ดร.อิสระ ชูศรี มองขบวนการ “ราษฎร” ผ่านคำหยาบ ราชาศัพท์ และการกลับมาของคดี ม. 112
- เรื่องโดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
- วิดีโอโดย ราชพล เหรียญศิริ, ภานุมาศ สงวนวงษ์ ผู้สื่อข่าววิดีโอ
ความเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "ราษฎร" เกิดขึ้นข้ามปี จาก 2563 ถึง 2564
จากเคยพูดไม่ได้ หลายเรื่องพูดได้มากขึ้น
จากแกนนำการชุมนุมที่รับบท "ผู้ปราศรัย" หลายคนตกที่นั่ง "ผู้ต้องหา" และ "จำเลย" คดีความมั่นคงในปัจจุบัน
แม้การปฏิรูปสถาบันฯ ยังไม่เกิดขึ้นตามข้อเรียกร้องของขบวนการราษฎร แต่การปฏิรูปคำศัพท์การเมืองเกิดขึ้นแล้ว
"เพราะทัศนะมันเปลี่ยนไง" ดร. อิสระ ชูศรี อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวกับบีบีซีไทย
นักภาษาศาสตร์ผู้หลงใหลในการเมืองเรื่องภาษา มองการชุมนุมของกลุ่มราษฎรผ่านคำศัพท์ ปรากฏการณ์ใหม่ในแวดวงภาษาที่เขาพบคือการที่เยาวชนลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ผู้ครองอำนาจการเมืองด้วยภาษาที่แสดงระยะห่างความเป็นเด็ก-ผู้ใหญ่ เช่น พูดถึงรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี ด้วยการใช้คำผรุสวาท คำล้อเลียน หรือจงใจใช้คำไม่สุภาพเพื่อสะท้อนความรู้สึกไม่พอใจ ซึ่งเท่ากับการไม่ยอมรับลำดับชั้นทางสังคม
- เกษียร เตชะพีระ เสนอตั้ง "สถาบันราษฎรสนทนากับผู้มีอำนาจ" เลี่ยงการปะทะ 2 ฝ่าย
- กลุ่มราษฎรตั้งตู้ไปรษณีย์จำลองใกล้พระบรมมหาราชวัง ส่ง "ราษฎรสาสน์" ถึงรัชกาลที่ 10
- ในหลวง ร. 10 ตรัสทักทาย "กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ" ต่อชายที่ชูพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ร.9 ไว้เหนือหัว
- "ผูกโบว์ขาวต้านเผด็จการ": เมื่อนิยาม "ชาติ" ของเยาวชน กับ ผู้ใหญ่-ผู้ปกครอง ไม่ตรงกัน
ด้วยเพราะภาษาไทยไม่ได้มีมิติเนื้อหาการพูดเพียงอย่างเดียว แต่ยังแสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูด-ผู้ฟัง-คู่สนทนา-บุคคลที่สามที่กล่าวถึง ผู้พูดจึงต้องเลือกใช้ภาษาให้เหมาะสมกับฐานะของคู่สนทนา ทว่านี่คือความสัมพันธ์แบบดั้งเดิมที่ ดร.อิสระ เห็นว่าผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรไม่ต้องการรักษาไว้ จึงพยายามลดความนอบน้อม-ยอมรับ สะท้อนผ่านคำปราศรัยหรือป้ายข้อความที่ปรากฏในพื้นที่ชุมนุม
คำสรรพนามสะท้อนภาพ "คนไม่เท่ากัน"
หนึ่งในปฏิบัติการทางการเมืองเพื่อลดช่วงชั้นทางสังคม จึงกระทำผ่านการหยิบฉวยราชาศัพท์มาใช้กับสามัญชน เช่น นำคำว่า "สมเด็จ" มาใช้เรียกอาจารย์บางคนเพื่อยั่วล้อ
"ผลของการใช้แบบสลับที่ ทำให้หน้าที่ของมันในการเป็นเครื่องหมายบ่งบอกว่าคนที่กล่าวถึงเป็นผู้มีฐานะสูงทางสังคม ก็กลายเป็นสูญเสียหน้าที่นั้นไป" นักภาษาศาสตร์กล่าว
ไม่ต่างจากคำสรรพนามที่ถูกขบวนการราษฎรตีความใหม่-โต้แย้ง หลังเห็นอำนาจแฝงในคำเหล่านั้น ซึ่งสะท้อนภาพ "คนไม่เท่ากัน"
อาจารย์อิสระหยิบยกทฤษฎีภาษาทางสังคมขึ้นมาอธิบาย เพื่อชี้ให้เห็นว่าภาษาเป็นเครื่องหมายของความสัมพันธ์ เส้นแนวตั้งสะท้อน "อำนาจ" ยิ่งสูงยิ่งฐานะสูง ส่วนเส้นแนวนอนสะท้อนระยะ "ความห่างเหิน" ยิ่งใกล้ยิ่งสนิท ยิ่งไกลยิ่งห่างเหิน โดยมีคำสรรพนามเป็นเครื่องหมายบ่งบอกความยอมรับในสถานะ
"ถ้าเราต้องการบอกว่าอีกฝ่ายมีสถานะสูงกว่าเรามาก ๆ เราจะไม่พูดถึงตัวเขาตรง ๆ แต่จะพูดถึงสิ่งที่ต่ำของเขา อย่างเมื่อก่อนมีคำว่า 'ใต้เท้า' ใช้เรียกข้าราชการระดับสูงหรือหัวหน้าที่มีตำแหน่งสูง ส่วนเราเป็นผู้น้อยก็ต้องเรียกแทนตัวเองว่า 'กระผม' ผมคือส่วนที่สูงของเรา เท้าคือส่วนที่ต่ำของเขา แต่ถ้ากล่าวถึงพระมหากษัตริย์ ส่วนที่ต่ำกว่าเท้าลงไปอีกก็คือฝุ่นที่อยู่ใต้เท้า เวลากล่าวถึงพระมหากษัตริย์จึงกล่าวว่า 'ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท' ส่วนตัวเราก็คือ 'กระหม่อม'.." ดร. อิสระยกตัวอย่าง
"ราษฎรสาสน์" สื่อความพิเศษของกิจกรรม-ผู้รับ
แม้เห็นว่ากลุ่มราษฎรไม่ยอมรับการใช้ภาษาที่สะท้อนความสัมพันธ์ไม่เท่าเทียม แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาวัย 52 ปี มิอาจคาดเดาว่ากิจกรรม "เขียนจดหมายยื่นถึงกษัตริย์" เมื่อ 8 พ.ย. 2563 เป็นความจงใจสื่อสารแนวใหม่ด้วยการใช้คำว่า "ยื่น" แทนคำว่า "ทูลเกล้าฯ ถวาย" "ถวายฎีกา" หรือเป็นการใช้ภาษาไม่ถูกต้อง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องแปลก-ใหม่-ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมการเมืองไทย ทั้งตัวกิจกรรมที่เป็นการสื่อสารระหว่างราษฎรกับพระมหากษัตริย์ในพื้นที่สาธารณะ และตัวข้อร้องเรียนซึ่งเป็น "เอกสารทางการเมือง"
นอกจากฝ่ายกลุ่มเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันฯ ที่เคลื่อนขบวนไปส่ง "ราษฎรสาสน์" ผ่านสำนักพระราชวัง ยังมีประชาชนเสื้อเหลืองที่ประกาศตัวเป็น "ผู้พิทักษ์สถาบันฯ" นัดหมายส่ง "ประชาสาสน์" ด้วยเขียนข้อความถวายกำลังใจผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในวันเดียวกัน
คำว่า "สาสน์" ที่เคยใช้สื่อถึงจดหมายของประมุขประเทศ หรือประมุขคณะสงฆ์ จึงถูกประชาราษฎร์ทั้งสองฝ่ายหยิบยืมคำมาใช้ไปมา
"ปกติยื่นให้รัฐบาลเขาเรียกว่า 'ยื่นข้อเรียกร้อง' แต่การยื่นข้อเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์ไม่มีมาก่อน ดังนั้นจะเรียกมันด้วยชื่อปกติ ก็อาจไม่สะท้อนความพิเศษของกิจกรรมเท่าไร.. จริง ๆ 'สาสน์' ก็แปลว่าจดหมายนั้นล่ะ แต่ถ้าบอกส่งจดหมายก็ไม่สะท้อนว่าเป็นการส่งถึงบุคคลที่มีความพิเศษ ไม่สะท้อนผู้รับ การใช้คำพิเศษก็สะท้อนว่าการกระทำนั้นเป็นสิ่งพิเศษ" ดร. อิสระระบุ
"ในหลวงสู้ ๆ" สู้กับใครล่ะ
ไม่เพียงฝ่ายเยาวชนหัวก้าวหน้าที่ฉีกขนบจารีตการสื่อสารแบบไทย ๆ แต่มวลชนฝ่ายอนุรักษนิยมก็ยังกล่าวถวายพระพรแนวใหม่ ด้วยการเปล่งเสียง "ในหลวงสู้ ๆ" แทน "ทรงพระเจริญ"
ปรีชา ชายผู้เป็นสมาชิก "ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน" (ศปปส.) เคยเฉลยที่มาของคำว่า "ในหลวงสู้ ๆ" กับบีบีซีไทยว่า "มีทหารราชองครักษ์เป็นคนมาบอกเองว่า 'ตอนพระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินมา ให้กล่าวว่าในหลวงสู้ ๆ เป็นการให้น้ำพระทัยท่าน'... ก็มีพสกนิกรกลุ่มที่นั่งอยู่ใกล้ ๆ ลุงตะโกนคำนี้ออกไป"
บีบีซีไทย ไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์
ปรีชาและภรรยาเป็นส่วนหนึ่งของพสกนิกรที่สวมใส่เสื้อสีเหลืองไปรอเฝ้ารับเสด็จฯ ในหลวง ร. 10 และพระราชินี เมื่อ 23 ต.ค. 2563 และ 1 พ.ย. 2563 ซึ่งทั้งสองวันมีผู้เปล่งเสียงถวายพระพรวิถีใหม่
ทฤษฎีเดิมว่าด้วยภาษาแสดงความสัมพันธ์ถูก ดร. อิสระยกมาอธิบายปรากฏการณ์นี้ โดยชี้ว่าในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา มีการนำคำเครือญาติ หรือคำที่สะท้อนความใกล้ชิดมาใช้กับชนชั้นสูง เพื่อสะท้อนความรู้สึกของคนจำนวนหนึ่งที่มองว่าสถาบันฯ มีความใกล้ชิดกับประชาชน
"พอมันใกล้ ก็เลยเหมือนเป็นคำธรรมดา 'สู้ ๆ' ปกติเราไปใช้ในกีฬาสี หรือใช้เชียร์นักกีฬาที่เราชอบ หรือให้กำลังใจนักการเมืองที่เราสนับสนุน แต่พอมาใช้กับพระมหากษัตริย์ซึ่งเรายกย่องไว้ในสถานะที่สูง มันเลยกลายเป็นการไปใช้คำที่มันปะปนกัน" ดร. อิสระกล่าว
อาจารย์ผู้สอนการวิเคราะห์ความหมายในระดับไวยากรณ์และคำมองเห็นความยุ่งยากตามมาจากการใช้ภาษาที่นำไปสู่การแบ่งพวกเขา-พวกเรา และมองเป็นเรื่องไม่เหมาะสม
"กลายเป็นว่าฝ่ายที่ไม่ชอบพวกราษฎร หรือพวกนักศึกษาเยาวชน ไปตีเส้นเสียแล้วว่าพระมหากษัตริย์เป็นของฉัน พอเป็นของฉันก็ไม่ใช่ของคุณ คุณรู้ได้ยังไงว่าอีกฝ่ายหนึ่งเขาไม่เห็นว่าพระมหากษัตริย์เป็นของเขา เพราะพระมหากษัตริย์ก็เป็นของคนไทยทั้งประเทศ ฉะนั้นคนที่ใช้ก็มีผลเสียมากกว่าผลดี เวลาเราบอกว่า 'ในหลวงสู้ ๆ' สู้กับใครล่ะ ดังนั้นคนที่ไปเชียร์หรือใช้คำพวกนี้ ด้านหนึ่งตัวเองอาจรู้สึกดีที่ได้แสดงการให้กำลังใจ แต่ด้านที่เป็นผลลบก็คือคุณนำเอาพระมหากษัตริย์ไปเป็นส่วนหนึ่งของการแยกฝักฝ่าย" ดร. อิสระให้ความเห็น
สถานะของพระราชดำรัสที่ "กำกวมขึ้น"
อีกปัญหาที่นักภาษาศาสตร์ผู้มีทัศนะก้าวหน้าคิดว่าเป็นผลสืบเนื่องกัน หนีไม่พ้น การเผยแพร่และอ้างถึงพระราชดำรัสของฝ่ายอนุรักษนิยมเพื่อสนับสนุนจุดยืนทางการเมืองของตน
จากเคยถูกอัญเชิญ-น้อมนำไปเป็นโอวาทให้พึงคิด ไตร่ตรอง และปฏิบัติตาม สถานะของพระราชดำรัสจึง "กำกวมขึ้น" เมื่อถูกหยิบไปใช้ในบริบทต่างออกไปในพื้นที่ชุมนุมและโลกออนไลน์ ทะยานขึ้นเป็นแฮชแท็กยอดนิยมในทวิตเตอร์ไทย อาทิ #กล้ามากเก่งมากขอบใจ #ต้องช่วยกันเอาความจริงออกมา
การขับเคี่ยวในทางความหมายจึงเกิดขึ้นจากสองฝ่ายที่ขับเคี่ยวกันในทางการเมือง
"เมื่อฝ่ายรอยัลลิสต์ใช้ มันเลยทำให้พระราชดำรัสถูกแฝงไว้ด้วยการเมือง ฝ่ายที่นำมาใช้ก่อนนั่นแหละคือคนสร้างโอกาสให้เกิดการใช้ในความหมายตรงกันข้าม เมื่อมันถูกใช้ในหน้าที่การเมืองเพื่อสนับสนุนจุดยืนของตน ย่อมเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายนำไปใช้ในอีกแง่หนึ่ง ดังนั้นผู้เรียกร้องว่าไม่ควรนำสถาบันฯ มาเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ทางการเมือง ก็เพราะเขามองเห็นสิ่งนี้ เห็นความไม่ปลอดภัยในการใช้พระราชดำรัสเพื่อสนับสนุนจุดยืนทางการเมือง" ดร. อิสระกล่าว
เมื่อความรู้สึก = ความมั่นคง
อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าการใช้ถ้อยคำสื่อสารความคิดของนักศึกษาและนักกิจกรรมการเมืองบางส่วน ได้นำไปสู่การตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
หลายกรณี ดร. อิสระเห็นว่าเป็นการแจ้งข้อกล่าวหา "ตามความรู้สึก" ด้วยเพราะมาตรา 112 ถูกจัดให้อยู่ในหมวดความมั่นคงรัฐ ใคร ๆ ก็ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษได้ และผู้แจ้งความคือผู้ประเมินว่าถ้อยคำนั้นเข้าข่ายผิดมาตรา 112 หรือไม่ ซึ่งในการประเมินย่อมอิงอยู่กับความรู้สึกเคารพนับถือสถาบันฯ และทำให้เกิดคดีโดยไม่จำเป็น
"มีการมองกันว่าอะไรก็ตามที่เป็นการสั่นคลอนสถาบันฯ มันส่งผลกระทบต่อความมั่นคง ดังนั้นความรู้สึกของประชาชนก็เลยกลายเป็นเรื่องความมั่นคงไปด้วย"
ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ความมั่นคง" ถือเป็น "ภาษาของการกระทำ" ที่รัฐใช้ควบคุม-ปิดกั้นการโต้เถียง-โต้แย้งในประเด็นที่ไม่ต้องการให้เกิดข้อถกเถียงในสังคม
ในฐานะพยานฝ่ายจำเลยคดี 112 ซึ่งเกิดขึ้นหลังรัฐประหารปี 2557 อย่างน้อย 4 คดี เขาพบว่าคำกริยาที่ฝ่ายอนุรักษนิยมใช้กล่าวหาฝ่ายที่แสดงออกเกี่ยวกับสถาบันฯ ไปไกลกว่าข้อความที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย โดยอ้างถึงการ "จาบจ้วง หมิ่นพระเกียรติ ลบหลู่ ล้อเลียน เสียดสี" ซ้ำยังตีความขยายขอบเขตการคุ้มครองเกินกว่า 3 บุคคล ไม่เช่นนั้นคงไม่เกิด "คดีหมิ่นสุนัขทรงเลี้ยง" หรือ "คดีโพสต์ขายเหรียญกษาปณ์"
มาตรา 112 ระบุว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี"
การหวนกลับมาของคดี 112 ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 จึงอาจมองได้ว่า ผู้ใดใช้ภาษา "ประทุษร้ายความรู้สึก" ของฝ่ายอนุรักษนิยม ก็สุ่มเสี่ยงต่อการตกที่นั่งผู้ถูกกล่าวหา-ผู้ต้องหา-จำเลย
"ใช่ ๆ" อาจารย์อิสระพยักหน้าสนับสนุน ก่อนโยนคำถามกลับมาว่า หากมองในทางกลับกัน ถ้าผู้จงรักภักดีไม่พยายามดึงเอาสถาบันฯ มาสนับสนุนตัวเองตลอดเวลา ถามว่ามันจะเกิดเรื่องนี้ไหม ตกลงไก่เกิดก่อนไข่ หรือไข่เกิดก่อนไก่
"ฝ่ายที่แจ้งความต้องการลงโทษ แค่ทำให้เป็นคดีก็เหมือนเป็นการลงโทษแล้ว ทำให้อีกฝ่ายต้องสูญเสีย ต้องลำบาก ต้องถูกจับกุม ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ทำให้ปัญหาทางการเมืองถูกแก้โดยกฎหมาย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีเยอะขนาดนี้"
จึงไม่แปลกหากฝ่ายหนึ่งจะเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 ขณะที่อีกฝ่ายล่าชื่อประชาชนให้คงไว้
คำหยาบสร้างความเท่าเทียม เป็นการมองที่ผลลัพธ์
ความขัดแย้งทางสังคม-การเมืองได้นำไปสู่ความขัดแย้งเชิงภาษาอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง ในขณะที่ "คนรุ่นใหม่" ปลดปล่อยอารมณ์หลากหลายในพื้นที่ชุมนุม ซึ่ง ดร. อิสระย้ำว่าการใช้ภาษาแสดงความรู้สึกเป็นมาตรฐานใหม่ของการปราศรัยและสื่อสารทางการเมืองเมื่อปีก่อน "พอมีมิติอารมณ์ความรู้สึกเพิ่มขึ้น คำหยาบคายย่อมเพิ่มขึ้น" แต่นั่นได้ทำให้ "คนรุ่นก่อน" บางส่วนรู้สึกแสลงหู พร้อมเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมลดความเกรี้ยวกราด ก้าวร้าว รุนแรง สุดโต่ง แล้วหันมาชี้แจงแสดงเหตุผลสนับสนุนข้อเรียกร้องทางการเมืองแทน
"มีความพยายามอธิบายว่าการใช้ภาษาหยาบคายเป็นการสร้างความเท่าเทียมกันทางสังคม ผมมองว่านั่นก็เป็นการมองที่ผลมากกว่า สมมติเราใช้คำหยาบคายกับคนที่ปกติเราควรให้เกียรติ แปลว่าเราไม่ให้เกียรติเขาต่อไป เราดึงเขามาอยู่ในฐานะที่ต่ำลงมา แต่ถามว่าเราทำอย่างนั้นเพราะอะไร ทีแรกอาจไม่ได้คิดถึงความเท่าเทียมก็ได้ คือโกรธ ไม่พอใจ เมื่อไม่พอใจก็ด่า ก็ว่า ก็ใช้คำที่ไม่ให้เกียรติอีกต่อไป ผลลัพธ์คือเราไม่ให้ความนับถือในฐานะเดิมของเขาอีกต่อไป ดังนั้นคนที่บอกว่ามันทำลายช่วงชั้นทางสังคมก็คือการมองที่ผลลัพธ์" เขาบอก
อย่างไรก็ตามการให้เกียรติ-ไม่ให้เกียรติใครถือเป็นทัศนะส่วนบุคคล หาได้ทำลายความรู้สึกเชื่อถือศรัทธาของคนที่อยู่ "นอกวงม็อบ" ไม่ แต่ทันทีที่คนกลุ่มหนึ่งแสดงอาการไม่ยอมรับผู้มีสถานะสูง สังคมก็เข้าสู่ภาวะไร้ฉันทามติ
"สมมติว่าคนในสังคมเดิมมองว่าคนที่อยู่ในตำแหน่งนายกฯ หรือประธานสภาควรถูกกล่าวถึงด้วยคำสุภาพเพื่อสะท้อนการให้เกียรติในตำแหน่งทางการ แต่ถ้าคนกลุ่มหนึ่งไม่ทำแบบนั้น ฉันทามติก็หายไป ทีนี้มันจะหายไปถาวรหรือไม่ ก็ขึ้นกับปริมาณของคนที่เห็นไปในทางใดทางหนึ่ง" นักภาษาศาสตร์กล่าว
ขยายแนวร่วมทางอุดมการณ์ ต้องเพิ่มข้อมูล นอกจากอารมณ์
หากถามว่าคำศัพท์ที่ปรากฏในการชุมนุมของเยาวชนมีส่วน "รื้อคิดความเป็นไทย" และ "ด้อยค่าชนชั้นนำ" มากน้อยแค่ไหน
นักวิชาการด้านภาษาตอบว่า มุมมองต่อสถาบันทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม เปลี่ยนไปนานแล้ว ภาษาเป็นแค่ตัวบ่งชี้เฉย ๆ เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ได้มองผู้ใหญ่ ครู ผู้ปกครอง ด้วยสายตาคู่เดิมอีกต่อไป และความนับถือก็ไม่ได้มาพร้อมความอาวุโส
"เขาอาจยังนับถือผู้ใหญ่บางคน แต่ความนับถือนั้นไม่ได้มาโดยอัตโนมัติเหมือนอย่างสมัยก่อน เขาอาจรู้สึกว่าถูกหลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ ปล้นอนาคต ดังนั้นแทนที่จะยอมรับนับถือผู้ใหญ่ กลับรู้สึกว่าถูกหักหลัง ผู้ใหญ่ไม่ทำสิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำ ผู้ใหญ่ทำอะไรอยู่" อาจารย์อิสระวิเคราะห์
นี่อาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาแสดงบทบาททางการเมืองบนท้องถนน เพื่อชำระสะสางสารพัดปัญหาตามคำขวัญที่ว่า "ให้มันจบที่รุ่นเรา"
"ถ้าคนเป็นผู้ใหญ่รู้สึกไม่โอเค อาจจะตั้งธงใหม่ว่าการเมืองสำหรับคนอีกกลุ่มอาจไม่เหมือนเราก็ได้.. ผมอาจไม่คุ้นกับภาษาเยาวชน แต่ก็เพราะเขาโกรธอยู่ไง คนที่โกรธก็ต้องใช้ภาษาแบบนี้ สิ่งควรคิดคือทำไมเขาถึงโกรธมากกว่า" ชายวัย 52 ปีซึ่งเป็นทั้ง "ครู" และ "พ่อ" ชี้ชวนให้คนรุ่นเขาลองมองอีกมุม
ท่ามกลางวิกฤตการเมืองที่ทำให้ใครหลายคนรู้สึกถึงการ "อยู่ยาก" ดร. อิสระเห็นว่าอารมณ์ขบขันจะทำให้เรา "อยู่ได้" และเห็นว่าอารมณ์โกรธจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง แต่ในจังหวะที่กลุ่มราษฎรจำเป็นต้องขยายแนวร่วมทางอุดมการณ์ออกไป เขาเห็นความจำเป็นในการเพิ่มจุดเน้นด้านความคิด ข้อเท็จจริง ข้อมูล นอกเหนือจากการปลดปล่อยอารมณ์
"หากเรามีความสนใจร่วม จุดยืนร่วม ความคิดร่วมกัน การไปเน้นอารมณ์ความรู้สึกอาจไม่ได้มีผลกับเรา ประสิทธิผลขึ้นกับว่าการสื่อสารนั้นไปทำให้เกิดการตัดสินใจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามไปด้วยหรือเปล่า" เขาให้ข้อสังเกตทิ้งท้าย
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar