“เวลาเราดำเนินคดีในทุกข้อหา ซึ่งรวมถึงคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย พนักงานสอบสวนจะพิจารณาจากข้อเท็จจริงหรือองค์ประกอบความผิดทางกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งโดยหลักการบังคับใช้กฎหมาย ตำรวจจะแจ้งเตือนก่อน รวมถึงการสร้างความตระหนักต่อสาธารณะว่าการกระทำใดบ้างที่เสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี” รองโฆษก ตร. กล่าวกับบีบีซีไทย
ม. 112: เปิดสำนวนตำรวจ ทำอะไรถึงเข้าข่าย "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ"
19 ม.ค. 2564 การพิพากษาลงโทษจำคุก อดีตข้าราชการหญิงวัย 63 ปี ในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเวลา 87 ปี แต่ลดโทษลงกึ่งหนึ่งจากการรับสารภาพเหลือ 43 ปี จากการแชร์คลิปเสียงวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ นับเป็นการลงโทษสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมาในประวัติศาสตร์ของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
คำพิพากษานี้มีขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ประชาชนและนักศึกษาถูกออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาตามาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ข้อกล่าวหาในคดีนี้มีตั้งแต่การแชร์หรือแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ ถึงการแสดงออกในการชุมนุมทางการเมืองในห้วงปี 2563 เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ประกาศเมื่อ พ.ย. 2563 ว่า เจ้าหน้าที่จะ "บังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่" เพื่อดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทำผิดกฎหมาย "คดี 112" ก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นับจากที่ไม่มีการแจ้งความดำเนินคดีในข้อหานี้มาตั้งแต่ปี 2561
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งติดตามการดำเนินคดีนี้ ระบุว่านับตั้งแต่เริ่มมีการเผยแพร่รายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2563 จนถึง 21 ม.ค. 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 55 ราย ใน 42 คดี
ทั้งนี้มีทั้งคดีที่ผู้ถูกกล่าวหาไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกและปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และคดีที่ได้รับหมายเรียกแล้ว แต่ยังไม่ได้ไปรายงานตัว
ในจำนวนคดีทั้งหมด แยกเป็น
- คดีที่มีประชาชนทั่วไปและสมาชิกกลุ่มสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นฝ่ายที่เห็นต่าง เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 20 คดี
- คดีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 2 คดี
- ที่เหลือเป็นคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ
บีบีซีไทยสำรวจเอกสารบันทึกแจ้งความที่ศูนย์ทนายฯ เผยแพร่ พบว่าพฤติการณ์ที่นำมาสู่การแจ้งข้อหาอันร้ายแรง มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปีนี้มีหลากหลาย มีตั้งแต่การปราศรัย การแต่งกายไปจนถึงการโพสต์ข้อความพระราชดำรัส "กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ" โดยแบ่งเหตุการณ์เป็นกลุ่มหลัก ๆ ดังนี้
ปราศรัยบนเวทีที่ชุมนุม
การขึ้นปราศรัยบนเวทีการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "ราษฎร" ในช่วงปี 2563 นับสิบเวที เป็นคดีแรก ๆ ที่แกนนำผู้ขึ้นปราศรัยถูกแจ้งข้อหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
หนึ่งในการปราศรัยในการชุมนุมครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งที่ทำให้แกนนำและนักกิจกรรมรวม 7 คน ถูกตั้งข้อกล่าวหาคดี 112 ได้แก่ การชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวง ระหว่างวันที่ 19-20 ก.ย. 2563
ศูนย์ทนายฯ ได้บันทึกข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงครามได้แจ้งต่อผู้ปราศรัยในการชุมนุม ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ อานนท์ นำภา ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ภาณุพงศ์ จาดนอกและปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ระบุว่า คำปราศรัยของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการใส่ความ กล่าวหาฝ่ายเดียว ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันและเป็นการพูดในทางที่ทำให้กษัตริย์อาจได้รับความเสียหาย
ส่วนบันทึกข้อกล่าวหาของสมยศ พฤกษาเกษมสุข และจตุภัทร์ บุญภัทรรักษาหรือ ไผ่ ดาวดิน ซึ่งเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในเดือน ธ.ค. 2563 สรุปความโดยรวมได้ว่าคำปราศรัยของผู้ต้องหามีเนื้อหาเกี่ยวกับความเสื่อมถอยของสถาบันกษัตริย์ วิจารณ์มาตรา 112 ว่าเป็นกฎหมายเผด็จการ เรียกร้องให้ลดอำนาจของสถาบันกษัตริย์-เพิ่มอำนาจประชาชน และกล่าวถึง "ความเป็นคนเหมือนกัน"
อ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนี
ผู้ต้องหาในคดี 112 กลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งคือผู้ปราศรัยและร่วมชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนีเมื่อ 26 ต.ค. 2563 เพื่อเรียกร้องให้เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย "ถามความชัดเจน" ในประเด็นเกี่ยวกับการประทับอยู่ในเยอรมนีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10
ตามรายงานของศูนย์ทนายฯ มีผู้ถูกดำเนินจากกรณีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนีทั้งสิ้น 13 คน เป็นนักศึกษา 5 คน และประชาชนที่อาสามาอ่านแถลงการณ์ภาษาอื่น เช่น นิสิตปัจจุบันและศิษย์เก่าของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เอกภาษาเยอรมัน ซึ่งบางคนไม่มีประวัติร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน
การอ่านแถลงการณ์อันเป็นจดหมายเปิดผนึกถึงทางการเยอรมนีถูกกล่าวหาหมิ่นสถาบันอย่างไร
บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ ที่ศูนย์ทนายฯ เผยแพร่บอกว่า เนื้อหาบางส่วนของแถลงการณ์ "เป็นการใส่ความพระมหากษัตริย์ ทำให้พระองค์เสื่อมพระเกียรติ" นอกจากนี้ข้อกล่าวหา ยังนำมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญมาประกอบ ซึ่งระบุว่ากษัตริย์ดำรงสถานะเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะกล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้
บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาบรรยายไว้ด้วยว่า ข้อความในจดหมายเปิดผนึกถือเป็น การจาบจ้วง ปลุกเร้าให้ผู้ชุมนุมมีความรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชัง และมีการมุ่งหวังให้ประชาชนละเมิดกฎหมายที่บัญญัติไว้เพื่อปกป้องสถาบันฯ
แสดงความคิดเห็นบนอินเทอร์เน็ต
ในจำนวนการดำเนินคดี 112 ทั้งหมดตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มีคดีที่เกี่ยวข้องกับการโพสต์ข้อความบนระบบอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์อย่างน้อย 5 กรณี เกินครึ่ง คือ การโพสต์ "จดหมายถึงกษัตริย์" ของแกนนำกลุ่ม "ราษฎร" ได้แก่ ทนายอานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์ และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
การเขียน "จดหมายถึงกษัตริย์" เป็นกิจกรรมในการชุมนุมเมื่อวันที่ 8 พ.ย. ซึ่งผู้จัดชุมนุมเชิญชวนประชาชนให้เขียน "ราษฎรสาส์น" ถึงกษัตริย์ โดยมีการนำตู้ไปรษณีย์จำลองไปตั้งบริเวณหน้าศาลหลักเมือง ถ.ราชดำเนินใน
คดีของปนัสยา แกนนำ "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" มีนายนิติพงศ์ ห่อนาค หรือดี้ นักแต่งเพลงชื่อดัง เป็นผู้แจ้งความกล่าวหา เธอเข้าพบพนักงานสอบสวนที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เมื่อ 9 ธ.ค.โดยให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ทั้ง ม.112 และ พ.ร.บ.การกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ข้อความที่ถูกโพสต์ในเฟซบุ๊กชื่อ Panusaya Sithijirawattanakul ได้แชร์โพสต์จากเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยเป็นโพสต์ข้อความเกี่ยวกับราษฎรสาส์นถึงกษัตริย์ ยืนยัน 3 ข้อเรียกร้องของราษฎร คือ เรียกร้องให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เมื่อวันที่ 8 พ.ย.
ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาของทั้งพริษฐ์ และปนัสยา ระบุคล้ายคลึงกันว่า มีข้อความ 2 ส่วนในโพสต์ ที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์
"กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ"
วลีข้างบน คือ พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระปฏิสันถารตรัสขอบใจชายที่ชูพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ร.9 ไว้เหนือหัว ขณะพสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จฯ บริเวณพระบรมมหาราชวัง ช่วงค่ำวันที่ 23 ต.ค.
"กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ" กลายเป็นหนึ่งในข้อความที่ถูกนำมาร้องทุกข์กล่าวโทษและแจ้งข้อหาบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของกลุ่ม "ราษฎร"
อินทิรา เจริญปุระ หรือทราย นักแสดงสาวที่ประกาศตัวสนับสนุนกลุ่มเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ถูกแจ้งข้อหา ม.112 ร่วมกับผู้ถูกกล่าวหา 7 คน จากกรณีการชุมนุมที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 เขตบางเขน เมื่อ 29 พ.ย. แม้เธอจะไม่ได้ปรากฏตัวบนเวทีปราศรัยก็ตาม
คำบรรยายแจ้งข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวน สน.บางเขนระบุว่าอินทิรามีหน้าที่จัดหารถตู้ บริหารงานการ์ด และส่งน้ำส่งอาหาร ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 8 คน "จึงมีวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อใส่ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ว่าโอนกําลังทหารมาเป็นของพระองค์เอง ทำให้ผู้ชุมนุมต้องมาปลดอาวุธศักดินา"
พนักงานสอบสวนยังได้นำการโพสต์ของบัญชีเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า Inthira Charoenpura ซึ่งอินทิราเป็นผู้ใช้ มาประกอบการแจ้งข้อหานี้
พนักงานสอบสวนระบุว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวโพสต์ข้อความที่ "ล้อเลียนสถาบันพระมหากษัตริย์" อันได้แก่ "ฉันคง ไม่กลับ ไปรักเธอ" "กล้ามาก เลย นะเธอ" "ก็ตาสว่างกันหมดแล้ว" พร้อมกับระบุว่าการนำถ้อยคำว่า "กล้ามาก" อันเป็นพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 10 มาพูดซ้ำในเชิงล้อเลียน เสียดสี จึงเป็นการทําให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสื่อมเสียพระเกียรติ
นอกจากอินทิราแล้ว นายสมบัติ ทองย้อย การ์ดกลุ่มผู้ชุมนุม "ราษฎร" เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่ถูกบุคคลเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษข้อหา ม.112 จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก โดย 1 ใน 3 ของโพสต์ที่เขียนว่า "#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ"
ตำรวจ สน.ทุ่งมหาเมฆ บรรยายพฤติการณ์คดี สรุปได้ว่าการโพสต์ข้อความดังกล่าวเป็นการจงใจล้อเลียน ข้อความทั้ง 3 โพสต์ เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและเป็นการใส่ร้ายใส่ความ ทําให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดต่อพระมหากษัตริย์
แต่งคอสเพลย์ชุดไทย ใส่ชุดครอปท็อป
การสวมชุดไทยเข้าร่วมงานเดินแฟชั่นบนพรมแดงในกิจกรรม "ศิลปะราษฎร" ที่ถนนสีลม เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 ของ น.ส.จตุพร แซ่อึง วัย 23 ปี สมาชิกกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "บุรีรัมย์ปลดแอก" ทำให้เธอถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นสถาบันกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คดีนี้มี น.ส. วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ แอดมินเพจเฟซบุ๊ก "เชียร์ลุง" เป็นผู้กล่าวหา
ในการแจ้งข้อหาที่พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา ออกหมายให้มารับทราบ มีเยาวชนอายุ 16 ปี ถูกตั้งข้อหา ม.112 ด้วย จากการที่เขาสวมใส่ชุดครอปท็อปเสื้อกล้ามสีดำพร้อมกับเขียนข้อความที่ตำรวจเชื่อว่าหมิ่นสถาบัน ร่วมกิจกรรมเดียวกัน
บันทึกแจ้งข้อกล่าวหากรณีแต่งชุดไทย ที่ศูนย์ทนายฯ นำมาเผยแพร่ บรรยายการกระทำที่เป็นมูลเหตุของคดีว่า น.ส.จตุพรแต่งชุดเสื้อกระโปรงแบบชุดไทยสีชมพู ถือกระเป๋าขนาดเล็ก และแสดงท่าทางประกอบให้ประชาชนผู้พบเห็นเข้าใจว่าเป็นการแสดงการเสด็จเยี่ยมพสกนิกรของราชินี
ผู้ชุมนุมได้แสดงท่าทางหมอบกราบ น.ส.จตุพร ก้มลงไปจับมือกับผู้ชุมนุม ผู้ที่มารับชมบริเวณนั้นตะโกนเรียกว่า "พระราชินี" ตลอดการเดิน "จึงเชื่อว่าผู้ต้องหามีเจตนาล้อเลียนราชินี ทำให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกเป็นการดูหมิ่น เกลียดชัง"
สำหรับผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชนชายอายุ 16 ปี พนักงานสอบสวนระบุว่าเขาแต่งกายชุดเสื้อกล้ามแบบครึ่งตัวสีดำ สวมกางเกงยีนส์ขายาว บริเวณผิวหนังด้านหลังปรากฏข้อความหนึ่ง "ซึ่งปรากฏพระนามของรัชกาลที่ 10 เป็นการแสดงเจตนาให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกดูหมิ่น หรือเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์"
พนักงานสอบสวนกล่าวหาด้วยว่า เยาวชนแสดงกิริยาท่าทางประกอบโดยการเดินบนพรมสีแดง ผู้ชุมนุมรอบข้างที่ชมการแสดงอยู่ตะโกนว่า "ทรงพระเจริญ" พร้อมทั้งแสดงท่าทางคล้ายการหมอบกราบ โดยมีเจตนาแสดงให้ประชาชนทั่วไปทราบว่าตนแสดงกิริยาท่าทางล้อเลียนกษัตริย์
พิมพ์-แจกหนังสือ/ แขวนป้ายผ้า/ ผลิตปฏิทินเป็ดเหลืองขาย
หนังสือถอดเทปคำปราศรัย "ปรากฎการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์" เป็นสิ่งพิมพ์ที่ถูกตำรวจ สภ.คลองหลวงนำมาแจ้งข้อหา ม.112 และความผิดฐาน พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ ต่อนายณัฐชนน ไพโรจน์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่ม "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม"
พนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวงเป็นผู้กล่าวหา แจ้งข้อหาต่อนายณัฐชนนว่า หนังสือเล่มดังกล่าวซึ่งมีเนื้อหาปราศรัยของแกนนำในการชุมนุม "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" เมื่อ 10 ส.ค.2563 และการปราศรัยของแกนนำในการชุมนุมที่จัดขึ้นหลังจากนั้นมีเนื้อหากล่าวพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยตำรวจภูธรภาค 1 ได้ยึดหนังสือปกสีแดง จำนวน 45,080 เล่ม ได้ที่ปากซอยทางเข้าออกหมู่บ้านใน อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ภายในรถบรรทุก 6 ล้อ และมีนายณัฐชนนนั่งคู่มากับคนขับ
ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ในข้อกล่าวหาของตำรวจที่ตัดตอนคำปราศรัยในหนังสือมาแต่ละประโยคและบางส่วนของข้อเสนอ 10 ข้อของการปฏิรูปสถาบันฯ โดยระบุว่าเนื้อหาเหล่านี้ "เป็นการใส่ความหรือกล่าวหาพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 และที่ 10 ซึ่งไม่เป็นความจริง การใส่ความดังกล่าวเมื่อบุคคลทั่วไปได้ทราบหรือได้อ่านแล้ว ทำให้เข้าใจว่าพระมหากษัตริย์เป็นคนไม่ดี อาจทำให้ผู้อื่นประชาชนดูหมิ่นหรือเกลียดชังพระมหากษัตริย์ได้"
ส่วนที่ จ.ลำปาง ศูนย์ทนายฯ รายงานว่านักศึกษา 4 ราย ได้รับหมายเรียกคดี ม.112 จากตำรวจ โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้รายละเอียดเหตุในคดี แต่คาดว่าเหตุของการถูกกล่าวนั้นมาจากป้ายข้อความว่า "งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19" ซึ่งถูกแขวนใน จ.ลำปาง ตั้งแต่เมื่อช่วงปลายเดือน ธ.ค. 63
31 ธ.ค.2563 หนึ่งในผู้ดูแลเพจ "คณะราษฎร" ซึ่งจำหน่ายปฏิทินรูปเป็ดเหลือง ถูกจับกุมโดยไม่มีหมายจับและควบคุมตัวมาแจ้งพฤติการณ์คดีที่สถานีตำรวจนครบาลหนองแขม ปฏิทินตั้งโต๊ะจำนวน 174 อัน ถูกยึดไปเป็นของกลาง
ข้อกล่าวหาระบุถึงการล่อซื้อของตำรวจ โดยสั่งซื้อสินค้าจำนวน 3 ครั้ง ภายหลังตรวจสอบข้อความเนื้อหาในปฏิทินพบว่ามีเนื้อหาความผิดตาม ม.112 ตำรวจได้ติดต่อขอซื้อโดยขอรับสินค้าทางการส่งของผู้ขับขี่เมสเซนเจอร์จนทราบพิกัดของสถานที่
กลางดึกของการถูกเข้าจับกุม ทนายผู้ต้องหาทักท้วงว่า การแจ้งข้อกล่าวหาไม่ได้ระบุชัดว่าข้อความใดเข้าข่ายองค์ประกอบความผิดในมาตรา 112 พนักงานสอบสวนจึงระบุเพิ่มเติมว่า มีภาพเป็ดพร้อมข้อความบนปฏิทินรวม 3 ภาพ ที่เข้าองค์ประกอบผิดมาตรา 112 ได้แก่ ภาพเป็ดใส่เครื่องแบบพร้อมข้อความว่า "ปฏิทินพระราชทาน รุ่นพิเศษรวมทุกคำสอนของเรา", ภาพเป็ดสีเหลืองพร้อมข้อความว่า "กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ" และภาพเป็ดสีเหลืองใส่แว่นและข้อความซึ่งตำรวจระบุว่าเป็นการสื่อความหมายถึงรัชกาลที่ 9
พ่นสีสเปรย์ข้อความบนรูปพระบรมวงศานุวงศ์
สิริชัย นาถึง นักศึกษาชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทและแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ ทำให้เสียทรัพย์ ผิดกฎหมายอาญามาตรา 358
เว็บไซต์ศูนย์ทนายฯ เปิดเผยว่าตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาของ สภ.คลองหลวงระบุว่านายสิริชัยถูกแจ้งข้อหาจากการพ่นสีสเปรย์ข้อความ "ภาษีกู" และ "ยกเลิก 112" บนพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ และป้ายหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต รวม 6 จุด
ศูนย์ทนายฯ ให้ความเห็นว่าการพ่นสีบนรูปพระบรมวงศานุวงศ์ไม่เข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 112 เนื่องจากกฎหมายมาตรานี้ครอบคลุมการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย "พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" และคดีนี้นับเป็นการดำเนินคดี 112 คดีแรกนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563 ที่ศาลออกหมายจับ
ตำรวจว่าอย่างไรเรื่องการดำเนินคดี 112
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กล่าวถึงจำนวนคดี 112 ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีประชาชนมาแจ้งความ ซึ่งตำรวจก็มีหน้าที่จะต้องรับเรื่องไว้เพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวน เพราะหากไม่ดำเนินการใด ๆ ก็อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ว่าด้วยการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
แต่เขายืนยันว่าการทำคดีที่มีลักษณะเป็นความผิดต่อแผ่นดินและมีความสลับซับซ้อนและละเอียดอ่อนอย่างคดี 112 นี้ ตำรวจจะดำเนินการอย่างรอบคอบด้วยการตั้งเป็นคณะทำงานหรือคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาคดี ทั้งในระดับสถานีตำรวจท้องที่และระดับ ตร. ไม่ใช่ว่าพนักงานสอบสวนคนเดียวจะสั่งฟ้องได้ และตำรวจ "ไม่อยากจะเอาคนมาติดคุก"
"เวลาเราดำเนินคดีในทุกข้อหา ซึ่งรวมถึงคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย พนักงานสอบสวนจะพิจารณาจากข้อเท็จจริงหรือองค์ประกอบความผิดทางกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งโดยหลักการบังคับใช้กฎหมาย ตำรวจจะแจ้งเตือนก่อน รวมถึงการสร้างความตระหนักต่อสาธารณะว่าการกระทำใดบ้างที่เสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี" รองโฆษก ตร. กล่าวกับบีบีซีไทย
เมื่อถามว่าสถิติคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือไม่ พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวว่า "ถ้าคดีจะเยอะเพราะประชาชนมาแจ้งความ เรา (ตำรวจ) มีทางเลือกมั้ยล่ะ เพราะกฎหมายอาญามาตรา 157 กำหนดให้เราต้องปฏิบัติตามหน้าที่"
มาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม รองโฆษก ตร.กล่าว ตำรวจก็พยายามให้ความรู้กับประชาชนว่าไม่ควรทำอะไรที่เสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย ควบคู่ไปกับการสอบสวนคดี
เสนอ ตร.ปรับปรุงการออกหมายเรียกผู้ต้องหา
ขณะที่การออกหมายเรียกผู้ต้องหาทั้งในคดี 112 และคดีอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้นมากอันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมือง คณะอนุกรรมาธิการการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีนายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดยะลา เป็นประธาน ได้พิจารณาเรื่องที่สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้ทำหนังสือเสนอให้มีการปรับปรุงการออก "หมายเรียกผู้ต้องหา" ของ ตร. โดยให้ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลา สถานที่และพฤติการณ์แห่งการกระทำผิด เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าใจว่าตนถูกใครกล่าวหาในเรื่องอะไร ทำผิดวัน เวลาและสถานที่ใด มีพฤติการณ์การกระทำอย่างไร เพื่อให้สามารถเตรียมพยานหลักฐานไปแสดงกับพนักงานสอบสวนหรือให้ถ้อยคำพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนในวันที่ไปพบตามหมายเรียกได้อย่างถูกต้อง
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเมื่อ 21 ม.ค. เห็นชอบว่าควรปรับปรุงการออกหมายเรียกผู้ต้องหา ของพนักงานสอบสวนทุกหน่วยงานตามข้อเสนอดังกล่าวเพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อประชาชนและมีมติให้เชิญผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการปกครอง กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานศาลยุติธรรม มาชี้แจงการปฏิบัติ และแนวทางปรับปรุงการออกหมายเรียกผู้ต้องหาต่อไป
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar