบประมาณ
ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอจาก "บิ๊กบอส" แห่งอาณาจักรแสนสิริถึงรัฐบาล
- ลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของประชาชน "บริษัทแสนสิริมีหนี้อยู่ 5 หมื่นล้าน ลดลงไป 50 สตางค์ ได้เงินมาประมาณ 250 ล้านมั้งต่อปี จ้างคนได้เท่าไร ผลิตงานได้เท่าไร เยอะนะครับ รัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณเลย"
- ยกเลิกมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ (LTV) ของ ธปท. ที่อกอกมาเพื่อกำจัดการเก็งกำไรของการซื้ออสังหาริมทรัพย์ "ตอนนี้ไม่มีกินไม่มีใช้อยู่แล้ว คงไม่มีใครเก็งกำไรอสังหาฯ ผมแนะนำให้ยกเลิกเถอะ ต้องยกเลิก เพราะอสังหาฯ เป็นธุรกิจที่มี Multiplier Effect (การทวีคูณทางเศรษฐกิจ) สูงมาก ถ้าคุณซื้อบ้าน ซื้อคอนโดฯ ซื้อทาวน์เฮาส์ แน่นอนว่าธุรกิจสี ซีเมนต์ เหล็ก เฟอร์นิเจอร์ แอร์ หรือเครื่องครัว ก็จะมาเพราะเป็นธุรกิจต่อเนื่องก็จะไปกันได้"
- ยืดเวลาการถือครองอสังหาฯ ของชาวต่างชาติจาก 30 ปี เป็น 99 ปี เพื่อกระตุ้นการลงทุนจากต่างชาติ
- อัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ผ่านโครงการจ้างงาน, โครงการประกัน/จำนำ/จ้างผลิตเกษตรกรรมหลักของประเทศ ทั้งข้าว, มันสำปะหลัง, ยางพารา, อ้อย และข้าวโพด, มาตรการชิมช็อปใช้ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยเงิน ซึ่งถ้าใช้งบให้ถูกทาง รัฐบาลก็จะมีรายได้จากภาษี
"ปัจจุบันวินัยการเงินการคลังประเทศเรายังถือว่าดีมาก ยังกู้ได้อีก ทั่วโลกเขาก็กู้กัน... แต่ถ้าเป็นฝ่ายค้านก็จะบอกว่าโอ๊ย กู้ไปใครจะมาใช้หนี้ อีกกี่ชั่วอายุคน เอาภาระมาให้เขา เกิดมาปุ๊บก็มีหนี้แล้ว อย่างน้อยคุณได้เกิดนะ เพราะว่าคุณยังอยู่ต่อไปได้ ถ้าเกิดว่าคุณไม่กู้วันนี้ ไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวันนี้ มันจะอยู่กันไม่ได้" เศรษฐาให้ความเห็น
"เสียงข้างมากในสภา" กับ "ผู้นำที่มีคุณภาพ"
ในขณะที่ไวรัสโควิด-19 เข้าโจมตีเศรษฐกิจฐานราก ทำให้ผู้คนไม่ปฏิสัมพันธ์กัน ประเทศไทยคล้ายถูกถล่มซ้ำด้วยวิกฤตการเมือง ทำให้การประนีประนอมนโยบายทางเศรษฐกิจคล้ายเป็นเรื่องยาก แต่เศรษฐามองต่าง
"รัฐบาลวันนี้ก็มีเสียงข้างมากนี่ครับ มี ส.ว. หนุนอีกตั้ง 250 เสียง ใช่ไหมครับ ยังไงก็เป็นเสียงข้างมาก ทำเถอะครับ ทำได้" เขากล่าวและว่า หากมั่นใจว่านโยบายที่ออกไปมันโดน และออกมาตรการป้องกันการคอร์รัปชัน เข้าถึงได้จริง เงินไหลออกได้จริง ไปถึงคนที่ต้องการจริง ๆ ในอีกไม่ช้ารัฐบาลก็คงตอบคำถามได้
ผู้นำภาคธุรกิจสั่งสมประสบการณ์บริหารนานกว่า 3 ทศวรรษ มองเห็นภาวะผู้นำในตัวนายกรัฐมนตรี ผู้มีอายุงานการเมือง 7 ปี
"ท่านนายกฯ ประยุทธ์เอง ท่านก็มีความเป็นผู้นำสูงนะ อย่างวันก่อนที่ กทม. บอกว่าล็อกดาวน์ปิดร้านอาหารทุ่มนึง ตอนบ่าย ตอนเย็น ท่านออกมาเลย 3 ทุ่ม ชื่นชมครับ แต่ควรจะมีสัก 4 ทุ่ม แต่ผมว่าก็ดีอ่ะ เป็นอะไรที่แสดงว่าท่านก็มีภาวะผู้นำ เอาภาวะผู้นำตรงนี้ไปใช้ในการออกมาตรการทางเศรษฐกิจเถอะ ทุกคนคอยอยู่ครับ"
เศรษฐายังเสนอให้ประมุขฝ่ายบริหารลืมคำว่า "ในเชิงการเมือง ในทางการเมือง ทำไม่ได้" โดยขอให้ลงมือทำ "ในแง่ความเป็นจริง ตามความต้องการของประชาชน"
"เขา (ประชาชน) ต้องการให้ท่านออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ ท่านเป็นคนบอกเองว่าอาสาเข้ามาช่วยเหลือประเทศ กล้าหาญ ชื่นชม ท่านอาสาเข้ามาก็ต้องทำให้ได้ ไม่ใช่มาอธิบายว่าทำไมถึงทำไม่ได้ ผู้นำที่เด็ดขาด ผู้นำที่มีคุณภาพ ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญนะครับ" เขาพูดด้วยน้ำเสียงขึงขังและแววตาเอาจริงเอาจัง
เห็นใจนายกฯ เผชิญสารพัดวิกฤต แต่ขออย่าเป็น "ลิงติดแห"
นอกจากเสียงสนับสนุนในสภา พล.อ. ประยุทธ์ต้องเผชิญกับเสียงขับไล่-แรงต่อต้านบนท้องถนน จากการชุมนุมของนักศึกษาประชาชนกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "ราษฎร" ซึ่งลุกลามบานปลายกลายเป็นอีกสารพัดวิกฤต ทั้งวิกฤตรัฐธรรมนูญ วิกฤตศรัทธาต่อตัวผู้นำ วิกฤตความเชื่อระหว่างฝ่ายจารีตนิยม-เสรีนิยม จึงไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมเชื่อและเดินตามแนวทางของผู้นำคนที่ 29
ผู้นำแสนสิริพยักหน้ารับ ก่อนปรารภว่า "ก็เห็นใจท่านนะเรื่องนี้ แต่เวลาแก้ไขมันต้องแยกแยะ ไม่ใช่ลิงติดแห ติดไปหมด แกะทีละเปลาะ เปลาะเศรษฐกิจก็แกะไป เปลาะการเมืองก็แกะไป จะรับฟัง จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เอาให้ถูก ถ้าเอาทุกปัญหามารวมกัน มันแก้ไม่ได้หรอกครับ ไม่มีทาง"
ในฐานะพันธมิตรขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) มากว่า 10 ปี ทำให้เศรษฐาติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองของขบวนการเยาวชนอย่างละเอียด
เหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มราษฎรที่แยกปทุมวัน เมื่อ 16 ต.ค. 2563 คือ "จุดต่ำสุดของรัฐบาล" ตามความเห็นของเขาที่เคยระบุไว้ทางทวิตเตอร์ พร้อมเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจ "หยุดทำลายอนาคตของชาติและกลับมาแก้ไขโดยสันติวิธี"
ผ่านมา 3 เดือน เขายังมีความหวังจะเห็นการ "ต่อสู้ด้วยหลักการ" และการหาทางออกจากวิกฤตการเมืองแบบ "จบด้วยดี" พร้อมปฏิเสธการใช้กำลังทุกวิธีและทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นปิดสนามบิน ปิดทำเนียบฯ หรือปิดแยกราชประสงค์
หวัง รบ. ออกมาตรการรับสารพัดม็อบใน "ปีแห่งการประท้วง"
การหวนกลับมาของเชื้อโควิด ทำให้การชุมนุมบนท้องถนนกลายเป็น "กิจกรรมต้องห้าม" ทว่านักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ประเมินตรงกันว่าปีนี้จะเป็น "ปีแห่งการประท้วง" นอกจาก "ม็อบนักเรียนนักศึกษา" ยังส่อจะเกิด "ม็อบแรงงาน" "ม็อบคนหิว" หรือแม้กระทั่ง "ม็อบนักธุรกิจ"
เศรษฐาชี้ว่า คำว่าม็อบเป็นอะไรที่ฟังแล้วมันดูลบ ถ้าเป็นการเรียกร้องเชิงสร้างสรรค์ที่อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ศีลธรรม ความเป็นไทย ความสุภาพ ภายใต้ระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เขาเห็นว่าเป็นสิทธิที่คนไทยทำได้และควรทำ โดยคำนึงถึงหน้าที่ในการรักษาความสงบ เพราะบางคนอาจทำอะไรที่เกินเลยไป
"ผมว่าที่ทุกคนคาดเดาหรือหวาดกลัวว่าจะเกิดการเดินขบวนของม็อบนานาประเภท ก็เป็นความกลัวที่ถูกต้อง แต่รัฐบาลก็น่าจะมีมาตรการในการออกมาปกป้องไม่ให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น รู้อยู่แล้วว่าเขาเดือนร้อนก็ต้องออกมา"
นักธุรกิจด้านอสังหาฯ ยืนยันว่า การมีเงิน-มีหน้าตักเอาไว้ก่อนคือความจำเป็นของรัฐบาล เพื่อดูแลเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ "ในฐานะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีหน้าที่ต้องดูแลประชาชน... อย่าลืมนะครับ ประชาชนคือคนที่เลือกคุณมา เพราะฉะนั้นคุณต้องดูแลเขา"
เผยโจทย์ออกแบบประเทศไทย สร้างพื้นที่ปลอดภัย-กติกาใหม่
เชื่อกันว่าแนวคิดในการออกแบบบ้านหลังยุคโควิด-19 จะคำนึงถึงการ "จัดสรรพื้นที่ใหม่" เพื่อรองรับชีวิตวิถีใหม่ (new normal) ของผู้คนในสังคม แต่ในทัศนะของเศรษฐามองเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในวิธีการนำเสนอ เพราะท้ายที่สุด "บ้านก็คือสถานที่ที่เรามาอยู่ร่วมกัน ให้มีชีวิต มีครอบครัว"
แล้วการออกแบบบ้านหลังใหญ่อย่างประเทศไทย หลังเผชิญสารพัดวิกฤตอย่างหนักหน่วงข้ามปีควรเป็นอย่างไร เพื่อให้คนรุ่นเก่า-คนรุ่นใหม่ คนรวย-คนจน ผู้ปกครอง-เจ้าของบ้าน อยู่ร่วมกันได้
คำตอบของเขาคือควรมี "พื้นที่ปลอดภัย" ให้แสดงความเห็นและข้อเสนอแนะที่อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย
เศรษฐาชี้ว่า ความเห็นต่างถือเป็นเรื่องธรรมดาของทุกสังคม และต้องอยู่ร่วมกันได้ สิ่งสำคัญคือเมื่อเห็นต่างแล้ว "ควรพูดเรื่องความ อย่าพูดเรื่องคน" เช่น การบังคับใช้กฎหมาย ขอให้มีความเท่าเทียมและเสมอภาคกัน ไม่ใช่มีอำนาจอยู่ ก็บังคับใช้กฎหมายกับอีกฝ่ายหนึ่ง พอเป็นพวกตัวเองไม่ผิด ขณะเดียวกันวิธีการประดิดประดอยเพื่อสื่อสารไม่ว่าการเขียนหรือคำพูด หากไม่ก้าวร้าวรุนแรงก็จะลดแรงกระทบกระทั่งลงได้
"ปัจจุบันสงครามไม่ได้ใช้ปืน ใช้อาวุธยิงกันหรอก เขาใช้คำพูด คำพูดเป็นอะไรที่บางทีมันเจ็บยิ่งกว่าการใช้อาวุธอีกนะ ดังนั้นเรื่องการเห็นต่างเห็นไม่ตรงกัน รักใครชอบใคร ทุกคนมีสิทธิทั้งนั้นล่ะ แต่มันต้องอยู่ด้วยกันได้... เราอยากมีความสุข เขาก็อยากมีความสุข เขาก็อาจมีความปรารถนาดีกับประเทศในมุมมองของเขา" เศรษฐาบอก
กติกาสูงสุดในการอยู่ร่วมกันอย่างรัฐธรรมนูญ เป็นอีกสิ่งที่เศรษฐายืนกรานว่าต้องได้รับการแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยผ่านกลไกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
"ดีใจที่นายกฯ ได้แสดงเจตจำนงชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญนี้มีข้อที่ต้องแก้ไข และท่านก็ได้เดินทางมาตามขั้นตอนที่บอก อยากให้ท่านทำต่อไป ทำด้วยความจริงใจ ให้แก้ไขออกมา"
ราคาที่ต้องจ่าย เมื่อนักธุรกิจแสดงทัศนะการเมือง
โดยธรรมชาติของชนชั้นนำภาคธุรกิจมักไม่เปิดเผยทัศนะทางการเมืองต่อสาธารณะ เพราะเกรงกระทบต้นทุน-กำไรในทางธุรกิจ แต่นั่นไม่ใช่วัตรปฏิบัติของเศรษฐา ผู้กล้านำเสนอความคิดเห็นต่อปัญหาสาธารณะ
นี่เป็นอีกครั้งที่เขาย้ำคำว่า "หน้าที่" แม้มีราคาที่ต้องจ่าย และมีเสียงต่อว่าตามหลังมาบ้างก็ตาม
"ผมไม่ได้มีวาระทางการเมือง ผมไม่ได้ไม่ชอบ พล.อ. ประยุทธ์เป็นการส่วนตัว ผมอยากเห็นประเทศเดินไปข้างหน้าได้" เขายืนยันเจตนา
ในวัยย่างเข้าสู่ปีที่ 60 เศรษฐาเชื่อว่าตัวเองมีความพร้อมทั้งด้านฐานะ ประสบการณ์การทำงาน และมีความหวังดีกับประเทศ
"ถามว่าความหวังดีของผม
วิธีการคิดของผมถูกหมดหรือไม่ ก็คงไม่ แต่ผมมีความตั้งใจ
ผมเชื่อว่ามันมีเวลาและมีสถานที่ที่เราจะต้องแสดงออกบ้างภายใต้กฎหมายและศีลธรมของคนไทย
ไม่อย่างนั้นถ้าคนที่มีต้นทุนสูงไม่ออกมาพูดเลย
ผมว่ามันก็เป็นการเสียเปล่านะ" เศรษฐากล่าวทิ้งท้าย
"ท่านเป็นคนบอกเองว่าอาสาเข้ามาช่วยเหลือประเทศ กล้าหาญ ชื่นชม ท่านอาสาเข้ามาก็ต้องทำให้ได้ ไม่ใช่มาอธิบายว่าทำไมถึงทำไม่ได้..."
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar