fredag 29 januari 2021

“ประยุทธ์เป็นเพียงหนึ่งในเรื่องเล็ก ๆ ที่ต้องเปลี่ยน”

“ตำราเกี่ยวกับการควบคุมบังคับคนไทยที่เคยมีมาตั้งแต่สร้างกองทัพจนถึงบัดนี้ ผมว่าพ้นสมัยไปในพริบตา ไม่คิดว่าคุณจะสามารถทำอย่างนั้นต่อไปได้อีก” นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าว

นิธิ เอียวศรีวงศ์ จับตาเกิด “กบฎในระบบ” ชี้ตำราเผด็จการทหารไทยพ้นสมัยแล้ว

คำบรรยายภาพ,

ผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบฯ เมื่อ 14 ต.ค. 2563

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์เห็นตรงกันว่าประเทศไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว หลังเกิดความเคลื่อนไหวของขบวนการนักเรียน นักศึกษา และประชาชน โดยที่ ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ เห็นว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม "เป็นเพียงหนึ่งในเรื่องเล็ก ๆ ที่ต้องเปลี่ยน" ตามความคิดของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงแบบถึงรากถึงโคน

ในระหว่างร่วมงานเสวนา "Breakthrough Thailand 2021" จัดโดยเครือมติชน วันนี้ (29 ม.ค.) ศ.ดร. นิธิ ได้วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองว่าต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งรุนแรงอย่างหนีไม่พ้น พร้อมชี้ว่าประเทศไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว ขณะที่เผด็จการทหารไทยยังไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร

"ตำราเกี่ยวกับการควบคุมบังคับคนไทยที่เคยมีมาตั้งแต่สร้างกองทัพจนถึงบัดนี้ ผมว่าพ้นสมัยไปในพริบตา ไม่คิดว่าคุณจะสามารถทำอย่างนั้นต่อไปได้อีก" นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์กล่าว

นิธิ

เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ของนักศึกษาและประชาชนในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยถูกไล่เรียงโดย ศ.ดร. นิธิ เพื่อชี้ให้เห็นถึงจุดเหมือนและจุดต่าง

  • 14 ตุลา 2516 : เคลื่อนไหวขับไล่ผู้นำที่ถูกเรียกว่า "ทรราช" ซึ่งเป็นเกมเดียวกับการต่อสู้ของชนชั้นนำที่ช่วงชิงอำนาจกัน
  • หลัง 14 ตุลา 2516 : จับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนตัวผู้นำ แต่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในลักษณะรุนแรง ถอนรากถอนโคนหลายเรื่อง ที่สุดทำให้กลุ่มชนชั้นนำตอบโต้ด้วยเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษา 6 ตุลา 2519
  • พฤษภา 2535 : เคลื่อนไหวเพื่อให้เปลี่ยนผู้นำ ไม่ต้องการให้หัวหน้าคณะรัฐประหารมาดำรงตำแหน่งนายกฯ อีก
  • ปัจจุบัน : เคลื่อนไหวเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างถอนรากถอนโคน ไม่ใช่แค่ให้เปลี่ยนรัฐบาล

"ประยุทธ์เป็นเพียงหนึ่งในเรื่องเล็ก ๆ ที่ต้องเปลี่ยน แต่เขาเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงมากกว่านั้น ไม่ว่าสังคม ศิลปวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ ฉะนั้นในแง่นี้เป็นความพยายามให้เปลี่ยนแปลงแบบไม่เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าเขาจะประสบความสำเร็จหรือไม่ สังคมไทยมันเปลี่ยนไปแล้ว ถ้าคนจำนวนขนาดนี้ออกมาเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงและถึงรากถึงโคน คุณจะหวังให้สังคมไทยกลับไปเหมือนเดิมอีก เป็นไปไม่ได้แล้ว" ปัญญาชนวัย 80 ปีกล่าว

จับตาเกิด "กบฎในระบบ"

การเปลี่ยนแปลงโดยสงบจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อชนชั้นนำปรับตัว แต่ถ้าชนชั้นนำไม่ยอมปรับ ศ.ดร. นิธิก็ยังเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงจะยังเกิดขึ้น เพียงแต่อาจเปลี่ยนโดยนองเลือด หรือเปลี่ยนโดยใช้เวลานาน 5-10 ปี ซึ่งยิ่งใช้เวลานาน ความรุนแรงก็จะยิ่งมากขึ้น

"ถ้าใครหวังว่าการปราบปรามแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวต่าง ๆ อย่างรุนแรง ตั้งข้อหาร้อยแปดพันประการ แล้วจะทำให้เขาหยุดได้ ผมคิดว่าไม่หยุด แล้วตราบเท่าที่เขาไม่หยุด สิ่งที่อยากให้จับตามองคือกบฎในระบบ" ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์กล่าว

police

สำหรับคำจำกัดความของคำว่า "กบฎในระบบ" ถูกอาจารย์นิธิอธิบายผ่านการยกตัวอย่างคนในกระบวนการยุติธรรม เช่น ตำรวจอาจรู้สึกว่าไม่ไหวแล้วในการโดนประชาชนรุมด่าถึงขนาดนี้ เริ่มเข้ามาหาข้อบังคับตามกฎหมายจริง ๆ บอกเจ้านายว่าผมทำไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้ทำ หรือผู้พิพากษาระดับล่าง ๆ ที่กล้าให้ประกันตัวในคดีที่เขารู้สึกว่ามันเป็นคนมามอบตัวเอง แล้วจะไปจับมันไว้ทำไม

ท้ายที่สุดถ้ากลุ่มเคลื่อนไหวยังสามารถดำเนินงานต่อไปได้ในรูปใหญ่ ๆ แบบที่ผ่านมา หรือในรูปเล็ก ๆ ด้วยการไปปิดป้ายแบบที่เห็นทุกวันนี้ นักวิชาการรายนี้เชื่อว่าจะทำให้ "กบฎในระบบ" ค่อย ๆ ขยายตัว

"ถ้าระบบไม่สามารถร่วมมือกันกดขี่ประชาชนต่อไปได้ คิดว่าตัวระบบนี้ ถ้าไม่ปรับตัวมันก็พัง เพราะจุดสำคัญในการทำให้ความเคลื่อนไหวของคุณประสบความสำเร็จคือระบบไม่ทำงาน หรือทำแล้วขัดกันเอง" ศ.ดร. นิธิระบุ

"สำนึกภราดรภาพ" ของขบวนการเยาวชน

ภายหลังเฝ้าสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของขบวนการนักเรียน นักศึกษา และประชาชนตลอดปีก่อน ศ.ดร. นิธิพบการกระทำที่วางอยู่บนว่าสำนึกความเดือดร้อนของประชาชน เช่น นักเรียนในโรงเรียนชั้นนำที่มีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ สัก 80% ที่ออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปการศึกษา เพราะเป็นห่วงคนบนเขาและในสลัม

"อันนี้เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีสำนึกภราดรภาพ คุณเกิดชาติไม่ได้ถ้าไม่มีสำนึกนี้" เขาระบุ

"ให้อนาคตเป็นผู้เสนออนาคตของพวกเขา"

ผศ.ดร. กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอีกคนที่ยืนยันว่าประเทศไทยเปลี่ยนไปแล้วหลังความเคลื่อนไหวของขบวนการเยาวชน ทว่าผ่านมา 7 เดือน เธอยังไม่เห็นสัญญาณตอบสนองความเปลี่ยนแปลงจากรัฐไทย ตรงกันข้ามกลับมีการใช้ความรุนแรง ข่มขู่ คุกคาม และใช้กฎหมายจัดการผู้ชุมนุมโดยเฉพาะช่วงหลังปีใหม่มานี้

กนกรัตน์

นักรัฐศาสตร์หญิงชี้ว่า เหตุผลที่รัฐไทยยังไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเป็นเพราะผู้มีอำนาจและรัฐบาลไม่ยอมรับว่าสังคมไทยมีปัญหาจริง ๆ และคนรุ่นผู้ใหญ่มองเสียงคนรุ่นใหม่ว่ายังไม่มีความชอบธรรมมากพอ มองคนรุ่นใหม่เป็นขั้วตรงข้ามทางการเมือง ถูกจูงจมูกโดยทักษิณ ธนาธร หรือถูกครอบงำด้วยมหาอำนาจอย่าง สหรัฐฯ แต่ถึงกระนั้นเชื่อว่า "ไม่มีทางหยุดการเปลี่ยนแปลงได้"

เธอจึงเรียกร้องให้คนรุ่นก่อนยอมรับว่าการลุกขึ้นมาของคนรุ่นใหม่มีอยู่จริง ยอมรับว่าคนรุ่นก่อนมีส่วนสร้างปัญหา และยอมให้อนาคตเป็นผู้เสนออนาคตของพวกเขา เพราะข้อคิดแบบอาบน้ำร้อนมาก่อนอาจใช้ไม่ได้แล้ว

สะสม "ชัยชนะทุกวัน"

ในฐานะผู้สำรวจความคิดคนรุ่นใหม่ในขบวนการเคลื่อนไหวเยาวชน อาจารย์กนกรัตน์เห็น การตื่นตัวของคนรุ่นใหม่และลุกขึ้นอย่างกว้างขวางที่สุดแบบไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งภายในมหาวิทยาลัย, โรงเรียน, องค์กรภาคเอกชน รวมถึงองค์กรภาครัฐ อีกทั้งยังเกิดการสะสมชัยชนะในหมู่นักเคลื่อนไหวรุ่นเยาว์ สะท้อนผ่านการที่เด็ก ๆ ทำให้พ่อแม่สนใจปัญหาการเมืองมากขึ้น, การ "ชูสามนิ้ว" ในโรงเรียน ซึ่งพบว่าบางโรงเรียนยอมให้นักเรียนไม่ต้องเข้าแถวเคารพธงชาติกลางแดด หรือบางโรงเรียนอนุญาตให้แต่งชุดไปรเวทไปเรียนได้บางวัน ฯลฯ

student

"ในขณะที่คนทั่วไปไม่รู้สึกอะไร หรือมองว่าไล่รัฐบาลก็ไม่ได้ แต่เด็ก ๆ รู้สึกชนะทุกวันในพื้นที่ที่เขาใช้ชีวิตอยู่" และ "ความสำเร็จในการชุมนุม 6-7 เดือน ที่ไม่ได้มีทรัพยากรจากภายนอกมาช่วยขนาดนี้ เขารู้สึกว่าสำเร็จในการสร้างเครือข่ายและได้บอกว่าปัญหาของพวกเขาอยู่ตรงไหน" ผศ.ดร. กนกรัตน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร. กนกรัตน์ยอมรับว่าการผลักดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมของขบวนการเยาวชน จำเป็นต้องทำให้อำนาจเก่าและระบบเก่าเปิดพื้นที่ รับฟังให้มากขึ้น และสร้างเครือข่ายให้กว้างขวาง สร้างพลังสนับสนุนจากคนรุ่นอื่น ๆ โดยเฉพาะเจเนอเรชั่นเอกซ์ (อายุ 40-50 ปี) ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุด

นักวิชาการจากรั้วจามจุรีนิยามความเคลื่อนไหวในปี 2563 ว่า "ปีแห่งการบอกปัญหา" ส่วนปีนี้เป็น "ปีแห่งการเสนอทางเลือกในการแก้ปัญหา"

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar